ที่ว่างกับความเป็นเมืองน่าอยู่

เมืองหลวงอย่างกรุงเทพเป็นที่รวมศูนย์ทุกสิ่งทุกอย่างไว้ทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ความเป็นเมืองก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ทั้งความไม่ปลอดภัย อาชญากรรม ยาเสพติด ผู้คนมีคุณภาพชีวิตต่ำ กระทั่งแออัดเกินไป แต่อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธเส้นทางสู่ความเป็นเมืองไม่ได้ ประการเดียวที่ต้องช่วยกันคือทำให้เมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วเป็นเมืองที่ “น่าอยู่”

 

 

สุเทพ วิไลเลิศ    : เรียบเรียง
กองบรรณาธิการ : ทีมสื่อสารสารธารณะ

 

       เมืองหลวงอย่างกรุงเทพเป็นที่รวมศูนย์ทุกสิ่งทุกอย่างไว้ทั้งอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น โคราชจรดหาดใหญ่-สงขลากำลังเดินตามแบบ ทั้งที่ความเป็นเมืองก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ทั้งความไม่ปลอดภัยอาชญากรรม ยาเสพติด ผู้คนมีคุณภาพชีวิตต่ำ กระทั่งแออัดเกินไป ดังที่มีตัวอย่างชัดเจนแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธเส้นทางสู่ความเป็นเมืองไม่ได้ ประการเดียวที่ต้องช่วยกันคือทำให้เมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วเป็นเมืองที่ น่าอยู่

          ความเป็นเมืองน่าอยู่คงต้องพัฒนาในลักษณะต่างๆหลายประการ แต่สิ่งที่ เครือข่ายเมืองน่าอยู่ซึ่งประกอบด้วยมูลนิธิพัฒนาไท คระอนุกรรมการประสานงานการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนฯ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันการเรียนรุ้และพัฒนาประชาสังคมและองค์กรภาคีพันธมิตร  กำลังดำเนินงานคือการพัฒนาที่ว่างสาธารณะเพื่อความเป็นเมืองน่าอยู่

          ความหมายของพื้นที่ว่างสาธารณะที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่นั้น มีทั้งมิติของพื้นที่และมิติของสังคมชุมชนเมืองหรืออาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ว่าสาธารณะเป็นสถานที่ภายนอกอาคารที่คนมารวมกันอยู่เพื่อการพบปะสังสรรค์กันทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งนับเป็นเงื่อนไขที่จะผูกโยงความรู้สึกเป็นกลุ่มเป็นหมู่เหล่าที่จะเป็นรากฐานในการสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง

 

มุมมองเรื่อง พื้นที่ว่างในสังคมไทย

 


ภิญญะพันธ์ พจนะลาวัณย์ ผู้ประสานงานโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่จ.ลำปาง 

 

 

     “การพัฒนาที่ว่างสาธารณะเพื่อความเป็นเมืองน่าอยู่ที่ลำปาง เป็นการทำงานกับพื้นที่ที่มีการลองผิดลองถูก ที่ว่างสาธารณะถือว่าเป็นคำใหม่ แต่มันเป็นวิถีชีวิตเดิมๆเพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะออกมารูปแบบไหน แรกๆพูดกับชาวบ้านชาวบ้านก็งง เราเองก็ยังไม่ชัดเจน..จนได้ทำในพื้นที่ที่พระธาตุลำปางและท้องถิ่นได้ทดลองใช้ ประโยชน์ที่เห็นคือเป็นตัวอย่างที่จะนำไปอ้างอิงและประยุกต์ใช้ สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในเรื่องที่ว่างสาธารณะในสังคมไทย

 กำแหง อติโพธิ ผู้ประสานงานโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตรัง


การพัฒนาที่ว่างที่ทำอยู่ในจังหวัดตรังเราเริ่มจากการคาดเดาและความไม่รู้ แต่การเริ่มทำข้อมูลทำให้เรารู้จักพื้นที่ ถึงแม้จะไม่ทำให้เรารู้อนาคตได้ชัดเจน แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นภาพร่าง  ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้และขยายผลการพัฒนาที่ว่างในเมืองอื่นๆได้

 

 

          การประชุมเชิงปฏิบัติการของเวทีเครือข่ายเมืองน่าอยู่ในครั้งที่ 3  จัดขึ้นที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ ในวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา  โดยมีการนำเสนอตัวอย่างการพัฒนาที่ว่าสาธารณะ ของจังหวัดลำปางและตรังซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ โดยการทำงานพัฒนาที่ว่างของจังหวัดลำปางเป็นการเข้าใช้อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า โดยร่วมกับผู้คนกลุ่มต่างๆในจังหวัดทำให้เกิดการใช้ในลักษณะทั้งที่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชน และการใช้พื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองลำปาง ส่วนจังหวัดตรังเป็นการใช้พื้นที่สโมสรเก่ากลางเมืองซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างมาเป็นพื้นที่อเนกประสงค์และเป็นหอวัฒนธรรม

          ทั้งนี้รองศาสตราจารย์นิลุบล คล่องเวสสะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอถึง ภาพรวมความสำคัญและความเข้าใจเกี่ยวกับที่ว่างสาธารณะในระดับสากล ซึ่งหยิบยกการใช้พื้นที่ว่างกลางเมืองในย่านธุรกิจของอเมริกาและสิงคโปร์มาเป็นตัวอย่าง ให้เห็นพัฒนาการของแนวคิดเรื่องการใช้พื้นที่ว่างตั้งแต่ศตวรรษที่19 กระทั่งพัฒนารูปแบบมาถึง Green Way หรืออุทยานวิถี ที่มีลักษณะพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงกันทั้งเมือง

         
          ด้านอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
ตรงนี้เป็นรื่องสำคัญ ซึ่งถ้ามองอย่างนี้พื้นที่สาธารณะจะเป็นอะไรก็ได้ เป็นตลาด เป็นอาคารสาธารณะในชีวิตประจำวัน หรือกระทั่งวัด สภากาแฟก็ใช่ เป็นที่ที่ทำให้ได้เห็นคน เห็นคำว่า สังคม ที่มันแทรกเข้าไปทุกๆชีวิต ไม่ว่าไตลาด ไปซื้อของก็เห็นหน้ากัน สุดท้ายเรื่องของส่วนรวมอาจจะโผล่เข้ามาได้ เช่นเมื่อคืนได้ข่าวอะไรบ้างไหม หรือกระทั่งเห็นหน้ากันก็เป็นสังคมแล้ว

         
          แต่อย่างไรก็ตามการจัดการพื้นที่ว่างในสังคมไทยยังมีอุปสรรคอยู่มาก ทั้งจากตัวชุมชนและท้องถิ่นเองที่มีความเคยชินในรูปแบบวิถีชีวิตเดิมๆ และข้อจำกัดในด้านวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง การจัดการพื้นที่ว่างที่ผ่านมาจึงเป็นการจัดการของหน่วยงานรัฐซึ่งขาดการใคร่ครวญร่วมกับชุมชนเราจึงพบว่าหลายแห่งที่หน่วยงานรัฐต้องการให้เป็นสถานที่ที่สวยงามและมีการเข้าใช้ประโยชน์กลายกลับเป็นสถานที่ร้างผู้คนและหรือเป็นโครงการก่อสร้างที่น่าเกลียดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ซึ่งต้องนับเป็นความเสียหายและเสียโอกาสของเมืองและสังคม

         
          การสร้างสรรค์พื้นที่ว่างจึงไม่ใช่มีแต่เพียงตัวพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องหมายรวมถึงการเข้ามาใช้อย่างสร้างสรรค์ของชุมชน การพัฒนางานพื้นที่ว่างสาธารณะจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ยังต้องการการพัฒนารูปแบบในการเข้ามาใช้พื้นที่ของชุมชนและท้องถิ่น อันจะหมายถึงความเข้มแข็งของประชาคมที่ลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตนเอง และยืนต้านกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันได้



 

เรียบเรียงจาก
เอกสารและการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีเครือข่ายเมืองน่าอยู่ครั้งที่ 3 วันที่ 17 ธันวาคม 2547 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ จัดโดย
เครือข่ายเมืองน่าอยู่ ประกอบด้วยมูลนิธิพัฒนาไท คระอนุกรรมการประสานงานการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนฯ   สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันการเรียนรุ้และพัฒนาประชาสังคมและองค์กรภาคีพันธมิตร

Be the first to comment on "ที่ว่างกับความเป็นเมืองน่าอยู่"

Leave a comment

Your email address will not be published.