ตอนที่ 9 “ไม้พ้นต้องลงมือ”

          ตลอดสัปดาห์นี้ อาจารย์ประเวศเป็นฝ่ายกดดันพวกเรา เพราะอาจารย์ท่านอยากเห็น “เอกสารยุทธศาสตร์” ที่มอบการบ้านให้ และพี่เอนก รับปากว่าจะเป็นผู้จัดทำ

          อาจารย์ท่านก็ใจร้อน ท่านอยากเห็นกระทรวง พม. แสดงฝีมือบ้าง หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกหมัดไป 2-3 ดอกแล้ว   ยิ่งสื่อมวลชนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า รมว.ไพบูลย์ เชื่องช้า อาจารย์ประเวศก็ยิ่งร้อนใจ
          ในที่สุดรอจนถึงวันศุกร์ ดูท่าพี่เอนกคงจะไม่ทำอะไรมากกว่าที่เขียน Diagram เอาไว้ และสั่งให้น้องๆ ถอดออกมาเป็นภาษาเขียน ซึ่งผมดูเอกสารแล้วคิดว่ายังไม่สามารถนำไปใช้เป็นเอกสารยุทธศาสตร์ของกระทรวงได้ สุดท้ายจึงต้องลงมือเขียนเอง

24 ต.ค. เป็นวันประชุม ครม. ตอนเช้า   บ่ายประชุมคณะผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวง พม. รมว.เล่าเรื่องจาก ครม. ให้ที่ประชุมฟัง ทีม รมว. ช่วยกันให้ข้อมูลการเตรียมงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 จังหวะได้แก่

          5 พ.ย. – – เวทีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกันกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่พมจ.และแกนเครือข่ายประชาสังคมทั่วประเทศ
          6 พ.ย. – – เวทีประกาศขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน
          17 พ.ย. – – เวทีจุดประกายปฏิรูปสังคมไทย
          27 พ.ย. – – เวทีสมัชชาปฏิรูปสังคมไทย
          รมว.ไพบูลย์ แสดงบทบาทครูใหญ่ ท่านให้เวลาในการสอนงานข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงอย่างขยันขันแข็ง จนบางคนอาจรู้สึกว่ามากเกินไปหน่อยแต่เนื่องจากเป็นช่วงแรกๆ จึงไม่มีปฏิกิริยาอะไรนัก
          25 ต.ค. วันนี้ทีมปลัดวัลลภ พลอยทับทิม, ผอ.สุวินัย …… และคุณชินชัย ชี้เจริญ มาปรึกษาเรื่องโครงการของครูชบ ยอดแก้ว   ปรมาจารย์ใหญ่ด้านกองทุนสัจจะสะสมทรัพย์ และกองทุนสวัสดิการวันละบาท
          ครูชบ ยอดแก้ว เป็นผู้นำชุมชนระดับปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญแห่งสงขลา เป็นผู้ริเริ่มดัดแปลงระบบ “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเสริมทั่วประเทศ มาเป็น“กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชีวิต” ตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมากจนบัดนี้ขยายตัวไปทั่วประเทศ
          ต่อมาพระอาจารย์สุบิน ปณีโต แห่งวัดไผ่ล้อม จังหวัดตราดได้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นสัจจะสะสมทรัพย์ยิ่งมีความเหมาะสมขึ้นไปอีก จนกระทั่งเผยแพร่ไปตามสายพระสังฆะพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก
          ทั้ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ รวมทั้งกองทุนชุมชนอื่น ๆ, ธนาคารหมู่บ้าน, เครดิตยูเนียน ฯลฯ ล้วนเป็นฐานกำลังสำคัญในการฟื้นความเข้มแข็งของสังคมไทยที่ฐานราก คือที่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงในเวลาต่อมา
          ครูชบ มีความพยายามที่จะเสนอโครงการในลักษณะ Matching กับภาครัฐ ผมจำได้ว่าปี 2542 ที่ผมเริ่มมารับงาน LDI แทนเอนก นาคะบุตร และไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นั้น พวกเขาก่อตัวเป็นเครือข่ายBank Poor Net ขึ้นมาแล้ว คราวหนึ่งมีการประชุมที่ LDI ครูชบ และ น้าเคล้า ยอดเพชร), น้าอัมพร (ด้วงปาน) ได้ร่วมกันเสนอว่า ถ้ารัฐบาล (ชวน หลีกภัย ในขณะนั้น) สมทบเครือข่าย BPN สักจังหวัดละ 10 ล้าน ก็แค่เงิน 760 ล้านเท่านั้น พวกเขารับประกันว่าจะจัดสวัสดิการชุมชนครบวงจรชีวิตให้ครอบคลุมทุกจังหวัดได้เลยในทันที
          ตอนนั้นรัฐบาลไม่ได้ทำ ก็คงไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างไรด้วย ในที่สุดเมื่อเอนก นาคะบุตร ไปบริหารกองทุน SIF (Social Investment Fund) ที่ธนาคารออมสิน เอนกได้อนุมัติโครงการ matching ไปให้เครือข่ายจังหวัดสงขลาของครูชบและคณะ ประมาณ 13 ล้านบาท ซึ่งก็มีส่วนช่วยเสริมให้เครือข่ายครูชบแข็งแรงมากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น
          ครูชบเป็นประธานเครือข่าย BPN ต่อมาอีกหลายปี โดยมี พอช. เป็นองค์กรรับช่วงสนับสนุนไปจาก SIF และ LDI  ครูชบได้รับการสนับสนุนจากพอช.ให้เดินสายประชุมและฝึกอบรมเครือข่ายออมทรัพย์ไปทั่วประเทศ ตอนแรกคึกคักมาก ต่อมาค่อย ๆ แฝงไป แต่งานก็ขยายไปตลอดเวลา และนับวันยิ่งมั่นคง แม้มีนโยบายกองทุนหมู่บ้านหว่านลงไปทุกหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท ก็ไม่ทำให้พวกเขากระทบกระเทือน ตรงกันข้ามพวกเขากลับแข็งแรงพอที่จะจัดการกองทุน 1 ล้านบาทที่ตกลงไปในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี และสบายๆ ซึ่งผิดกับหมู่บ้านที่ไม่เคยทำกองทุนสัจจะมาก่อน มักจะถูกเงินของรัฐบาลไปทำให้อ่อนแอ!
          ต่อมาครูชบได้ไปเห็น idea ที่ดีๆ จากคุณสามารถ พุทรา ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งริเริ่ม “เงินออมวันละ 1 บาท เพื่อจัดสวัสดิการชุมชน” สามารถก็เป็นหนึ่งในสมาชิก BPN นั่นเอง   หลังช่วยสามารถได้พักใหญ่ ครูชบตัดสินใจกลับไปปักหลักที่สงขลาอีกครั้งเพื่อบุกเบิก “เครือข่ายออมวันละ 1 บาท” มาเสริม ระบบสัจจะออมทรัพย์ที่มีอยู่เดิมอย่างจริงจัง จนปัจจุบันเขามีสมาชิก 50,000 คนแล้ว
          ตอนนี้ครูชบ ทำโครงการเสนอ พม. ขอการสนับสนุนลักษณะ matching แบบ 1:1 โดยเอาเงินออมของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 16 ล้านบาท ปัญหาของเจ้าหน้าที่พม.มีอยู่ว่า 1) จำนวนเงินไม่หยุดนิ่งแล้วจะเริ่มนับ 1:1 สมทบตั้งแต่เมื่อไร? 2) ภารกิจของ พม. คือ สวัสดิการถ้วนหน้า แต่กองทุนวันละบาทของครูชบเป็นระบบสมาชิกจึงขัดกัน 3) พม. ไม่มีหน้าที่จัดสรรเงินแบบกองทุน SIF เพราะเป็นราชการ จึงไม่มีอะไรประกันได้ว่า ปีที่ 2,3 จะเป็นอย่างไร ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะสนับสนุนโครงการต่อเนื่องแบบที่ครูชบต้องการได้หรือไม่ 4) เงินกองทุนเรามีน้อย
          โดยสรุปจึงเห็นว่า พม.ควรช่วยในลักษณะ Research + Development จะดีกว่า และกำหนดวงเงินสัก 10 ล้านก็น่าจะพอ
          เรื่องครูชบตอนเย็นนั้นก็คุยกันอีกในวงใหญ่ เอนกขันอาสาจะลงไปพบเวทีสวัสดิการชุมชนที่สงขลาด้วยตนเอง  ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่าไม่ควรพลีผลามตกปากรับคำเร็วเกินไป เพราะอาจมีปัญหาในระยะยาว
          26 ต.ค. ทีม สสส. นำโดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ (รอง ผจก.) และทีมสื่อ มาขอพบ ปรึกษาหารือเรื่องการสื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของ รมว. และกระทรวงพม.
          ขณะนี้ภาพของ รมว.พม. และทีมงานออกในสไตล์ชุมชนท้องถิ่นค่อนข้างมาก ในขณะที่งานของกระทรวง พม.นั้นกว้างกว่าเรื่องชุมชนท้องถิ่น มีเรื่องเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว คนพิการ คนด้อยโอกาส สวัสดิการสังคม ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องวางแผนแก้ไขปรับปรุง เชิงภาพพจน์กันสักหน่อยอันที่จริงในทีมของเราก็คิดและพยายามอยู่แล้ว แต่ สสส. ในฐานะภาคีพันธมิตรเป็นห่วงและขอปวารนาตัวมาช่วยอีกทางหนึ่ง
          พวกเขาเสนอว่าให้อาศัย Events ของกรมต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาเสริมด้านเนื้อหาสาระ เช่น วันอาสาสมัคร วันคนพิการ เป็นต้น
          ตอนสายทีมงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  2  คนมาพบผมที่กระทรวง  ท่านจิรายุ  อิศรางกูร ณ อยุธยา ส่งให้มาศึกษาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เราได้ขาย idea ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้พูดคุยขยายความตามที่คิดไว้มากพอสมควรถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงบน 3 ฐาน 1) ฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติ 2) ฐานทุนวัฒนธรรม 3) ฐานทุนภูมิปัญญาและปัจจัยการผลิตของปัจเจก
          ตอนท้ายผมได้ให้บทความ “ชุมชนคนรักป่า ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เขียนให้กับ “ลูกโลกสีเขียว” ในพิธีมอบรางวัลประจำปี 2549 ไป ฝากท่านจิรายุด้วย ทราบภายหลังว่าชอบมาก
          บ่าย  14.15 น.  มีนัดพบรองนายก  มรว.ปรีดียาธร เทวกุล ผมไปกับ รมว. และคุณจิริกา   นุตาลัย ท่านอยากพบรมว.ในฐานะที่ท่านเป็นรองนายกที่ดูแลกระทรวงนี้ ท่านอยากรู้ว่าเรามีงานอะไรที่เป็นยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนกันได้
          รัฐมนตรีได้พูดถึงงานเร่งด่วนและงานยุทธศาสตร์ในภาพรวมที่เราจะทำ ท่านรองนายกจึงเลือกจับงานรูปธรรมหลักๆ อย่างละ 1 ชิ้น เพื่อขอกระทรวงเน้นให้เกิดผลงานที่ชัดเจนให้รัฐบาลสามารถประกาศเป็นผลงานได้ภายใน 6 เดือน คือ  1)เรื่อง จชต. ท่านขอให้ทำเรื่องบ้านมั่นคง 2) เรื่องสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ส่วน 3)เรื่องสวัสดิการชุมชนและการเงินการคลังเพื่อสังคม (ท่านจะดูให้เอง)
          27 ต.ค. งานที่สำนักงานยังคงยุ่งทั้งวันเช่นเคย ผมจึงไม่ได้ไปร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เมืองทองธานีเลย ปล่อยให้ รมว. ไปที่นั่นโดยลำพัง ทราบภายหลังว่าพรรคพวกที่นั่นแซวว่า เลขา“ใช้ให้ รมว.ไปงานสมัชชาสุขภาพแทน” พี่ไพบูลย์เองก็ติดตลกพูดว่า “ผมถูกบริหารจัดการมาครับ”
          งานสมัชชาสุขภาพเป็นงานใหญ่ประจำปี ที่พวกเราจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ มีภารกิจในการออก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติให้เป็นธรรมนูญสุขภาพหรือกฎหมายแม่บทในด้านสุขภาพ ซึ่งกระบวนการร่างกฎหมายโดยประชาชนมีส่วนร่วมนี้แหละ คือกุศโลบายที่ทำให้สังคมมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจการปฏิรูปสุขภาพ จึงเกิดพลังต่อการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนบัดนี้ แม้ พ.ร.บ.สุขภาพยังไม่มี แต่การปฏิรูประบบสุขภาพในระดับความคิด – จิตสำนึกของสังคมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
          การปฏิรูปความคิดจิตสำนึกเป็นส่วนที่ยากที่สุดและต้องใช้เวลานานที่สุด ส่วนการปฏิรูปกฎหมายและระบบโครงสร้างนั้นไม่ยาก พวกเราเริ่มต้นขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพโดยสรุปบทเรียนของขบวนปฏิรูประบบการศึกษาที่ด่วนนำไปก่อนด้วยการออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2541 โดยทันทีที่ได้รัฐธรรมนูญ 2540 ในสมัยของคุณบรรหาร ศิลปอาชา เสร็จแล้วก็ไปติดหล่มการจัดแบ่งอำนาจของกรมต่างๆ จนบัดนี้ 8 ปีผ่านมาแล้ว แนวคิด ปรัชญา ความเข้าใจ จิตสำนึก ของครูและผู้บริหารทั้งกระทรวงยังเหมือนเดิม สังคมก็ไม่เข้าใจอะไรใหม่ นอกจากคำศัพท์ดูสวยหรูที่ปล่อยออกมาเป็นระยะ เป็นต้นว่า Child Centered แต่เด็กไม่ได้อะไรที่ดีขึ้นเลย กลับน่าเป็นห่วงเสียอีกว่าทั้ง IQ, EQ ของเด็กไทยมีแนวโน้มต่ำลง ผิดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม ที่กำลังแซงหน้าไปหมดแล้ว
          (ร่าง) พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ พวกเราใช้เป็นเครื่องมือเคลื่อนสังคมให้มีการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมเป็นขบวนการที่ใหญ่โตมาก เราใช้เวลา 2 ปีเต็มๆ (2543-2544) ในการจัดเวทีระดมสมอง เวทีเรียนรู้ ให้ผู้คนมาร่วมคิดร่วมสร้างหนทางสุขภาพเกือบหนึ่งพันเวที มีผู้คนเข้าร่วมหลายแสนคน แล้วยังมีมหกรรม มีสมัชชา มีการวิ่งรณรงค์ และรวบรวมรายชื่อ 5-6 ล้านรายชื่อเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ. จนในที่สุดสมัชชาสุขภาพปี 2545 นายกรัฐมนตรี (ทักษิณ) และ รมว. สธ. (สุดารัตน์) มารับร่าง พ.ร.บ. ด้วยตนเอง ที่ศูนย์ประชุมไบเทค ต่อหน้าประชาคมสุขภาพ 3,000 คน พร้อมกับบอกว่ารัฐบาลขอสนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับนี้ และจะนำเข้าสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป
          แต่จนแล้วจนรอด รัฐบาลเอา พ.ร.บ.ไปดองเค็มไว้ เพราะนายกมีอคติว่า “มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแล้ว(30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งเป็นนโยบายของพรรค ทรท.) ไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติอีกก็ได้” และอาจคิดว่า “พ.ร.บ.สุขภาพเป็นผลผลิตมาจากรัฐบาล ปชป.” พวกเราทวงถามด้วยวิธีการต่างๆ นานา ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของวงการช่วยกระทุ้ง ทั้งสื่อมวลชนทวงถาม แต่ก็เหลวทั้งเพ ยิ่งตอนหลังทักษิณเริ่มมี Conflict กับภาคประชาสังคมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งเรื่อง สสส. ที่รัฐบาลจ้องจะฮุบเอาไปจัดการเสียเอง จนเกิดเรื่องการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่าง รองนายก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์กับพวกเราประชาคมสุขภาพช่วงปี 2546 -2547
          กลับมาที่ (ร่าง) พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เมื่อรัฐบาลดองเค็มเช่นนี้ เดือดร้อน ผอ.สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (นพ.อำพล จินดาวัฒนะ) จำต้องตัดสินใจร้องขอให้ LDI ช่วยรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมายกันเอง
          คราวนั้น LDI รับภารกิจนี้มา จัดการระดมรายชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วยจำนวน 100,000 รายชื่อ จัดขบวนฑูตสุขภาพ 99 คน นำเสนอร่างพ.ร.บ.โดยตรงต่อรัฐสภา ประธานรัฐสภาคือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน มารับ (ร่าง) พ.ร.บ. พร้อมรายชื่อประชาชนด้วยตนเอง
          จากนั้นไม่นานรัฐบาลจึงแก้เก้อด้วยการตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับที่ประชาชนเสนอให้กับมือ โดยดึงกลับมาดูอีกครั้ง คราวนี้มีคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะทำงาน แล้วดัดแปลงร่างเดิมของภาคประชาชนที่มอบให้จัดทำเป็น Version ใหม่ที่สั้นกระชับ แล้วเสนอต่อรัฐสภาเข้าไปคู่กับ (ร่าง) ที่ภาคประชาชนเสนอมา
          (ร่าง) พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับค้างอยู่ที่รัฐสภา จนกระทั่งหมดสมัย 4 ปีแรกของรัฐบาล ทรท. เข้าสู่การเลือกตั้ง 2548 แล้วก็เกิดวิกฤตทางการเมืองเรื่อยมาจนเลือกตั้งใหม่ปี 2549 (3 เมษายน) และในที่สุดก็มีการรัฐประหารโดย คปค. เมื่อ 19 กันยายน 2549 จึงเป็นอันว่าจบไป
          มาในรัฐบาลชุดนี้ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติรุ่นนี้ นพ.อำพล (ผอ.สปรส.) มาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วยตนเอง และเป็นสมาชิก สนช.ด้วย พี่แกหมายมั่นปั้นมือว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติต้องออกแน่ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้จึงมีความหวังในเรื่องนี้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม
          เสียดายที่ผมไม่ได้ไปร่วมงาน ทราบมาว่าอาจารย์ประเวศ วะสีเองก็ไม่ได้ไปเช่นกัน แต่ผู้ใหญ่ท่านอื่นยังคงไปพร้อมเพรียงทุกคน
          สำหรับการต่อสู้ที่ สสส. นั้นวันหลังควรจะมีโอกาสได้บันทึกเรื่องราวเอาไว้บ้าง
          กลางคืน 27 ต.ค. มีนัดทานข้าวที่โรงแรมรอยัลปรินเซส หลานหลวง กับคณะของ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) 4 คน พวกเขาตั้งใจจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเคหะแห่งชาติและโครงการบ้านเอื้ออาทร
          ได้ฟังเรื่องราวของ กคช.ในยุคที่ผ่านมา ผมเกิดความหดหู่สลดใจยิ่งนักเพราะทุกฝ่ายทุกคนที่เข้ามาบริหาร กคช. ทั้งนักการเมืองและผู้ว่าการเคหะและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ต่างรุมกินเนื้อ กคช.จนเหลือแต่หนี้สินบานเบอะ พร้อมกับบ้านเอื้ออาทรจำนวนหลายแสนยูนิตที่ไม่มีทางขายออก เพราะสร้างในที่ที่ทำเลไม่เหมาะสม เนื่องจากให้ผู้รับเหมาไปหาที่สร้างเอาเอง เมื่อได้โควต้าไปจึงหาที่ถูกๆ หรือที่ที่ตนเองมีอยู่แล้วเพื่อลดต้นทุน
          รมว.พม.ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ว. มีข่าวว่าเรียกค่าหัวคิวจากผู้รับเหมา ยูนิตละ 10,000-15,000 บาท โดยเก็บเป็นเงินสดทันที
          โดยทั่วไปผู้รับเหมารายเล็กคิด 15,000 บาท/ยูนิต แต่รายใหญ่ๆ อย่างอิตัลไทยที่ได้โควตาเป็นแสนยูนิตนั้นเก็บเพียง 10,000 บาท/ยูนิต เพิ่งเห็นว่าคอร์รัปชันก็มีการลดราคากันได้ด้วย
          พวกเขาเล่าเปรียบเทียบให้ฟังว่า “วันที่คุณหมอเขาไปที่ กคช. คุณหมอเป็นเลขา รมว. คุณหมอสะพายกระเป๋าสีดำเล็กๆ ใส่เอกสาร แต่ยุคนั้นเขาเล่นลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ๆ เลย พอรถจอดชั้นใต้ดิน เขาจะล็อค Lift ไว้เป็นการเฉพาะ ขึ้นลิฟต์จากใต้ดินไปยังชั้น 16 ที่เราประชุม และมีการจ่ายเงินสดกันที่นั่น จากนั้นก็ลง Lift ขึ้นรถตู้แล้วกลับออกไป! เป็นอย่างนี้ตลอดระยะเวลาที่บริหารกระทรวง พม. กระทรวงที่เล็กๆ ที่ไม่มีใครอยากมาบริหารเพราะเป็นเกรด C แต่ รมว.ว.สวาปามไปไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาททีเดียว
          “ผู้รับเหมารายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ขณะกำลังขับรถที่ภูเก็ตจะมาขึ้นเครื่องเพื่อเอาเงินมาให้นักการเมือง หอบเงินมาประมาณ 5 ล้านบาท รมว.ว.โทรเข้ามือถือด้วยตนเอง เช็คว่าจะมาจริงหรือเปล่า “นี่กูนะ…รัฐมนตรีไง….กำลังมาใช่ไหม? ….เตรียมเงินมาพร้อมหรือเปล่า….เออดีมาก….กูจะรอ” ผู้รับเหมามาเล่าให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของการเคหะที่มาพบฟังด้วยความตกใจและสมเพช
          เมื่อถามถึงวิธีแก้ปัญหา กคช. พวกเขาบอกว่าแม้สถานการณ์จะเลวร้ายมาก แต่ก็ยังมีวิธีแก้ ผมนึกในใจว่า หนี้เน่าที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจสุดท้าย รัฐบาลก็ต้องอุ้มโดยใช้ภาษีประชาชนนี่แหละ ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็คือล้มละลาย แต่รัฐวิสาหกิจไม่เป็นแบบนั้น
          ผมขอให้พวกเขาทำ paper ส่งถึงมือผมขอให้เสนอแนะด้วยว่าจะมีแนวทางการแก้ปัญหา กคช.อย่างไร และขอภายในวันจันทร์ (ให้เวลา เสาร์-อาทิตย์ไปเขียนมา)
          โดยสรุปที่ได้จากการพูดคุย วิธีแก้ปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทร คือ (1) ต้องเปลี่ยนบอร์ด กคช. ทั้งชุดทันที (2) เมื่อได้บอร์ดชุดใหม่ต้องดูแลการแต่งตั้งผู้บริหารระดับ 10-11 (ระดับ ผช.ผวก. และผู้ตรวจการ) ประมาณ 5 ตำแหน่ง ไม่ให้คนของอดีตผจก.คนก่อนเข้ามา (3) ต้องหยุดโครงการบ้านเอื้ออาทรทันทีแล้วประคับประคองส่วนที่เริ่มไปแล้ว ไม่ให้มีผลกระทบข้างเคียงมากจนเกินไป (4) ปฏิรูป กคช. จริงจัง
          เสาร์-อาทิตย์นี้ไม่ได้ไปไหน เพราะต้องใช้เวลาในการเขียนต้นฉบับ “ยุทธศาสตร์สังคม 2550” เพื่อจะใช้ในการสื่อสารชี้แจงทั้งคนในกระทรวง พม.และอาสาสมัครในเครือข่ายสังคมที่จะมาร่วมกันทำงาน
          ต้นฉบับเสร็จเช้าวันอาทิตย์ เอาไปส่งให้พัชรา อุบลสวัสดิ์ (อ้อย) ที่บ้านเพื่อปรับแก้ และส่งโรงพิมพ์
          หนังสือต้องเสร็จก่อนการประชุมวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย. 49 ซึ่งในวันนั้น พมจ. และผู้ประสานงานชุมชน-ท้องถิ่น-ประชาคมจังหวัด จะมาร่วมเวทีขับเคลื่อนสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
          เวทีแรก กำลังจะเปิดฉากแล้ว.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
29 ตุลาคม 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 9 “ไม้พ้นต้องลงมือ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.