สุรนันทน์ ยืนยัน ปรับโครงสร้างสทท. 11 ไม่มุ่งการค้าหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่นักวิชาการเชื่อ แปรรูปเพื่อยึดเป็นสื่อของรัฐแบบเบ็ดเสร็จ และเปิดแข่งขันเสรี แต่มิได้เป็นทีวีบริการสาธารณะอย่างแท้จริง …
เสวนา ทิศทางการแปรรูปช่อง 11 ก้าวหน้าหรือถอยหลัง นักวิชาการเชื่อ รัฐกำลังยึดช่อง11ทำธุรกิจ มิได้เป็นบริการสาธารณะอย่างแท้จริง |
สุรนันทน์ ยืนยัน ปรับโครงสร้างสทท. 11 ไม่มุ่งการค้าหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่นักวิชาการเชื่อ แปรรูปเพื่อยึดเป็นสื่อของรัฐแบบเบ็ดเสร็จ และเปิดแข่งขันเสรี แต่มิได้เป็นทีวีบริการสาธารณะอย่างแท้จริง
วันนี้ (28 ก.ค. 48) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.) จัดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ทิศทางการแปรรูปช่อง 11 ก้าวหน้า หรือถอยหลัง” เพื่อตรวจสอบและติดตาม กรณีรัฐบาล โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย ปรับโครงสร้างกรมประชาสัมพันธ์ และจะแยกหน่วยงาน 3 หน่วยออกเป็นอิสระจากกรมประชาสัมพันธ์ เรียกว่า SDU คือ (Service Delivery Unit ) บริหารงานเองพร้อมกับเลี้ยงตัวเองได้(ให้หารายได้เอง) คือ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 (สทท.11) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) และสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ทำให้มีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะทำให้สทท.11 ซึ่งเดิมได้รับทุนก่อตั้งจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อให้เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งการศึกษา การเรียนรู้ของประชาชน ต้องเข้ามาแข่งขันในเชิงธุรกิจ และเป็นแหล่งในการหารายได้จากกลุ่มผลประโยชน์ อันสวนทางกับปรัชญาเดิมของสถานีเมื่อแรกก่อตั้งหรือไม่ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง อนาคตช่อง 11 หลังปรับปฏิรูปกรมประชาสัมพันธ์ โดยยืนยันว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อลดปัญหาความใหญ่โตอุ้ยอ้ายขององค์กรใหญ่ คือ กรมประชาสัมพันธ์ และทำให้หน่วยงานSDU เหล่านี้ ทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนคือ ผลิตรายการเพื่อสาธารณะประโยชน์ ไม่มุ่งเน้นแสวงหาผลกำไรทางการค้า โดยกรมประชาสัมพันธ์ มีบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนคือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลจากรัฐบาลสู่ประชาชน เป็นการสื่อสารสองทาง “ยืนยันว่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อแปรรูปสทท.11 เพื่อการค้า หรือเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะการเข้าตลาดฯ สุดท้ายก็ต้องมองที่ผลกำไร เราะไม่ไปในแนวทางเดียวกับอ.ส.ม.ท. ไม่ว่าอย่างไร หน่วยงานเหล่านี้ก็ยังเป็นหน่วยงานราชการ ที่ไม่ได้มุ่งเป้าหมายสุดท้ายที่ผลกำไร แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ หากยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ ทุกอย่างก็ยังคงขึ้นอยู่กับอธิบดีคนเดียว โครงสร้างแบบปิรามิดทำให้ การทำงานจะล่าช้ามาก นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีรายการขอมาจากหน่วยงานต่างๆมากมาย ทำให้สทท.11 เสียประโยชน์ ขาดรายได้ กติกาใหม่นี้ ทำให้คล่องตัวขึ้น และการหารายได้ ก็จะเป็นพวกโฆษณาภาพลักษณ์ ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคที่แข่งขันแบบช่องอื่นๆ ไม่ใช่เหล้า หรือบุหรี่” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรที่ทำงานด้วย เพราะที่ผ่านมา ไม่สามารถรักษาคนเก่งให้อยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ได้เนื่องจากเป็นราชการ ค่าตอบแทนน้อย ดังนั้น เมื่อเป็นหน่วยงานอิสระก็สามารถ กำหนดอัตราเงินเดือนของตัวเองได้ ปรับเงินเพิ่มได้ และคนทำงานก็สามารถเลือกได้ว่า จะเข้ามาอยู่ใน SDU หรือจะยังคงสถานะเป็นข้าราชการเช่นเดิม พร้อมกับยืนยันด้วยว่า เมื่อปรับโครงสร้างแล้ว รัฐบาลจะส่งเสริมรายการดนตรี ศิลปวัฒนธรรม กีฬาให้มากขึ้น และอาจพัฒนาเรื่องการขยายจำนวนสถานี เพื่อผลิตเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม เช่น ช่องรัฐบาล ภาษา ท่องเที่ยว เกษตรกร รัฐสภา กีฬาไทย ฯลฯ ต่อไปในอนาคต โดยการประเมินผลรายการจะไม่วัดจากเรทติ้งคนดูเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาตัวชี้วัดอื่นๆด้วย ซึ่งต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อหาแนวทางต่อไป แนวคิดเรื่องจะสร้างสทท.11 ให้เป็นบริการสาธารณะนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกวุฒิสภา โดยเห็นว่า การแยกตัวออกมาทำงานอย่างอิสระ ไม่อยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่ต้องมุ่งเน้นผลิตรายการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อคนดู โดยมีงบประมาณจากรัฐสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตให้พึงระวังไว้ว่า การปรับโครงสร้างนี้ ต้องมิใช่เป็นเพื่อการทำธุรกิจโฆษณาหรือแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ที่สำคัญ ต้องไม่เป็นการเปิดให้เช่าเวลาแล้วผลิตรายการ เพราะจะไม่หลุดไปจากปัญหาเดิมๆ และหาคนทำแบบไม่หวังผลกำไรได้ยากมาก แต่อาจเป็นลักษณะจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างการผลิต และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายเล็กที่ตั้งใจผลิตรายการดีๆ ได้แสดงความสามารถ ตรงกันข้ามกับ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ที่ไม่เชื่อว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพื่อให้เป็นสถานีบริการสาธารณะอย่างแท้จริง แต่เห็นว่า รัฐบาล กำลังยึดช่อง 11 ให้เป็นสื่อของรัฐเต็มรูปแบบ แล้วจะเปิดเสรีเต็มที่เพื่อการแข่งขันและเป็นช่องทางทำธุรกิจมากกว่า “ที่ระบุว่าเปลี่ยนเป็น SDU มุ่งประโยชน์สาธารณะ ไม่แสวงหาผลกำไรนั้น อย่ามาหลอกลวงกัน การอ้างว่า เป็นช่องของรัฐบาล แต่ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสังคม เพราะในเมื่อรัฐบาลคือเจ้าของแล้วก็ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงหรือเปล่า หากเป็นบริการสาธารณะ ก็ต้องประชาชนเป็นเจ้าของ เงินมาจากภาษีและประชาชนจ่ายให้ ตามเกณฑ์ที่ระบุของแต่ละประเทศ ไม่ใช่รรัฐเป็นเจ้าของ แต่ SDU นี้ ยังไม่ชัดเจนเรื่องแหล่งที่มาของรายได้” ดร.อุบลรัตน์เห็นว่า การปรับองค์กรให้หารายได้เลี้ยงตัวเอง ทำให้ในอนาคต จะไม่มีสื่อใน ภาคบริการสาธารณะอยู่ เพราะในพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ก็ระบุชัดว่า สื่อมี 3 ประเภท คือ บริการสาธารณะ ภาคธุรกิจและภาคประชาชน จึงเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายด้วย และขณะนี้ยังไม่มีวาระแห่งชาติ ที่จะเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อการสื่อสารแบบประชาธิปไตย โดยปราศจากการแทรกแซงอย่างแท้จริง ด้าน ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.) เห็นด้วยในหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยในเชิงวิธีการปฏิบัติ กับแนวคิดที่จะหารายได้โดยปรับรูปแบบการทำงานและดึงพันธมิตรมาร่วมทุน หรือให้คนอื่นมาทำ ให้เช่าสัญญา เพราะตามกฎหมาย เมื่อกสช.อนุมัติคลื่นความถี่เงื่อนไขสำคัญของผู้ขอ ก็คือ ต้องทำรายการเอง มิให้ไปเช่าช่วงต่อ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า กรมประชาสัมพันธ์ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ และมีภารกิจคือ การสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน โดยใช้สื่อและเครื่องมือที่มีอยู่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัด แต่ที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์และตรงประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด อีกทั้งไม่อยากให้การปรับโครงสร้าง ทำด้วยแนวคิดในเชิงมุ่งธุรกิจมากจนเกินไป ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ทีปรึกษาบริษัท บีบีทีวี โปรดักชั่นส์ จำกัด ซึ่งร่วมฟังการอภิปราย ได้เสนอแนะว่า การปรับโครงสร้างของกรมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะ สทท. 11 นั้น จะต้อง ๑.ต้องไม่สู้กับเอกชน หรือแข่งกันด้านธุรกิจ ที่คนอื่นเขาทำดีอยู่แล้ว ต้องรู้บทบาทและขอบเขตของตัวเอง รู้ภารกิจหลักของตน ไม่จำเป็นต้องแข่งขัน ๒. อยากเห็นบริการสาธารณะ เช่นกัน หากทำให้เห็นจริงจังได้ น่าจะเป็นเรื่องดี การเป็นสื่อของรัฐ ไม่ได้หมายถึงการเป็นสื่อของรัฐบาล และทำอย่างไรให้เป็นจริงได้ในอนาคต ๓. บทบาทของกรมและสทท. ๑๑ ควรเป็นไปตามแนวทาง เดียวกันและมองในภาพรวม ปรับในทิศทาง รวมทั้งสื่อต่างๆที่รัฐดูแล เช่นการจะปรับเป็นดิจิทอล จะเลือกใช้เทคโนโลยีของประเทศใด ทำให้เกิดความชัดเจนอย่างไร |
ที่มา : www.thaibja.org |
Be the first to comment on "ทิศทางการแปรรูปช่อง 11 ก้าวหน้าหรือถอยหลัง"