ถึงเวลายกเครื่องการจัดการน้ำของประเทศไทยใหม่หรือยัง

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม…

ถึงเวลายกเครื่องการจัดการน้ำของประเทศไทยใหม่หรือยัง

ผศ.ดร.ยรรยงค์   อินทร์ม่วง

 

 

          ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง เพราะเกรงว่าถ้าขาดแคลนน้ำจะทำให้โรงงานต่างๆ ต้องลดอัตราการผลิตลง และนั่น คือ จำนวนคนว่างงาน ปริมาณสินค้าส่งออก และความเชื่อมั่นจะเป็นปัญหาตามมา

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ทำให้หลายคนตกใจเป็นอย่างมาก เพราะนี่เป็นช่วงกลางฤดูฝน ไม่แน่ใจว่าในช่วงฤดูน้ำน้อยหรือช่วงที่มีฝนตกน้อย อะไรจะเกิดขึ้นอีก ผมสงสาร กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การประปาภูมิภาค การนิคมอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวนา ชาวสวน ที่ต้องพึ่งแหล่งน้ำผิวดิน คือ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกลาย และเขื่อนบางพระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายท่านได้รุดไปสำรวจสภาพปัญหาอย่างรีบด่วน และได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำโดยการวางท่อวิ่งสู่การนิคมอุตสาหกรรม และให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขุดเจาะน้ำบาดาล เสริมปริมาณน้ำดิบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงการใช้น้ำแก่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

นายวิรัช คชสาร กำนันตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายเสนอ จุนทรา ได้แก้ปัญหาน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม โดยการดึงน้ำจากฝายทับผันเข้าสู่ท่อเพื่อไปช่วยโรงงานอุตสาหกรรม โดยนายวิรัช และคณะ เกรงว่าจะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อภาคเกษตรและการอุปโภคและบริโภคหรืออีกนัยหนึ่ง คือความมั่นคงด้านน้ำในท้องถิ่นของชาวสวนจะถูกกระทบ


เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนเพื่อนข้าราชการที่ทำงานแถวพัทยาบอกว่าน้ำใช้ในครัวเรือนเริ่มขาดแคลน เพราะการจัดสรรน้ำต้องนำไปให้แก่สถานบริการโดยเฉพาะโรงแรมก่อน ทำให้ชุมชนเมืองแถวตะวันออกเริ่มหวั่นไหว และไม่แน่ใจว่าเมื่อเปิดก๊อกน้ำแล้วน้ำจะมาหรือไม่ นี่ก็ความมั่นคง อีกเช่นกัน


ล่าสุดสื่อมวลชนได้นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ถึงการถกเถียงเกี่ยวกับตัวเลขระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงจำนวนวัน ที่มีน้ำพอเพียงเลี้ยงภาคอุตสาหกรรม และปริมาณน้ำบาดาลที่มาเสริมน้ำผิวดินและปริมาณคลอไรด์หรือความเค็มในน้ำบาดาล

ประชาชนเลยไม่เข้าใจว่าอะไร คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง และนี่ก็เป็นความมั่นคง ด้านข้อมูลและตัวเลขของประเทศ


เราลองมาดูข้อมูลปริมาณน้ำที่เก็บกักในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก ของกรมชลประทาน ณ วันที่
19 กรกฎาคม 2548 พบข้อมูลน่าตกใจ พบว่ามีอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่เพียง 4 แห่ง เท่านั้น คือ (1) ประแสร์ ปริมาตรความจุ 248 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีน้ำเพียง 40 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (2) หนองปลาไหล ปริมาตรความจุ 163 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีน้ำเพียง 13 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (3) บางพระ ปริมาตรความจุ 117 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีน้ำเพียง 17 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และ (4) ดอกกราย ปริมาตรความจุ 71 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีน้ำเพียง 8 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำทั้ง 4 แห่ง ถือว่าตั้งอยู่ใกล้กับที่ตั้งโรงงานพื้นที่ภาคตะวันออกแถบชายทะเลและโรงงานในเขตการนิคมอุตสาหกรรม เหนืออ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ที่กล่าวมาแล้ว มีแหล่งน้ำจืดอีก 2 แหล่ง คือ เขื่อนคลองสียัดจังหวัดฉะเชิงเทรา ปริมาตรความจุ 325 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีน้ำเพียง 40 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และ เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก ปริมาตรความจุ 224 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีน้ำ 35 ล้าน ลูกบาศก์เมตร


จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าปริมาณน้ำเก็บกักในแต่ละแหล่งมีปริมาณน้อยมาก และเมื่อดูเฉพาะอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลยิ่งพบว่าปีนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างน้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ คำถาม ณ จุดนี้ คือ มีอะไรเกิดขึ้นกับน้ำต้นทุนภาคตะวันออกทำไมถึงลดน้อยขนาดนี้ ในขณะเดียวกันก็เกิดขึ้นกับอ่างเก็บน้ำในภาคกลางทุกแห่งด้วย
(กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.kromchol.com/DailyUDQ/GIS/Warning.html) ซึ่งเป็นสัญญานของ ภัยแล้งซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาภาคเกษตรได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อเนื่องต่อการฉุดรั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือไปจากสึนามิ และปัญหาความไม่สงบภาคใต้ ขณะนี้ส่อแววว่าภาคอุตสาหกรรมเจอปัญหาภัยแล้งเข้าให้แล้ว


การแก้ปัญหาภัยแล้งของหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดที่เห็นจำเจและซ้ำซาก คือ เอารถยนต์บรรทุกน้ำซึ่งได้น้ำฟรีจากการประปาภูมิภาค ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน และประชาชนก็นำเอาภาชนะมาใส่น้ำเข้าสู่บ้านเรือน ภาพเช่นนี้เราท่านพบเห็นมาเนิ่นนานหลายทศวรรษไม่มีอะไรใหม่ในการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ส่วนพื้นที่เพราะปลูกสิ่งที่ทำกัน คือ ออกประกาศจำกัดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังก่อนฤดูแล้งจะมาถึง และรณรงค์ให้ปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าวถ้าจะทำการเพราะปลูกในฤดูแล้ง นี่จำกัดเขตเฉพาะพื้นที่ในเขตชลประทานที่มีน้ำส่งไปถึง ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานไม่ต้องพูดถึง ยังหาทางออกไปไม่ได้ชัดเจนว่าจะหาน้ำให้วัว ควาย กินที่ไหน ชาวบ้านต้องช่วยตัวเองอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งรุนแรง


การแก้ปัญหาภัยแล้ง ผมคิดว่าถ้าจะให้มีการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนต้องยกเครื่องระบบตั้งแต่การทำงานในระดับท้องถิ่น จังหวัด และส่วนกลางด้วย การแก้ปัญหาของจังหวัดเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รอเพียงฝนตกลงมาปัญหาทุกอย่างก็คาดว่าจะคลี่คลาย เมื่อฝนตกรถน้ำก็หยุดแจกน้ำ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่เคยมีกรณีการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมให้เห็นเด่นชัดเท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยองดังกล่าว

ที่จริงจังหวัดระยองในลักษณะภูมินิเวศนั้นถือรวมอยู่ในภาคกลาง จังหวัดระยองรับน้ำต่อเนื่องจากพื้นที่รับน้ำจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครนายก ที่อยู่เหนือขึ้นไป ปัจจุบันมีการจัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมทั้งของเอกชนและรัฐตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเหล่านี้ รวมทั้งมีการขยายตัวของชุมชน โดยใช้น้ำดิบเพื่อการอุตสาหกรรมและชุมชนจากแหล่งน้ำใกล้เคียง เช่น แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำนครนายก เป็นปริมาณมาก จังหวัดระยองรวมทั้งจังหวัดชลบุรีซึ่งตั้งอยู่ปลายน้ำย่อมได้รับผลกระทบต่อเนื่องแน่นอนจากการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมต้นน้ำเหล่านั้น


จากข้อมูลของกรมชลประทานล่าสุด พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคกลางและภาคตะวันออก อยู่ในภาวะวิกฤติ (
Crisis) รวมทั้งบริเวณรอยต่อภาคกลางกับอีสาน คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคลองและลำพระเพลิงด้วย แต่ที่น่าสนใจ คือ เขื่อนภาคตะวันตก คือ เขื่อนศรีนครินทร์พบว่ามีปริมาณน้ำเก็บกัก ณ วันนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เขื่อนภาคตะวันออกทุกเขื่อนทุกอ่างตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามของภูมิภาคนี้ มีปริมาณเก็บกักน้ำ ณ วันนี้น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ทุกแห่ง


แนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดระยองและชลบุรีของภาครัฐที่เห็นเลาๆ ในปัจจุบัน โดยการต่อท่อสูบน้ำจากแหล่งหนึ่งไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง รวมทั้งการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น คล้ายดั่งการนำรถไปแจกน้ำในกรณีภัยแล้ง ยิ่งถ้ารัฐบาลจะเร่งอัตราการเจริญเติบโต จีดีพี ร้อยละ
5 ขึ้นไป และพยายามเร่งอัตราการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ประเด็นปัญหาที่ต้องการคำตอบ คือ จะมีอะไรจะเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำเหล่านี้ ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานที่เดิมหลายคนลืมนึกถึง (สนิท) ไป ยิ่งสภาพภูมิอากาศทั่วโลกปัจจุบันแปรปรวนมาก ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในการก่อตัวของเมฆฝน ยกตัวอย่าง คือ ฝนดันไปตกลงทะเลแต่ไม่ตกลงพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่จังหวัดภาคตะวันออกนั้นๆ

 

หลายคนคงลืมไปว่าป่าต้นน้ำ คือ แหล่งซับน้ำฝน ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุน อุ้มน้ำคล้ายฟองน้ำดั่งในหลวงทรงเคยตรัสไว้ และต่อมาน้ำจากป่าต้นเหล่านั้นได้ไหลผ่านลำธารเล็กๆ ไหลลงต่อเนื่องสู่แม่น้ำและอ่างเก็บน้ำที่คนสร้างขึ้นในพื้นที่ราบในที่สุด หลักการง่ายๆ คือ ถ้าไม่มีป่าคงไม่มีน้ำในอ่างเก็บน้ำความมั่นคงของน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นสมการเส้นตรงสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ น้ำต้นทุนเกิดจากป่าต้นทุนนั่นเอง ลองดูตัวเลขก็ได้ จากข้อมูลกรมป่าไม้ ปี 2543 จังหวัดระยองมีพื้นที่ป่าที่น้อยที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก คือ 297 ตารางกิโลเมตร จังหวัดปราจีนบุรี มีมากหน่อยเพราะมีเนื้อที่บางส่วนติดเขาใหญ่ มี 1,481 ตารางกิโลเมตร สระแก้ว มี 2,172 ตารางกิโลเมตร กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนศรีนครินทร์ มี 11,869 ตารางกิโลเมตร เพราะอานิสงค์การอนุรักษ์ป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเขื่อนศรีนครินทร์อย่างต่อเนื่องและมีปริมาณมาก


จากข้อมูลพื้นที่ดังกล่าวจะเห็นว่าจังหวัดระยองจึงมีทุนสำรองน้ำน้อยมาก อันเนื่องจากมีปริมาณป่าต้นทุนน้อย และจังหวัดนี้ที่เห็นพื้นที่ป่าที่สำคัญมีเพียงเขาชะเมาเท่านั้น แต่จังหวัดนี้มีทิศทางการพัฒนาเร่งรัดการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเน้นภาคเกษตรกรรมด้วย คือ สวนผลไม้มุ่งสู่ตลาดโลก อย่างไรก็ตามการเร่งอัตราการเจริญเติบโตดังกล่าวขาดการมองปัญหาพื้นฐานเรื่องน้ำ ถ้ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาระยะยาวจังหวัดระยองจะมีปัญหาเรื่องการขาดน้ำต้นทุนอยู่ร่ำไป ไม่อยากจะคิดเลยเถิดไปถึงปีนี้อ่างเก็บน้ำภาคตะวันออกปล่อยน้ำออกเพื่อการเกษตร ชุมชน และอุตสาหกรรม ไม่ได้ เพราะปริมาณน้ำเก็บกักน้อยเกินไปถ้าขืนปล่อยออกไปเดี๋ยวอ่างแตกไม่มีน้ำเลี้ยง


การจัดการน้ำนั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการวางแผนการพัฒนาประเทศนั้น เน้น การพัฒนารายสาขา
(Sectoral Development) เช่น สาขาพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาย่อยต่างๆ สาขาการพัฒนาโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร สาขาการบริการ สาขาการท่องเที่ยว สาขาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นอาทิ ซึ่งการออกแบบพัฒนาประเทศไทยก็คล้ายประเทศอื่นๆ การพัฒนาประเทศไทยในกลุ่มสาขาใหญ่และสาขาย่อยต่างๆ เหล่านั้นยังขาดทิศทางการบริหารจัดการที่บูรณาการเรื่องน้ำซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานเข้าไป ซึ่งถ้ามีการคำนึงปัจจัยเรื่องน้ำแล้วเหตุการณ์ขาดแคลนน้ำของจังหวัดระยองคงไม่เกิดขึ้น

 

การบริหารจัดการน้ำปัจจุบันยังคงใช้แนวทางเดิมๆ เช่นการสร้าง อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานต่างๆ เน้นวัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระจายน้ำเพื่อการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม การประปาภูมิภาคและการประปานครหลวงผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคชุมชน กรมทรัพยากรน้ำปัจจุบันก็เน้นการสร้างประปาหมู่บ้าน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเน้นการควบคุมและการออกใบอนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาล ผมยังไม่เห็นกรมไหนรับผิดชอบการจัดการน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และเท่าที่ดูอยู่ก็น่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพน่ากระมัง ซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องวางแผนสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งน้ำด้วย ถ้าเป็นจริงก็แสดงว่าการนิคมอุตสาหกรรมคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำระยะยาวที่จังหวัดระยองผิดพลาดหรืออาจมีการคาดการณ์อยู่แล้วแต่มิได้ปรับข้อมูลให้ทันสมัย หรือไม่ก็การนิคมอุตสาหกรรมเจอปัญหาทิศทางการบริหารจัดการน้ำมีความยุ่งยากซับซ้อนหรือหลายหน่วยงานเป็นเจ้าภาพและแต่ละหน่วยงานขาดการประสานภารกิจ เช่น การจัดการน้ำแบบแยกส่วนๆ โดย บริษัท อีสต์วอเตอร์ จำกัด กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ เป็นต้น ทำให้ยากที่จะวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้


ผลพวงจากการบริหารแบบแยกส่วน คือ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานและบางแห่งเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหน่วยงานเก็บกักน้ำต้นทุน การประปาภูมิภาคสูบน้ำต้นทุนฟรีจากทางน้ำที่ไหลออกมาจากแหล่งน้ำต้นทุนเหล่านั้น ชุมชน องค์กรท้องถิ่น โรงเรียน โรงพยาบาล และโรงงานริมฝั่งน้ำต่างๆ ก็สูบน้ำจากสายน้ำนั้นใช้ฟรีด้วยเช่นกัน ดูเสมือนว่าหน่วยงานเจ้าของน้ำต้นทุนเหล่านั้นจะมีกิจกรรมการประสานงาน การวางแผน และการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับน้ำระหว่างกันน้อยมาก จุดมุ่งยังจำกัดเขตอยู่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ขีดวงอยู่ของกรมใครกรมมัน ขาดการมองภาพกว้างเกี่ยวกับการจัดการน้ำ และถ้าพิจารณาการประสานงานหน่วยงานเหล่านี้กับกรมผลิตน้ำต้นทุนที่เป็นเจ้าของป่าต้นน้ำ คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยิ่งแล้วใหญ่ ยังไม่เคยเห็นการวางแผน การบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ การบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันคล้ายอยู่ในแดนสนธยา เฉกเช่น กรมน้ำไม่รู้เรื่องดิน กรมดินไม่รู้เรื่องป่า กรมป่าไม่รู้เรื่องน้ำ การบริหารทรัพยากรธรรมชาติของไทยยังยึดติดอยู่กับกรมเฉพาะทางหรือเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่ง ณ วันนี้แนวคิดลักษณะนั้นจำเป็นแต่ต้องการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมการปฏิรูปแนวคิดเรื่องการจัดการน้ำใหม่ โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านองค์กร บทบาท ภารกิจ โดยยึดการบริหารจัดการน้ำเชิงระบบที่มองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความต้องการน้ำในมิติของชุมชน อุตสาหกรรม เกษตร วัฒนธรรม วิถีชีวิต บูรณาการเข้าไปด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มิติใหม่ของการจัดการน้ำต้องไม่มองเชิงเส้นตรง และแยกส่วน แต่มองในมิติของหลายด้านในขณะเดียวกันหรือเมตริกซ์นั่นเอง

 

การแก้ปัญหาน้ำที่ระยอง ณ วันนี้ ผมอยากให้รัฐบาลดูอาการแสดงของแต่ละส่วนราชการว่าจะออกมาอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว บทเรียนนี้น่าจะนำมาปฏิรูประบบการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ผมอยากเรียนท่านนายกทักษิณ ชินวัตร และรัฐมนตรีทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำว่า การบริหารงานทรัพยากรที่ควรจะเป็นแยกส่วนไม่ได้ ไม่เหมือนการพัฒนาเศรษฐกิจรายสาขาการพัฒนาที่กล่าวมาแล้ว แต่การพัฒนาทุกสาขาต้องใช้ น้ำและอีกมิติหนี่งของการปฏิรูปการจัดโครงสร้างองค์กรบริหารทรัพยากรธรรมชาติไม่ควรแยกดิน น้ำ ป่า ออกจากกันได้ ดังเช่นการจัดโครงสร้างกรมต่างๆ ในปัจจุบัน เพราะดิน น้ำ ป่า เป็นฐานทรัพยากรที่เชื่อมโยงกัน


การปฏิรูปโครงสร้างแบบทันทีทันใดกล่าวข้างต้นอาจทำไม่ได้เดี๋ยวนี้ อาจทำได้แค่เพียงช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น ณ วันนี้ การหาเจ้าภาพหลักด้านการบริหารทรัพยากรธรรมชาติคงต้องมี แต่อย่าลืมเจ้าภาพร่วมก็ต้องมีด้วย เพราะมีส่วนราชการหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรณีการต่อท่อน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนึ่งให้ไหลเข้าสู่อีกอ่างหนึ่งเพื่อส่งต่อให้ภาคอุตสาหกรรม คำถามที่ตามมา คือ ถ้าปริมาณน้ำที่เก็บกักน้อยลงไป เกษตรกรที่ใช้น้ำจากอ่างนั้นคงเดือดร้อนมาก และในกรณีถ้าจะมีการต่อท่อจากแหล่งน้ำอื่นมาเสริม คำถามที่ตามมา คือ จะเกิดการขาดแคลนน้ำเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่อง ไปถึงอ่างเก็บน้ำตอนบนนั้นๆ หรือไม่ และการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้นน่าจะอยู่ที่ใด

 

ที่จริงถ้ามีการคิดนอกกรอบมีทางออกมากมายต่อกรณีการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์น้ำที่จังหวัดระยองนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินงบประมาณรัฐในการสร้างท่อหรือสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำเพิ่ม ในหรือเพื่อต่อท่อเข้าอ่างเก็บน้ำ ง่ายๆ ที่หลายประเทศทำกัน คือให้เอกชนทำธุรกิจค้าน้ำกับโรงงานอุตสาหกรรมไปเลย โปรดอย่าไปใช้น้ำของกรมชลประทานเลยหรือถ้าจะใช้ก็ควรใช้เมื่อจำเป็น เกษตรกรกลุ่มใดมีพื้นที่มากก็กู้เงินมาลงทุนขุดอ่างเก็บน้ำและขายน้ำต่อให้โรงงานอุตสาหกรรมโดยมีสัญญาซื้อขายเพื่อเป็นการค้ำประกันและสร้างความมั่นในการค้าขายน้ำ เป็นหลักการสนับสนุนเอกชนค้ากับเอกชนเอง อาจมีคำถามว่าเป็นไปไม่ได้ ทำไมจะทำไม่ได้ในเมื่อพื้นที่ป่าแถบนั้นเป็นแสนๆ ไร่ ถูกเช่าใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ที่จริงบริษัทอีสต์วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่การประปาภูมิภาคถือหุ้นอยู่ก็ควรทำแบบนี้   การไปซื้อน้ำ

 

ราคาถูกจากอ่างเก็บน้ำชลประทานแล้วไปขายแพงกว่าแก่ภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นโจทย์การบ้านที่ง่ายเกินไป และนี่เองที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่างรอคอยการจ่ายน้ำจากบริษัท และเมื่อน้ำเริ่มขาดแคลนก็ถึงทางตันในการแก้ปัญหา

 


ผมไม่อยากเห็นเกษตรกรต้องเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำจากอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นเพราะภาคอุตสาหกรรมแย่งไปจากเขา และเมื่อต้องการน้ำเพิ่มก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น กำไรของเกษตรกรจากการเพาะปลูกนั้นน้อยอยู่แล้ว อย่าลืมนะครับจังหวัดระยองพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยเทือกสวนเป็นมรดกหลายชั่วอายุคน สวนเป็นคุณค่าชีวิตสืบทอดมาเนิ่นนาน ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องส่งเสริมกระจายน้ำแก่ชาวสวนซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตลำดับแรก คล้ายการชดเชย
(Subsidy) ปัจจัยการผลิตด้านต้นทุนซึ่งก็มีการทำกันทุกประเทศทั่วโลก ยิ่งประเทศไทยสถานภาพเกษตรกรต่างกับต่างประเทศอย่างมากเพราะส่วนมากเกษตรกรเรายากจนและมีหนี้สิน


ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น ผมขอเสนอให้ภาคอุตสาหกรรมต้องวางแผนการจัดหาน้ำเอง คล้ายดั่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชนซึ่งมีอย่างหลากหลายในปัจจุบันที่ขายพลังงานให้ภาคอุตสาหกรรม กรณีน้ำก็น่าจะเป็นกรณีเดียวกัน ไม่อยากเห็นภาคอุตสาหกรรมบีบคั้นกดดันรัฐบาลให้รัฐจำเป็นต้องลงทุนเน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานจ่ายน้ำให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เพราะถ้ายิ่งถ้าทำมากขึ้นก็คล้ายดั่ง ศาสตราจารย์ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่มาบรรยายเมืองไทยเมื่อสองปีมาแล้วว่าภาคอุตสาหกรรมไทยอ่อนแอมาก ต้องสร้างความเข้มแข็งและปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและการพัฒนาคุณภาพสินค้า เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำสู่สินค้าคุณภาพเพื่อเป็นการเพิ่มราคา ใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ค่าแรงต้องขึ้น คล้ายอาจารย์ไมเคิลจะบอกว่าภาคอุตสาหกรรมไทยว่าควรต้องยกเครื่องกันใหม่ คงไม่ใช่เอะอะอะไรก็เรียกร้องรัฐบาล อย่าลืมว่าหลายเมืองในโลกนี้ภาคอุตสาหกรรมอยู่กับชุมชนเป็นเจ้าของเมือง เป็นเจ้าของทีม ฟุตบอล จ่ายน้ำ จ่ายหมอ โรงเรียน ให้ชุมชน ในราคายุติธรรม และนี่ยั่งยืนกว่าการทำแค่การโฆษณาผ่านสื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทต่างๆ เท่าที่ทำกันอยู่ ซึ่งยังไม่เห็นว่ายั่งยืนอย่างไร การแก้ปัญหาน้ำมิใช่แค่การแก้ปัญหาโดยการนำน้ำจากที่หนึ่งไปเติมอีกที่หนึ่งแล้วจบ แล้วรอฝนตกลงมาน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำแล้วค่อยว่ากันใหม่ การสร้างนโยบายประหยัดน้ำและพลังงาน การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การสร้างแหล่งน้ำสำรองเพื่อประกันความเสี่ยง การผลิตน้ำเพื่อใช้และให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมด้วยกันเอง เหล่านี้ล้วนเป็นภาระของภาคอุตสาหกรรม


กรณีวิกฤติน้ำของจังหวัดระยองสะท้อนความต้องการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบใหม่ มันเป็นการบริหารการเปลี่ยนแปลง (
Change Management) การจัดการน้ำคงไม่ใช่ทำไปเพื่อจ่ายน้ำให้พอเพียงต่อการพัฒนารายสาขา (Sectoral-Base Water Management) อีกต่อไป แต่ไปสู่ การจัดการแบบบูรณาการ (Integrated Water Management) น้ำเพื่อชุมชน น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม น้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมพืชพันธุ์ สัตว์ ดิน ให้อยู่ได้ โดยคำนึงถึงการจัดการน้ำเพื่อสิ่งเหล่านี้ผสมผสานกัน


การบริหารจัดการน้ำทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบูรณาการเป็นระดับชาติ และที่สำคัญให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การบริหารจัดการน้ำอาจแยกตามโครงสร้างภูมินิเวศก็ได้ ใช้ฐานข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ มารวมกันที่จุดเดียว ซึ่งต่างไปจากเดิมที่ข้อมูลและระบบแผนงานโครงการจัดทำเป็นของกระทรวงหรือกรมใครกรมมัน หรือ โครงการซีอีโอ หรือ โครงการท้องถิ่น โดยหาภาพรวมไม่เจอ ทำให้ภาพของการบริหารจัดการน้ำเห็นเฉพาะเป็นส่วนๆ ตอนๆ โดยลืมไปว่าน้ำนั้นไหลเชื่อมโยงถึงกันหมด ที่จริงประเทศไทยเล็กมากไม่ซับซ้อนเท่าบางประเทศที่มีขนาดใหญ่และบางแห่งก็เป็นทวีป แต่สิ่งที่ไทยประสบปัญหาอยู่คือพื้นที่รับน้ำน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เรามีจังหวัดเขตการปกครองซอยย่อยมาก ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นมีน้อยกว่า เรามีหน่วยงานบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่ซับซ้อนกว่าและแยกส่วน และบางภารกิจทับกันไปมาเข้าใจยาก น่าจะถึงเวลายกเครื่องกันการจัดการน้ำของประเทศไทยใหม่ได้แล้วในหลายมิติดังที่กล่าวมา

 

ผศ.ดร.ยรรยงค์  อินทร์ม่วง
โครงการจัดตั้งคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กรกฎาคม 2548

ที่มา  : www.thaingo.org

Be the first to comment on "ถึงเวลายกเครื่องการจัดการน้ำของประเทศไทยใหม่หรือยัง"

Leave a comment

Your email address will not be published.