นานาทรรศนะ สิทธิชุมชน

“สิทธิชุมชน คือ การให้ชุมชนชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระโดยตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจำเป็นจะต้องเรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่…..

สิทธิชุมชน คือ การให้ชุมชนชาวบ้านมีสิทธิในการเลือกอนาคตของตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระโดยตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจำเป็นจะต้องเรียนรู้ชุมชนที่เขาอยู่ ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังจ้องอยู่ หนึ่ง เขาต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อมสิ่งที่เขามีอยู่กับความต้องการ ความคาดหวังจากโลกภายนอกเท่าทันที่จะปกป้องสิทธิของเขา ในขณะเดียวกัน ก็ใช้สิทธิที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเขาสามารถทำประโยชน์ให้กับโลกได้ อย่างน้อยที่สุดปกปักรักษาทรัพยากรของโลก สอง อาจจะบอกว่าเขาก็สนใจอยากจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมที่จะทำวิจัย สาม อาจจะบอกว่า เขายินดีที่จะร่วมมือทำอะไรต่อมิอะไรที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นประโยชน์ยั่งยืน ในเวลาทนี้เราต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนแค่เรื่องสิทธิทำกินว่าต้องให้อยู่ตรงนี้ ถ้าเป็นแค่นี้ไม่พอ มีอะไรหลายอย่างที่เราต้องคิด วิจัย ศึกษา

 

ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก

 


สิทธิชุมชน หมายถึง สิทธิร่วม เหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชนซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าเท่านั้น จึงจะมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์จากป่า โดยนัยนี้ สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วสมาชิกของชุมชนทั้งหมดจะมี  สิทธิตามธรรมชาติ  ในการใช้ทรัพยากรรวม แต่ชุมชนก็สามารถใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์โดยคำนึงถึง ความเป็นธรรมในสังคม  เป็นสำคัญตัวอย่างเช่น ชุมชนหลายแหล่งมีกฎเกณฑ์อนุญาตให้แต่ละเฉพาะครัวเรือนที่แต่งงานใหม่และยากจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิตัดไม้เพื่อใช้ส่วนตัว ในขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะดีจะไม่ได้สิทธิอันนั้น

 

ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ ใน นิเวศวิกฤตกับยุทธหัตถีเชิงกระบวนทัศน์ในสังคมไทย

 


แนวความคิดเรื่อง  สิทธิชุมชน สำหรับสังคมไทยอาจดูเป็นเรื่องใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุด ขณะนี้เราก็สามารถปลูกฝังสิ่งนี้ลงไปในสังคม โดยผ่านกระบวนการนอกระบบการศึกษา จนในที่สุดมันซึมเข้าไปในระบบการศึกษากลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้หลายต่อหลายเรื่อง สิ่งสำคัญคือทำอย่างไร ที่จะทำให้แนวคิดเรื่อง สิทธิ  ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น ยังเป็นความหมายเพียงแค่ขอบเขตของปัจเจกบุคคล ได้ขยายความหมายของคำๆ นี้ออกไปตามแนวคิดของโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ได้ ผมคิดว่าเราไม่ควรไปติดกับชุมชนที่มีความหมายเป็นแค่เพียงพื้นที่เพียงอย่างเดียว เพราะในเมืองไทยมีสำนึกเกี่ยวกับชุมชนที่ไม่ได้เป็นพื้นที่อย่างเดียวมากมาย เช่น กรณีคนพิการขอให้มีบันไดเลื่อนถึงแม้จะต่างคนต่างอยู่แต่เป็นประโยชน์ร่วมของเขา จากการที่เขานับตัวเองเป็นคนหนึ่งของผู้พิการ ดังนั้น เรื่องของชุมชนกับเรื่องของอัตลักษณ์เป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่า ตัวเองมีผลประโยชน์ร่วมกับคนอื่นอย่างไร หรือควรจะมีทรัพยากรของตัวเองร่วมกับคนอื่นอย่างไร เหล่านี้เองคือความเป็นชุมชน และการที่คนเหล่านั้นมีจินตนาการว่าตัวตนของตัวเองส่วนหนึ่งร่วมอยู่กับส่วนอื่นเพราเหตุผลอย่างนั้น ผมว่านี่คือ สิทธิชุมชน

 

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์

 


ถ้าสิทธิในการพัฒนาตนเองถูกกีดกั้นหรือจำกัด ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะดิ้นรนขวนขวายเพื่อสิทธินั้น ถ้าหากไม่มีการเอื้ออำนวยความช่วยเหลือและปัจจัยที่เกื้อกูลแก่การพัฒนาตนเอง ก็สมควรเพียรพยายามส่งเสริมให้มีความช่วยเหลือและปัจจัยที่เกื้อกูล  อย่างไรก็ดี ยังมีข้อควรระวังอยู่บ้าง กล่าวคือ การที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการพัฒนาตนเองและจึงมีสิทธิในอิสรภาพและความสุขนั้น เป็นข้อจำกัดของจริธรรมที่เกิดจากกฎแห่งธรรม กฎแห่งธรรมนี้ประการหนึ่งจะกำหนดว่า ขอให้มนุษย์กระทำสิ่งที่ชอบธรรมด้วยความจริงใจเถิด แล้วกระบวนธรรมจะนำผลมาให้เองอย่างสมกัน ข้อนี้หมายความว่า บุคคลควรทำการด้วยแรงจูงใจที่เป็นกุศล ถ้าเขาจะดิ้นรนขวนขวาย เขาก็ควรกระทำอย่างนั้นด้วยเห็นแก่ธรรมคือ ทำสิ่งที่ดีสิ่งที่ชอบธรรม ด้วยอาศัยเมตตากรุณา มิใช่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือความปรารถนาในทางเห็นแก่ตนอย่างหนึ่งอย่างใด  ไม่กระทำด้วยความโลภหรือความเกลียดชัง ด้วยวิธีนี้เท่านั้น มนุษย์จึงจะสามารถบรรลุถึงจุดหมายที่ชอบธรรม เข้าถึงอิสรภาพโดยที่ไม่ต้องละเมิดอิสรภาพของเพื่อมนุษย์ และได้ความสุขโดยไม่ต้องก่อทุกข์แก่โลกให้มากขึ้น ถ้ามิเช่นนั้น การดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนแก่คนพวกหนึ่งอาจจะกลายเป็นการฉกฉวยสิทธิมนุษยชนของอีกพวกหนึ่ง


พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต).
ในคำนำ
พุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน

ผู้ยากไร้ทั้งหลายไม่ได้ต้องการดำรงตำแหน่งสาธารณะ ไม่ได้ต้องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชิงอำนาจในรัฐสภา หากต้องการสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธอื่นๆ อันเกี่ยวขอ้งกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรุกล้ำล่วงเกิน เกี่ยวข้องกับความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนของตน

 

อันที่จริง เราพูดเรื่องหล่านี้กันมาก แต่ถึงเวลาที่จะต้องระบุชัดลงไปเสียทีว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่เราอาจต้านทานการรุกคืบหน้าของกระแสทุนโลกาภิวัตน์ได้ ในเวลานี้เราอย่าลืมว่ากลุ่มทุนข้ามชาติไม่เพียงดึงกลุ่มชนบางส่วนของสังคมไทยไปผูกโยงกับพวกเขาเรียบร้อยแล้ว หากยังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปสู่การยึดครองฐานทรัพยากรในประเทศไทยด้วย โดยนำสิ่งล้ำค่าเหล่านั้นมาขึ้นต่อกลไกตลาดโลก หรือไม่ก็แปรรูปไปสู่การผลิตขนาดใหญ่แบบทุนนิยม

 

แล้วใครเล่าที่มีประเพณียังชีพโยงใยอยู่กับฐานทรัพยากรเหล่านั้นหากไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นในเขตชนบทต่างๆ ใครเล่าจะหวงแหนวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เท่ากับพวกเขา ?

 

ดร.เสกสรรค์  ประเสริฐกุล ใน ปาฐกถา 30 ปี 14 ตุลา

 


การไม่รับรองสิทธิชุมชนดังกล่าวของรัฐ ไม่เพียงทำให้ชุมชนเดือดร้อนในแง่ของแหล่งทำกินและแหล่งที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำลายสิ่งสำคัญที่รัฐไม่เคยนึกถึง คือ วิญญาณของชุมชน ที่ผนึกชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันปรากฏให้เห็นชัดเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพราะเมื่อชุมชนไม่สามารถใช้อำนาจของตัวเองจัดการดูแลเรื่องทรัพยากรให้เป็นฐานในการเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างเพียงพอ ชุมชนก็คลอนแคลน ระบบความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเริ่มถูกฝ่าฝืนหรือท้าทายเพื่อการดิ้นรนให้มีชีวิตรอด  กรณีการไล่ที่หรือยึดที่ของชุมชนก็ยิ่งชัดเจนมาก เป็นการไล่คนออกมาจากวิญญาณของชุมชน แตกกระจัดพลัดพรายไปอยู่ในที่คนไม่ได้ผูกพันกับวิญญาณของบรรพชนและประวัติศาสตร์ของชุมชน

 

ดร.เลิศชาย ศิริชัย ในรวมบทความวิชาการ เปิดศักราชสิทธิชุมชน

 

 

 

ที่มา : จดหมายข่าว สิทธิชุมชน  ฉบับที่ 3 เดือนธันวาคม 2546-มีนาคม 2547  หน้า 26

Be the first to comment on "นานาทรรศนะ สิทธิชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.