30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวและชะตากรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างทองปานที่ถูกกระหน่ำด้วยการพัฒนากระแสหลักของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศนั้น…
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทยของเรา และแทนที่จะลดลงและได้รับการแก้ไขเยียวยา กลับดูเหมือนว่าได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง จากเหนือสุดในทิเบต ยูนนาน (ที่จีนได้ไล่ผู้คนออกไปเพื่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ‘ล้านช้างเจียง’ เสร็จไปแล้ว 3 เขื่อน และกำลังสร้างอีก 5 เขื่อน) ไล่ลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) พม่า ไทย ลาว สู่สามเหลี่ยมมรกต และใต้ลงไปถึงกัมพูชากับเวียดนาม
ทองปาน เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดีขาวดำ (พูดภาษาไทย/ลาว พร้อมอักษรบรรยายอังกฤษ) ความยาว 60 นาที ที่สร้างขึ้นในสมัยของ ‘มรสุมการเมืองไทย’ เมื่อปี 2519 โดยทีมงานสมัครเล่น ที่เป็นอาจารย์/นักศึกษาทั้งไทยและเทศรุ่น 14 ตุลา มี คนดังๆ เป็นทั้งผู้สร้าง/ผู้กำกับ/ถ่ายทำ/ตัดต่อ/และผู้แสดงกิตติมศักดิ์คับคั่ง
ผู้รักความเป็นธรรมและชนชั้นกลางในเมืองนี้มีอาทิ Mike Morrow Frank Green ไพจง ไหลสกุล สุรชัย จันทิมาธร (หงา คาราวาน) ยุทธนา มุกดาสนิท รัศมี เผ่าเหลืองทอง คำสิงห์ ศรีนอก วิทยากร เชียงกูล เรืองยศ จันทคีรี เสน่ห์ จามริก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พัทยา สายหู Peter F.Bel เทพศิริ สุขโสภา ทรงยศ แววหงษ์ รวมไปจนถึงชาวบ้านจริงๆ อย่างเช่นทองปาน-องอาจ โพนทอง ผมหอม พิลาสมบัติ ชาวบ้านอำเภอบัวใหญ่ นครราชสีมา และภารโรงธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ทองปาน เป็นเรื่องของชาวนาผู้ยากจนในอีสาน ที่ทั้งลูกและเมียถูกบีบบังคับให้ต้องทิ้งที่นาซ้ำสอง ทั้งนี้ด้วยข้ออ้างจำยอมของการสร้างเขื่อนเพื่อการพัฒนากระแสหลัก ตามนโยบายของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่นักวิชาการและนักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองและรักความเป็นธรรมดังกล่าวข้างต้น ต่างก็ถกเถียง สัมมนาถึง ‘ผลดีผลเสีย’ ของการพัฒนาของการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างเขื่อนผามองที่จังหวัดเลย หนองคาย เวียงจันทน์ ไชยะบุรี และทองปานก็กลายเป็นเพียงชาวบ้าน ผู้นั่งฟัง ถูกกระทำ และก็สูญหายไปตามประสาของคนตัวเล็กตัวน้อย
เขื่อนผามอง เป็นหนึ่งในบรรดาเขื่อนขนาดใหญ่ๆ ที่สหรัฐอเมริกานำมาเสนอสร้างขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและแม่น้ำสาขาทั้งหลายทั้งปวง ระหว่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม (ใต้) นี่เป็นยุคสมัยของสงครามเย็นของ ‘สวรรค์ของนักสร้างเขื่อน/วิศวกร’ ของธนาคารโลก (ที่ Asian Development Bank จะเป็นผู้สืบมรดก) และถ้าหากสร้างได้สำเร็จเมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย กับด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ไชยะบุรี หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ก็คงจะจมอยู่ใต้น้ำไปเรียบร้อยแล้ว
ภาพยนตร์เรื่องทองปานนี้อาภัพ เมื่อสร้างเกือบจะเสร็จหลังการถ่ายทำเป็นเวลา 2 เดือนที่ชนบทอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และหนึ่งสัปดาห์ของฉากการสัมมนาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดและรัฐประหาร 6 ตุลา (2519) ทำให้กลายเป็น ‘หนังต้องห้าม’ (เป็นหัวแดง หรือคอมมิวนิสต์) ทีมงานและนักแสดงต้องระหกระเหิน บ้างไปอยู่ต่างประเทศ บ้าง gone to the jungle for justice แต่ทองปานก็โชคดีได้ไปเปิดตัวที่ London Film Festival ภายหลังการตัดต่อเสร็จ และได้รางวัลเกียรติยศ Outstanding Film of Southeast Asia
น่าสนใจที่ว่านักมวยจริงนามองอาจที่แสดงเป็นทองปานนั้น ไปไกลถึงได้แสดงเป็น ‘ลูกอีสาน’ จากบทประพันธ์ของคำพูน บุญทวี (ที่ตีพิมพ์ 2518 ได้รางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2519 และซีไรต์ 2522) องอาจกลายเป็น ‘ทองปาน โพนทอง’ ในภาพยนตร์อมตะ ของวิจิตร คุณาวุฒิ (2525)
คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ดู (แบบที่ก็ไม่ได้ดู ‘สัตว์ประหลาด’ ของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล หนังไทยที่ได้รับรางวัลสูงสุดในระดับสากล Jury Prize จากเมืองคานส์ ฝรั่งเศส 2547) แต่ในวงการอุษาคเนย์ศึกษานอกบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย ทองปานกลายเป็นหนังที่ must see ‘ต้องดู’ ของอาจารย์และนักศึกษา ทองปานถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (และก็เรียกความใจหายและความเจ็บปวดจากผู้ดูได้ทุกครั้ง)
30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวและชะตากรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างทองปานที่ถูกกระหน่ำด้วยการพัฒนากระแสหลักของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศนั้น จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทยของเรา และแทนที่จะลดลงและได้รับการแก้ไขเยียวยา
กลับดูเหมือนว่าได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง จากเหนือสุดในทิเบต ยูนนาน (ที่จีนได้ไล่ผู้คนออกไปเพื่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ‘ล้านช้างเจียง’ เสร็จไปแล้ว 3 เขื่อน และกำลังสร้างอีก 5 เขื่อน) ไล่ลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) พม่า ไทย ลาว สู่สามเหลี่ยมมรกต และใต้ลงไปถึงกัมพูชากับเวียดนาม และเขื่อนผามองก็อาจจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกก็เป็นได้
ถ้าหากอดีตจะเป็นบทเรียนได้ ภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตและความเป็นจริงของผู้คนเช่นทองปานนี้ ก็น่าจะเป็นแสงสว่าง (แม้จะริบหรี่เพียงใด) ก็ยังอาจจะพอส่องทางให้กับเราได้บ้าง
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ก่อตั้งและดำเนินงานมาโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับผู้คนเช่นทองปาน ก็ต้องขอแสดงความยินดีและขอบคุณต่อโอกาสของการครบรอบ 30 ปีของทองปาน ในการได้รับอนุญาตให้นำ ‘ทองปาน’ กลับมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพุทธวจนะที่ว่า ‘นตถิ ปญญาสมา อาภา’ หรือ ‘แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี’
ที่มา :
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ “จุดประกาย” วันที่ 16 มกราคม 2549
Be the first to comment on "‘ทองปาน’ ภาพยนตร์ประหลาดของไทย"