นักการเมืองหน้าบาง สังคมเข้มแข็ง : บทเรียนรู้จากเกาหลีใต้
พลเดช ปิ่นประทีป
7 พฤศจิกายน 2555
เพิ่งว่างจากภารกิจที่ไทยพีบีเอสมาสองเดือน เร่งปิดต้นฉบับรายงานวิจัยทุจริตเชิงนโยบายให้ป.ป.ช.และแอบไปเที่ยวอิหร่านกับพรรคพวกมาสิบกว่าวัน สนุกสนานและได้เรียนรู้อะไรมากมาย กลับมาบ้านดันมีชื่อออกสื่อว่าร่วมขบวนขับไล่รัฐบาลไปแล้ว
กรณีศึกษาการจัดการปัญหาคอร์รัปชันของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมีหลายเรื่องน่าสนใจมาก ในอดีตเกาหลีใต้เคยถูกจัดว่ามีการทุจริตสูงและเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน มีคดีอื้อฉาวมากมาย อาทิ
ทุจริตกองทุนลม ซึ่งประธานาธิบดีโรห์แตวูตั้งขึ้นมารับเงินบริจาคจากนักธุรกิจแลกกับการสนับสนุนกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ ยอดเงิน ๖๕๐ ล้านเหรียญสรอ. ศาลตัดสินข้อหารับสินบน จำคุก ๒๒.๕ ปี ประธานแดวูและซัมซุงก็โดนด้วย คนละ ๒.๕ ปี
กรณีเฟอร์เกต ภรรยารัฐมนตรีการรวมประเทศไปเรียกรับค่าตอบแทนเป็นการซื้อหาเสื้อผ้าราคาแพงและเสื้อโค้ตเฟอร์สนนราคาสามแสนเหรียญ สรอ.เพื่อแลกกับการช่วยคดีๆ หนึ่ง แต่เรื่องแดงขึ้นมาเสียก่อน เจ้าตัวปฏิเสธ สังคมเรียกร้องกดดันให้ประธานธิบดีคิมแดจุงขับรัฐมนตรีออก สื่อประโคมข่าวว่ารัฐบาลหลีกเลี่ยงการไต่สวนคดีนี้ สุดท้ายประชาชนลงทัณฑ์พ่ายการเลือกตั้งซ่อม ๒ ที่นั่งและส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลร่วมในเวลาต่อมา
กรณีทุจริตโครงการความมั่นคงของกองทัพ PAEKDU มีการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนและระบบข่าวกรองทางไกล วงเงิน ๒๑๐ ล้านเหรียญ สรอ. เกิดข้อสงสัยของสาธารณชนเพราะมีนักล็อบบี้สาวติดสินบนและมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับรัฐมนตรีกลาโหมและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนก่อนการประมูล สุดท้ายกระทรวงกลาโหมและผู้ตรวจการแผ่นดินสืบสวนสอบสวน แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
กรณีทุจริต ALSTHOM ในการประมูลงานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมกรุงโซลกับปูซาน วงเงิน ๒.๑๑ พันล้านเหรียญ สรอ.ซึ่งบริบัทอัลสธอมเป็นผู้ชนะ แต่ภรรยาผู้จัดการสาขาถูกจับได้ว่าใช้เงินล็อบบี้จำนวน ๓.๘๖ ล้านเหรียญ สรอ.และมีรายชื่อนักการเมืองหลายคนมีเอี่ยว คดีนี้อัยการยังไม่ดำเนินการต่อแต่อย่างใด
กรณีทุจริต HANBOGATE เป็นเรื่องใหญ่มากเมื่อกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ที่ชื่อกลุ่มฮานโบ ล้มครืนลงในปี ๒๕๔๐ ทำให้เกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศและเปิดเผยที่มาของการทุจริตคอร์รัปชันและการฮั้วกันระหว่างนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน นักธุรกิจ นายธนาคารและนักกฎหมาย รวม ๑๑ คน เริ่มกันมาตั้งแต่ ๕ ปีก่อน ผลการพิจารณาคดี ประธานาธิบดีคิม ยัง ซัม พ้นผิดแต่บุตรชายถูกดำเนินคดีต่อในข้อหาซุกซ่อนเงินกองทุนพัฒนาการเมือง ๑๔.๘ ล้านเหรียญ สรอ.นำไปใช้ช่วยพ่อหาเสียง นอกนั้นรัฐมนตรีมหาดไทย ประธานธนาคาร รองประธานรัฐสภา นักกฎหมายและนักบัญชี ต่างโดนจำคุกกันคนละ ๓ – ๑๕ ปี
ทั้งนี้ มีบทเรียนรู้จากเกาหลีใต้หลายประการ
๑.การผ่านสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICS)
เกาหลีใต้เป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตัวที่สามซึ่งเปลี่ยนสถานภาพประเทศยากจนและกำลังพัฒนาสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้โดยเลียนแบบโมเดลญี่ปุ่น มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth First) ใช้ระบบเศรษฐกิจ ๓ เสา คือ (๑) รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ (๒) ระบบการเงิน (๓) แชร์โบล มีแผนพัฒนาประเทศฉบับที่๑-๗เป็นตัวกำกับ แม้ว่าจะมีความผันผวนทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลาระหว่างทางก็ไม่กระทบ
น่าสังเกตว่าในกระแสการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เขามีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย จากรายงานการพัฒนามนุษย์ของ UNDP ปี๒๐๐๗/๒๐๐๘ ระบุว่าเกาหลีใต้มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงถึง ๒๒,๐๒๙ เหรียญ สรอ.และมีการกระจายรายได้ค่อนข้างดี กล่าวคือ กลุ่มคนรวยสุด (๑๐%แรก) มีรายได้ห่างจากกลุ่มคนจนสุด (๑๐%หลัง) เพียงแค่ ๗.๘ เท่า ในขณะที่ ไทย จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเยอรมนี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ เป็น ๑๒.๖, ๒๑.๖, ๒๒.๑, ๑๗.๗ และ ๖.๙, ๔.๕, ๖.๑ เท่า ตามลำดับ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ก็อยู่ในระดับสูงคือ HDI ๐.๙๒๑ (ไทย ๐.๗๘๑, จีน ๐.๗๗๑) จึงไม่น่าแปลกใจที่ชนชั้นกลางของเกาหลีจะเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นกำลังสำคัญของการเมืองภาคพลเมืองและประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ
๒.แชร์โบลและธุรกิจการเมืองเป็นสิ่งต้องแบกรับ
ด้วยวิถีการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก เกื้อหนุนกลุ่มธุรกิจยักษ์แชร์โบลไปสู้ต่างประเทศ ควบคุมทางกฎหมาย แทรกแซงการตลาด เอื้อให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ นำพาประเทศสู่ความเป็นนิคส์ แต่ได้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างธุรกิจกับการเมือง มีการฮั้วกันและใช้อิทธิพลทางการเมืองแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากธนาคารรัฐและเอกชน กลายเป็นปัจจัยทุจริตคอร์รัปชันฝังรากลึกจนแกะไม่ออก
๓.ยังไม่มีคอร์รัปชันเชิงนโยบาย
จากกรณีศึกษาทั้ง ๕ ข้างต้น พบว่าไม่มีกรณีใดเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบายเลย เพราะไม่ได้ใช้อำนาจ ครม.หรือรัฐมนตรีไปออกหรือแก้กฎหมาย ระเบียบ กติกาของประเทศเพื่อให้โกงได้ทีละมากๆ ทั้งหมดล้วนเป็นการกินตามน้ำหรือทุจริตเชิงการบริหารจัดการเท่านั้น
อาจเป็นความโชคดีของเกาหลี ที่กลุ่มคนจนเหลืออยู่ในสัดส่วนที่น้อยลงมาก นักการเมืองจึงไม่สามารถขายนโยบายประชานิยมเพื่อแลกคะแนนเสียงขึ้นสู่อำนาจได้ นอกจากนั้นพลังชนชั้นกลางก็เติบโตแข็งแรงขึ้นทุกวัน ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารจึงรู้เท่าทัน ไม่ยอมนิ่งเฉย เป็นปัจจัยด้านตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
๔.ภาคประชาสังคมและองค์กรตรวจสอบเข้มแข็ง
ปัจจัยที่มีบทบาทต่อการจัดการปัญหาทุจริตในเกาหลีใต้ ทั้งในด้านส่งเสริมสนับสนุน ป้องกัน ต่อต้านและการปราบปราม คือการสร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลขององค์กรในระบบที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพและมีปฏิบัติการที่ได้ผลจริงเป็นสำคัญ ได้แก่การทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้าน องค์กรอิสระเช่นอัยการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต องค์กรตรวจสอบและไต่สวน และที่สำคัญที่สุดคือกระแสการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นและรุกรบของเครือข่ายเอ็นจีโอและสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่ชื่อ PSPD และ CEJ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านที่ดุดัน ไม่รู้เหน็ดเหนื่อยและไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคใดๆ
โชคดีอีกอย่างคือนักการเมืองเกาหลีเขาหน้าบาง ถูกจับได้หรืออื้อฉาวหน่อยก็พิจารณาโทษตัวเองด้วยการลาออกหรือไม่ก็ฆ่าตัวตายหนีความอับอาย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เข้มแข็ง มีการจับนักการเมืองตัวใหญ่เข้าคุกอยู่เนืองๆ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของเกาหลีก็ใช่ว่าจะพุ่งขึ้นแบบปรู๊ดปร๊าด ค่า CPI (Corruption Perception Index) ก็ประมาณ ๕.๓ – ๕.๕ เท่านั้นครับ
Be the first to comment on "นักการเมืองหน้าบาง สังคมเข้มแข็ง : บทเรียนรู้จากเกาหลีใต้"