นับถอยหลัง 60 วันเพื่อในหลวง : ยาเสพติดในชุมชน ลดลงแล้ว แต่…”

่ในความเป็นจริงยังพบ ว่า ยาเสพติด สามารถซื้อหา กันได้อยู่ แม้ว่าจะยากขึ้น กว่าแต่ก่อนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชุมชนเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ ขบวนการชุมชนเข้มแข็ง ที่ร่วมกันถักทอเชื่อมโยง เข้ามาทั่วแผ่นดิน เพื่อช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่และ เฝ้าระวังชุมชนของตนนั้น ยังมีความเข้มแข็ง ในเชิงคุณภาพ ได้ไม่ครอบคลุมพอ ที่จะวางใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชุมชนเมือง

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วที่จะถึงวันที่พสกนิกรไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ประกาศมุ่งมั่นจะเอาชนะสงครามต่อ ขบวนการยาเสพติดเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ
ผู้นำชุมชน นักพัฒนา และนักวิชาการ หลายต่อ หลายคนซึ่งคอยเอาใจช่วย และร่วมลงมือลงแรงด้วยกันมา บางครั้ง บางขณะก็อดกังวลไม่ได้ว่า เราจะทำกันได้สำเร็จจริงหรือ และระดับของความสำเร็จที่ว่านี้จะมีคุณค่าคู่ควรที่เราจะถวายพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้ที่รู้สึกเช่นนี้ จึงได้คอยติดตาม จับชีพจรสถานการณ์ ยาเสพติดจากข้อมูล ตัวเลข จากรายงาน จากการวิจัย และการสัมผัสพูดคุยกับคนทำงานภาคสนามอย่างเงียบๆ

เราพบว่า สถานการณ์ยาเสพติด ลดลงแล้วอย่างชัดเจน แต่ยังวางใจไม่ได้ !
ในการประเมินระดับความรุนแรง ของการระบาดของยาเสพติดในชุมชนนั้น สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ทำการประเมินมาเป็นประจำทุกปี ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศสงครามเสียอีก ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างน่ากลัว

ในปี 2543 จากการสำรวจ 38,666 หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ พบว่า มีหมู่บ้านและชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดในระดับใดระดับหนึ่งรวมกันสูงถึง 66.2 %
(จำแนกเป็น ระดับรุนแรง 13.3 % ,ระดับปานกลาง 18.3 % และระดับเบาบาง 34.6 %)

ในปี 2544 จากการสำรวจ 56,344 หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ พบว่ามีหมู่บ้านและชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดในระดับใดระดับหนึ่งรวมกัน 63.6 %
(จำแนกเป็น ระดับรุนแรง 13.4 % ,ระดับปานกลาง 18.2 % และระดับเบาบาง 32.0 %)
แต่เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจช่วงเดือนกรกฎาคม 2546
ของกรมการพัฒนาชุมชนในโครงการ “ล้อมรักให้ครอบครัว ล้อมรั้วให้ชุมชน” ซึ่งสำรวจข้อมูลจาก 67,383 หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ พบว่ามีปัญหาระดับใดระดับหนึ่งรวมกันเฉลี่ยเหลือเพียง 7.2% เท่านั้นซึ่งในจำนวนนี้จำแนกเป็นระดับรุนแรง 0.2 % และระดับเบาบาง 7.0 %

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลงได้ถึงขนาดนี้
เรามาดูตัวเลขด้านการปราบปรามและกดดันผู้ผลิตและผู้ค้า ตลอดจนกลุ่มอิทธิพลหนุนหลัง ซึ่งศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศตส.) และกลไกทหาร ตำรวจ และหน่วยราชการต่างๆ ได้ร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มข้นก็พอจะจินตนาการได้
ในด้านผู้ผลิตนั้น ก่อนการปราบปราม ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะมีจำนวนผู้ผลิตไม่เกิน 1,000 คน
ซึ่งผลการดำเนินการจนถึง 23 พฤศจิกายน 2546 มีจำนวน 612 คน (727 คดี)
ด้านผู้ค้าสำคัญ ก่อนการปราบปราม ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีจำนวนไม่เกิน 4,000 รายซึ่งจนถึง 23 พฤศจิกายน ถูกดำเนินการไปแล้ว 2,858 ราย

ด้านอิทธิพลหนุนหลังนั้น มีข้าราชการถูกดำเนินการไปแล้ว 1,258 คนและกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในบัญชีกำลังถูกดำเนินการเฉพาะส่วนที่มีคดีค้างคาอยู่นับพันคน
ด้านผู้ค้ารายย่อยซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนไม่เกิน 80,000 คนนั้น
ได้เข้ามารายงานตัว 43,814 คน และถูกจับกุม 2,858 คน รวมเป็น 66,394 คนแล้ว

ในสถานการณ์ของการปราบปรามอย่างจริงจังและได้ผลเช่นนี้ ทำให้การซื้อขายยาเสพติดในชุมชนไม่สามารถทำได้อย่างง่ายดายหรือโจ๋งครึมแบบแต่ก่อน
ผู้นำชุมชนในกรุงเทพฯเคยบอกผมว่า แต่ก่อนในชุมชนของเขาแถวๆ น้อมเกล้าสามารถซื้อหายาเสพติดได้เหมือนซื้อท็อปฟี่
งานวิจัยบางโครงการค้นพบความจริงว่า

เมื่อทดลองปล่อยอาสาสมัครออกไปซื้อหายาเสพติดนั้นเขาจะได้ของกลับมาภายในไม่กี่นาที !
ทีนี่ลองหันมามองสถานการณ์ด้านผู้เสพยาดูบ้าง
ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจปราบปรามในครั้งนี้ สถาบันธัญญรักษ์ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานบำบัด รักษาผู้ติดยาโดยตรงได้คาดประมาณว่าปี 2546
จะมีผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งแบบสมัครใจและแบบบังคับตามกฎหมายรวม 540,630 ราย ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรของประเทศจะเป็น 8.7 รายต่อประชากร 1,000 คน

เมื่อมีการปราบปรามกดดันผู้ค้า, ผู้ผลิต และเปิดโอกาสให้ผู้เสพ/ผู้ติดเข้ารายงานตัวและเข้ารับการบำบัดรักษา พบว่ามีมารายงานตัวและบำบัดฟื้นฟูแล้วรวมทั้งสิ้น 442,853 คน
หรือคิดเป็น 7.1 รายต่อประชากร 1,000 คนซึ่งนับได้ว่าใกล้เคียงกับที่คาดไว้พอสมควรทีเดียว
เมื่อทุกอย่างดูดีไปหมดอย่างนี้ จะยังมีเรื่องกังวลอะไรอีก

จากการติดตามข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานและผู้นำชุมชนในภาคสนาม เราพบว่า
ยังมีเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่งอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก ในความเป็นจริงยังพบว่ายาเสพติดสามารถซื้อหากันได้อยู่ แม้ว่าจะยากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศ
ขบวนการชุมชนเข้มแข็งที่ร่วมกันถักทอเชื่อมโยงเข้ามาทั่วแผ่นดิน เพื่อช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่และเฝ้าระวังชุมชนของตนนั้น ยังมีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพได้ไม่ครอบคลุมพอที่จะวางใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมือง
กระบวนการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะใช้การสั่งการให้เข้มแข็งโดยรวดเร็วนั้นหาได้ไม่ ยิ่งชุมชนเมืองโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นชุมชนที่ถูกทำให้อ่อนแออย่างต่อเนื่องจากภาวะแวดล้อมของ การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมายาวนานหลายทศวรรษก็ยิ่งต้องการเวลามากหน่อย

ดังนั้น งานพลังชุมชน – พลังแผ่นดินซึ่งภาคประชาสังคมและ ภาครัฐร่วมมือกันดำเนินการในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้น จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มแข็งเป็นพิเศษ ในพื้นที่เมืองและชุมชนเมืองทุกแห่งทั่วประเทศ

ประการที่สอง ผู้เสพยาจำนวนกว่า 4 แสนคนและผู้ค้ารายย่อยกว่า 6 หมื่นคนที่เข้าสู่ระบบการรายงานตัวและ ผ่านกระบวนการค่ายปลูกฝังจิตสำนึก และปรับพฤติกรรมในช่วงปี 2546 นั้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ต้องรีบร้อนทำเพื่อให้ทันกระแสนโยบาย จึงพบว่ามีจำนวนมากที่มีข้อจำกัดเชิงคุณภาพอยู่ในระดับหนึ่งทีเดียว
ผู้เสพยาที่ถึงขั้นติดแล้วนั้นถือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง คือเป็นโรคสมองติดยาเรื้อรัง ซึ่งต้องการการบำบัดรักษาและประคับประคองมิให้มีการเสพเลยเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานถึง 1 ปี จึงจะวางใจได้ว่าสมองหายติดยาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4-5 เดือนแรกนั้นถือเป็นระยะวิกฤตที่สุด ซึ่งถ้าเขาสามารถหยุดยาให้ผ่านพ้นช่วงดังกล่าวได้ก็มักจะสามารถหยุดยาได้ไปตลอดรอดฝั่ง
การดูแลบำบัดผู้ติดยาเหล่านี้จึงต้องการภาวะแวดล้อม ที่เอื้อต่อการหยุดยาโดยความร่วมไม้ร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว ญาติพี่น้อง ชุมชน โรงเรียน ที่ทำงาน ฯลฯ จะหวังแต่เพียงการใช้วิธีกดดันปราบปราม มิให้มีการซื้อขายยาเสพติดเท่านั้นคงไม่พอ เพราะชนิดของตัวยาที่เสพก็วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนตามกันแทบไม่ทัน
ในด้านผู้ค้ารายย่อยก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ของพวกเขาคือคนยากคนจนนั่นเอง การเดินยาค้าย่อยในช่วงที่ผ่านมาทำให้เขามีรายได้ และ/หรือมียาเสพ

ดังนั้นตราบใดที่เขายังไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานหรือ ยังยากจนอยู่ก็มีโอกาสที่จะหวนกลับไปทำแบบเดิมได้อีกเช่นกัน
ดังนั้นงานบำบัดรักษาและฟื้นฟูพัฒนาอาชีพสำหรับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่มากอีกเรื่องหนึ่ง ที่สังคมไทยจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันแก้ต่อไปในปีหน้า

ประการที่สาม จากการติดตามสถานการณ์การขนส่งลำเลียงยาเสพติดที่บริเวณชายแดนนั้น พบว่ายังมีการเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง ขบวนการค้ายาเปลี่ยนจุดที่จะนำเข้าอยู่ตลอดเวลาซึ่งยากแก่การเฝ้าระวังและปราบปรามเพราะเรามีระยะทาง ตลอดชายแดนติดเพื่อนบ้านที่ยาวมาก
การเร่งจัดตั้งชุมชนชายแดนที่เข้มแข็งเพื่อเป็นรั้วที่แข็งแกร่งอยู่โดยรอบนั้น ได้ดำเนินการกันอย่างเต็มที่ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัญหาทั้งเชิงความครอบคลุมและเชิงคุณภาพอยู่อีกไม่น้อย
เป็นที่น่าชื่นชมที่กองทัพไทยของเรามีทักษะ และภูมิปัญญาการทำงานจัดตั้งมวลชนมาอย่างโชกโชนและยาวนาน แต่เท่านั้นยังไม่พอ การสร้างชุมชนชายแดนที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันยาเสพติดนั้น เราต้องการการบูรณาการภูมิปัญญา การจัดตั้งมวลชนกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนควบคู่ไป
งานชุมชนเข้มแข็งทุกหมู่บ้าน – ทุกตำบลรอบชายแดนจึงเป็นงานที่ต้องทุ่มเทอีกเช่นกัน
กล่าวโดยสรุปแล้ว ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าความตั้งใจและความพยายามของ
รัฐบาลในเรื่องเอาชนะขบวนการยาเสพติดนั้นบรรลุผลแล้ว แต่ยังมีเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง อย่างน้อย 3 ประการคือ เรื่องชุมชนเมือง เรื่องการดูแลคนติด / คนเสพและคนค้าย่อย และเรื่องชุมชนชายแดนครับ.

Be the first to comment on "นับถอยหลัง 60 วันเพื่อในหลวง : ยาเสพติดในชุมชน ลดลงแล้ว แต่…”"

Leave a comment

Your email address will not be published.