ตอนที่ 75 ระฆังยกสุดท้าย

6  กุมภาพันธ์ 2551

—————————————-

บรรยากาศการทำงานทุกกระทรวงอยู่ในสภาพอำลา…อาลัย  เพราะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการทำหน้าที่แล้ว   แต่ที่พม.ยังคงมีความเคลื่อนไหวเข้มข้นเหมือนไม่รับรู้กาลเวลา  งานอำลาอาลัยเดินไป  งานเข้มๆหนักๆช่วงนี้จึงกลายเป็นงาน สั่งลาไปโดยปริยาย

ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเป็นสภาวะที่น่าอึดอัดอยู่บ้าง  เพราะด้านหนึ่งอยากจะเตรียมงานใหม่หรือที่จริงก็คือกลับที่ทำงานเดิม  แต่อีกด้านหนึ่งไม่รู้ว่าจะสิ้นสภาพรมต.วันไหนแน่ จะเข้ากระทรวงก็ดูไม่เหมาะเพราะรมต.ใหม่จะได้เข้ามาจัดแจง  จะทิ้งไปเลยก็ยังมีงานหนังสือสั่งการในฐานะรมต.รออยู่ทุกวัน  บังเอิญโชคดี LDI กับกระทรวงพม.อยู่ไม่ไกลกันนัก  จึงนั่งทำงานที่ LDI และให้จนท.พม.เอาหนังสือมาเซ็นต์ที่นั่นไปจนกว่าจะสิ้นสภาพ  ในที่สุดหมายกำหนดการที่ครม.ใหม่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ระบุในวันที่ 6 กพ. เวลาประมาณ 16.00น. เป็นที่แน่นอน  เป็นอันว่าระฆังยกสุดท้ายถูกกำหนดแล้ว  เป็นวันตรุษจีนพอดี 

ภารกิจพม. 5 เดือนในฐานะเลขารมว.  และ 11 เดือนในฐานะรมช.พม.ได้สิ้นสุดโดยสมบูรณ์แล้ว  ผลงานโดยรวมน่าพอใจทีเดียว  ได้ประสบการณ์ชีวิตและงานครบทุกรสชาติ  สื่อมวลชนและเครือข่ายให้คะแนนทางบวกในฐานะรัฐมนตรีว่าการ(รมช.)  แม้ไม่ใช่ดาวฤกษ์เฉกเช่นรมว.ต่างๆ แต่บทบาทภารกิจและการยอมรับของสื่อมวลชนได้กลายเป็น Trust Brand ของกระทรวงพม.ไปแล้ว  อย่างน้อยก็ในช่วง 11 เดือนที่ทำหน้าที่  พวกเราภูมิใจที่ได้มีส่วนสร้างมาตรฐานบางอย่างสำหรับนักการเมืองที่จะมาเป็นรมต.พม.ในอนาคต

28 ม.ค.

– 7.00น. ทำบุญที่กระทรวงเพื่อสมโภช หลักศิลาจรรยาบรรณพม. อย่างเป็นทางการ  รมว.ไพบูลย์ มาเป็นประธานด้วยตนเอง  ผู้บริหารและขรก.มาร่วมกันตามปกติ  หลักศิลานี้เกิดขึ้นตามนโยบาย/การสร้างสรรค์ริเริ่มของรมช.พม.โดยแท้  สื่อมวลชนติดตามกันมาตลอดว่าจะออกมารูปแบบไหน  สาระของหลักจรรยาบรรณถูกกำหนดโดยกระบวนการประชาคมพม.ผ่านเวทีราชวิถีฟอรั่ม  มีขรก.4,900 คน ร่วมแสดงความคิดเห็น  98% สนับสนุน  แต่กลุ่มผู้มีอำนาจและผลประโยชน์เดิมที่ถูกมาตรการตรวจสอบแอบต้านลึกๆและดิ้นแรงๆ  แต่สุดท้ายการสถาปนาได้เกิดขึ้นด้วยความเรียบร้อย  หลักศิลาจรรยาบรรณจะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของรัฐมนตรีสองพี่น้องที่ฝากไว้กับกระทรวงและอนุชนรุ่นหลัง

หลังทำบุญ  ผู้สื่อข่าวรุมสัมภาษณ์รมว.ไพบูลย์กันมาก  TV เกือบทุกช่องรายงานข่าวทั้งภาพและตัววิ่ง  นี่คือ งานพม. ที่ไม่หยุด…จนวินาทีสุดท้าย  วันรุ่งขึ้นข่าวพม.ยังคงลงพาดหัวหนังสือพิมพ์เช่นเคย

– 9.00น. ไปเป็นประธานเปิด Workshop ผู้บริหารพม.จากหน่วยงานทั่วประเทศเรื่องทบทวนระเบียบข้อบังคับการทำงานใหม่ๆ และได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาเป็นการส่งท้าย

ประเด็นที่ผมพูดกับหัวหน้าหน่วยพม.ได้แก่:

                1)ผมมีความพอใจการทำงาน 16 เดือนที่พม.มาก

                2)ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนใน 5 ประการ คือ (1)บทบาท   ภาพภจน์และเกียรติภูมิของกระทรวงพม.เปลี่ยนไปมาก  (2)กรอบคิดและโครงสร้าง  (3)การเปิดกระทรวงพม.ออกไปสัมพันธ์กับเครือข่ายทางสังคมระดับภูมิภาคและท้องถิ่นทำให้กระทรวงพม.มีเพื่อนและภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิม  (4)ได้สร้างเครื่องมือทางนโยบายมากเพียงพอ  (5)สามารถพลิกวิกฤตจากพายุจริยธรรมมาเป็นโอกาสในการวางรากฐานธรรมาภิบาลขององค์กร

                3)ผมขอฝากพม.ไว้4 เรื่อง – ขอให้รู้รักสามัคคี…สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง

– งานริเริ่มใดที่คิดว่าสร้างสรรค์ดีขอให้ทำต่อ 
   อะไรที่เห็นว่าไม่เหมาะก็ทิ้งไป

                                                                                – ขอจงภูมิใจในศักดิ์ศรีพม.  โดยไม่หวังพึ่งภายนอก

                                                                                   หรือรอคอยนักการเมือง

                                                                                – ขอให้เรียนรู้  และปรับตัว  เพื่อรับการ                                                                                                                           เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

                4)ทิ้งท้ายว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติ  ของจักรวาล  ของโลก  และของประเทศ  รวมทั้ง พม.

– 18.00น. มีงานเลี้ยงอำลาที่รร.ปริ้นซ์พาเลซ  รมว.ไพบูลย์ ไปร่วมเป็นประธาน

– รมว.กล่าวอำลาข้าราชการ  โดยมีรมช.ยืนอยู่ข้างๆ  หลังจากนั้นขรก.มอบดอกไม้และถ่ายรูปร่วมกัน

– กลุ่มนักข่าวสังคมประจำกระทรวงพม. เข้ามามอบกระเช้าผลไม้  และการ์ดขอบคุณ  พวกเขากำชับว่าท่านรัฐมนตรีต้องเปิดดูการ์ดที่พวกเขาเขียนให้ได้นะ  เพราะเขียนกันด้วยหัวใจ  อ่านดูบนรถจึงรู้ว่า  พวกเขาพอใจรมช.พม.เป็นพิเศษ…มีคำสดุดีและอวยพรว่าเป็น แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ , ผู้เสียสละเพื่อพม. ฯลฯ

29 ม.ค.

– 9.00น. ออกร่วมปฏิบัติการ ตรวจหอพักเพื่อจัดระเบียบกับเครือข่ายตำรวจ ปดส.,มหาวิทยาลัยและกระทรวงพม.  ที่ม.ราม2, เข้าตรวจหอพัก 4 แห่ง  ผิดระเบียบทุกแห่ง  และไม่จดทะเบียนสักแห่ง  การเข้า Charge ครั้งนี้เป็นข่าวที่ผู้สื่อข่าวทั้ง TV ทุกช่องและนสพ.รายงานอย่างทันควัน  ถือเป็นภาพปฏิบัติการที่ ดุดันจริงจัง ในยกสุดท้ายของรมช.พม.  เด็กนศ.ที่อยู่ในหอพักเหล่านี้80%อยู่กันปะปนหญิงชาย  และอยู่เป็นคู่ๆ  น่าตกใจมาก

– ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนตามกันตลอดทั้งสัปดาห์  รายการโทรทัศน์/วิทยุ  สัมภาษณ์ขยายผล  และแสดงความพอใจกันมาก  อยากให้รมต.ใหม่สานต่อ  แต่ผมมิได้คาดคั้น  ใช้ท่าทีทางบวก  ให้กำลังใจ  และชี้เป็นการดำเนินงานตามกม.ไม่ใช่นโยบายใหม่

– 12.45น. คุณไพศาล  สุริยวงศ์ไพศาล  ที่ปรึกษาของปตท.  ท่านเป้นคอลัมนิสต์ นสพ.ผู้จัดการ  และเป็นผู้เชี่ยวชาญภูมิปัญญาตะวันออก  นำรายการ TV ของสถานี Tang R TV มาขอบันทึกภาพและเสียงของรมช.พม.เพื่อนำไปออกอากาศทั่วโลกอวยพรวันตรุษจีน  ผมถือโอกาสสรรเสริญปิดท้ายว่า คนจีนคือพลังสันติภาพของโลก  ซินเจียยู่อี่  ซินนี้ฮวดไช้

– 13.00-15.00น. พิธีอำลาหัวหน้าหน่วยงานส่วนกลางพม.ที่ห้องปกรณ์  รก.ปพม.เป็นผู้นำขรก.พูด  ฟังแล้วรู้สึกชื่นชมแต่ในส่วนลึกผมยังมีอารมณ์เศร้ากับเรื่องอื้อฉาวในกระทรวงอยู่บ้าง  รมว.กล่าวขอบคุณขรก.และบอกว่าหลังจากนี้ท่านจะหยุดงานนิ่งๆ สัก 2 เดือน  และท่านได้ตั้งมูลนิธิหัวใจอาสาขึ้นมาเพื่อเป็นองค์กรเฉพาะที่ท่านอยากจะทำในเรื่องส่วนรวมที่ท่านรัก  ส่วนรมช.ร่ายกลอนทั้งน้ำตา ลาที-…มิใช่ลาก่อน เล่นเอาที่ประชุมขี้มูกโป่ง  น้ำตาไหลตามกันไป

หลังงานอำลา  มีคนขอต้นฉบับบทกลอนจากคุณโอ๋หลายคน  ผมจึงบอกว่าตั้งใจจะเขียนลงจดหมายฉบับที่ 9 อยู่แล้ว  รอติดตามจากนั้นได้

30 ม.ค.

– เดินทางไปหาดใหญ่-ปัตตานี  เปิดงาน Workshop สรุปบทเรียนและชี้แจงองค์กรภาคีที่สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครกู้ภัยมุสลิม ฮิลาลอะห์มัร ที่โรงแรมซีเอส

งานโครงการอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและส่งต่อผู้บาดเจ็บจชต.ทำงานมาได้ 4 เดือนแล้ว  มีผู้รับบริการ 790 คน  เป็นการทำงานที่คึกคักดีมาก  จำนวนคนเจ็บน้อยลงแต่ได้ช่วยคนป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น  สสว./พม.ตั้งงบประมาณสำหรับปี 2552 ไว้ต่อเนื่องให้แล้ว

วรรณชัยไปด้วย  ขณะอยู่ที่ปัตตานีดอนมัวสาละวนกับการแก้ปัญหา รายากูนิง เรื่องมีอยู่ว่า มีนักเขียนสตรีคนหนึ่งของเครือ Nation ร้องโวยขึ้นมาว่า  ทมยันตีไปลอกความรู้ของเขามาเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้!  ฟังดูแล้วเป็นเรื่องเป็นราวอยู่เหมือนกัน  แต่ไม่หนักใจเพราะเชื่อมั่นว่า ดร.รัตติยา, ดร.ครองชัย  รวมทั้งคุณทมยันตี คงมีองค์ความรู้  ข้อมูล  และวิธีการจัดการได้ 

– อ่านข่าวบนเครื่องบินขาไป  ไทยรัฐพาดหัวข่าว พลเดชโชว์ฝีมือจัดระเบียบหอพัก  

เดลินิวส์ลงหน้า 1 พม.จัดระเบียบหอพัก  31 ม.ค.

– ไปหาดใหญ่  บรรยายเรื่องเมืองน่าอยู่เป็นเวทีสุดท้าย  ผมกล่าวทิ้งทวนต่อที่ประชุมว่าขบวน เทศบาลเข้มแข็ง- เมืองน่าอยู่ จะเคลื่อนต่อไม่ว่าพม.จะเข้าร่วมขับเคลื่อนต่อหรือไม่ก็ตาม  และผมประกาศ 4 ภารกิจที่รมช.พลเดชจะทำเมื่อหมดวาระ คือ 1)HC-เทศบาลเข้มแข็ง  2)ประชาคมจังหวัด  3)จชต.  4)คอร์รัปชัน  ปรากฏว่ามีเวทีภาคใต้ขานรับกันเกรียว

1 ก.พ.

– 9.00น. บันทึกเทปรายการ ทนายคลายทุกข์ ซึ่งลงทุนมาสัมภาษณ์ที่ตึกวัง  ในประเด็นจัดระเบียบหอพัก

– 10.00น. เป็นประธานมอบรางวัลหนังสือเพื่อพ่อ  ประกวดบทเรียงความตามรอยเท้าพ่อของเด็กเยาวชน  บริษัทเอกชนร่วมกับสท.ดำเนินการ

– 11.00น. ไปร่วมประชุมกับอาจารย์ประเวศ  วะสี  ที่สสส.  ท่านเสนอยุทธศาสตร์อบต.เข้มแข็ง 

– 13.00น.ไปออกรายการสด TV9 บ่ายนี้มีคำตอบ เรื่องหลักประกันสุขภาพ  เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณหมอสงวนที่เพิ่งถึงแก่กรรม  มีนพ.วิชัย  โชควิวัฒน  และ ทพญ.อพภิวันท์  นิตยารัมภ์พงศ์ (ภรรยาของคุณหมอสงวน)  และ รมช.พม.  โดยมีคุณวิศาล  ดิลกวาณิช เป็นพิธีกร  เข้าใจว่าจะเป็นการออก TV ครั้งสุดท้ายในตำแหน่งรมต.

– 17.00น. เลี้ยงขอบคุณจนท.สร.พม. ที่ร้านอาหารรถเสบียง  สามเสน

2 ก.พ.

– 9.00น. ไปร่วมประชุมสัมมนาและกล่าวความเป็นมาเปิดเวที  สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม (สปรย.) ของดร.พิเชษฐ์  เมาลานนท์และคณะ  พบอ.ประเวศ  ได้คุยกันถึงเรื่องปัญหาอุปสรรคและความก้าวหน้าของสปรย.  ท่านเข้าใจดีมากขึ้นและมีท่าทีอยากสนับสนุนให้ดร.พิเชษฐ์ทำงานต่อ  โดยมอบให้พลเดช ช่วยคิด

3 ก.พ.

– 9.00-12.00น. ไปบรรยาย นศ.หลักสูตรปริญญาโท  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หัวข้อ ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรสวัสดิการสังคม  คงเป็นบรรยายสุดท้ายในตำแหน่งเช่นกัน

 

4 ก.พ.

– ข่าวนสพ.ยังคงลงผลสะท้อนจากการออกจัดระเบียบหอพัก  มีข่าวพมจ.และผวจ.หลายจังหวัดออกตรวจหอพักและจัดระเบียบ  คอลัมนิสต์หลายฉบับเขียนถึงเพื่อแสดงความเห็นเสริมในแง่มุมต่างๆ  นั่นแสดงว่า หมัดหนักในยกท้าย ส่งผลแล้ว

– นสพ.โพสต์ทูเดย์ ให้เครดิตด้วยการประเมินว่า ครม.ขิงแก่ลงโลงไปแล้วด้วยความเซ็ง  มีก็แต่รมว.ไพบูลย์และรมช.พลเดช เท่านั้นที่สร้างผลงานโดดเด่นไว้  ด้วยการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลและสร้างหลักศิลาจรรยาบรรณพม.เป็นรากฐาน(3 กพ.51)

– 9.00น. ไปเปิดงานสัมมนาวิชาการ ทิศทางกฎหมายสายสังคม ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯจัดขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์  สืบเนื่องมาจากบทเรียนการผลักดันกม.ของรมช.พม. ทำให้เครือข่ายต้องกลับมาสรุปและระดมความคิดหาแนวทางที่เหมาะสม

·       ดร.พิเษฐ์  เมาลานนท์  เสนอได้ดีมากในกรณี กม.ที่ไม่มีบทบังคับลงโทษสมควรเป็นกม.ได้หรือไม่  โดยแยกแยะระหว่างคำว่า Sanction  กับPunishment และชี้ว่า (Sanction with no punishment –ก็มีได้)

·       กรณีกม.รัฐธรรมนูญระบุสิทธิเอาไว้แล้ว  ทำไมยังต้องออกเป็นกฎหมายอีก  ดร.พิเชษฐ์  เมาลานนท์ เปรียบเทียบลักษณะของกฎหมาย 4 ระดับ อย่างชัดเจน

Constitution         – ไม่ควรยาว

Basic Law            – เป็นกม.นโยบายพื้นฐานที่ขยายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ

Act                         – คือ พรบ. ซึ่งกำหนดรายละเอียดเฉพาะเิ่มเติม

Other                     – เป็นแนวปฏิบัติ เช่น ระเบียบคำสั่ง             

·       ดร.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล เน้นการบังคับใช้กม.ที่มีอยู่ให้มากขึ้น  ว่าถือเป็นการ exercise ภาคพลเมือง

5 ก.พ.

– อยู่บ้านทั้งวัน  ถือโอกาสพักผ่อนให้สมองว่างๆ

– ทบทวนภารกิจที่ได้ทำไปในช่วงบริหารงานกระทรวงพม.  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้บันทึกไว้แล้วในหนังสือ 60 เรื่องเด่นเรื่องดีปี 50

60 เรื่องเด่น  เรื่องดี ปี 50

ก.  เผชิญปัญหาเก่า  ด้วยกรอบคิดใหม่

                1.  34 ปีที่รอคอย :  เงินชดเชยวีรชนผู้พิการจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

                2.  เครือข่ายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย :  ทุนมนุษย์และภูมิปัญญาที่ถูกลืม

                3.  เรียนรู้รักบ้านเกิด :  เพื่อพี่น้องผู้ที่ยากไร้  รวมดวงใจของเราฟันฝ่า

                4.  ผลกระทบโครงการบ้านเอื้ออาทร :  บำบัดเยียวยาโรคพิษคอร์รัปชัน

                5.  พัฒนาชุมชนดินแดง :  ไม่ใช่แค่ทุบแฟลต  แต่คือการพัฒนาชุมชนที่ครบวงจร

                6.  ชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชนกระชุ่มเดี่ยว :  แก้ปัญหาสลัมถูกไล่รื้อ

                7.  หอพักและพื้นที่สีขาว :  จัดระเบียบสังคมเพื่อเด็กและเยาวชน

                8.  จากแก็งลักเด็กสู่การค้ามนุษย์ :  การค้าทาสยุคโลกาภิวัตน์

                9.  คืนคนดีสู่สังคม :  รองรับผู้พ้นโทษ 25,000 คนในเชิงรุก

                10. ชะตากรรมที่เกาะนิโคบาร์ :  ปฏิบัติการช่วยเหลือชาวมอแกนไร้สัญชาติ

                11. หนี้มาราธอนในนิคมสุคิรินทร์ :  ปลดพันธนาการชาวนิคมสร้างตนเองชายแดนใต้

ข.  ต่อยอดการพัฒนาด้วยนวัตกรรม

                12. เวทีประชาธิปไตยชุมชน :  ถอดสลักความรุนแรง 926 อำเภอ

                13. วาระเพื่อเด็กและเยาวชน 2550 :  ความหมายที่มากไปกว่าคำขวัญวันเด็ก

                14. บ้านราชวิถีฟอรั่ม :  เวทีประชาคมพม.  จับชีพจรปัญหาสังคม

                15. เบี้ยยังชีพและกองทุนผู้สูงอายุ :  หาทางรับมือสังคมสูงวัย

                16. เยาวชน 1000 ทาง :  สร้างเสริมเครือข่ายเยาวชนเข้มแข็ง

                17. ค่ายดนตรีเยาวชนประชาธิปไตย :  พัฒนาความคิดด้วยดนตรีเป็นสื่อ

                18. บทบาทสตรีในการปกครองท้องถิ่น :  รณรงค์เพิ่มสัดส่วนนักการเมืองสตรี

                19. บ้านมั่นคง :  นวัตกรรมบ้านคนจน

                20. ฮิลาลอะห์มัร :  เครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยมุสลิมชายแดนใต้

                21. ศูนย์สันติยุติธรรม :  กลไกภาคประชาชนเพื่อสันติสุขและยุติธรรม

                22. การพัฒนาสวัสดิการชุมชน :  บูรณาการระบบสวัสดิการเพื่อชุมชนท้องถิ่น

                23. ชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข :  นำร่องครอบครัวสีขาวไม่เอาการพนัน

                24. กองทุนธารน้ำใจชาวพม. :  ทำบุญวันละบาทเพื่อผู้ยากลำบาก

ค.  สร้างสรรค์งานเชิงยุทธศาสตร์

                25. เครือข่ายชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา :  ฟื้นบทบาทพม.  ร่วมฉลองวันชาติพันธุ์โลก

                26. เตรียมตัวสู่สังคมผู้สูงอายุ :  พัฒนาระบบการออมเพื่อวัยชรา

                27. คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน :  พัฒนานโยบายส่งเสริมสวัสดิการสังคม 4 ระดับ

                28. วาระการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม :  มาตรการทางนโยบายเพื่อจิตอาสา

                29. บูรณาการระบบสวัสดิการชุมชน :  ถักทอตาข่ายนิรภัยทางสังคมระดับฐานราก

                30. ยุทธศาสตร์สังคมเพื่อจังหวัดชายแดนภาคมใต้ :  การพัฒนาที่ใช้ความมั่นคงของมนุษย์

                                                                                                                    เป็นตัวตั้ง

                31. รายากูนิง :  ละครโทรทัศน์เพื่อลบรอยร้าวของแผ่นดิน

                32. Issue Book :  เอกสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคม

                33. สมัชชาครอบครัวแห่งชาติ :  การเคลื่อนไหวสังคมเพื่อจุดประกายปัญญา

ง.  ประดิษฐ์เครื่องมือทางนโยบาย

                34. ดัชนีความน่าอยู่ของเมือง :  เครืองมือวัดการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน

                35. ตามหาคนดี :  เครื่องมือสร้างกระแสเชิงบวก  ขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม

                36. โจทย์ของแผ่นดิน :  8 ประเด็นสาธารณะที่เป็นระเบียบวาระของสังคม

                37. รางวัลประชาธิปไตยสีขาว :  รางวัลที่เด็กมอบให้ผู้ใหญ่

                38. งานรวมพลคนสร้างสรรค์สังคม :  มหกรรมงานวิชาการพม.  ร่วมสร้างสังคมดีงาม

                39. พรบ.สภาองค์กรชุมชน :  กลไกส่งเสริมและสนับสนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชน

                                                                      ท้องถิ่น

                40. การส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ :  ความพยายามในการนิยามคุณธรรมในความหมายกว้าง

                41. (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา :  เสริมพลังอาสาสมัคร  ประชาสังคม

                     และธุรกิจเพื่อสังคม

                42. (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัว :  สร้างภูมิคุ้มกันของสังคมไทยจากหน่วยพื้นฐาน

                43. พรบ.พัฒนาเด็กและเยาวชน :  ยกระดับกลไกรับผิดชอบงานเด็กและเยาวชนของชาติ

                44. พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม :  ขยายฐานสวัสดิการโดยรัฐเชื่อมระบบสวัสดิการ

                                                                                                  ชุมชน

                45. (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต :  บุกเบิกสวัสดิการสังคมสำหรับชุมชนมุสลิม

                46. พรบ.ควบคุมคนขอทาน :  คุ้มครองสิทธิและเคารพในความเป็นมนุษย์

                47. พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว :  ความรุนแรงในครอบครัวเป็น

                                                                                                                                    เรื่องที่สังคมไม่ต้องการ

                48. พรบ.หอพัก 2507 :  ความล้าหลังของกฎหมายที่ต้องปรับปรุง

                49. พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ :  เพื่อศักยภาพหน่วยงานเพื่อรองรับ

                                                                                                                  ภารกิจที่ซับซ้อน

 

จ.  เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

                50. คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ :  จัดตั้งกลไกกำหนดทิศทางนโยบายความ

                                                                                                        มั่นคงและการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศ

                51. ส่งเสริมการให้  จูงใจด้วยภาษี :  ออกมาตรการภาษีเพื่อสังคม

                52. หลักจรรยาบรรณพม. :  คุณค่าหลัก 8 ประการขององค์กรที่ชาวพม.ร่วมกันกำหนด

                53. ธรรมาภิบาลพม. :  ความพยายามในการปรับโครงสร้างภายหลังกระแสพายุจริยธรรม

                54. ศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคม :  หน่วยปฏิบัติงานภายในสำหรับบุกเบิกงานธุรกิจเพื่อสังคม

                55. ศูนย์สนับสนุนการป้องกันและลดความรุนแรง(ศปลร.) :  กลไกเชื่อมร้อยสายด่วนระดับ

                                                                                                                                   ปฏิบัติการ

                56. สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม :  ความพยายามยกระดับกองบริหารกองทุนสู่สำนักงาน

                                                                                  กองทุนเพื่อสังคม

                57. สถาบันวิจัยและจัดการทางสังคม :  บนเส้นทางสู่การเป็นหน่วยยุทธศาสตร์ด้านสังคมของ

                                                                                        ประเทศ

                58. สำนักกิจการชาติพันธุ์ : พื้นภูมิปัญญาพม.  รองรับประเด็นชาติพันธุ์ของโลก

                59. สำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา : หน่วยหลักสำหรับการบุกเบิกงานอาสาสมัคร

                                                                                                      CSR และงานประชาสังคมของประเทศ

                60. APCD :  ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิค

6 ก.พ.

– ระฆังหมดยก!

– การทำงานในกระทรวงพม.5+11 เดือน  กับหนังสือรวบรวมงานที่เป็นเรื่องเด่นเรื่องดี ปี 50 จำนวน 60 ชิ้น ถือเป็นผลงานที่ไม่เลวเลยทีเดียว  รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตที่สามารถประคองตัวผ่านความขัดแย้งอันเนื่องมาจากวิกฤตคุณธรรม และธรรมาภิบาลในพม.มาได้อย่างโชกโชน แม้ว่าจะมีกลุ่มผู้ถูกขวางผลประโยชน์ส่วนหนึ่งพากันโกรธแค้นบ้างก็ตาม  ทุกอย่างจบลงแล้ว  กระสุนด้านหมดทุกนัดเพราะสื่อมวลชนรู้เท่าทันและไม่เล่นด้วย  ระฆังหมดยกพอดี

– กู๊ดบาย พม.

Be the first to comment on "ตอนที่ 75 ระฆังยกสุดท้าย"

Leave a comment

Your email address will not be published.