ตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ Appreciative Inquiry (AI)

ในการทำงานสาธารณะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย จะได้ยินคำว่า “พลังสร้างสรรค์” ค่อนข้างบ่อย

งานจะลุล่วงไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ต้องดึงพลังสร้างสรรค์จากหลายๆ ส่วนเหล่านั้นเข้ามาร่วมกัน แนะนำเครื่องมือ ฉบับนี้ จึงหยิบเอาเรื่อง การตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ : Appreciative Inquiry (AI) มาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ดึงพลังสร้างสรรค์ของคนออกมา

Appreciative Inquiry (AI) มีสมมุติฐานว่า “ระบบที่มีชีวิตทุกระบบ ล้วนมีศักยภาพที่ยังไม่ได้ค้นพบและนำมาใช้ มันเป็นศักยภาพที่อุดมไปด้วยพลังที่มาจากแรงบันดาลใจ และจะก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้” ดังนั้น กระบวนการ Appreciative Inquiry จึงเป็นการร่วมกันค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคน ค้นหาสิ่งดีๆ ในองค์กร กระทั่งด้านดีของโลกรอบตัวเรา สิ่งสำคัญคือ ต้องค้นหาให้พบว่าอะไรที่ “ให้ชีวิต” แก่ระบบที่ว่านั้น ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดพลัง ความสามารถในทุกๆ ด้าน สิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ศิลปะ และ วิธีการ ในการตั้งคำถามด้านบวก การกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดจินตนาการ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แทนการสนทนาแบบเดิมที่มุ่งจับผิด ตัดสิน หรือปฏิเสธ

องค์ประกอบที่สำคัญในกระบวนการ Appreciative Inquiry ประกอบด้วยหลักการ 4D อันได้แก่

Discovery: การค้นพบ ว่าช่วงเวลาแห่งความดีเลิศหรือการเกิดความสำเร็จนั้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ สิ่งที่สำเร็จคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับการบอกเล่าออกมา มันอาจจะมาจาก ความเป็นผู้นำ ความสัมพันธ์ เทคโนโลยี กระบวนการ โครงสร้าง คุณค่า การเรียนรู้ การเชื่อมโยงกับภายนอก ฯลฯ

Dreaming: ฝันให้ไกล ตั้งคำถามถึงความฝันต่อองค์กรหรือชุมชนในอุดมคติ เป็นการจินตนาการถึงภาพฝันในอนาคตที่จะบังเกิดขึ้นบนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ และถูกนำเสนอใหม่อย่างท้าทายความเป็นไปได้

Designing: การออกแบบ โครงสร้างและกระบวนการใหม่ การพัฒนาข้อเสนอในการจัดการองค์กรหรือชุมชน เพื่อให้ความฝันนั้นเกิดเป็นจริงได้ทั้งในเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว

Destiny (Delivery): ไปให้ถึง เป็นขั้นที่ต้องลงมือทำตามข้อเสนอ มีการตั้งกฎเกณฑ์ พัฒนายุทธศาสตร์ เชื่อมโยงและระดมทรัพยากรเพื่อทำให้ความฝันนั้นบังเกิดเป็นจริงขึ้น

เราลองมาดูการเปรียบเทียบความแตกต่างของกระบวนการระหว่าง กระบวนการแก้ปัญหาแบบเดิม กับ กระบวนการตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์ (Appreciative Inquiry: AI) ซึ่งใช้ในการระดมสมองแก้ปัญหาในองค์กร
 

การแก้ปัญหา (Problem solving)

Appreciative Inquiry

 

ความรู้สึกว่าจำเป็น (felt need)
การยอมรับชื่นชมและการให้คุณค่า (appreciating and valuing)
การระบุตัวปัญหา
(ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่อยากให้เป็น)
สิ่งที่ดีที่สุดของ “อะไรที่เป็นอยู่”
What is
การระบุตัวปัญหา
(ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่อยากให้เป็น)
การสร้างภาพฝัน “อะไรที่อาจจะเป็น”
What Might Be
วิเคราะห์การแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
การสนทนา “อะไรที่ควรเป็น”
What should Be
แผนปฏิบัติการ
การสร้างนวัตกรรม “อะไรที่จะเป็น”
What Will Be
สมมุติฐานเบื้องต้น: องค์กรคือปัญหาที่ต้องแก้ สมมุตฐานเบื้องต้น: องค์กรคือความลึกลับที่ต้องสำรวจ ตรวจค้น และให้คุณค่า

 

จะเห็นว่า กระบวนการแก้ปัญหาแบบเดิม มักจะเริ่มตั้งต้นที่ตัวปัญหา ดิ่งลึกลงไปในตัวปัญหาและมุ่งแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา ขณะที่กระบวนการ Appreciative Inquiry เริ่มต้นจากการมองในด้านดี หยิบสิ่งดีๆ มาคุยกัน โดยมีเป้าหมายไปที่ การสร้างสิ่งที่ดีกว่าหรือดียิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพูดคุยถึงสิ่งดีๆ อย่างมีจินตนาการ ก็จะสามารถดึงพลังสร้างสรรค์ในตัวคนออกมาได้มาก พลังชีวิตของแต่ละคนเมื่อมาเชื่อมกัน ก็สามารถเป็นพลังทวีคูณขององค์กร ของชุมชน หรือของแผ่นดินขึ้นมาได้ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของสมองที่จะตามมาเพื่อคอยคุมและคอยเอาเหตุผลมาช่วยวางยุทธศาสตร์ และนี่คือ ความแตกต่างที่อาจจะทำให้ Appreciative Inquiry เป็นทางเลือกของเครื่องมือการทำงานแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล:
www.appreciative…ngl/1_res/aidef_dd.html
Sue Hammond-The Thin Book of Appreciative Inquiry.
Locating the Energy for Change : An Introduction of Appreciative Inquiry. 1999. Charles Elliot.

Be the first to comment on "ตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ Appreciative Inquiry (AI)"

Leave a comment

Your email address will not be published.