ถนนสายบรอดเวย์

บรอดเวย์ ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของละครเพลงดังๆ ระดับโลกมาหลายทศวรรษ ไม่เพียงแต่จะคับแก้วไปด้วยคุณภาพ แต่ยังหาชมยากถึงขั้นต้องจองบัตรกันล่วงหน้าเป็นเดือนๆ….

 

24 ตุลาคม 2549
กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ จุดประกาย

 

        ถามใครหลายคนที่ได้ไปเยือนนิวยอร์ก ซึ่งยอมรับว่าต้องหาโอกาสไปชมละครเพลงสักหนึ่งเรื่องเป็นอย่างน้อย ก็เพื่ออยากจะเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์โหยหาความบันเทิงแบบวิถีอเมริกันชน ที่มีต่อเพลง ดนตรี และการแสดงสด ซึ่งมีองค์ประกอบมากกว่าคอนเสิร์ตหลายเท่า จิราภรณ์ เจริญเดช เก็บมาฝากจากการเยือนนิวยอร์กล่าสุด

 

บรอดเวย์ ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของละครเพลงดังๆ ระดับโลกมาหลายทศวรรษ ไม่เพียงแต่จะคับแก้วไปด้วยคุณภาพ แต่ยังหาชมยากถึงขั้นต้องจองบัตรกันล่วงหน้าเป็นเดือนๆ จึงถือว่าคนไทยโชคดีสุดๆ มีละครเพลงบรอดเวย์ระดับรางวัลเรื่อง เวสต์ไซด์ สตอรี่ อิมพอร์ตจากนิวยอร์ก มาแสดงให้ชม โดยไม่ต้องขวนขวายบินไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา

 

ละครเพลงรื่อง Chicago (ชิคาโก) นี้ถึงปีนี้ ได้ทำการแสดงมาเกินสามพันรอบแล้ว แม้จะไม่มากเท่า Cats, les miserables, The phantom of opera , Miss Saigon แต่ก็เล่นมากกว่า Man of La Mancha หรือแม้แต่ The Lion King ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้จัก

หลายคนเต็มใจบอกเล่าถึงความประทับใจในละครเพลงชนิดไม่เคยลืมจาก Man of La Mancha , The Phantom of Opera , Singing in The rain, Camen, The Death of Saleman และ Madam Butterfly ทำให้คอละครกระเสือกกระสนจะไปให้ถึงบรอดเวย์สตรีท ในการไปเยือนนิวยอร์กทุกครั้ง

 

 

กระแสความนิยมชมละครเพลงในเมืองไทย กำลังสะพัด หลังจากความนิยมในการแสดงแบบนี้ เฟื่อง จากกระแสตอบรับ ทวิภพ ปีที่ 2 เมื่อสองเดือนก่อน และฤดูศิลปะการแสดงจบลงอย่างชื่นมื่น โดยมีละครเพลงบรอดเวย์เรื่อง West Side Story เข้ามาเปิดการแสดงในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก

เมื่อเรามีโอกาสเยือนนิวยอร์กในช่วงปลายเดือนกันยายน จึงไม่อยากพลาดละครเพลงเรื่อง Chicago ซึ่งได้เปิดการแสดงอยู่ที่โรงละครแอมบาสเดอร์ บนถนนสายที่ 49 และทำการแสดงมาตั้งแต่ วันที่ 22 สิงหาคม-1 ตุลาคม 2549 แต่จัดว่ามีโรงละครเหลือไม่กี่แห่งอยู่ในย่านบรอดเวย์ จากจำนวนเธียเตอร์กว่าสี่สิบแห่ง ปีนี้หลายแห่งก็ปิดตัวไปแล้ว บางแห่งกำลังซ่อมแซมเพื่อเปิดบริการใหม่ เหลือโรงละครราว 30 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ ถนนสายที่ 42 มีโรงละครวิคตอรีที่เก่าแก่ที่สุด และโด่งดังมากที่สุดจนกลายเป็นโลโก้ของบรอดเวย์สตรีท เรื่อยไปจนถึงสายที่ 65 เช่น เดอะ มาควิส เดอะ พาเลซ เดอะ วินเทอร์การ์เดน โดยมีคณะชูเบิร์ต และคณะเนเดอร์แลนด์ เป็นเจ้าของกว่าครึ่ง ทว่าโรงละครที่สร้างสไตล์นีโอ บาโรค ที่สวยงามและเก่าแก่ที่สุดต้องยกให้ ลีเซียม สร้างเมื่อปี 1903

ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการผลิตละครกว่า 100 เรื่องในทุกฤดูกาล สร้างชื่อให้นักเขียนบทละครอย่าง อูยีน เดอนีล, ลิเลียน เฮลแมน อาเธอร์ มิลเลอร์ (อดีตสามีคนหนึ่งของมาริลีน มอนโรว์) และเทนเนสซี วิลเลียม

กล่าวกันว่าช่วงที่ละครบรอดเวย์ฮิตสุดขีด เคยขายตั๋วได้ 8 ล้านใบต่อปี มูลค่ากว่า 356 ล้านเหรียญ

 

ในทศวรรษก่อน คนกรุงเทพฯ เคยทึ่งกับละครฝรั่งพากย์ไทย เรื่องสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มละครสองแปด ซึ่ง รัศมี เผ่าเหลืองทอง ดัดแปลงจากละครเพลงบรอดเวย์เรื่องดัง Man of La Mancha การสร้างผลงานแนวเรื่องฝรั่งบทไทยทำนี้ ได้รับความนิยมเรื่อยมาอีกหลายเรื่องจากฝีมือคนทำละครที่รักละครหลายกลุ่ม จนเมื่อแกรมมี่มอบหมาย ถกลเกียรติ วีรวรรณ สร้าง บัลลังก์เมฆและจัดแสดงถึงสองฤดูกาล จนมาถึง ทวิภพปีสองในปีนี้ ก็เห็นว่าได้รับการตอบรับล้นหลาม จนอาจมองเห็นลู่ทางไปรอดทางธุรกิจ ในเวลาก่อนหน้านั้น หลายคนจำได้ว่าละครเพลง นางแมงมุมของกลุ่มสองแปด แม้จะเห็นฝีมือที่เก่งกาจขึ้นอย่างน่าชื่นใจ แต่ก็ต้องรับว่าธุรกิจละครเวที หรือ ละครเพลง นั้นทำได้ไม่ง่ายเลย การจบตำนานของกลุ่มละครสองแปดของไทย เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

 

ถึงนิวยอร์กต้องได้ดูบรอดเวย์

บรอดเวย์ เป็นชื่อของถนนสายหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญยิ่งของเมืองในด้านของศิลปะการละครเวที ซึ่งมีรูปแบบและองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของละครอเมริกันอย่างที่นิยมกันในตอนแรกว่า ละครเพลง (Musical Theatre) ที่มีรูปแบบการแสดง เพลงและการเต้นรำในลักษณะต่างๆ ที่กำหนดไว้อย่างตายตัว ไม่ว่าจะมีการแสดงสักกี่รอบก็ตาม แม้แต่ในวงการภาพยนตร์ก็มักจะนำเรื่องราวจากละครเพลงมาทำเป็นภาพยนตร์ และส่วนมากจะประสบผลสำเร็จได้รางวัลอยู่เสมอ เช่น เรื่อง Hello Dolly, West Side Story, The Sound of Music, South Pacific, The King and I และเรื่องล่าสุดได้แก่ Chicago

ละครเพลงบรอดเวย์ แต่ละเรื่องมักได้รับความนิยมยาวนานมาก ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 9 มกราคมปีนี้เอง ที่สถิติบันทึกว่า ละครเพลงเรื่อง The Phantom Of Operra ได้ทำการแสดงยาวนานที่สุด จำนวน 7,486 รอบ ณ โรงละครมาเจสติก และหลายเรื่องได้รับรางวัลโทนี่ ซึ่งเป็นมาตรฐานดีที่สุดของวงการบรอดเวย์

สำหรับเรื่อง Chicago นำแสดงโดย Usher นักร้องผิวดำ ซึ่งเป็นที่ชื่นชมของคนอเมริกัน วัย 27 ปี อัชเชอร์ได้รับการต้อนรับล้นหลาม ด้วยบัตรเข้าชมราคาที่นั่งละ 111 เหรียญ

สำหรับหนุ่มสาวคนผิวสีแล้ว รู้จักอัชเชอร์เป็นอย่างดี เขาเป็นนักร้องเจ้าของรางวัลแกรมมี่ถึงห้าครั้ง อัลบั้มชุด Confession เพลงของเขาขายได้ 15 ล้านแผ่นทั่วโลก เพลงแนวอาร์แอนด์บีของเขากุมหัวใจคนหนุ่มสาวไว้ได้ทั่วประเทศ เขารับบทบิลลี่ ฟลินน์ นักกฎหมายเจ้าเล่ห์ในเรื่อง อัชเชอร์นับเป็นนักแสดงบทบิลลี่ ฟลินน์ คนที่ 20 ในรอบ 10 ปีที่ละครเพลงเรื่องนี้ทำการแสดง หนึ่งในจำนวนนั้นมี แพทริค สเวนซี่ พระเอกหนังเรื่อง Ghost รวมอยู่ด้วย และเป็นบิลลี่ ฟลินน์ คนที่อายุน้อยที่สุด แบร์รีท ไวซเลอร์ โปรดิวเซอร์ของชิคาโก ยืนยันด้วยตัวเอง

เหตุผลที่ชิคาโกเป็นละครเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ คงเพราะเป็นการจำลองชีวิตผู้คนสังคมอเมริกันยุคศตวรรษที่ 20 ขณะนั้น เมืองชิคาโกใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ เต็มไปด้วยเจ้าพ่อ ธุรกิจการค้าที่ผิดกฎหมาย เหล้า ยา และอาชญากรรม ละครเพลงเรื่องนี้มีเพลงไพเราะที่ติดหูคนไทยหลายเพลง เช่น All that Jazz

เช่นเดียวกับเพลงที่กลายเป็นเพลงยอดนิยมอีกเพลง คือ The Music of the night จาก The Phantom Of Opera

แบบไหนที่เรียกว่า ละครบรอดเวย์

ละครบรอดเวย์ ส่วนใหญ่มุ่งหวังให้คนดูเกิดความบันเทิง มักจะเป็นแนวสนุกสนานเป็นส่วนใหญ่ บางคนบอกว่าบรอดเวย์ไม่เคยขาดบทตลกสอดแทรกอยู่เสมอ หลายครั้งเราอาจจะได้ยินละครเพลงเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งก็คือ ละครชวนหัว (Musical Comedy)

ลักษณะเฉพาะของละครบรอดเวย์ จะเน้นหนักด้านเนื้อเรื่อง บทร้อง และทำนองเพลงการเต้นรำที่ใช้ประกอบเพลง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างให้เป็นเพลงฮิตบทร้องและดนตรีจึงมีความสำคัญมาก ทำให้รวมไปถึงผู้คิดท่าเต้นประกอบเพลง (Choreographer) เช่น เจอราลด์ ร็อบบินส์ (Jerome Robbins – West Side Story 1957), แอกเนส เดอ มิล (Agnes de Mille – Oklahoma! 1943) บ๊อบ ฟอซซี่ (Bob Fossi – Cabaret 1966)  

ที่น่าสนใจคือเบื้องหลังความสมบูรณ์บนเวทีนั้น มี หมอละคร‘ (Show Doctor) คอยทำหน้าที่เป็นผู้ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ของละครให้ดีขึ้น หลังจากการแสดงรอบปฐมทัศน์ซึ่งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเรื่อง คาเมลอต (Camelot)  หมอละครนาม มอส ฮาร์ท ได้เข้ามาปรับปรุงแก้ไขทำให้ละครเรื่องนี้กลับมาเป็นละครเพลงบรอดเวย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องหนึ่งในเวลาต่อมา

องค์ประกอบสำคัญด่านแรก ต้องยกให้ ดาราหรือนักแสดง เป็นองค์ประกอบเด่น ดาราในละครบรอดเวย์ไม่เหมือนดาราโอเปร่า เพราะโอเปร่าใช้เสียงเป็นสื่อในการแสดง แต่ละครเพลงต้องการ นางเอก หรือ พระเอก ที่ดูเหมาะสมกับบทบาทอย่างแท้จริง

ส่วนดาราละครเวทีมักจะกลายเป็นดาราที่มีชื่อเสียงในวงการอื่นๆ ด้วย เช่นวงการภาพยนตร์ หรือวงการโทรทัศน์ เช่น ยูล บรินเนอร์ (จากเรื่อง The King and I)  จูลี่ แอนดรูวส์  จาก The Sound of Music 1959 ทั้งจากละครเวทีและภาพยนตร์ ผลงานล่าสุดในปี 2005 แสดงเป็นท่านย่าในภาพยนตร์เรื่อง Princess Diary 1 และ องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ละครเพลงเป็นที่นิยม ก็ตรงเค้าโครงเรื่องมีหลายพล็อต ไม่ต่างจากหนัง ผู้จัดมักดูตลาดและผู้ชมเป็นเป้าหมายในการผลิตละครแต่ละเรื่อง โครงเรื่องจึงแตกต่างกันไปตามแนวความนิยมของสังคมในแต่ละยุค โดยปกติจะมีลักษณะของเหตุการณ์ที่น่าจดจำ เป็นประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เช่น Oklahoma !, Show Boat, Music Man หรือโครงเรื่องที่มีแนวตำนานซินเดอเรลล่า เช่น แอนนา ในเรื่อง The King and I และมาเรียในเรื่อง The Sound of  Music และอีไลซ่า ดูลิตเติล ในเรื่อง My Fair Lady  หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเรื่องบุษบาริมทาง

เค้าโครงเรื่องอีกประเภทหนึ่งคือเรื่องราวสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของสังคม เช่นเรื่อง  Cabaret, West Side Story, Chicago

ละครบรอดเวย์มีเป้าหมายเพื่อการบันเทิงอย่างแท้จริง โดยผู้สร้างสรรค์ ผู้ผลิตพยายามทำให้การแสดงดูเป็นที่เข้าใจง่าย ผู้ชมสามารถรับรู้เรื่องราวที่ใกล้ตัว ทำให้รู้สึกสนุกเป็นที่ชื่นชอบ เมื่อได้รับการพัฒนารูปแบบ เนื้อหาสาระของละครมากขึ้น องค์ประกอบต่างๆ จึงเริ่มมีการสร้างสรรค์เพื่อเน้นความงามของศิลปะ พัฒนาให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

จุดเด่นอีกข้อของละครบรอดเวย์ที่ผู้ชมคาดหวัง คือ ฉาก คอสตูม หรือเครื่องแต่งกายอันตื่นตา ผสมผสานกับพื้นฐานสำคัญในเรื่องการสร้างสรรค์เพลง ดนตรี รวมทั้งการเต้นที่มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับเนื้อหาของเรื่อง รวมทั้งแสง สี เสียง และเทคนิคของการจัดฉาก การเปลี่ยนฉาก และความสดในการแสดงของนักแสดงที่มีความสามารถสูงทั้งในด้านการร้องเพลง การเต้นรำ ทำให้ละครบรอดเวย์เป็นที่ประทับใจในเรื่องของความแปลกใหม่ และเนื้อเรื่องของละครที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างตลอด 

ละครบรอดเวย์ทุกเรื่องก่อนที่จะนำมาแสดงที่โรงละครบนถนนบรอดเวย์ มักจะมีการทดลองแสดงตามที่ต่างๆ ก่อน และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ตามความคิดเห็นของผู้กำกับ ผู้ประพันธ์ดนตรี ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง และผู้สร้างสรรค์ท่าเต้นตลอดจนทีมงานทุกคน ทำให้ละครเพลงได้รับการแก้ไขจนดูดี แล้วจึงนำมาแสดง ณ โรงละครบนถนนบรอดเวย์ ทำให้ละครบรอดเวย์มีคุณค่าและได้รับการยอมรับในเชิงศิลปะการแสดงอย่างภาคภูมิ สุนทรียารมณ์ของละครเพลงบรอดเวย์จึงอยู่ที่ความงดงามของตัวละครในขณะที่ทำการแสดง และอยู่ที่ความชื่นชมในคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่สามารถสร้างสรรค์ได้

The King and I เป็นละครบรอดเวย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล ตั้งแต่เริ่มแสดงครั้งแรกในปี 1951 แสดงติดต่อกัน 1,246 รอบ นักแสดงนำฝ่ายชายคือยูล บรินเนอร์ แสดงนำทั้งหมด 4,625 รอบ

ปัจจุบันละครบรอดเวย์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีจุดสูงสุดอยู่ที่ไหน เพราะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาปรับใช้ให้เข้ากับเรื่องราวและเหตุการณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครื่องยิงเลเซอร์ เครื่องสร้างภาพ 3 มิติ เครื่องสร้างปรากฏการณ์ธรรมชาติเทียม ทำให้ละครดูสมจริงสมจังมากขึ้นทุกที เป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบละครบรอดเวย์มาโดยตลอด

นี่คือการไปถึง นิวยอร์ก มหานครอันดับหนึ่งของโลก ที่ซึ่งเป็นเมืองยอดนิยมตลอดกาล ประกอบด้วยจำนวนประชากรประมาณ 18 ล้านคน เห็นได้ชัดจากตึกคอนกรีตสูงซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเมืองใหญ่ที่ไม่เหมือนเมืองใด นิวยอร์กเป็นเมืองที่เป็นผู้นำ ทั้งทางด้านธุรกิจ แฟชั่น ศิลปะและการใช้ชีวิตตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของโลก เพราะสิ่งก่อสร้างในมหานครนิวยอร์กแสดงให้เห็นถึงความสามารถ และความพยายามของมนุษย์ สถานที่ท่องเที่ยวมากมายในเมืองนิวยอร์ก ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ เหนืออื่นใด ถนนสายบรอดเวย์ของนิวยอร์กเป็นแหล่งรวมโรงละครโอเปร่า ที่สนองความบันเทิงสากลที่หาไม่ได้ในมหานครอื่นใดในโลก

คอละครเพลงชาวไทย

 

รศ.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์ด้านละครเพลง ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 พูดถึงละครเพลงเรื่องเวสต์ไซด์สตอรี่ ว่า 

ดูมานานเป็นสิบๆ ปีแล้ว สมัยที่เรียนด้านคอนดักเตอร์อยู่ที่นิวยอร์ก ประทับใจมาก เพราะชอบเนื้อหา เป็นผลงานของเจอโรม ร็อบบินส์ โดยใช้เค้าโครงเรื่องของโรมิโอและจูเลียต มาดัดแปลงเป็นรูปแบบละครเพลงสมัยใหม่ เล่นกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติคือเปอร์โตริกัน กับคนอเมริกันฝั่งตะวันตกตอนเหนือของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยนั้นพอดี เราเรียนมาด้านคอนดักท์ดนตรี จึงประทับใจกับผลงานการเขียนทำนองเพลงของ ลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ มาก ชอบอยู่หลายเพลง ทั้ง SOMEWHERE เปี่ยมด้วยความหวัง, MARIA เพราะอย่างกับบทกวี และ AMERICA ก็สนุกสนาน เขาอัจฉริยะมาก ดึงจังหวะละตินอเมริกันและภาษาดิบๆ แบบข้างถนน มาผสมผสานกับแนวทางบัลลาดได้อย่างน่าทึ่ง!! ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการละครเพลงอเมริกัน สำหรับคนไทยแล้ว น่าจะชื่นชอบละครเพลงแนวบรอดเวย์ เพราะเข้าถึงคนได้ทุกระดับทุกวัย คนนิวยอร์กดูละครเพลงเหมือนบ้านเราดูลิเก คือสามารถดูได้ทุกวันทุกเวลา และเป็นที่นิยมมาก นักท่องเที่ยวคนไหนไปนิวยอร์ก ก็ต้องซื้อตั๋วดูละครบรอดเวย์ มิฉะนั้นถือว่าไปไม่ถึง!!

ครูน้ำมนต์-ธีรนัยน์ ณ หนองคาย เจ้าของโรงเรียนดนตรีมีฟ้า กับการมาถึงของละครเพลง เวสต์ไซด์ สตอรี่

เป็นข่าวดีที่สุด เพราะปกติจะต้องเก็บสตางค์ซื้อตั๋วบินไปชมละครเพลงที่ต่างประเทศทุกปี เพราะเมืองไทยหาชมยาก อย่างเช่น เคยบินไปสิงคโปร์เพื่อดูเรื่อง Les Misarable ประทับใจมากๆ มีครบทุกรส!! และเมื่อ 2-3 ปีก่อน ก็มีโอกาสได้เล่นละครเพลงเรื่องคู่กรรม รับบทเป็นนางเอก ตอนนั้นหนักใจเรื่องการแสดงมาก เพราะแทบไม่มีพื้นฐานมาก่อน ต้องเข้าคอร์สแอคติ้งอยู่ 2-3 เดือน ปรากฏว่าหลังจากเรียนแล้ว นอกจากการแสดงจะดีขึ้น ยังทำให้ร้องเพลงได้ดีขึ้นด้วย เพราะเข้าถึงเนื้อหาของเพลง สามารถสื่อสารออกมาได้ดีขึ้น ที่จริงแล้ว การแสดงละครเพลงน่าจะเหมาะกับรสนิยมของคนไทย เพราะมีพื้นฐานมาจากความสนุกสนาน ไม่ซีเรียส มุ่งเน้นเรื่องความบันเทิง อย่างเรื่องเวสต์ไซด์ สตอรี่ ได้ยินชื่อมานานแล้ว เป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างแก๊งผิวขาวกับแก๊งเปอร์โตริกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมความรัก

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้บริหารและผู้ผลิตแผนกละครของบริษัทแกรมมี่ พูดถึงแรงบันดาลใจในละครเพลง จนมาทำ บัลลังก์เมฆ และ ทวิภพ

ผมเคยไปดู M. Butterfly ที่เป็น Original cast ตอนผมเรียนอยู่เมื่อปี 88 ผมออกมาแล้วผมแบบว่า… ผมเหมือนอยู่ไหนก็ไม่รู้ ลอยไปครึ่งชั่วโมง อะไรวะ…(บอกกับตัวเอง) มีอยู่ 3 เรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนี้ มี Les Misarable, M.Butterfly และ Death of Salesman ที่ตอนนั้นดัสติน ฮอฟแมน เล่น ผมไปดูตอนปี 84 นั้นมันทำให้ผมขนลุก แต่ละครพูดน้อยเรื่องที่จะทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น ผมหวังจะเห็น another M. Butterfly หวัง another Death of Salesman … ”

ตอนผมเรียน ผมเรียนปริญญาตรีทางด้านเธียเตอร์ มีโปรเจคสุดท้ายที่ให้ทำเป็นละครเวที เป็นธีสีส ผมก็เลือกเรื่องหนึ่ง เป็นแบบ Murder Mystery แบบฆาตกรรมตลกๆ มันเล่นที่นิวยอร์ก คือประมาณ 3 วันแล้วถือปิด ผมว่าอันนี้สนุก ผมก็เลยเลือกอันนี้มาทำ โปรเฟสเซอร์ เพื่อนนักเรียนรุมด่าว่าทำไม ทำเรื่องนี้ทำไม ผมก็เลยบอกว่าคุณจะให้ผมทำเช็คสเปียร์เหรอ ผมจะกลับมาทำงานประเทศไทย  ถ้าคุณจะให้ผมทำเช็คสเปียร์ คุณคิดเหรอว่าคนไทยจะรับได้เหรอ ในขณะที่ประเทศไทยก็ดูละครน้ำเน่า สแตนดาร์ดของคนดูประเทศไทยกับฝรั่งมันก็ต่างกัน อันนั้นมันเน่าสนิท มันเน่าแบบบ้า แต่สำหรับเมืองไทย ผมว่ากำลังพอดีนะ”


ในสายตา

ขอบคุณ
คลื่น คูล 93 และทริปเบิร์ดอายวิว ไฮไลต์นิวยอร์ก
แหล่งข้อมูล : นิตยสารพลอยแกมเพชร
หนังสือ สังคีตนิยมกับความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก

Be the first to comment on "ถนนสายบรอดเวย์"

Leave a comment

Your email address will not be published.