นักการเมืองต้องมีอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้แก่รัฐ

นักการเมืองต้องมีอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้แก่รัฐ
พลเดช ปิ่นประทีป/เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

      รู้ทั้งรู้ว่านักการเมืองหลายรายมีฐานะร่ำรวยผิดปกติ แต่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่แจ้งต่อป.ป.ช.ดูเรียบร้อยกันดีทุกคน
ปัจจุบันนักการเมืองจำนวนมากนิยมเก็บสะสมเป็นเงินสดไว้กับตัวและซุกอยู่ตามที่ต่างๆโดยไม่ฝากธนาคารเพราะไม่อยากให้ตรวจสอบถึงและสามารถนำมาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสบายใจ ตราบใดที่การตรวจสอบบัญชีของป.ป.ช.ยังทำงานแบบตั้งรับอย่างทุกวันนี้ ก็อย่าหวังว่าจะไล่ทันปัญหาเหล่านี้ จะมีก็แต่ภาระงานตรวจสอบบัญชีที่เพิ่มมากขึ้นจนท่วมหัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นับหมื่นนับแสนบัญชีเข้าไปแล้ว


มาตรการปราบปรามที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ

      งานวิจัยของคุณอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ได้ชี้ชัดว่ามาตรการปราบปรามทุจริตที่ใช้กันอยู่ปัจจุบัน๕อย่าง ได้แก่การดำเนินคดีอาญาฐานทุจริต การยึดทรัพย์ฐานร่ำรวยผิดปกติ การแสดงบัญชีทรัพย์สิน การยึดทรัพย์ฐานฟอกเงินและการดำเนินมาตรการทางวินัย ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันและปราบปรามการแสวงหาผลประโยชน์จากการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลแท้จริง
ทั้งนี้เพราะการทุจริตคอร์รัปชันของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก แต่การดำเนินการตามมาตรการทั้ง๕นั้นกฎหมายบัญญัติหลักการให้รัฐเป็นฝ่ายมีภาระการพิสูจน์ตามข้อกล่าวหา จึงเป็นเรื่องยากที่จะแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดอย่างได้ผล
มาตรการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินพร้อมกับสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในรอบปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด(ม.๒๕๙-๒๖๔)ทำให้ป.ป.ช.มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตรวจสอบความผิดปกติ แต่น่าเสียดายที่ยังขาดการนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพและเชิงรุก ที่ทำอยู่ก็เพียงแค่ดูหลักฐานการคงอยู่และความครบถ้วนเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินว่าได้มาโดยชอบและมีการเสียภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่

ป.ป.ช.ขาดการตรวจสอบเชิงรุก
จากข้อมูลที่ป.ป.ช.เผยแพร่ต่อสาธารณชนปรากฏว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวนไม่น้อยที่มีทรัพย์สินเป็นมูลค่ามากมายนับร้อยนับพันล้านทั้งที่ยังมีอายุน้อย หลายคนเป็นอดีตข้าราชการประจำและหลายคนไม่ปรากฏอาชีพสุจริตเป็นหลักแหล่งแน่นอน
ช่องว่างของระบบดังกล่าวนักการเมืองจึงทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าสู่อำนาจโดยใช้เงินที่มีจำนวนมากซึ่งอธิบายที่ไปที่มาไม่ได้ หรือการมีวิถีการดำรงชีพที่เกินกว่าฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐไปอย่างมาก ดังที่เห็นกันในสังคมโดยทั่วไป รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตรุ จ.ลพบุรี พร้อมยาบ้า ๑๕๔,๐๐๐ เม็ด ซึ่งสารภาพว่าลักลอบค่ายาเสพติดจนร่ำรวยและใช้เงินที่ได้มาซื้อเสียงชาวบ้าน จนชนะคู่แข่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกอบต. สะท้อนให้เห็นว่าระบบตรวจบัญชีทรัพย์สินที่มีอยู่ยังไม่สามารถป้องกันความเสียหายที่ใหญ่หลวงเช่นนี้ได้
จากสภาพปัญหาที่นับวันยิ่งเลวร้ายและจุดอ่อนของมาตรการป้องกันและปราบปรามที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำมาตรการทางภาษีอากรเข้ามาใช้อย่างจริงจังในเชิงรุก

ปราบคอร์รัปชันด้วยมาตรการทางภาษี
การตรวจสอบเชิงรุกด้วยมาตรการทางภาษีเป็นมาตรการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงและได้ผลอย่างมาก ทั้งมีความเป็นสากล เพราะภาระการพิสูจน์จะตกอยู่แก่ผู้ถูกตรวจสอบ ดังตัวอย่างการปิดตำนานคดีเจ้าพ่ออัลคาโปนผู้ทรงอิทธิพล หรือคดีของ สไปโร ที แอ็กนิว อดีตรองประธานาธิบดี และอัลดริช แฮเซน เอมส์ อดีตซีไอเอของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งคดีการประเมินภาษีกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร อดีต รมว.มหาดไทย นายสุบิน ปิ่นขยัน อดีต รมว.พาณิชย์ นายภิญญา ช่วยปลอด อดีต รมช.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๙/๒๕๒๔, ๑๐๑๒๕/๒๕๓๙, ๓๖๖๕/๒๕๔๐, ๘๔๗๕/๒๕๔๐ และ ๘๔๕๖/๒๕๔๔ ตามลำดับ
มาตรการระยะสั้น ขอให้ป.ป.ช.ออกระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศ ให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐโดยเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียภาษีเงินได้ของผู้นั้นว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ หากปรากฏความไม่สอดคล้องกันของผู้ใด ให้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรทำการตรวจสอบประเมินภาษีและเปิดเผยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของผู้นั้นต่อสาธารณะย้อนหลังไปเป็นเวลา ๑๐ ปี โดยให้ช่วยกันตรวจสอบรายการทรัพย์สิน หนี้สินและสภาพการดำรงชีวิตความเป็นอยู่วว่าสอดคล้องกับเงินได้ที่แสดงไว้ต่อกรมสรรพากรหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบการใช้ตัวแทนหรือนอมินีในการถือครองแทนด้วย


นักการเมืองต้องเป็นผู้มีอาชีพสุจริต
ในระยะกลาง ขอให้รัฐบาลหรือรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องถูกตรวจสอบประเมินภาษีและเปิดเผยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อสาธารณะย้อนหลัง (ไม่เกิน ๑๐ ปี)
ให้กำหนด คุณสมบัติ ของผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ ทุกตำแหน่งไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ต้องเป็นบุคคลผู้ ประกอบอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้แก่รัฐและแสดงหลักฐานการเสียภาษีที่ต่อเนื่อง(ไม่เกิน๑๐ปี) และต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกหรือรอลงอาญา โดยต้องแสดงหลักฐานก่อนการสมัครรับเลือกตั้งทุกครั้ง
ในระยะยาว ขอให้รัฐบาลปฏิรูปกระบวนการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพโดยไม่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมีดุลพินิจส่วนตัว การต่อรองและใช้ดุลพินิจในการประเมินการจัดเก็บภาษีให้อยู่ในระดับของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นไปเท่านั้น และขอให้รัฐบาลจัดให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีภาษีอากรของกรมสรรพากรขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยทำหน้าที่ทั้งด้านแพ่งและอาญาเช่นเดียวกับInternal Revenue Service Criminal Investigation (IRS) ของสหรัฐอเมริกา

Be the first to comment on "นักการเมืองต้องมีอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้แก่รัฐ"

Leave a comment

Your email address will not be published.