14 มกราคม 2551
—————————————-
การแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ส่งผลให้ชื่อ พลเดช และรมช.พม. พาดหัวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งข่าวการเมืองเกือบทุกฉบับ ต่อเนื่องมาถึงวันพุธ นักข่าวสาวช่อง9
ยังเกาะติดสัมภาษณ์ มีใบปลิวโจมตีต่อเนื่องโดยเนื้อหาเดิมที่ใส่สีตีไข่มากขึ้น เรียกร้องนายกฯสอบ รมว./รมช.พม. สื่อมวลชนตามประเด็นล่า 2,000รายชื่อขับไล่รมต. ซึ่งพบว่าไม่เป็นจริงจึงสรุปว่า “เป็นเรื่องโคมลอย!” ประกอบกับสื่อจับประเด็นได้ตั้งแต่แรกว่านี่เป็นการบิดเบนประเด็นเพื่อต่อต้านขัดขืนการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยปลัดพม.กับพวก จึงไม่ให้น้ำหนัก อย่างไรก็ตาม สื่อเอาข่าวไปขายจนอิ่มแล้วด้านหนึ่งอาจส่งผลให้สังคมมีภาพพจน์ต่อรมช.ในทางไม่โปร่งใสได้บ้าง แต่ก็ทำให้รมช.พม.ดังเป็นพลุขึ้นมาอีกคำรบ ส่วนเพื่อนมิตรทั่วประเทศยังคงมั่นใจและให้กำลังใจกันอย่างล้นหลามเช่นเคย
ในการประชุมหารือผู้บริหารบ่ายวันอังคารคราวนี้ พี่ไพบูลย์ รมว.มาร่วมด้วย โดยหารือกันเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ “ปัญหาความขัดแย้งในพม.” การเปิดฉากของรมช.พม.ในการวิเคราะห์สถานภาพพม.ด้วยทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) สามารถนำประเด็นที่ประชุมไปถึงอนาคตขององค์กรกระทรวงพม.ของพวกเขาว่าควรจะไปทางไหน วิวัฒน์หรือวิบัติ? เล่นเอาผู้บริหารซึ่งที่ผ่านมาพากันลอยตัวปล่อยให้คลื่นใต้น้ำในกระทรวงโหมซัดกระหน่ำรัฐมนตรีอย่างลำพังต้องมีท่าทีชัดเจนในการเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา สุดท้ายบรรยากาศที่ประชุมคลายตัวและส่อประกายความหวัง จากนั้นมาใบปลิวไม่มีอีกเลย ข่าวฉาวพม.ทางหน้าหนังสือพิมพ์หยุดลง ถึงเวลาของการฟื้นฟูและพัฒนาองค์กร
ดูเหมือนว่าภารกิจ 3 เดือนในการจัดการปัญหาจริยธรรมพม.จะมองเห็นฝั่งแล้ว!!
7 ม.ค.
– ไปเชียงใหม่ตั้งแต่เช้า เปิดการสัมมนาโครงการเทศบาลเข้มแข็ง-เมืองน่าอยู่และสวัสดิการท้องถิ่น ซึ่งเป็นงานสานต่อโครงการ LDI– สสส. โดยผมดึงพม.เข้ามาร่วม และขยายกิจกรรมการวิจัยประเมินความน่าอยู่ของเมืองไปทุกเทศบาลตำบล
– ก่อนบรรยายมีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่พม.ภาคเหนือ เห็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายปลัด พม.จับกลุ่มซุบซิบแอบทำอะไรบางอย่าง ในขณะที่นักข่าว 3 คนมาขอสัมภาษณ์เรื่องดัชนีความน่าอยู่ของเมืองและแอบไปทำเป็น Scoop จากภูมิภาคครึ่งหน้าของนสพ.โพสต์ทูเดย์ มีรูปรมช.อยู่เต็มจอ
– “เมืองน่าอยู-เทศบาลเข้มแข็ง” น่าจะเป็นงานสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาสังคมของผมในช่วงต่อไป
– 13.30น. รีบบินกลับมากรุงเทพฯ โดยสายการบินนกแอร์ มาเป็นประธานเปิดงานสัมมนาสวัสดิการสังคมเครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน
ผมพูดบรรยายหลักคิดและแนวนโยบายให้พวกเขามั่นใจว่า “ฐานทรัพยากรเป็นทุนทางธรรมชาติที่เป็นสวัสดิการของชุมชน” และกระทรวงพม.มีหน้าที่ต้องส่งเสริมสนับสนุน
– 15.00น. ไปรับฟังสรุปผลการสัมมนาครบรอบ 1 ปี “เด็กหายที่กระทุ่มแบน” มูลนิธิกระจกเงา TITV และเครือข่ายเชิญผู้ปกครองที่เด็กหาย 2 ครอบครัวเข้ามาร่วมด้วย ผมจึงถือโอกาสสรุปบทเรียน 1 ปี ที่เข้ามาดูแลปัญหาไปด้วยในตัว โดยเชื่อมโยงกับ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวงพม.ที่เพิ่งออกใหม่ และจะมีกองทุนเฉพาะสำหรับดูแลปัญหานี้ดวย ผมชี้ว่าควรคิดถึง”งานด้านติดตาม” ที่อาจต้องใช้เอกชนมืออาชีพ หรืออาสาสมัครเต็มเวลามาช่วยขับเคลื่อนภารกิจอย่างจริงจัง ประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนนำไปลงข่าวในวันต่อมาโดยพร้อมเพรียง
– หลังปิดงานสัมมนา กลุ่มผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงพม.ขอเปิดห้องสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับปัญหาปลัดพม. ผมจึงได้พูดขยายความจนคิดว่าเคลียร์ประเด็นได้ทั้งหมด
– จดหมายชี้แจงของรมช.ฉบับที่ 5 ซึ่งได้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในจังหวะนี้นับเป็นยาดีอีกขนานหนึ่ง
8 ม.ค.
– ข่าวรมช.พม.ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ตั้งแต่วันอาทิตย์-จันทร์-อังคาร ทำให้ผมเดินเข้าประชุมครม.ด้วยความประหม่า มีเพื่อนรัฐมนตรีทักถามกันให้เกรียว คุณหญิงไขศรี(รมว.วธ.)บอก “ให้กำลังใจนะ”, รมว.ไพบูลย์รีบมาหา “เป็นไงบ้าง?”, คุณหญิงทิพาวดี(รมต.สน.) และดร.วรากร สามโกเศศ (รมช.ศธ.) ก็เข้ามาทักเช่นเดียวกัน
– 9.30น. ครม.วันนี้มีวาระไม่มาก เรื่องของพม. 1)พิจารณาระเบียบวาระเพื่อเด็ก ปี2551(ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว) 2)รับทราบเป็นมติ ผลการทำงานของคณะกรรมการศึกษาธรรมาภิบาล…หลักจรรยาบรรณพม. และหลักการแต่งตั้งโยกย้าย
ควรบันทึกไว้ว่าครม.วันนี้พิจารณาอนุมัติ 19,000 ล้าน เพื่อซื้อฝูงบิน Gripen ของสวีเดน เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งก่อนๆ
– 15.30น. ประชุมคณะผู้บริหารพม. มีรองปพม.,รก.ปพม., อธิบดี, รองอธิบดี และผู้ตรวจราชการ เรื่องที่คุยเรื่องเดียวคือ “ปัญหาความขัดแย้งในพม.”
อาจารย์ไพบูลย์เขียนจดหมายถึงเพื่อนมิตรเป็นฉบับที่ 40 (ท่านเขียนลง Blog ส่วนตัวของท่านเป็นประจำตั้งแต่รับตำแหน่ง) เนื้อหาแสดงความเสียใจต่อเรื่องไม่สบายใจที่เกิดขึ้นและเสียดายที่อาจต้องจากพม.ไปในสภาพที่ไม่เข้าใจกันหรือเข้าใจกันผิดๆ
แต่จดหมายจากรมช.ถึงประชาคมพม.ฉบับที่5 กลับไม่เคยออดอ้อนแบบนั้น ตรงกันข้าม ผมใช้วิธีอธิบายในเชิงหลักการ แนวคิด และการมองเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้ประชาคมพม.เข้าใจและสำนึกได้เอง
เมื่อเริ่มประชุม รมว.พูดในเชิงนามธรรม แต่รมช.เจาะลงไปสู่สถานการณ์ความเป็นจริงโดยอิงทฤษฎีโกลาหล “Chaos Theory” นับเป็น 2 คน 2 สไตล์ ที่ทำงานสอดประสานกันอย่างกลมกลืน! ซึ่งการประชุมวันนั้นได้ผลเกินคาดคิด
ผมอธิบายสภาวะโกลาหลในกระทรวงพม.ว่า :
· โดยธรรมชาติของสรรพสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพจากสภาวะเสถียรภาพหนึ่งไปสู่อีกเสถียรภาพหนึ่งจะต้องผ่านภาวะโกลาหลภายใน (Chaos)
· ภาวะไร้ระเบียบหรือโกลาหล เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน (Trans+formation) แต่จะเปลี่ยนไปในทางวิวัฒน์(Evol)หรือ วิบัติ(Devol) นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดึงดูด (Attrctors) ว่าเป็นปัจจัยดึงดูดเชิงสร้างสรรค์(Positive) หรือ เชิงทำลาย (Negative) มากกว่ากัน
· เมื่อถึงตอนนี้ผมจึงชี้ว่ากระทรวง พม.หลังเหตุการณ์ 3 ตค.50 เป็นต้นมาเริ่มเข้าสู่ภาวะ Chaos แล้ว และบัดนี้กำลังอยู่ที่ทางสองแพร่ง(bifurcation) ว่าเราจะไปทางไหน ถ้าจะไปทางวิวัฒน์ต้องเสริมปัจจัยสร้างสรรค์ให้มากๆ และคุมปัจจัยทำลายให้ได้
· ตัวอย่างปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1)ผู้นำ 2)หลักการ/หลักกม./หลักนิยม 3)กระบวนการยุติธรรม
ได้ผลดีทีเดียว คำอธิบายในเชิงทฤษฎีประยุกต์ของผมทำให้บรรยากาศในที่ประชุมที่ทำท่าจะนิ่งเงียบดูท่าทีกันไปมาเกิดคึกคัก พูดคุยเปิดเผยความในใจ และอภิปรายกันจนกระจ่างชัด สุดท้ายจึงมีข้อสรุปว่าควรเพิ่มปัจจัยบวกตัวที่ 4) คือการสื่อสารภายใน และ5)การสื่อสารสังคมผ่านสื่อมวลชน
สุดท้ายผมชิงส่งไม้ให้ทีมผู้บริหารพม.ว่า “ต่อไปนี้เรารมต.ทั้ง 2 คนจะงดสื่อสารเรื่องนี้กับสื่อมวลชนแล้ว และขอให้ผู้บริหารทุกคนเป็นผู้อธิบายแทน”
เสร็จประชุมค่ำนั้น ทีมรมช.มาคุยกันต่อที่ห้อง ทุกคนประเมินผลด้วยความ Happy อย่างยิ่ง!!
9 ม.ค.
– ทีมรองอธิบดีพส.(ปกรณ์) และจนท.2 คน ที่เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวในฐานะผู้เซ็นต์อนุมัติในเอกสาร เข้ามาขอปรึกษา พวกเขาสารภาพว่าอยากมาปรึกษานานแล้วแต่ไม่กล้า! หลังจากทราบข่าวบรรยากาศการประชุมเมื่อวานเย็นของผู้บริหารแล้วจึงตัดสินใจมาพบ พวกเขามีความกังวลว่าใครบ้างจะโดนวินัย ผมจึงอธิบายและให้กำลังใจ รวมทั้งช่วยคิดวางแผนการชี้แจงคณะกรรมการวินัยด้วย พวกเขามีท่าทีสบายใจกลับไป นี่เป็นสัญญาณสงบศึกดีๆนี่เอง!!
– 14.00น. นัดประชุมทีมงาน LDI เพื่อเตรียมแผนการทำงานหลังเสร็จภารกิจรมต. พวกเราได้แนวทางที่ชัดเจนว่า สิ่งที่ควรจะขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสังคมเข้มแข็ง” โดยมีเป้าหมายคือ :
“เครือข่ายเทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่” เป้า 1200 เทศบาล
“ข่ายงานประชาสังคม” เป้า 76 จังหวัด
“เครือข่ายฟื้นฟูชุมชนชายแดนใต้” เป้า 250 ตำบล 40 อำเภอ
“เครือข่ายเฝ้าระวังธรรมาภิบาลรัฐ/รัฐบาล” เป้า 20 กระทรวง
– 16.30น. ไปร่วมพระราชพิธี “ทักษิณานุประทาน” ที่พระบรมมหาราชวัง ในวาระครบ 7 วันสิ้นพระชนม์ของพระพี่นาง พบคุณสมัคร สุนทรเวช นั่งผมข้างหลังจึงยกมือไหว้ พล.อ.พงษ์เทพ (ลธน.) และรมว.ธีระ(คมนาคม)มานั่งด้วย คุยกันเรื่องปลัดพม. ผมจึงบอกไปว่า “เรียบร้อยครับ สงบแล้ว!”
ได้พบคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) และคุณอภิรักษ์(ผว.กทม.) ถูกทักว่า “หมู่นี้รมต.เป็นข่าวมาก เป็นไงบ้าง” ท่านบอกว่าตัวท่านเองก็โดนเยอะ ผมจึงตอบไปว่า “ไม่มีอะไรน่ากลัวครับ มีปัญหาก็จัดการไปด้วยสติปัญญา”
ข่าวรมช.พม.ช่วงนี้ กระหึ่มวงการจริงๆ
10 ม.ค.
– ไปพิษณุโลกตั้งแต่เช้า เปิดงานสังคมเมืองน่าอยู่ภาคเหนือล่าง บรรยากาศดีเช่นเดียวกับเชียงใหม่ แสดงว่าประเด็นงานเครือข่ายเมืองน่าอยู่ นี้น่าจะจุดติดแล้ว!
– ก่อนเปิดงาน ก่อนบรรยาย สื่อมวลชนพิษณุโลกรู้ข่าวมาดักสัมภาษณ์…เรื่องงานพม. เด็กและเยาวชน
– 13.00น. สัมภาษณ์สวท.ทางโทรศัพท์ เรื่อง” ประเด็นมาตรการดูแลหอพัก” ที่พม.ออกประกาศกระทรวงเมื่อ 8 ตค.50 ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?
– 14.00น. ไปเยี่ยมคุณย่าถึงที่บ้าน
– เขียนจม.จากรมช.ถึงประชาคมพม.ฉบับที่ 6 ส่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ก่อนไปคุณหมิง
11 ม.ค.
– 9.30น. ไปฟังผลสรุป Workshop กองทุนพม. ทั้ง 4 ร่วมกับสำนักบริหารกองทุน ที่สวนสามพรานเพื่อระดมความคิดในการบูรณาการงานกองทุน พวกเขาพอใจกันมากและมีความหวัง ที่จะเกิดการพัฒนาระบบกองทุนพม.ทั้งระบบและบูรณาการกันมากขึ้น
– 13.00น. ไปเยี่ยมนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ที่รพ.รามาธิบดี ทราบว่าเมื่อวาน อ.ประเวศ วะสี, นพ.วิชัย โชควิวัฒน์, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และวณี ไปเยี่ยม บอกว่าอาการแย่มาก และถามถึงหมอพลเดช วันนี้อาการสดชื่นขึ้นเยอะ พูดคุยได้ หยอกเย้ากับหมอพลเดช….จนน้องๆคนอื่นกระเซ้าว่า “แหมพี่สงวนรอแต่รมต.พลเดช มาเยี่ยมนะ” ซึ่งคงมีส่วนจริงอย่างที่พวกเขาพูด เพราะตั้งแต่เช้าพี่สงวนหลับตลอด พอผมมาตื่นขึ้นด้วยความสดใสอย่างผิดหูผิดตา
– 13.30น. ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุ(13 เม.ย.51) จัดที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ในวันที่ 8,9 เม.ย.
– 19.00น. ไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านดร.สายสุรี จุติกุล ที่สุขุมวิท มีท่านผู้แทน Unicef ประจำประเทศไทย คุณ Tomoo และภรรยา กับ CATHERIN ไปร่วมด้วย อยู่กันจนดึก
12 ม.ค.
– เดินทางไปคุณหมิง ตั้งแต่ 10.00น. เพื่อร่วมพิธีเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มีผอ.สท.(กิตติ), คุณอุษณีย์, คุณพัชรา, คุณวณี และเลขาผอ.กิตติร่วมเดินทาง
– ผมเคยไปคุณหมิงบ่อยครั้งปีสุดท้าย 1999 ตอนนั้นพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อน ได้ตระเวนเที่ยวถึง Lijiang,Shangrila ของมณฑลยูนานด้วย ช่วงนั้นประเทศจีนมีนโยบาย Visit China 1999 และที่คุณหมิงมีงาน Expo แสดงดอกไม้นานาชาติที่จัดใหญ่โตมาก
– ที่สนามบินคุณหมิง รองเลขาธิการสหพันธ์เยาวชนจีนแห่งมณฑลยูนนานมาต้อนรับและให้การดูแลอย่างดีในฐานะ รมต.จากประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกับจีน มีคุณเชาวน์ หงส์เหิร อาจารย์เชาวน์เป็นคนจีนที่เคยมาเรียนปริญญาโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นลูกศิษย์ อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยชนชาติส่วนน้อยแห่งยูนนาน และเป็นอ.พิเศษของมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง เช่น มร.สวนดุสิต, มร.เพชรบุรี, มร.อุตรดิตถ์ ภาษาไทยของแกใช้ได้ทีเดียว แต่ยังเทียบกับคุณ Kai Tang ไม่ได้
– คณะของเยาวชนไทย 11 คนไปพร้อมกันและพักที่โรงแรมเดียวกัน โรงแรมนี้เป็นของรัฐ เดิมเคยเป็นศูนย์ว่าราชการมณฑลมาตั้งแต่ครั้งโบราณ
13 ม.ค.
– 9.00น. พิธีเปิดโครงการ ฝ่ายจีนมีรองประธานสหพันธ์เยาวชนแห่งประเทศจีน มาดามจางเชี่ยวหลาน ฝ่ายไทยคือ รมต.พลเดช จีน-ไทย เป็น Co-host ของโครงการ หมายความว่า เราช่วยกันแชร์งบประมาณให้กับทุกประเทศด้วย เรียกได้ว่าเราเป็น 2 ประเทศพี่เบิ้มในกลุ่ม GMS นั่นเอง
– เยาวชน 6 ประเทศ มีจีน, ไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา และเวียดนาม ต่างส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการประเทศละ 11 คน ทั้งคณะจะเดินทางไปทัศนศึกษาและสร้างสัมพันธไมตรี แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันโดยตระเวนไปทุกประเทศ เริ่มจาก จีน-พม่า-ไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม คณะจะอยู่ที่จีนระหว่าง 12-15 มค. จะมาถึงไทย 17 มค. ซึ่งจะเข้าเยี่ยมรมต.พลเดชอีกครั้งในประเทศไทย
– ระหว่างที่เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการ คณะ YYF พาพวกเราไปเที่ยวศูนย์ Expo ที่เป็นที่แสดงดอกไม้นานาชาติเมื่อปี 1999 คราวนี้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ดูแล Expo เป็นผู้มาต้อนรับและนำพาเที่ยวชมอย่างทั่วถึงและไม่ต้องแย่งกันเหมือนเมื่อ 9 ปีก่อน มาดามบอกว่าขณะนี้ต้องใช้เงิน Maintenance วันละ 2 แสนหยวนทีเดียว แต่เขายังคงรักษาสภาพไว้ได้ดีมาก เราได้เที่ยวชมการจัดสวน Style ประเทศต่างๆ และในของประเทศจีนเองเขาก็มีสวนของมณฑลต่างๆ ที่งดงามเป็นแบบเฉพาะของตน
– กลางคืน มีงานเลี้ยงอาหารเย็นแก่เยาวชน หลังจากนั้นมาดามจางพาพวกเราไปดูโชว์ Dream Yunnan ที่โรงละครเก่ารัสเซีย เขานำเอาจุดเด่นของยูนนานที่มีกลุ่มชนชาติส่วนน้อยหลากหลายที่สุด มีความงดงามที่สุด มาพล็อตเข้ากับเรื่องนายทหารอากาศอเมริกันที่ไปช่วยจีนตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเครืองบินตนในเขตยูนนาน จึงได้อยู่กับชนชาติส่วนน้อยที่นั่น และหลงรักวัฒนธรรมที่ยูนนานมาก เป็นที่มาของการเขียนนิยายคลาสสิก เรื่อง “Shangri–la” นั่นเอง จีนเขามีความสามารถในการแสดงศิลปะดนตรี กายกรรมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อนำมาประกอบกันจึงเป็นเทคนิคที่ดูแล้ว grand มาก และ dream yunnan จริงๆเลย
– ของไทยก็น่าจะเทียบได้กับ Phuket Fantasy , ทิฟฟานี, อัลคาซ่า หรือ สยามนิรมิต นั่นเทียว
– การแสดงของไทยเราต้องปรับปรุงอีกมากจึงจะทัดเทียมเขา
14 ม.ค.
– ก่อนกลับเมืองไทย เขาพาคณะของเราไปดูนกนางนวลที่บินมาจากไซบีเรีย มาพักที่ทะเลสาบเถียนฉือ แล้วเลยไปดูหมู่บ้านชนชาติส่วนน้อยที่เขานำมาจำลองเพื่อการท่องเที่ยวยูนนาน
– เขาจัดสถานที่สำหรับแสดงวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชนชาติส่วนน้อยสำคัญๆ ของยูนนานทั้งหมด โดยทำเป็นหมู่บ้าน มีที่แสดงศิลปวัฒนธรรม และมีที่ขายของที่ระลึก เขาให้ความสำคัญมากและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของมณฑล ผมนึกถึงพิษณุโลกที่เรียกว่า สี่แยกอินโดจีน เราก็น่าจะทำ(ลงทุน/สร้างศูนย์วัฒนธรรมกลุ่มประเทศอินโดจีน ไทย-พม่า-ลาว-เขมร-เวียดนาม-จีน) รวมถึงวัฒนธรรม 4 ภาค วัฒนธรรมชนชาติส่วนน้อยในประเทศไทยทั้งหมด หากทำได้ก็จะเป็นที่ท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศได้เช่นกัน
– สัปดาห์นี้งานในพม.เริ่มคลายความตึงเครียด และเห็นความหวังรวมทั้งงานด้านต่างประเทศเป็นไปได้ดีเกินคาด
Be the first to comment on "ตอนที่ 72 ปิดเกมจริยธรรม"