ตอนที่ 74 เตรียมลาเวที

Table of Contents

27 มกราคม 2551

——————————————

หลังรัฐพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จแทนพระองค์ในวันจันทร์ที่21มค.แล้ว ในการประชุมครม.วันอังคาร

นายกฯ สุรยุทธ์ ประกาศให้ครม.ทราบว่าการประชุมนัดนี้เป็นนัดสุดท้ายแล้ว! เล่นเอารัฐมนตรีทุกคนตั้งตัวไม่ติด เพราะแต่เดิมคิดว่ายังมีนัดหน้า(29มค.) อีก 1 ครั้ง หลายกระทรวงจึงต้องดันเอาวาระงานสำคัญของกระทรวงที่ค้างอยู่เข้ามาเป็นวาระพิจารณาจร แต่พม.ไม่ทำเพราะหมดโอกาสกลับลำจริงๆ อย่างไรก็ตาม ภารกิจนอกที่ประชุมครม.ของรมช.พม.ยังคงเข้มข้นตลอดสัปดาห์ จนดูไม่ออกว่าเป็นช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งแล้ว อาทิ : งานขับเคลื่อน เทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ เดินทางถึงเวทีที่ 5 (ภาคกลาง) ส่วนการจัดระเบียบหอพักก็เดินมาถึงบทที่จะต้อง เชือดไก่ให้ลิงดู ราชวิถีฟอรั่มเปิดประเด็น “Thai PBS ทีวีสาธารณะที่สังคมไทยเป็นเจ้าของ และการปรากฏตัวในฐานะองค์ปฐกพิเศษในเวทีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติประจำปี

 

 

21 ม.ค.

 

 

 

– เช้าไปเปิดเวที เทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ ชุมชนเป็นสุข ที่อุบลราชธานี เป็นเวทีที่ 4 ที่ประชุม โดยเฉพาะเครือข่ายเทศบาลและประชาคมเมือง ให้ความสนใจดีไม่แพ้เวทีภูมิภาคอื่น

 

– ระหว่างพักกลางวัน ทีมผู้บริหารระดับสูงพม.ในภูมิภาค(พมจ.และผอ.สสว.) มาร่วมรับประทานอาหารด้วย มีประเด็นความผิดหวังจากตำแหน่งผอ.สสว.(9) เกิดขึ้นกับสสว.กาฬสินธุ์(อุษา) และโคราช(พณฑกร) พวกเขาติดใจว่า(ทำไมเขานั่งทับตำแหน่งอยู่และถูกจัดลำดับที่1 จากคณะกรรมการคัดเลือกแต่กลับไม่ได้รับการแต่งตั้ง….รมช.พม.ล้วงลูกหรือเปล่า…มีเหตุผลอย่างไร?

 

 

ผมพยายามอธิบายโดยหลักการ และชี้ว่าทั้งหมดเป็นการใช้ดุลยพินิจของรักษาการณ์ปลัดกระทรวง(รก.ปพม.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจสุดท้ายตามกติกาของพม. และเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง รมช.พม.มิได้มีความเห็นบวกหรือลบแต่อย่างใด นอกจากรับทราบ การพิจารณาและเหตุผลประกอบเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่รก.ปพม.อธิบายนั้น ได้ทราบข้อมูลเป็นรายตำแหน่งแล้วก็ดูมีความสมเหตุสมผลและน่าจะอธิบายสาธารณะได้

 

– 15.00น. รับกลับมากรุงเทพฯเพื่อจะร่วมรัฐพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ไม่ทันเพราะเครื่องบินล่าช้ากว่ากำหนด

– 17.30น. อ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาสัมภาษณ์เรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อนำไปลงในวารสารวิชาการของคณะสังคมศาสตร์ มธ.

 

 

22 ม.ค.

 

 

 

– ก่อนประชุมครม. ได้ทราบความคืบหน้าของการประชุมอกพ.ใหญ่(รองนายกฯโฆษิต เป็นประธาน)มีมติให้ถอนวาระพิจารณาตำแหน่งปพม.วัลลภที่ไปประจำสลน.ไปก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเครือข่ายของขรก.ประจำนั้นเขาพยายามช่วยกันอย่างเหนียวแน่นเพราะองค์ประกอบกรรมการในอกพ.ล้วนเป็นข้าราชการระดับเดียวกัน เป็นเพื่อนๆ กันทั้งนั้น และ delay tactic ที่เขาใช้นั้นได้ผลสำเร็จแล้ว เราฝ่ายการเมืองกลับตัวไม่ทันเลย หมายความว่าตำแหน่งปพม.(C11)ของปลัดวัลลภยังไม่หลุดตามที่ท่านนายกฯและ 2 รมต.พม.ต้องการ แม้ตัวจะได้รับคำสั่งมาปฏิบัติงานที่สลน.ก็ตาม ผมจึงบอกรมต.ไพบูลย์ว่า คงต้องทำใจ เพราะเราทำเต็มที่แล้วได้แค่นี้ คงไม่มีใครตำหนิเราได้ ต่อไปนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการที่รัฐบาลใหม่และภาคราชการจะต้องตอบสังคมกันเอาเองและรับภาระจากเราไปดูแลต่อ

 

 

 

– ก่อนประชุมตามวาระ นายกฯสุรยุทธ์แจ้งที่ประชุมครม.ว่า ประชุมครม.วันนี้เป็นนัดสุดท้าย เพราะคาดว่าตามกระบวนการ/ขั้นตอนคงจะได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันจันทร์-อังคารหน้าพอดี เราจึงไม่ควรมีประชุมครม.อีก! ได้เรื่องทันทีครับ เพราะรมต.แต่ละกระทรวงต้องรีบตรวจสอบงานค้างของใครของมันเพราะเดิมทุกคนคิดว่าจะมีประชุมครม.นัด 29 มีค.อีก 1 นัด สำหรับพม.ก็มีค้างอยู่ 2 เรื่องคือ 1)การแต่งตั้งลธ.พก.(C10) ซึ่งจะรู้ผล 23 มค. และตั้งใจจะนำเข้าครม.29มค. 2)การยกเลิกหนี้สินของนิคมสุขิรินทร์ ที่รมว.กลังจะนำเข้าคณะกรรมการหนี้สินเกษตรกรในวันที่ 24 มค. ก่อนเสนอครม.เช่นกัน ผมจึงถามนายกฯและรมว.คลังในที่ประชุมว่าในกรณี2)จะให้พม.ทำเช่นไร นายกฯตอบว่า ไม่เป็นไรเมื่อกระทรวงการคลังเสร็จแล้วขอให้ตั้งเรื่องรอเสนอครม.ใหม่ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร เราได้ตั้งเรื่องช่วยชาวบ้านเท่านี้ก็ดีแล้ว (โล่งใจไป!)

 

– การประชุมตามวาระของครม.จึงมีเรื่องเพื่อพิจารณามากเป็นพิเศษเพราะเป็นนัดสุดท้าย วาระพิจารณาจรพอกเข้ามาเกือบ 20 วาระทีเดียว มีวาระครม.ทราบเป็นมติเกี่ยวกับ กฎกระทรวง เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงต่างๆเกือบ 10 กระทรวงโดยที่ไม่มีของพม. ยิ่งทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจเพราะของพม.เสร็จไม่ทัน เนื่องจากไปติดขัดที่จนท.กพร.ซึ่งเป็นกรรมการโครงสร้างของกระทรวง บุคลากรคนนี้กพร.เขาส่งมาเป็นกรรมการซึ่งมีทัศนคติที่แย่มาก หากรมช.พม.อยู่นานอีกสัก 1-2 เดือนคงต้อง ขอเปลี่ยนตัว ให้เป็นที่ฮือฮาแน่!

– ของพม.มีเรื่องกฎกระทรวงที่ออกแบบตามพรบ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวและเรื่องความก้าวหน้าของ แผนฟื้นฟูการเคหะแห่งชาติที่แจ้งครม.ทราบว่ากำลังอยู่ในระหว่างการรอผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา

 

 

– 15.30น. ต้องออกจากครม.ไปก่อนเพราะต้องไปเป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ(กสค.) นัดสุดท้ายเช่นกัน มีวาระมากเช่นเคยและเป็นประเด็นงานเชิงธุรการมากกว่าเชิงนโยบาย ทำใจว่าคงช่วยดูแลทาง Concept และระบบจัดการของพวกเขามาได้เพียงแค่นี้ แต่อย่างไรก็ตามภารกิจในเชิงโครงสร้างและกฎหมายนั้น เราสร้างผลงานที่น่าพอใจฝากไว้อย่างเพียงพอแล้ว

 

 

 

23 ม.ค.

 

– 7.45น. ทีมสนง.ปปช.นำโดยคุณไชยยศ มาพบรมช.พม.ที่กระทรวงเพื่อให้ข้อมูล และปรึกษางานเกี่ยวกับการต้านคอร์รัปชันที่อยากให้ผมช่วยหลังจากหมดวาระจากพม.แล้ว พวกเขาคาดหวังกับเครือข่ายของพม.ในระดับจังหวัดมาก แต่เรากลับอยากให้เขาทำการเฝ้าระวังในระดับกระทรวงทั้ง 20 และการคอร์รัปชันในระดับครม.มากกว่า ฟังดูแล้วยังไม่ค่อยเห็นความก้าวหน้ามากนัก

 

 

– 9.45น. ไปเปิดงานและบรรยาย เทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ เวทีที่ 5 ที่รร.เจ้าพระยาปาร์ค เครือข่ายภาคกลางมากันมากแน่นห้องไปหมด สำหรับงานเมืองน่าอยู่นั้นเดินไปได้ด้วยดี แต่ควันหลงจากการแต่งตั้ง C9 ในพม.ยังคุกรุ่น เพราะคุณอุษา(สสว.กาฬสินธุ์) ออกหนังสือร้องไปที่นายกฯรมต.ขอทราบเหตุผลว่าทำไมตนเองไม่ได้รับการแต่งตั้ง ทางทำเนียบฯส่ง Fax มาให้ผมทราบ จึงมอบหมายรก.ปพม.ทำการชี้แจง ซึ่งไม่มีอะไรน่าหนักใจเพราะเป็นดุลยพินิจตามอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงและทราบว่าเขามีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้อยู่แล้ว

 

– กลุ่มพมจ.และสสว.วันนั้นมีคุณสุนทร(สสว.1) ซึ่งผิดหวังร่วมอยู่ด้วย พรรคพวกก็พยายามปลอดกันอยู่ แต่มีประเด็นที่พวกเขาฝาก/ขอร้องให้รมช.พม.ช่วยคือการขอตำแหน่งพมจ.9 อีก 50 ตำแหน่งที่เหลือ รมช.รับปากทันทีหลังพิจารณาเห็นว่าพวกเขาอยากให้เราเริ่มและอยู่ในวิสัยที่พอจะทำให้ได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ทุกคนไม่ติดใจเพราะรู้ว่าอำนาจอยู่ที่กพ.

 

 

– 13.30น. ดร.ชัยอนันต์ วรรธนภูมิ จากมช.และคณะ มาพบพร้อมกับคุณศตวรรษ หารือเรื่องหลักสูตร ชาติพันธุ์พัฒนา ที่อยากจะให้เกิดการร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกระทรวงพม.

 

 

 

– 15.00น. ไปเป็นประธานมอบรางวัล ลมหายใจไร้มลทิน ซึ่งเยาวชนทั่วประเทศแข่งขันการทำภาพยนตร์สั้นและร้องเพลงเพื่อในหลวง มีบริษัทสื่อสากลเป็นผู้สนับสนุน การไปแจกรางวัลคราวนี้ดูคล้ายกับว่าผมยังคงทำงานกับสังคมในฐานะรมช.พม.อย่างเข้มข้นตลอดเวลาจนวินาทีสุดท้าย ซึ่งสื่อมวลชนได้สะท้อนภาพที่บวกมากๆ สำหรับรมต.หนุ่มในรัฐบาลขิงแก่(ซึ่งคนอื่นๆเขาหยุดงานกันแล้ว!)

 

 

 

24 ม.ค.

 

 

 

– 9.30น. Workshop สรุปงานขับเคลื่อนจัดระเบียบหอพัก หลังออกประกาศกระทรวง 8ตค.50 ให้หอพักเอกชนที่เข้าข่ายมาจดทะเบียนภายใน 31ธค.50 ขณะนี้ผ่านมา 1 เดือนแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป ที่ประชุมสรุปได้ว่า

 

· มีจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 1,200 แห่ง ซึ่งมากกว่าปกติมาก แต่ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับหอพักเถื่อนอีกเกือบ 30,000 แห่ง

 

 

· ประเมินว่า พวกหอพักเอกชนคงคิดว่าพม.ไม่เอาจริง ทางราชการคือเสือกระดาษ

 

· กลุ่มผู้ประกอบการดี(สมาคม) เดือดร้อนที่พวกหอพักเถื่อนไม่ทำตามกติกา

 

 

· ตำรวจปดส.แข็งขัน เครือข่ายรองอธิการบดีเข้มแข็ง สมาคมผู้ประกอบการต่างยืนยันให้เอาจริง เพื่อคุ้มครองเด็ก และเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการดี เราคณะทำงานจะเดินหน้า เชือดไก่ให้ลิงดู, ตำรวจจัดระเบียบ จริงจัง

 

– 14.00น. กลุ่มมูลนิธิสายธารประชาธิปไตยมาพบ มาขอเชิญให้เป็นประธานมูลนิธิ แทนกรรมการชุดเก่าที่มีพี่วิรุณ ฉัตรวานิชกุล เป็นประธาน ฟังเหตุผลแล้วก็เห็นใจ จึงตอบรับ

– 18.00น. ไปงานสวดศพ นพ.สงวน วันนี้มสช.เป็นเจ้าภาพ มีอจ.ผู้ใหญ่ไปหลายท่านรวมทั้ง อ.ประเวศ,องอารีย์,อ.หทัย…และนักการเมือง มิ้ง, เลี้ยบ ก็ไปด้วย

มิ้งกัลเลี๊ยบเข้ามาพูดคุยด้วย บอกว่า พี่หนุ่ย…รัฐบาลชุดนี้มีพี่พูดอยู่คนเดียวเลย ผมพูดกับเลี๊ยบว่า เลี๊ยบ…ขึ้นเป้นนายกเลยไม่ดีกว่าหรือ…อย่าปล่อยให้คุณสมัครเป้นนะ เลี๊ยบอมยิ้ม แล้วกระซิบ พี่…ผมรู้ว่าผมควรเล่นบทอะไร…ต้องให้เขาครับ

 

 

25 ม.ค.

 

 

 

– 7.45น. รก.ปพม. และคุณปัทมา(กันตนา) มาพบเพื่อรายงานเรื่อง รายากูนิง กรณีที่ต้องเปลี่ยนช่องจาก TITV เป็น Thai PBS เรื่องลิขสิทธิ์น่าจะง่ายขึ้นและเรื่องออกอากาศน่าจะไม่เป็นปัญหาเพราะคุณเทพชัย หย่อง ดูสนใจมากที่จะเอา รายากูนิง เป็นผลงานเชิงภาพพจน์ของ TPBS ด้วย

 

 

 

– 9.00น. ไปบ้านราชวิถี เปิดป้าย สำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา อย่างเป็นทางการและร่วมเวทีราชวิถีฟอรั่ม เรื่อง TPBS ทีวีสาธารณะของประชาชน อ.ขวัญสรวง อติโพธิ(ประธานกรรมการนโยบายชั่วคราว) มาด้วยตนเอง เครือข่ายคึกคักดี

 

 

 

– 13.30น. ประชุมคณะกรรมการคนพิการที่ห้องปกรณ์ เป็นการประชุมนัดสุดท้ายเช่นกัน กลุ่มคนพิการเป็นกลุ่มคนที่เข้มแข็ง แต่ก็มีประเด็นขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มอยู่ไม่น้อย ชอบทำงานแบบกดดันจนทำให้ข้าราชการพม.ลำบากใจอยู่เหมือนกัน ประชุมแต่ละครั้งกว่าจะหาข้อสรุปได้เล่นเอาเหนื่อยทีเดียว ความเข้มแข็งมักมาคู่กับความเชื่อมั่นและ ego เช่นนี้เสมอ

 

– 17.00น. ไปพบอ.ไพบูลย์ที่ทำเนียบ ทบทวนดูว่ายกสุดท้ายจะต้องทำอะไรอีกบ้าง ทั้งในเรื่องความขัดแย้งในพม.และเรื่องเลี้ยงอำลา

 

 

– 18.00น. ไปงานศพพี่สงวน วันนี้พม., LDI และองค์กรอื่นๆ ร่วม 20 องค์เป็นเจ้าภาพร่วมกันที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ เงินกองทุนพี่หงวนได้บริจาคจำนวน 5-6 ล้านแล้ว ชีวิตหมอสงวนเป็นแบบอย่างของคนเสียสละเพื่อประชาชนและส่วนรวม, เป็นคนที่มุ่งมั่นและทำงานเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นแบบอย่างได้ สื่อมวลชน-คอลัมนิสต์ใหญ่ๆ เขียนถึงหมอสงวนว่าเป็นวีรบุรุษ เป็นรัฐบุรุษ เป็นต้นฉบับหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ก็ต้องยอมรับว่าพี่หงวนได้ทำคุณความดีได้มากจริงๆ และมีเพื่อนมากโดยไม่มีศัตรูเลย

 

 

 

26 ม.ค.

 

– 9.00น. ไปปาฐกถาพิเศษที่ศูนย์ประชุม Impact เมืองทองธานี งานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรมครั้งที่ 3 เขาเชิญให้ผมพูดในประเด็น รู้รักสามัคคีวิถีไทย-ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ผอ.นราทิพย์บอกว่าที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานซึ่งเป็นตัวแทนจากภูมิภาคในปีนี้เขาเสนอเป็นเอกฉันท์เลยว่า อยากให้หมอพลเดชมาบรรยาย

 

 

– พูดเสร็จ เขาพาเดินดูงานตลาดนัด พบแต่คนกันเองทั้งนั้น ผอ.นราทิพย์บอกว่า มีแต่แฟนหมอพลเดช Rating ดีมาก ถ้าเลือกตั้งคงได้สบาย

 

 

 

– กว่าจะออกจากงานได้เล่นเอาเกือบเที่ยงเพราะต้องแวะทุกบูธ กลับถึงบ้าน เตรียมตัวเดินทางไปพิษณุโลกทำบุญวันเกิดคุณแม่กับวณี ใช้รถ Honda ของพม. 2400 cc ขับฉิวหน่อย ถึงพิษณุโลกค่ำพอดี

 

 

 

27 ม.ค.

 

– วันเกิดคุณแม่กาญจนา ครบ 80 ปีเต็มวันนี้ แม่ดูอ่อนกำลังลงมากแต่ก็ยังดูสุขภาพทั่วไปดีขึ้นกว่าเดิม ตอนสายไปเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กนักเรียนพิการที่รร.ศึกษาพิเศษที่ตำบลมะขามสูง

– ตลอดสัปดาห์นี้สื่อมวลชนยังคงเสนอข่าวรมช.พม.ทำงานแก้ปัญหาสังคมทั้งสัปดาห์ ประเด็นธรรมาภิบาล และประเด็นงานพม.ยังคงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน คู่กับข่าวการเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง

Be the first to comment on "ตอนที่ 74 เตรียมลาเวที"

Leave a comment

Your email address will not be published.