ตำนานชุมชนริมทะเล

ชุมชนบ้านเล อ.สิงหนคร จ.สงขลา ตั้งชุมชนมากว่า 150 ปี อยู่ริมทะเลมาโดยตลอด อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลหล่อเลี้ยงชีวิตสมาชิกในชุมชน และสร้างสมาชิกใหม่ของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น “ทะเล” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับชุมชนแห่งนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตัวเอง และรักษาคุณค่าการคงอยู่ของชุมชนมาได้ มากกว่าร้อยปีก็คือ ชุมชนมีภูมิปัญญาที่สามารถจะนำทรัพยากร มาใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีระบบอำนาจ ที่สามารถจัดระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้อยู่ในขอบเขต ที่ไม่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ และไม่เกิดความขัดแย้งของคนในชุมชนหรือต่างชุมชนชาวเลที่นี่จะจับเฉพาะสัตว์ทะเลตัวใหญ่ที่บริโภคได้ และจับมาในจำนวนที่ไม่มากนัก พอเหมาะแก่การดำรงชีพ ลักษณะของเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทำด้วยด้าย ไนล่อน เอ็น หรือไม้ไผ่ บ่งบอกถึงวิธีการจับสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
ชาวเลทุกคนจะรู้ดีว่า เขาต้องยอมรับเงื่อนไขของทะเล และไม่เคยคิดจะเอาชนะทะเล เมื่อถึงฤดูมรสุมออกทะเลไม่ได้ พวกเขาก็จะหยุด หรือไม่ก็หากินในระยะใกล้ฝั่ง ถ้าฤดูที่ปลาวางไข่ เขาก็จะเปลี่ยนมาหากุ้งหาปูแทน

ในขณะเดียวกันชาวประมงเมื่อวางเครื่องมือลงในทะเล ทุกคนจะรับรู้ว่าทะเลตรงนั้นคือสิทธิของผู้นั้น ใครจะไปวางทับหรือแย่งที่ไม่ได้ เจ้าของสิทธิเองก็จะแสดงให้เห็นชัดว่าตนเอง กำลังใช้สิทธิตรงนั้นอยู่ เช่น เวลากลางวันก็จะติดธงเป็นสัญญาณ เวลากลางคืนก็จะใช้ตะเกียงวางไว้บนทุ่นเป็นสัญญาณ

นี่คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติ คนจะมีสิทธิครอบครองทรัพยากรก็เพียงเพื่อใช้ประโยชน์ และขณะใช้ประโยชน์เท่านั้น จะจับจองและยึดทรัพยากรไว้ เกินใช้ประโยชน์ไม่ได้ เลิกใช้ประโยชน์เมื่อไร สิทธิก็จะกลับไปเป็นของส่วนรวม คนอื่นในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อ ถ้าเลิกใช้เมื่อไร สิทธิก็จะกลับไปเป็นของส่วนรวม คนอื่นในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อ ถ้าเลิกใช้เมื่อไร ก็หมดสิทธิ์ ทรัพยากรนั้นก็จะกลับไปเป็นสิทธิ์ของส่วนรวมอีกครั้ง
หาก ณ เวลานี้ ชุมชนประมงพื้นบ้านกำลังพบกับความปั่นป่วน สับสน และพบว่าชุมชนไม่สามารถให้ความมั่นคงกับสมาชิกในชุมชนได้ เมื่อทะเลถูกรัฐนำไปควบคุม และเปิดโอกาสให้กองเรือประมงพาณิชย์เข้าทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทะเลโดยทั่วไป
ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ที่ดินที่ชาวบ้านเลตั้งอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษมากกว่า 150 ปี รัฐได้มาออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินทั้งหมู่บ้านในปี 2529 เพื่อจะใช้ที่ดินไปสร้างท่าเรือพาณิชย์ โดยชุมชนไม่เคยรู้เรื่อง และไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ โดยในตอนแรกรัฐให้ค่าตอบแทน เพียงเล็กน้อย และไม่สนใจว่าชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน ชาวบ้านจึงดื้อแพ่งไม่ยอมไป ทางราชการจึงใช้วิธีกดดันทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การไม่ยอมออกทะเบียนบ้านให้ใหม่ ไม่ต่อไฟฟ้าและน้ำประปาให้ ไม่มีโครงการพัฒนา ใด ๆ ลงหมู่บ้าน รวมทั้งพยายามที่จะใช้กำลังทหารเข้ามารื้อย้าย แต่ชาวบ้านยังคงดื้อแพ่ง
สิ่งที่ชาวบ้านรับไม่ได้คือ การที่ต้องย้ายพวกเขาออกไป อยู่ไกลจากป่าช้าของหมู่บ้านอย่างมาก และป่าช้านี้เป็นตัวตนสำคัญของชาวบ้านเล เพราะชุมชนชาวเลแห่งนี้เป็นชุมชนมุสลิม ซึ่งกุโบ (ป่าช้า) จะมีความสำคัญอย่างยิ่งในความรู้สึกของชุมชนมุสลิม ที่สำคัญชาวบ้านเชื่อว่า ป่าช้าของพวกเขาเป็นที่เดียวกับที่ฝังศพของสุลต่าน สุไลมาน อดีตเจ้าเมืองผู้ยิ่งใหญ่ที่ครองสงขลา และสถาปนาสงขลาให้เป็นรัฐอิสลาม และเป็นอิสระจากอยุธยา ชาวบ้านเลถือว่าตนสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุไลมาน และนี่คือความภาคภูมิใจที่สุดของพวกเขา กุโบหรือป่าช้า จึงเป็นดังสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจดังกล่าว แต่รัฐไม่เคยเข้าใจสิ่งเหล่านี้เลย
ถึงทุกวันนี้ แม้ทางราชการจะมีหนังสือเตือนมาอย่างไร ชาวบ้านยังคงยืนกรานความคิดเดิมที่จะไม่ย้ายออกไป ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็พยายาม ใช้หลักการสิทธิชุมชนแสดงตัวตน และตอบโต้แรงเบียดขับของรัฐมาโดยตลอด รวมทั้งใช้หลักสิทธิชุมชน ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างคนกับที่ดิน โดยทุกคนจะใช้ที่ดินสร้างบ้านเรือนแค่พออยู่อาศัย ที่ดินที่เหลืออยู่หากคน ในชุมชนต้องแยกครัวเรือนใหม่ และไม่มีที่ของตัวเองหรือของพ่อแม่สำหรับปลูกบ้าน ผู้นั้นจะขอปลูกบ้านตรงที่ว่างของใครก็ได้ โดยไม่มีการห้ามหวงกัน

และเมื่อปลูกบ้านแล้ว เจ้าของที่ก็จะไม่มีการไล่ที่ด้วย ไม่มีใครครอบครองที่ว่างเปล่าไว้
โดยไม่ยอมให้คนอื่นใช้ที่ปลูกที่อยู่อาศัย และด้วยความสัมพันธ์ในเชิงสิทธิแบบนี้เอง
เมื่อยิ่งถูกทางราชการเบียดขัดออกจากที่ดิน การยืนยันในหลักสิทธิชุมชนจึงยิ่งเข้มแข็งขึ้น

นี่คืออัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเลในการขยายพื้นที่ทางสังคม

อ้างอิงจาก
งานวิจัยสิทธิชุมชนท้องถิ่น : กรณีศึกษาชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ โดย ดร.เลิศชาย ศิริชัย ชุดโครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล

 

Be the first to comment on "ตำนานชุมชนริมทะเล"

Leave a comment

Your email address will not be published.