นพ.พลเดช เสนอ จะเข้าใจ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและต้องรู้สถานการณ์

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศพต.) กระทรวงศึกษา ได้ปาฐถถานำในเรื่อง ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า พี่น้องประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ผู้ร้ายและก็ไม่ใช่คนที่ถือหางฝ่ายก่อการร้าย แต่เขาเป็นผู้ที่รับบาปเคราะห์ของความรุนแรงทั้งหมด…

เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์ และสันติสุข (ครั้งที่ 5 : ภาคอีสานตอนล่าง) 
วันที่ 17 ธันวาคม 2548 ที่หอประชุม 70 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือตอนบนภาคอีสานตอนล่างและพันธมิตร   โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกันจัด เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข (จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง)  เพื่อสร้างความเข้าใจของสังคมต่อสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงของวิกฤติไฟใต้ และร่วมกันหาทางออกต่อการแก้ไขวิกฤตไฟใต้ และเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้  สู่การคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งในท้องถิ่นอีสาน
นพ.พลเดช พบว่า จะเข้าใจ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและต้องรู้สถานการณ์จริง
 

     นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศพต.) กระทรวงศึกษา ได้ปาฐถถานำในเรื่อง ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า พี่น้องประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ผู้ร้ายและก็ไม่ใช่คนที่ถือหางฝ่ายก่อการร้าย แต่เขาเป็นผู้ที่รับบาปเคราะห์ของความรุนแรงทั้งหมด เพราะเขาอยู่ที่นั่น ถ้าเราจะเข้าใจและมีส่วนในการเสนอแนะแก้ไขปัญหานี้เราต้องศึกษาเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้าใจ สิ่งที่เราต้องศึกษาคือ

หนึ่ง องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง องค์ความรู้ที่สำคัญที่สุดคือ พื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับหลักศาสนาอิสลาม

รองลงมา ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชาติ ประวัติศาสนาท้องถิ่นในอดีตของเขา, ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นมีความหลากหลายไม่เหมือนกัน ชุมชนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เหมือนชุมชนมุสลิมที่อื่น เพราะฉะนั้นจะเอาความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนมุสลิมที่อื่นมาเป็นกรอบตัดสินมองปัญหานี้แบบเหมารวมไม่ได้ และองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติของอิสลาม  สอง เราต้องรู้ความจริงของสถานการณ์

นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ในสังคมมีคนกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นพลังที่เป็นกลาง แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นพลังที่อ่อนแอ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคนกลุ่มนี้จะดูอยู่เฉยๆ เราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มพลังที่เป็นกลางเหล่านี้เข้มแข็ง และกล้าที่จะลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว มาพูด มาร่วมเสนอแนะทางออก สุดท้าย คนในสังคมต้องปรับมุมมอง จุดยืนให้กว้างกว่าชาตินิยม ต้องเป็นประเทศไทยนิยม ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ให้มากเพื่อกระจายความเข้าใจให้ขยายวงขึ้น สาธารณะต้องใช้สติ ครุ่นคิด ไม่ด่วนตัดสินใจ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดที่จะทำให้เกิดความรุนแรง หากเราไม่อยากเห็นการใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันในการแก้ไขปัญหา  เราภาคประชาชนที่ดูอยู่ต้องแสดงจุดยืน ต้องมีบทบาทในการเตือน ติ ทั้งรัฐและสังคม หาทางให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้เวลาก็ตาม

 

เรียนรู้วิกฤตใต้ สู้การสร้างสังคมไทยสันติสุข
 

จากเวทีอภิปราย เรื่อง “เรียนรู้วิกฤตใต้ สู้การสร้างสังคมไทยสันติสุข โดยบทบาทของปัจเจก กลุ่ม/องค์กร และสังคม”  อภิปรายโดย คุณ พิศิษฐ์ วิริยะสกุล, พ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ, คุณภัทระ คำพิทักษ์ และอ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ดำเนินรายการโดย คุณเรืองระวี พิชัยกุล เกตุผล ที่ปรึกษามูลนิธิเอเชีย การอภิปรายครั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐ ประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของคนในประเทศ กระทบกับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

คุณ พิศิษฐ์ วิริยะสกุล เครือข่ายสมานฉันท์ชายแดนใต้ ประชาสังคมนราธิวาส เสนอว่า จะแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ชั่วโมงนี้ต้องเสริมสร้างคุณธรรมของคนในพื้นที่  กระทรวงศึกษา กระทรวงวัฒนธรรมต้องสนับสนุนฟื้นฟูกลไกศาสนา ในอดีตประเทศนี้ร่มเย็นเพราะมีศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยว ถึงแม้จะมีความต่างทางศาสนาเราก็อยู่กันได้

และขอฝากองค์กร หน่วยงาน ข้าราชการ NGOs ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาว่า ที่ผ่านมาการเข้ามาช่วยพัฒนาได้สร้างปัญหาความสับสนในพื้นที่ การแก้ปัญหาอยากให้คำนึงถึงคนในพื้นที่ คนในพื้นที่ต้องเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาของเขาเอง เพราะเขาต้องอยู่ที่นั่น มันเป็นบ้านของเขา

พ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ  รองผอ.ฝ่ายกิจการกลเรือน กองทัพภาค 2  กล่าว กรณีปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารได้มีบทสรุปของการแก้ปัญหาที่ผ่านมามันไม่ได้ผล  ปัจจุบันมีการทำความเข้าใจเรื่องราว บริบทของชายแดนใต้มากขึ้นเพื่อให้เข้าไปช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา อิทธิพลชายแดน อำนาจรัฐส่วนกลาง ความหวัง อนาคตคนในพื้นที่ และวัฒนธรรม แนวทางการทำงานของทหารคือ  ใช้กระบวนการชุมชนเข้มแข้ง การลดเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน ยุทธวิธีทางจิตวิทยา และการสร้างเครือข่าย  โดยยึดหลัก “การชนะต้องเอาชนะที่หมู่บ้าน”

คุณภัทระ คำพิทักษ์  ตัวแทนสื่อมวลชน  เสนอ ยุทธศาสตร์สื่อ ต่อกรณีความรุนแรงของปัญหาแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในสถานการณ์ที่ตรึงเครียดมากเท่าไหร่การรับรู้สถานการณ์ที่เป็นจริงมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น สื่อต้องนำเสนอข้อมูลความเป็นจริง สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดการนำเสนอข่าวที่เป็นกระแสลง

และองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัว ทำความเข้าใจต่อปัญหานี้ เราไม่อาจทิ้งภาระปัญหาภาคใต้ให้เป็นของรัฐบาล เราทุกคนต้องมีส่วนช่วยในการเสนอแนะแก้ไขปัญหา

อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาสมาคมชนเผ่าแห่งประเทศไทย กล่าว ปัญหาเชื้อชาติเป็นปัญหาระดับโลก ทางออกต้องอาศัยการเจรจากัน ในภาคนักวิชาการ ได้เข้าพบนายกฯ และเสนอทางออก ซึ่งต้องเรียนรู้ผ่าน 4 ประเด็น คือ 1) รากฐานทางประวัติศาสตร์ 2) รากฐานทางศาสนา วิถีชีวิตแบบอิสลาม เป็นวิถีแห่งความพอเพียง ถ้าทุกคนพอเพียง สังคมก็จะไม่มีการกดขี่ขูดรีด 3) การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 4) การเรียนรู้และไม่ยกปัญหาสู่เวทีเป็นสากล

ในรายงานการวิจัย ระบุว่า การใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ คุณโสภณ สุภาพงษ์ กล่าวว่า คนมุสลิมกว่าร้อยละ 90 กลัวรัฐมากกว่า กลัวโจร

เรามีบทเรียนการแบ่งแยกดินแดนของติมอร์ตะวันออก สถานการณ์ของไทยกำลังเข้าสู่ครรลองเดียวกัน ในขั้นของการใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างหนัก ดังนั้นการที่รัฐปรับเปลี่ยนท่าทีที่ผ่อนคลายลง สื่อปรับการนำเสนอทำให้สังคมผ่อนคลายความรู้สึกลง

อ.สมเกียรติ เสนอ 3 แนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า

1) ปรับการปกครองตนเองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28

2) พัฒนาโรงเรียนปอเนาะระบบการศึกษาตามรากฐานทางวัฒนธรรม และรับรองสถานภาพการทำงาน  และ

3) พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิม

เครือข่ายประชาสังคมภาคอีสานตอนล่าง เสนอแนวทางดับไฟใต้ เน้นการเข้าถึงความจริงและสร้างความเข้าใจกับสาธารณะ ลบรอยปริแยกทางสังคม
ในเวทีประชุม ผู้เข้าร่วมได้ร่วมระดมความคิดต่อแนวทางการดับไฟใต้ ในฐานะปัจเจก ต้องเปิดใจกว้าง ทำการศึกษาข้อมูลมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน สร้างการพูดคุยในประเด็นปัญหาภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายวงความเข้าใจให้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอต่อภาคส่วนต่างๆ ดังนี้ รัฐ ต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ต้องใช้แนวทางสันติวิธี ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาของตนเอง การพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัด ต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนาของพื้นที่อย่างเคร่งครัด ยอมรับความแตกต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ประเพณี ความเชื่อ องค์กรสื่อควรมีการรายงานสภาพความเป็นจริงในมุมของคนในพื้นที่
นอกจากนั้นในเวทียังได้มีการหยิบยกบทเรียนปัญหาชายแดนใต้มาสะท้อนถึงปัญหาความขัดแย้งในอีสานตอนล่าง โดยสรุปมีจุดร่วมของสาเหตุ คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคิด ตัดสินใจ และการจัดการ การปกปิดข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงของภาครัฐ รัฐไม่เข้าใจวิธีการจัดการที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน ระบบการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อชุมชน นโยบายรัฐที่สนับสนุนนายทุน ระบบทุนนิยม ไม่ปฏิบัติตามแนวคิดพอเพียง สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ภาคประชาชนต้องรวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาแนวคิดจากฐานล่างสู่นโยบายและนำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง รัฐต้องเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกกระบวนการ มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และบริหารงานด้วยความโปร่งใส

หมายเหตุ: หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ภาพ หรือบทถอดเทปฉบับเต็ม ติดต่อ คุณยุทธดนัย 0-2621-7810-2

17/12/48

 

องค์กรร่วมจัด

คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา/คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)/สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม/ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี  มหาวิทยาลัยมหิดล/เครือข่ายสมานฉันท์ และสันติวิธี ศูนย์สนับสนุนฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพต.)/เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง/มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา/สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา/มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

Be the first to comment on "นพ.พลเดช เสนอ จะเข้าใจ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและต้องรู้สถานการณ์"

Leave a comment

Your email address will not be published.