“ถึงเวลาสื่อสาธารณะภูมิภาค”
ท่ามกลางความโกลาหลที่ประชาชนทุกชั้นวรรณะต้องดิ้นรนหนีน้ำและจัดการกับชะตาชีวิตอย่างฉุกละหุก โชคไม่ดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์และกลไกราชการส่วนกลางเกิดอาการหมดสภาพไปเสียดื้อๆ เหลือก็แต่ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและกองทัพที่กอดคอกันสู้วิบากกรรม โดยมีความอยู่รอดของครอบครัวพี่น้องของตนเป็นเดิมพัน
ในวิกฤติการณ์ทุกครั้ง เรามักจะได้เห็นผู้นำตามธรรมชาติปรากฎตัวขึ้นในชุมชน รวมทั้งองค์กรและวงการระดับต่างๆ อย่างหลากหลาย บางชุมชนที่รอดมาได้มักมีองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และนวัตกรรมที่น่าสนใจมาให้เป็นกรณีศึกษา แม้ชุมชนที่พ่ายแพ้อย่างราบคาบก็ยังมีบทเรียนและประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้สังคมได้เก็บเกี่ยว
กรณี อบต. หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี หลังจากต้านทานน้ำจากคลองบางโฉมศรีอยู่หลายระลอกจนเอาไม่อยู่ จึงเลือกหมู่บ้านหนึ่งเดียวที่อยู่ที่ดอน ใช้เป็นที่มั่นสำหรับกองอำนวยการและที่อพยพประชาชนในตำบลจำนวน 93 ครัวเรือน 400 ชีวิต จากนั้นเร่งทำพนังกั้นน้ำด้วยดินปนทรายโดยรอบยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ผลัดเปลี่ยนกันเดินลาดตระเวนเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และจัดหาผักตบชวามาเป็นวัสดุกันคลื่น จนสามารถรอดพ้นร่วมกันมาได้ทั้งตำบล
กรณีกลุ่มบริษัทมินิแบ บางปะอินซึ่งเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์แห่งใหญ่ ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี มีแผนล่วงหน้ามานานโดยออกแบบผังเมืองของตน แบ่งพื้นที่ทั้งหมด 600 ไร่ เอาไว้เป็นที่รองรับน้ำทุ่งและน้ำเหนือไหล่บ่าถึง 200 ไร่หรือหนึ่งในสาม นอกจากนั้นยังทำคันดินฐานกว้าง 5 เมตร สูง 2 เมตร และหุ้มด้วยพลาสติกกันดินสไลด์ ปิดทับด้วยกระสอบทรายและผ้าใบ เป็นระยะทางยาว 5 กิโลเมตร และอาศัยพนักงานเป็นกำลังดูแลรักษาพื้นที่ทั้งวันทั้งคืน
กรณีชุมชนหมู่บ้านยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่ รวมตัวกันโดยมีนิติบุคคลบ้านจัดสรรเป็นแกนกลาง ระดมเงินเรี่ยรายกันเองเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทำกำแพงกั้นและใช้เครื่องสูบน้ำออกโดยช่วยตนเอง แต่ในที่สุดเมื่อรู้ว่าสู้น้ำไม่ได้แน่ จึงตกลงกันว่าจะเก็บเงินที่เหลือเอาไว้สำหรับใช้ฟื้นฟูชุมชนภายหลังน้ำท่วมดีกว่า
กรณีชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่ง กทม. ประกาศให้อพยพและจัดเตรียมศูนย์พักพิงไว้ให้ที่โรงเรียนในชุมชน เมื่อได้นักวิชาการจากภายนอกไปให้คำปรึกษาและมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีครูที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นแกนนำ จึงมีการวางแผนและจัดระบบรองรับเป็นอย่างดี แต่ชาวบ้านยังคงยืนหยัดที่จะอยู่ในบ้านของตนเองแทนที่จะตื่นตระหนกจนเกินเหตุ
กรณีเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยจำนวน 77 สถานี ได้แปรสภาพตัวเองเป็นสถานีประชาชน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้านผู้ประสบภัยและแจ้งเตือนเหตุการณ์ ในแบบเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอสทำ แต่ในสเกลที่แคบกว่าและเชื่อมโยงข้อมูลสื่อสารถึงกัน พวกเขาสามารถประสานกับองค์กรท้องถิ่นและกลุ่มจิตอาสาให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งเพราะอยู่ห่างไกลและถูกตัดขาด จนแม้วินาทีสุดท้ายที่ตนเองต้องตกเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง พวกเขาก็ยังมีเครือข่ายนอกพื้นที่ช่วยดูแลกัน
ยังมีกรณีอื่นๆ อีกนับร้อยนับพันเรื่องราวที่รอการค้นหา รวบรวมและสังเคราะห์ เพื่อเผยแพร่และจัดการความรู้ ซึ่งสื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญ ในยามเช่นนี้ทำให้ผมนึกถึงวิทยุเพื่อการศึกษาที่เป็นต้นแบบสื่อสาธารณะของประเทศในอดีต ที่เรียกกันว่า สวศ.ครับ
เมื่อปี 2522 ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการกู้เงินธนาคารโลก 700 ล้านบาท และรัฐบาลสมทบงบประมาณอีก 700 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษา (สวศ.) ซึ่งประกอบด้วยสถานีเครือข่ายภูมิภาค 11 แห่ง และสำนักงานกลาง 1 แห่ง มีขีดความสามารถกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 90 ทั่วประเทศ เริ่มเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน
เครือข่าย สวศ. มีภารกิจในการขยายโอกาสทางการศึกษาและฝึกอบรมแก่เยาวชนและผู้ใหญ่นอกระบบโรงเรียน ใช้วิทยุเป็นเครื่องมือนำบทเรียนการสอนที่มีคุณภาพไปสู่โรงเรียนที่ห่างไกล เสริมความรู้ชุดวิชาครู มีรายการสอนหนังสือของมหาวิทยาลัยเปิด ส่งเสริมการเกษตร-สุขภาพอนามัย และถ่ายทอดรายการข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสวศ.นั้นห้ามมีโฆษณาเสียด้วย
ว่าในเชิงหลักการแล้ว เครือข่ายวิทยุ สวศ. น่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและการรับมือพิบัติภัยธรรมชาติอย่างที่กำลังเกิดอยู่ขณะนี้ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันได้ถูกละเลยบทบาทความสำคัญไปมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่แน่นอนในทางนโยบาย อันกระทบมาจากกระแสการปฏิรูปสื่อตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ ข้าราชการไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนจึงพากันรอดูเหตุการณ์และปล่อยให้สวศ.อ่อนกำลังลงทุกวัน
บทเรียนรู้จากสถาบันสื่อสาธารณะยุคใหม่อย่างไทยพีบีเอสในวันนี้ เขาพยายามที่จะเปิดพื้นที่และเป็นเครื่องมือของสังคมและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการปัญหาด้วยตัวเอง แม้ขณะนี้จะยังช่วยประชาชนไม่ได้มากนักแต่ก็ทำให้เราพบว่าการที่มีสื่อเพื่อสังคมในระดับชาติแม้เพียงหนึ่งเดียว หากทำให้ดีจะเป็นเครื่องมือหนุนเสริมการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นเล็กๆ นับหมื่นนับพันกลุ่มที่ฐานรากได้ โดยไม่ต้องรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐบาลส่วนกลางหรือฝากชีวิตไว้กับการเมืองระดับชาติ
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยพีบีเอสได้ปรับผังรายการปกติเพื่ออุทิศเวลาหน้าจอให้คนภาคกลางและคนกรุงเทพฯ ฝ่าวิกฤตน้ำท่วมคราวนี้ ก็ถูกท้วงติงจากคนภาคอื่นอยู่บ้างว่าพวกเขาไม่ได้ถูกน้ำท่วมและอยากดูรายการอื่นด้วย มาตัดรายการของเขาทำไม นั้นคือข้อจำกัดของการมีทีวีสาธารณะเพียงสถานีเดียวและต้องรับใช้ความต้องการของประชาชนที่หลากหลาย ทั้งในมิติประเด็นปัญหาและมิติพื้นที่ผลกระทบ
จุดนี้เองที่ผมคิดว่าเครือข่ายสถานีวิทยุ สวศ. น่าจะช่วยเติมเต็มได้ เพราะในเวลานี้สังคมไทยคงไม่ได้ต้องการสถานีโทรทัศน์เพิ่ม แต่ต้องการสถานีวิทยุที่สามารถส่งกระจายเสียงได้กว้างไกลทั่วประเทศและเป็นเครื่องมือทางสังคมได้อย่างกว้างขวางในแบบฉบับของสื่อสาธารณะมากกว่า
สถานีวิทยุ สวศ. ที่มีอยู่ในระบบ เอ.เอ็ม.11 แห่งและ เอฟ.เอ็ม.2แห่งนั้น ผมคิดว่าเหมาะที่จะเป็นสถาบันสื่อสาธารณะระดับภูมิภาคและเป็นแม่ข่ายให้กับสถานีวิทยุชุมชนท้องถิ่นเชิงอุดมคติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะปฏิรูป สวศ.ไปในรูปแบบใด สิ่งที่สำคัญคือจิตวิญญาณของความเป็นสื่อสาธารณะที่ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจการเมืองและอำนาจทุน ดั้งนั้นการออกแบบโครงสร้าง กลไกและระบบเงินทุนสนับสนุน ตลอดจนการปฏิรูปจิตสำนึกและวิธีคิดของบุคลากร และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในสาระใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ฝากกรรมการ กสทช.ทุกท่านด้วยนะครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ถึงเวลาสื่อสาธารณะภูมิภาค"