การเข้าสู่ทศวรรษที่สามของชีวิต สำหรับคนหรือองค์กรหนึ่งมีความหมายหลายนัยแฝงอยู่ นัยหนึ่งเป็นการสะท้อนความเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาววัยฉกรรจ์ที่เปี่ยมไปด้วยกำลังวังชา ไม่ใช่วัยเด็กที่เริ่มเตาะแตะ และไม่ใช่วัยชราที่เชื่องช้าถดถอย อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนความมีประสบการณ์ชีวิตมาแล้วในระดับหนึ่ง
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑
20ทศวรรษที่สาม มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา : “ชูแนวทางชุมชนท้องถิ่น ร่วมขบวนปฏิรูปสังคม”
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
1. ทศวรรษที่สาม
การเข้าสู่ทศวรรษที่สามของชีวิต สำหรับคนหรือองค์กรหนึ่งมีความหมายหลายนัยแฝงอยู่ นัยหนึ่งเป็นการสะท้อนความเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาววัยฉกรรจ์ที่เปี่ยมไปด้วยกำลังวังชา ไม่ใช่วัยเด็กที่เริ่มเตาะแตะ และไม่ใช่วัยชราที่เชื่องช้าถดถอย อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนความมีประสบการณ์ชีวิตมาแล้วในระดับหนึ่ง ไม่ใช่วัยที่อ่อนหัดผู้รอการเรียนรู้โลก และไม่ใช่ผู้สูงวัยที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชนแล้ว
เมื่อคนหรือองค์กรใดพูดถึงการวางแผนงานระยะยาวในระดับ 10 ปี โดยส่วนตัวผมคิดว่าเขาหรือองค์กรผู้นั้นน่าจะต้องเป็นผู้ที่กำลังเดินทางไกลอย่างไม่ย่นย่อท้อถอย โดยยอมรับในธรรมชาติของการเดินทาง และตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องมุ่งหน้าต่อไปอย่างรับผิดชอบ ไม่ว่าฟ้าจะถล่มหรือดินจะทะลาย
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนามิใช่องค์กรเฉพาะกิจและมิใช่องค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของตนเอง หากตั้งขึ้นมาเพื่ออุทิศตนทำประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแน่วแน่มั่นคง โดยมีความเชื่อมั่นในทฤษฎีหรือแนวทางชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และมีเป้าหมายซึ่งใหญ่มากคือการส่งเสริมให้สังคมไทยทั้งสังคมมีความเข้มแข็งขึ้นไปจากฐานล่าง
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีภูมิหลังความเป็นมาที่ยาวนาน มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเป็นพลวัตร ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2531 โดยที่ก่อนหน้านั้นเกือบ 5 ปีก็เริ่มมีการก่อตัวและเตรียมการล่วงหน้ามาแล้วภายใต้ภารกิจของกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดา(LDAP)
ดังนั้น หากพิจารณาจากประวัติความเป็นมาขององค์กรในช่วงเกือบ 25 ปีที่ผ่านมา นับได้ว่ามูลนิธิมีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่กำลังพอเหมาะทีเดียว นอกจากนั้นน่าจะมีภูมิปัญญา ความเชี่ยวชาญ และภูมิคุ้มกันที่แฝงฝังอยู่ในตัวตามสมควร
อย่างไรก็ตามมูลนิธินี้ยังไม่ถึงกับเป็นองค์กรที่เก่าแก่มาก การยึดมั่นในตัวตนแม้จะมีอยู่บ้างก็คงไม่มากจนเกินไป ดังนั้นในภาพรวมถือได้ว่ามีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวได้อีกมาก
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะกำหนดจังหวะก้าวและวางแผนเดินทางไปข้างหน้า เราก็ควรที่จะมองย้อนกลับไปเพื่อเป็นการทบทวนเสียก่อนว่า ตามเส้นทางเดินที่ผ่านมาขบวนการของเราเป็นอย่างไร
2. มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ในความเป็นจริงแล้วสถานภาพของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในยุคปัจจุบันที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สามเป็นเสมือนครอบครัวขยาย ซึ่งแตกต่างไปจากตอนก่อตั้งมากทีเดียว กล่าวคือในยุคก่อตั้งมูลนิธิ ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ได้ออกแบบจัดตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาขึ้นมาเป็นกลไกดำเนินงานของมูลนิธิในทุกๆเรื่อง รวมทั้งเป็นสำนักงานมูลนิธิไปในตัวด้วย ดังนั้นสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจึงเป็นตัวแทนของมูลนิธิที่ออกไปมีบทบาทปฏิสัมพันธ์กับภายนอกโดยหนึ่งเดียว
แต่ด้วยวิวัฒนาการอย่างเป็นพลวัตรตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ภารกิจต่างๆ ที่ขยายตัวกว้างขวางออกไป ทำให้มูลนิธิต้องมีสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (อีสาน), สำนักพัฒนาประชาสังคม, สำนักส่งเสริมศักยภาพชุมชน, สำนักวิจัยชุมชนท้องถิ่น, ฯลฯ ขึ้นมาเป็นกลไกดำเนินงานตามลำดับ ซึ่งต่อมามูลนิธิและกลไกเหล่านี้ได้มีการปรับตัวในเชิงโครงสร้างอีกหลายครั้ง จนในปัจจุบันกลไกการทำงานของมูลนิธิประกอบด้วย 1 คณะกรรมการ, 4 หน่วยงานย่อย และ 5 องค์กรขับเคลื่อนปฏิบัติการ ได้แก่ :-
– คณะกรรมการ 1 คณะ คือ คณะกรรมการมูลนิธิซึ่งมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
– หน่วยงานย่อย 4 หน่วย ได้แก่
1) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ที่มีนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการ
2) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ที่มี นายทรงพล เจตนาวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ
3) สถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น (LMI) ที่มี นายเอนก นาคะบุตร เป็นผู้อำนวยการ
4) สำนักงานมูลนิธิ ที่มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นหัวหน้าสำนักงาน
– องค์กรขับเคลื่อนปฏิบัติการ 5 องค์กร ได้แก่
1) เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ที่มี นายวีระ สมความคิด เป็นเลขาธิการ
2) สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สXส) ที่มี นายภุชงค์ กนิษฐชาต เป็นผู้จัดการสมาคม
3) โครงการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม (สปรย.) ที่มี อาจารย์พิเชษฐ์ เมาลานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ
4) เครือข่ายเยาวชนสายธารประชาธิปไตย ที่มี นายพล พนาธรรม เป็นผู้ประสานงาน
5) เครือข่ายอาสาสมัครฮิลาลอับบิยัฎ ที่มี นายอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ เป็นผู้ประสานงาน
ดังนั้น เมื่อจะกล่าวถึงบทบาทและภารกิจของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในยุคต่อไป จึงหมายถึงบทบาทโดยรวมของกลไกทั้งหมดที่อยู่ภายใต้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนานั่นเอง แต่กลไกส่วนใดจะมีบทบาทด้านใดเป็นด้านหลัก-ด้านรองนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม และยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีที่จำแนกตามความเหมาะสมกันไป
3. บทบาทของมูลนิธิในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อมองย้อนหลังไปจนถึงจุดตั้งต้นของขบวนการ ตั้งแต่ช่วงจัดตั้งกองทุนพัฒนาท้องถิ่นไทย-แคนาดาในปี 2527 เราอาจวิเคราะห์โดยแบ่งช่วงเวลาตามบทบาทและภารกิจหลักๆ ของมูลนิธิและภาวะการนำของผู้บริหารองค์กรซึ่งปรับเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนได้เป็น 4 ช่วง คือ
ช่วงแรก : ช่วงจัดตั้งและบริหารกองทุน LDAP (2527-2533)
ลักษณะของยุทธศาสตร์ หรือภารกิจเน้นหนักขององค์กรเป็นการ “บุกเบิกแนวคิด ชุมชนเข้มแข็ง”
เป็นช่วงดำเนินการของกองทุน LDAP ที่มี เอนก นาคะบุตร เป็นผู้บริหารก่อนที่จะมีการก่อตั้งมูลนิธิ ช่วงนี้องค์กรมีภารกิจในการบริหารกองทุน เพื่อสนับสนุนการทำงานในหมู่บ้านชุมชนขององค์กรเอ็นจีโอเป็นจุดเล็กๆ กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่างๆ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในชนบท ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เริ่มบุกเบิกแนวคิดและแนวทางชุมชนเข้มแข็งในฐานะที่เป็น “ทางเลือกของการพัฒนา”
ช่วงที่ 2 : ก่อตั้งมูลนิธิและสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (2531-2537)
ลักษณะของยุทธศาสตร์ในช่วงนี้ คือการ “วิพากษ์นโยบายและวิจัยชุมชน”
เป็นช่วงรอยต่อของการทำงานโดยรูปแบบกองทุน LDAP ซึ่งเป็นระยะที่ 1 ของโครงการ CIDA กับการเตรียมงานระยะที่ 2 ของ CIDA ซึ่งต้องการให้จัดตั้งมูลนิธิ/สถาบันขึ้นเพื่อเป็นองค์กรถาวรสำหรับการทำงานอย่างเป็นอิสระอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และมีเป้าหมายให้สามารถพึ่งตนเองได้ ช่วงนี้ยังรวมทั้งช่วงว่างระหว่างรอโครงการอีก 1 ปีด้วย ช่วงนี้ยังคงมีภารกิจในการบริหารกองทุน LDAP และเงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจากต่างประเทศเป็นการต่อเนื่องจาก CIDA ขณะเดียวกันก็ประสานแหล่งทุนอื่นเช่น FORD มาสนับสนุนการดำเนินงานอีกทางหนึ่ง
เวทีทิศทางไทที่ LDAP ได้จัดขึ้นในช่วงนี้ มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐและเป็นการเตรียมประเด็นทางวิชาการเพื่อรองรับการจัดตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ไปในตัว
ในระยะหลังๆของช่วงนี้ LDI ที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยมี ศ.เสน่ห์ จามริก เป็นผู้อำนวยการได้แสดงบทบาทที่โดดเด่นในการวิพากษ์นโยบายรัฐอย่างหนักหน่วงในด้านทิศทางการพัฒนาประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านทรัพยากรป่า เป็นช่วงที่มีการสนับสนุนการวิจัยปฏิบัติการชุมชนเข้มแข็งรูปแบบต่างๆ และทำวิจัยป่าชุมชน
ช่วงที่ 3 : ก่อนสิ้นสุดโครงการ CIDA (2538-2541)
ลักษณะของยุทธศาสตร์ในช่วงนี้เป็นการ “ร่วมกระบวนนโยบาย ขยายพหุภาคี”
เป็นช่วงที่มูลนิธิ/สถาบัน เริ่มให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อสร้างผลสะเทือนในวงกว้างช่วงนี้มีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธานสถาบัน(LDI)และเอนก นาคะบุตร ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสถาบัน การเข้าไปผลักดันแนวคิดชุมชนท้องถิ่นในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาประเทศจนได้รับมอบหมายจากสภาพัฒน์ (สศช.) ให้มีบทบาทเป็นผู้จัดกระบวนการระดมความคิด 8 เวทีภูมิภาคในแผนพัฒนาฉบับที่ 8
นอกจากนั้นการแสดงบทบาทเป็นแม่งานในการจัดเวทีสิ่งแวดล้อมไทยก็ดี และการเคลื่อนไหวเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี ล้วนเป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายซึ่งแตกต่างไปจากภารกิจในช่วงแรกขององค์กรอย่างชัดเจน
ช่วงที่ 4 : ยืนด้วยลำแข้งตนเอง (2542-2550)
ลักษณะของยุทธศาสตร์ในช่วงนี้คือการ “ถักทอเครือข่าย ขยายพลังพลเมือง”
เป็นช่วงที่โครงการและเงินทุนจาก CIDA และ FORD จบลงแล้ว เป็นช่วงของการปรับตัวของมูลนิธิครั้งสำคัญ จากสภาพเดิมที่มีเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถดำเนินงานได้โดยสะดวก และยังมีเงินทุนส่วนใหญ่ไปช่วยหนุนการทำงานขององค์กรเอ็นจีโอทั่วประเทศอีกด้วย ต้องเปลี่ยนมาเป็นสภาวะที่องค์กรกลายเป็นฝ่ายต้องแสวงหางบประมาณสำหรับการดำเนินงานและการดูแลตัวตนเองและเครือข่ายตามลำพัง
ในช่วงนี้ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นประธานสถาบัน ในขณะที่มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ทำหน้าที่เลขาธิการสถาบัน
เป็นช่วงที่ปรับวิธีการทำงานจากการวิพากษ์รัฐ มาเป็นการประสานความร่วมมือ สร้างการทำงานและการเรียนรู้ร่วมกันในทุกจังหวะโอกาส ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนแนวคิดและยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นในชีวิตจริงโดยแท้
เป็นช่วงที่มีการถักทอขยายเครือข่ายอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง มีบทบาทรับผิดชอบในการจัดกระบวนการระดมความคิดจัดทำวิสัยทัศน์จังหวัดสำหรับแผนพัฒนาฉบับที่ 9 ร่วมกับสภาพัฒน์ (สศช.) มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติกับสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) รวมทั้งมีการก่อเกิดกลไกและเครือข่ายการเมืองภาคพลเมือง และเครือข่ายตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างหลากหลาย ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่รุนแรงขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 14 กันยายน 2549 และนำมาซึ่งการเปลี่ยนรัฐบาล
4. ทุนสะสมสำหรับเดินทางไกล
ตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิและกลไกดำเนินการของมูลนิธิได้ผ่านประสบการณ์ และการเรียนรู้ในด้านการบริหารจัดการภารกิจ องค์กร เครือข่าย และภาพพจน์ทางสังคมอย่างหลากหลาย ต่อเนื่องและมีชีวิตชีวา
องค์ความรู้ บทเรียน ประสบการณ์ และทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการล้วนเป็นทุนทางปัญญาที่สะสมอยู่ในตัวบุคลากรขององค์กรและเครือข่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทุนตั้งต้นสำหรับประกอบการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนการเดินทางไกลในระยะต่อไป
1) ทุนความรู้
ในการเคลื่อนไหวปฏิบัติการในด้านต่างๆ ของมูลนิธิและกลไกดำเนินการ มีองค์ความรู้และประสบการณ์ปลีกย่อยมากมายตามลักษณะโครงการและกิจกรรมที่ทำตลอด 4 ช่วงของยุทธศาสตร์การดำเนินงานขององค์กรตามที่กล่าวข้างต้น องค์ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้แฝงฝังอยู่ในตัวคน (Tacit Knowledge) ทั้งในองค์กรและภายในเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) ซึ่งมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติการที่ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วตามแนวระนาบ
อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้สำคัญๆที่สามารถทำการสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ที่แจ้งชัด (Explicit Knowledge) สำหรับการเผยแพร่ ถ่ายทอด จัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม และการค้นคว้าอ้างอิงเพิ่มเติมก็มีจำนวนไม่น้อย อาทิ :-
· “ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” : ประมวลแนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
· “การจัดการป่าชุมชน” : แนวคิดและแนวทางการจัดการสิทธิชุมชนบนฐานทรัพยากร
· “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” : หลักการและแนวทางดำเนินงานในกระแส โลภาภิวัตน์
· “เกษตรกรรมยั่งยืน” : หลักคิดและแนวทางการจัดการในบริบทสังคมไทย
· “ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง” : แนวคิดและแนวทางการสนับสนุน
· “องค์กรการเงินชุมชน” : คู่มือการส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
· “วิทยากรกระบวนการ” : คู่มือการดึงพลังสร้างสรรค์จากการประชุม
· “เคลื่อนไหวสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง” : หลักคิดและเทคนิคการทำงาน
· “ดัชนีความน่าอยู่ของเมือง” : เครื่องมือประเมินผลกระทบการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม
· “เอกสารขับเคลื่อนประเด็นสังคม (Issue Books)”: คู่มือกระบวนการจัดทำ
· ฯลฯ
2) ทุนการเงิน
ด้วยระบบการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อการพึ่งตนเองได้ในระยะยาวซึ่งคณะผู้ก่อตั้งและวางรากฐานของมูลนิธิได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นให้มีทั้งส่วนที่เป็นกองทุนหลักประกัน (Endowment Fund) กองทุนดำเนินงาน (Working Capital) และงบประมาณโครงการต่างๆ (Budget) ซึ่งหนุนเสริมเกื้อกูลกัน ทำให้มูลนิธิและกลไกดำเนินงานของมูลนิธิมีระบบการเงินที่ค่อนข้างมั่นคง และมีสถานะทางการเงินในระดับปานกลางในช่วงที่องค์กรยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก CIDA และองค์กรต่างประเทศเป็นหลัก (พ.ศ. 2533 – 2541) มูลนิธิมีรายรับเฉลี่ย 20.3 ล้านบาท / ปี มีรายจ่ายเฉลี่ย 15.4 ล้านบาท / ปี และมีเงินคงเหลือเป็นกองทุนหลักประกันประมาณ 20.0 ล้านบาท
ส่วนในช่วงหลังจากสิ้นสุดโครงการ CIDA แล้ว และเป็นช่วงที่มูลนิธิต้องยืนด้วยลำแข้งตนเองเป็นต้นมา (ระหว่าง พ.ศ. 2542 – 2550) มูลนิธิมีรายรับเฉลี่ย 55.7 ล้านบาท / ปี มีรายจ่ายเฉลี่ย 55.7 ล้านบาท / ปี และมีเงินคงเหลือเป็นกองทุนหลักประกันประมาณ 44.7 ล้านบาท
3) ทุนเครือข่าย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 25 ปีที่ผ่านมา องค์กรได้ดำเนินโครงการ / กิจกรรมร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์ เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆ กว่า 300 โครงการด้วยเงินงบประมาณร่วม 800 ล้านบาทในพื้นที่ระดับต่างๆ ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งได้มีการถักทอเครือข่ายบุคคลเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำงานด้านชุมชนเข้มแข็ง และประชาสังคมในขอบเขตทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบัน (2551) เฉพาะสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มีเครือข่ายพลเมืองผู้กระตือรือร้น (Active Citizen) ที่ร่วมงานอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศรวม 7,224 คน หรือเฉลี่ยจังหวัดละ 95 คน ซึ่งแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ :-
· ประเภทวิทยากรกระบวนการและนักประสานจัดการ 438 คน
· ประเภทนักวิจัยพื้นที่ 147 คน
· ประเภทคณะทำงานเครือข่าย 5,932 คน
· ประเภทอาสาสมัครมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 707 คน
5. สถานการณ์บ้านเมืองที่ขวางอยู่ข้างหน้า
ก่อนที่จะกำหนดจังหวะก้าวขององค์กร ควรพิจารณาสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้เสียก่อน เพราะงานของเราซึ่งแม้จะมีความเป็นอิสระแต่ก็ต้องแทรกตัวทะยานไปในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างขั้ว ระหว่างฝ่ายในบ้านเมืองที่นับวันยิ่งรุนแรงและโกลาหล
อาจารย์หมอประเวศ วะสี แสดงความเป็นห่วงเป็นใยสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงจนวิกฤต และกำลังบรรจบกันทั้งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ วิกฤตการณ์สังคม วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม วิกฤตการณ์การเมือง และวิกฤตการณ์ความล้มเหลวแห่งกลไกรัฐ กลายเป็นสิ่งที่ท่านเรียกว่า “มหาวิกฤตการณ์สยาม” หรือ “วิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ในขณะเดียวกันท่านก็ให้ข้อแนะนำว่า ควรรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายซึ่งเป็นการใฝ่ฝันร่วมกันที่จะไปสู่สังคมไทยที่ศานติสุขและเป็นดินแดนแห่งความพอเพียงให้ได้ภายในปี 2560 โดยท่านเชื่อมั่นในแนวทางชุมชนท้องถิ่นและพลังทางสังคมว่าเป็นหนทางเดียวที่จะพาสังคมไทยฝ่าข้ามมหาวิกฤตการณ์สยามนี้ได้
อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี นักสังเกตการณ์ทางสังคมและการเมืองผู้ลุ่มลึกอีกท่านหนึ่ง ชี้สถานการณ์บ้านเมืองว่ากำลังเข้าสู่ภาวะ 5 เสื่อม คือ 1) ความสามัคคีเสื่อม ประชาชนแบ่งเป็นหมู่เหล่า เป็นปัญหาที่อาจถึงขั้นร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 2) การเมืองเสื่อม เกิดการคอร์รัปชัน นักการเมืองเป็นต้นเหตุของวิกฤต สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ทะเลาะโจมตีรุนแรงเหมือนการเมืองนอกสภา 3) ภาคสังคม สถาบันวิชาการ สื่อ เสื่อม แตกแยกทางความคิด 4) กองทัพ อดีตราชการ เทคโนแครต ชนชั้นนำ หรืออมาตยาธิปไตยเสื่อมเพราะมีความคิดล้าหลัง 5) คุณธรรมเสื่อม คนไทยเริ่มมองว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องธรรมดา โกงก็ได้ขอให้ทำงาน นอกจากนั้นยังชี้ว่าประเทศไทยถลำเข้าสู่ภาวะตีบตันเพราะคนไทยไม่มีกลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดี ในอดีตมักอาศัยแนวประเพณีคือมี “ผู้ใหญ่” คอยไกล่เกลี่ย แต่ปัจจุบันไม่ได้ผลเพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเหลือน้อย
และเมื่อมองความเป็นจริงในแต่ละวันก็พบความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองซีกรัฐบาลปัจจุบัน ที่กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550ให้ได้ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากสังคม ไม่แคร์ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะนำพาประเทศเข้าสู่ความเสี่ยงต่อมิคสัญญี และมีพฤติกรรมที่ลุแก่อำนาจ ใช้วาจาสามหาวยั่วยุรายวัน ฯลฯ ยิ่งทำให้มองเห็นแนวโน้มความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดที่เป็นภาพมากขึ้นทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ในสภาพการณ์เช่นนี้ ความฝันของมูลนิธิ โดยเฉพาะท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่อยากเห็น LDI มีการพัฒนาตัวเองที่สามารถเป็นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมยืนคู่อยู่กับ TDRI นั้น เราจะก้าวย่างไปในบรรยากาศข้างหน้าอย่างไร นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคิดคำนึง
6. มุ่งหน้าสู่แพร่งทางแยก
เมื่อปี 2536 อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ นักคิดนักเคลื่อนไหวสังคมผู้เป็นกัลยาณมิตรที่ใกล้ชิดของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาท่านหนึ่งได้นำทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) มาสู่ความสนใจของสังคมไทย โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันระบบสังคมเป็นระบบที่ซับซ้อน (Complex System) ที่มีปัจจัยเชื่อมต่อกันซับซ้อนยืดยาว ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ณ จุดหนึ่ง อาจมีผลมหาวินาศสันตโร ณ อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป จนอาจไม่เข้าใจต้นสายปลายเหตุของความเสียหายนั้น
ท่านอธิบายถึงสภาวะโกลาหลหรือไร้ระเบียบว่าเป็นระยะของการเปลี่ยนผ่านจากสภาวะเป็นระเบียบหนึ่ง (Order 1) ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะที่เป็นระเบียบอีกสภาวะหนึ่ง (Order 2) ในระยะเช่นนี้จะปรากฎ แพร่ทางแยก ที่เรียกว่า Bifurcation ซึ่งทางหนึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น (วิวัฒน์) ส่วนอีกทางหนึ่งไปสู่สิ่งที่แย่ลง (วิบัติ) โดยทั้งนี้ในสภาวะดังกล่าวจะมี ตัวดึงดูด (Attractor) เป็นตัวแปรสำคัญ ถ้ามีตัวดึงดูดเชิงทำลายจำนวนมากและมีกำลังแรง (Negative Attractor) ก็ดึงสู่วิบัติ แต่ถ้ามีตัวดึงดูดเชิงสร้างสรรค์มากกว่าแรงกว่า(Positive Attractor)ก็จะดึงดูดไปสู่สภาวะวิวัฒน์
ท่านประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อาจารย์หมอประเวศ วะสี เองก็พยายามชี้ให้สังคมไทยตระหนักถึงแพร่งทางแยกในบทความล่าสุดชิ้นหนึ่งว่า ทางหนึ่งคือมหาวิกฤตการณ์สยาม อีกทางหนึ่งคือสังคมแห่งความพอเพียงและศานติสุข
มูลนิธิและสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่กำลังเคลื่อนมาถึงจุดแพร่งทางแยกที่ความโกลาหลขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง เรามิใช่องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และมิใช่องค์กรนำที่จะต้องแบกรับปัญหาทุกอย่างไว้ แต่เราเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์องค์กรหนึ่งที่มีความสำนึกร้อนหนาว และร่วมชะตากรรมกับสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในสภาวะเช่นนี้ ผมจึงมีความคิดเห็นในเบื้องต้นสำหรับการกำหนดบทบาทและภารกิจของมูลนิธิ และกลไกทำงานของมูลนิธิในทศวรรษที่สาม ว่าควรมีเข็มมุ่งอย่างน้อย 3 ประการ โดยหวังผลใน 3 ระยะคือ
เข็มมุ่งที่ 1 : ร่วมชูธงขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปสังคมต่อเนื่อง 10 ปี
เข็มมุ่งที่ 2 : มุ่งความเป็นสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ท้องถิ่นภายใน 5 ปี
เข็มมุ่งที่ 3 : ประคองการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยในช่วง 3 ปีแรก
7. เข็มมุ่งที่หนึ่ง : ร่วมชูธงขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปสังคมต่อเนื่อง 10 ปี
อันที่จริงแล้ว ขบวนการปฏิรูปสังคมกลุ่ม องค์กรมีการขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้แล้วในรูปแบบต่างๆ เป็นระลอกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา อาทิความเคลื่อนไหวปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูประบบยุติธรรม เครือข่ายส่งเสริมคุณธรรม ขบวนการชุมชนเข้มแข็งเครือข่ายประชาสังคม ฯลฯ
ความเคลื่อนไหวปฏิรูปสังคมที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายนี้ แม้ว่าจะยังไม่สามารถสร้างผลสะเทือนด้านการเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากนั้น แต่กระบวนการก็ได้สร้างกลุ่ม องค์กร เครือข่าย และพลังทางสังคมสะสมเอาไว้ในปริมาณที่มากพอสมควรแล้ว ดังนั้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า หากมีการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่องไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นเอกภาพ ก็น่าเชื่อได้ว่า “ความเข้มแข็ง” ของสังคมไทยโดยรวมน่าจะเพิ่มพูนมากขึ้น จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในระยะเวลาดังกล่าวได้
ยุทธศาสตร์สังคม 3 ประการ ที่อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และนพ.พลเดช ปิ่นประทีป ได้ไปริเริ่มและเตรียมก่อตัวไว้ในช่วงการบริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างปี 2549-2550 น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานได้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม
ภารกิจการประสานองค์กรพันธมิตรยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการปฏิรูปสังคมให้กว้างขวางและมีพลังที่สุดจึงเป็นงานสำคัญ การเสริมพลังชุมชนท้องถิ่น และพลังเครือข่ายประชาสังคมเป็นสิ่งจำเป็นเพราะกำลังการขับเคลื่อนหลักในการปฏิรูปสังคมครั้งนี้คือพันธมิตรระหว่าง “ชุมชน-ท้องถิ่น-ประชาสังคม” และการเคลื่อนไหวสังคมที่ว่านี้ต้องการการบูรณาการระหว่าง “พลังความรู้-พลังเครือข่าย-พลังการสื่อสาร” จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
มูลนิธิ/สถาบัน ควรพัฒนาตัวชี้วัดและส่งเสริมให้มีการประเมินผลสำเร็จของการขับเคลื่อนปฏิรูปสังคมอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่ไปด้วย
กลไกการดำเนินงานของมูลนิธิทั้งหมด หมายถึงหน่วยงานย่อย 4 หน่วย (3 สถาบัน 1 สำนักงาน) และองค์กรขับเคลื่อนปฏิบัติการ 5 องค์กร รวมทั้งเครือข่ายและภาคีควรสนธิกำลัง(Synergy)การขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในขอบเขตทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่
8. เข็มมุ่งที่สอง : มุ่งความเป็นสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นภายใน 5 ปี
ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิ/สถาบันได้ดำเนินงานทั้งวิจัยและปฏิบัติการ ประมาณ 300 โครงการ ด้วยงบประมาณร่วม 800 ล้านบาท ทำให้มีองค์ความรู้ บทเรียน ประสบการณ์ และภูมิปัญญาการจัดการที่ตกผลึกสะสมอยู่ในตัวคน กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายพอประมาณ สิ่งเหล่านี้เป็นทุนทางสังคมและทุนทางปัญญาของมูลนิธิ/สถาบันที่มากเพียงพอสำหรับรองรับ “ความเป็นสถาบัน” ได้ในช่วงต่อไป หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
โครงการตำราชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นโครงการสำคัญที่จะทำหน้าที่ผลิตตำราและเอกสารคู่มือสำหรับการเรียนการสอน การฝึกอบรม การวางแผน การดำเนินงาน และการพัฒนาศักยภาพของภาคพลเมือง ซึ่งในเบื้องต้นมีหัวข้อที่น่าจะสามารถผลิตเป็นตำรา/คู่มือได้ไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง และควรตั้งเป้าหมายผลิตเป็นตำรา / คู่มือทางวิชาการอย่างน้อย 20 เรื่องใน 5 ปีข้างหน้า
โครงการพัฒนาห้องสมุดชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินงานอย่างจริงจัง
งานพัฒนาตัวชี้วัด การประดิษฐ์เครื่องมือประเมิน และการวิจัยและนำเสนอรายงานสภาวการณ์ชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ ต่อสังคม และสื่อมวลชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะและเป็นประจำ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่สถาบันสามารถสื่อสารกับสาธารณะได้อย่างสมฐานะ
งานถักทอเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการ นักวิจัยท้องถิ่นและนักพัฒนาอาวุโสเป็นภารกิจสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะสามารถรวบรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และภูมิปัญญาที่กระจัดกระจายอยู่ในเครือข่ายทั่วประเทศเข้ามาร่วมสร้างความเป็นสถาบันวิจัยเชิงยุทธศาสตร์
งานจัดทำหลักสูตรและงานบริการฝึกอบรมที่มีลักษณะเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อการขับเคลื่อนแนวทางชุมชนท้องถิ่นและการปฏิรูปสังคมก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สถาบันภายใต้มูลนิธิทั้ง 3 สถาบัน คือ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น และสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ควรต้องให้ความสำคัญ
9. เข็มมุ่งที่สาม : ประคองการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยในช่วง 3 ปีแรก
ด้วยคุณธรรมความสามารถ ผลงาน และเกียรติภูมิของอาจารย์ผู้ใหญ่ของมูลนิธิทุกท่านซึ่งเป็นพลังบารมีที่ติดตัวท่านมาอย่างยาวนาน ถือเป็นทุนทางสังคมที่มีคุณค่ายิ่งขององค์กร
ด้วยจุดยืนที่เป็นกลางทางการเมืองและการดำเนินงานด้วยวิถีทางสายกลางอย่างระมัดระวังตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีส่วนอย่างยิ่งที่มูลนิธิและสถาบันได้รับการยอมรับและเชื่อถือไว้วางใจในระดับหนึ่งจากวงการต่างๆ ในสังคม หน่วยราชการ สถาบันวิชาการ องค์กรอิสระ หน่วยงานพันธมิตร และพรรคการเมืองฝ่ายต่างๆ
ด้วยยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ระมัดระวังในการเคลื่อนไหวทางสังคมและทางการเมือง ในประเด็นและจังหวะโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีหลัง มีส่วนสร้างและขยายเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายปฏิบัติงาน และเครือข่ายความสัมพันธ์ขององค์กรที่กว้างขวางออกไปครอบคลุมในทุกจังหวัด-อำเภอ จนสามารถเชื่อมประสานการจัดการลงสู่ท้องถิ่นและชุมชนระดับฐานรากได้ โดยสะดวกกว่าเดิมมาก ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์สงคราม
ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ มูลนิธิ / สถาบัน จึงอยู่ในฐานะที่อาจจะมีบทบาทเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดพลังดึงดูดที่สร้างสรรค์ (Positive Attractor) อันหลากหลาย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภาคีเพื่อ ที่จะประคับประคองการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยในภาวะไร้ระเบียบ (Chaos) ณ จุดที่เป็นแพร่งทางแยก (Bifurcation) ซึ่งขวางอยู่ข้างหน้า
องค์กรขับเคลื่อนปฏิบัติการทั้ง 5 องค์กรควรเป็นกลไกหลักในการรับผิดชอบเข็มมุ่งนี้ ในขณะสถาบันภายใต้มูลนิธิทั้ง 3 หน่วยงานควรเป็นกลไกในทางวิชาการเพื่อหนุนเสริม
เนื่องจากทุกวันนี้เครือข่ายและขบวนการชุมชนท้องถิ่น / ประชาสังคม ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติการของตนไปตามภารกิจและความสนใจ จึงควรมีงานเร่งด่วนในการจัดตั้งตนเอง และเตรียมการเครือข่ายทั่วประเทศให้ทันต่อสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งจะปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้
ท่ามกลางกระแสความคิดเห็นที่ปะทะโจมตีซึ่งกันและกันระหว่างขั้วอำนาจที่แย่งชิงกันอยู่ โดยมีประเด็นทางการเมืองรายวันเป็นหัวข้อในการตอบโต้กันไปมา มีความจำเป็นที่ผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม อาจารย์ผู้ใหญ่ของมูลนิธิ และสถาบันทั้ง 3 ของมูลนิธิจะริเริ่มส่งสัญญาณแสดงจุดยืน แนวคิด หลักการ ท่าที และบทบาทของพลังที่สร้างสรรค์และเป็นกลาง และให้ข้อเสนอแนะวิถีทางสายกลางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาของประเทศเพื่อให้พลังเงียบ และพลังที่เป็นกลางทุกวงการทุกพื้นที่ได้รู้เท่าทัน และขยายตัวเพื่อรับมือ
กลุ่มและเครือข่ายที่เป็นพลังพลเมือง และพลังคุณธรรมแม้มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่มักจะวางเฉยต่อปัญหาความวุ่นวายในสังคมและการเมือง จึงเป็นภารกิจที่องค์กรขับเคลื่อนปฏิบัติการของมูลนิธิจะต้องเร่งขยายแนวร่วมและสื่อสารสัมพันธ์กันไว้
ในวาระที่บ้านเมืองวุ่นวายโกลาหล ฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบันและฝ่ายตรงข้ามมีแนวโน้มที่จะไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง สถาบันด้านบริหารและนิติบัญญัติเกิดความเสื่อมทรามลงจนถึงที่สุด มูลนิธิ / สถาบัน และเครือข่ายควรหนุนเสริมบทบาทของสถาบันตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในแนวทางตุลาการภิวัตน์ (Judicial Review) เพื่อเป็นหลัก และประคับประคองประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน
มูลนิธิ/สถาบันและเครือข่ายควรคิดค้นสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองอันหลากหลาย เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยรักษาดุลยภาพทางด้านพลังในสังคมโดยรวมในภาวะอันโกลาหล นอกจากนี้ยังควรต้องศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญกฎหมาย และกลไกทางการทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มพูนพลังภาคพลเมืองที่เป็นกลางให้ได้มากและรวดเร็วทันสถานการณ์
10.สรุป
มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาถือกำเนิดขึ้นมาในสถานการณ์การบุกเบิกแนวคิดและแนวทางชุมชนท้องถิ่น ของกลุ่มนักคิดนักพัฒนาสังคมที่มีความมุ่งมั่น โดยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่ค่อยๆเติบใหญ่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง 20ปีที่ผ่านมามูลนิธิและสถาบันได้ผ่านการทำงานและมีพัฒนาการสำคัญ 4 ช่วง คือ
1)บุกเบิกแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง
2)วิพากษ์นโยบาย/วิจัยชุมชน
3)ร่วมกระบวนนโยบาย/ขยายพหุภาคีและ
4)ถักทอเครือข่าย/ขยายพลังพลเมือง
1)บุกเบิกแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง
2)วิพากษ์นโยบาย/วิจัยชุมชน
3)ร่วมกระบวนนโยบาย/ขยายพหุภาคีและ
4)ถักทอเครือข่าย/ขยายพลังพลเมือง
สำหรับจังหวะก้าวต่อไปในทศวรรษที่สาม เมื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มของบ้านเมืองในปัจจุบันประกอบกับการตรวจสอบทุนทางสังคมและทุนทางปัญญาขององค์กรที่มีอยู่ จึงเสนอให้ดำเนินยุทธศาสตร์ชูแนวทางชุมชนท้องถิ่น ร่วมขบวนปฎิรูปสังคม โดยมีเข็มมุ่ง 3 ประการได้แก่
1)ร่วมชูธงขับเคลื่อนขบวนการปฎิรูปสังคมต่อเนื่อง 10 ปี
1)ร่วมชูธงขับเคลื่อนขบวนการปฎิรูปสังคมต่อเนื่อง 10 ปี
2)มุ่งความเป็นสถาบันวิจัยยุทธศาตร์ : ชุมชนท้องถิ่นภายใน 5 ปี และ
3)ประคองการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยในสภาวะความแตกแยกทางการเมืองและทางสังคมในช่วง 3 ปีแรก
Be the first to comment on "ทศวรรษที่สาม มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ชูแนวทางชุมชนท้องถิ่น ร่วมปฏิรูปสังคม"