ถ้าท่านเปิดวิทยุสถานีหนึ่ง ที่เมือง *ไฟร์บวร์ก (Freiburg) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี วัน
เสาร์-อาทิตย์ ช่วงบ่าย ท่านจะพบเสียงดนตรีในแนวและจังหวะที่หลากหลาย และภาษาที่คนจัดรายการพูดก็แปลกออกไป เป็นภาษาโปรตุเกศ ปากีสถาน เคริ์ก หรือภาษาท้องถิ่น จนท่านติดใจรายการช่วงนี้ ติดตามฟังเป็นระยะ กระทั่ง วันหนึ่ง เมื่อเปิดรายการตามปกติพบว่า รูปแบบปรับเปลี่ยนไปเป็นรายการเล่านิทานให้กับเด็กๆ ฟังในวันหยุด หรือฟังๆ ไปจะมีคนจากสถานกักกัน สถานพินิจมาจัดรายการให้ฟัง ถ้าท่านชอบใจในการเปลี่ยนแปลง จะคอยติดตามฟังต่อ หรือไม่ท่านก็ปิดวิทยุไปเลย
นี่เป็นรูปแบบของรายการวิทยุภาคพลเมือง หรือ Civic Radio ในประเทศเยอรมนี
การได้มาซึ่งวิทยุภาคพลเมืองของประเทศนี้ เริ่มต้นช่วงปลาย พ.ศ. 2513 ช่วงที่ขบวนการทางการเมืองในประเทศคุกรุ่น ประชาชนเคลื่อนไหวกันอย่างหนักในด้านสิ่งแวดล้อม สันติภาพ เสรีภาพ และการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ที่เมือง Freiburg กลุ่มประชาชน เกษตรกร ต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ การต่อต้านคัดค้านของพวกเขาช่วงนี้ สื่อมวลชนกระแสหลักในขณะนั้นลงข่าว ออกข่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แสดงถึงความไม่สนใจในเรื่องราวที่เป็นผลกระทบต่อชุมชน ดังนั้น การต่อสู้ของพวกเขาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบ
เริ่มจากการพิมพ์ใบปลิวแจกให้ประชาชน สังคมได้ทราบข้อเท็จจริง และติดตามด้วยการแอบส่งวิทยุ จากป่าสู่เมือง วันละประมาณ 10 นาที แล้วเคลื่อนย้ายที่ไปเรื่อยๆ การที่ต่อสู้ด้วยวิทยุเถื่อนที่เรียกว่า Private Radio นั้น เป็นเพราะในขณะนั้นเยอรมันยังไม่มีกฏหมายสื่อมวลชน ที่ให้สิทธิเสรีภาพเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงยิ่งที่จะถูกจับ
ฉะนั้น การส่งวิทยุเถื่อน จึงเป็นเหมือนหน่วยจู่โจมในสงคราม และการที่แอบส่ง เปลี่ยนพื้นที่การส่งไปเรื่อยๆ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ได้รับรู้ข้อมูล นับเป็นประโยชน์และมีความหมายอย่างยิ่งในการต่อสู้ เพื่อสิ่งแวดล้อมของพวกเขาขณะนั้น การต่อสู้เพื่อ่ให้ได้มาซึ่งใบอนุญาต ให้ดำเนินรายการวิทยุภาคพลเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ใช้เวลาตั้งแต่ปี 2519-2530
ระยะเวลากว่า 11 ปี ที่ได้มาของวิทยุภาคพลเมืองนั้น การต่อสู้ไม่มีเพียงเฉพาะกลุ่มชุมชนที่เมือง Freiburg กลุ่มเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายต่อหลายกลุ่มที่ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้ได้มา ดังนั้น ถ้าไม่มีตัวอย่างให้เห็นของการแอบส่งวิทยุเถื่อน คนอาจไม่รู้สึกว่าวิทยุภาคพลเมืองมีความหมาย และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง เมื่อได้วิทยุภาคพลเมืองมาแล้ว กิจกรรมการทำงานยังมิได้สิ้นสุด ยังต้องมีการจัดการในรายละเอียดอีกมาก
ดังตัวอย่างสามส่วนของประเภทวิทยุในประเทศเยอรมนีที่แตกต่างไปจากหลายๆ ประเทศ
Public Radio วิทยุสาธารณะ ที่มิได้หมายความว่าเป็นของรัฐ แต่เป็นองค์กรอิสระมหาชน และอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพรรคการเมือง บทบาทของวิทยุสาธารณะของเยอรมัน ผู้ฟังวิทยุจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และรัฐจะนำเงินส่วนนี้ไปจัดสรรให้กับรายการต่างๆ
Commercial Radio วิทยุเอกชน หลังจากมีกฏหมายรับรอง ให้มีวิทยุเอกชนซึ่งอยู่ได้ด้วยธุรกิจ กำไร และการโฆษณา ความหลากหลายของความเห็นหรือรายการต่างๆ จะน้อยมาก จะเน้นหนักไปทาง easy listening เพลง หรือเรื่องเล่าสั้นๆ
Civic Radio วิทยุภาคพลเมือง เป็นวิทยุที่เปิดโอกาสให้ มีการทดลองแนวโน้มใหม่ๆ ทางด้านการสื่อสารคมนาคม เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้คุย สนทนากัน และมีความหลากหลาย ที่น่าสนใจในเรื่องของการทำวิทยุพลเมือง มักจะเกิดอาการที่เรียกว่า
คนฟังวิทยุ เป็นคนผลิตวิทยุไปด้วย เป็นปัญหาในตัวเอง ความตึงเครียดที่ต้องจัดการให้ได้ทั้งสองส่วน
ส่วนหนึ่งเมื่อท่านฟังวิทยุภาคพลเมือง ท่านต้องการทราบโปรแกรมที่ชัดเจนว่า มีรายการอะไรบ้าง และอย่างไร ในขณะที่ ถ้าท่านเข้าไปเป็นผู้ผลิต ย่อมต้องการให้ชุมชน ผู้ฟังมีส่วนร่วมมากๆ ความชัดเจนในโปรแกรมรายการ จะลดน้อยลงไป นี่คือปัญหาในเรื่องความชัดเจน ของโปรแกรม ถ้าด้านหนึ่งผู้ฟังต้องการข้อมูลกว้างๆ หลากหลาย ประกอบกับมีความบันเทิงสนุกสนาน ดังนั้น สิ่งที่วิทยุภาคพลเมืองต้องทำ คือ ต้องให้ผู้ฟังส่วนมากยอมรับ ชอบฟังรายการ และ ต้องเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากได้มีโอกาสเข้ามาผลิต นำเสนอได้
เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งในการทำให้สองส่วน ผู้ฟังเป็นผู้ผลิต และ ผู้ผลิตเป็นผู้ฟัง สมดุลกันตลอดเวลา วิทยุเยอรมันในเมือง Freiburg เขาจัดการกันอย่างไร
ในการจัดสมดุลกันนั้น เมืองต้องการให้ผู้ฟังติดตามฟัง บางครั้งต้องอาศัยมืออาชีพในการเข้ามาช่วยทางด้านเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการฝึกอบรม รวมไปถึงผังรายการ ในขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความหลากหลายในด้ายผู้ฟังเป็นผู้ผลิตบ้าง จะมีอาสาสมัครจำนวนมากเข้ามาทำรายการที่สนใจด้วยตนเอง
ผู้ฟังรายการวิทยุภาคพลเมืองใน Feireiburg จะมีการประชุมและคัดเลือกกรรมการที่ควบคุมดูแลสายผู้ฟัง ควบคุมคุณภาพการผลิต และทางด้านสายผู้ผลิตที่สนใจต้องการเข้าเป็นกองบรรณาธิการผลิตวิทยุ คัดเลือกเข้ามาเป็นกองบรรณาธิการ แล้วทั้งสองสายคือ ผู้ฟัง ผู้ผลิต ตั้งขึ้นมาเป็นทีมผู้บริหาร และนี่คือตัวอย่างคร่าวๆ ของรายการทางสถานีวิทยุ
..
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-01.00 น. (ยกตัวอย่างถึงเวลา 13.00 น.)
10.00-11.00 น. สรุปข้อมูลข่าวสารเมื่อวาน
11.00-12.00 น เรื่องน่าสนใจในภูมิภาค (ทุกวันจันทร์ เป็นช่วงสำหรับผู้ต้องขัง)
12.00-13.00 น. ข่าว International รอบโลก
เพื่อความหลากหลาย สร้างสรรค์และน่าสนใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกอบรม ให้กับอาสาสมัครที่เข้ามาจัดรายการวิทยุภาคพลเมืองในเยอรมัน การฝึกอบรมต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถือว่าสำคัญ ส่วนใหญ่มืออาชีพหรือคนจัดรายการที่ชำนาญ เมื่อจัดรายการเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะไปทำหรือจัดรายการที่อื่น การฝึกอบรมทดแทนคลื่นลูกใหม่ตลอดเวลาเป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออาสาสมัครได้เข้ามาฝึกอบรมการ ผลิตรายการวิทยุ เกิดความรู้ ปัญญาในมุมมองใหม่ๆ อย่างเท่าทันมากขึ้น สลับสับเปลี่ยนไปเป็นรุ่นๆ
เทคนิควิธีการ คือ จะเน้นและดึงเองประสบการณ์ที่ได้ฟัง และนำไปทดลองใช้จริง นำกลับมาดูว่าดีหรือบกพร่องในด้านใด ทำใหผู้รับการฝึกอบรมได้ปรับปรุงตลอดเวลา สามารถเรียนรู้จากการทำและทำให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่ยิ่งน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การผึกอบรมในการผลิตวิทยุภาคพลเมืองสามารถ เป็นแหล่งที่มาของรายได้อีกทางหนึ่ง และที่มาของรายได้ในทำวิทยุภาคพลเมืองนั้นจะมีจากหลายส่วน มีทั้ง ค่าบำรุงสมาชิก (Membership) ซึ่งในเยอรมันจะเก็บเงินค่าบำรุงสำหรับผู้ฟังรายการวิทยุ เงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค (Subscription) อาจมาจากกลุ่มผู้ฟังสมทบเพิ่มเติม จัดกิจกรรมหารายได้ (Even public activity) เช่น ขายของที่ระลึก เสื้อ หมวก เข็มกลัด หรือบางครั้งจะให้ความรู้ อบรมแก่เยาวชน ผู้สูงอายุที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
รัฐบาลก็จะสนับสนุน (Sponsorship)ให้บางส่วน
เมื่อท่านมองดูบทเรียนจากวิทยุของเยอรมันจะเห็นได้ว่า วิทยุเยอรมันใช่เพียงเกิดขึ้นลอยๆ มิใช่วิทยุเพื่อวิทยุ แต่เป็นวิทยุที่เกิดขึ้นและยืนยันความเป็นประชาธิปไตยในเยอรมัน เกิดขึ้นพร้อมการเมืองและมีบทบาทอย่างสูง กับภาวะกดดันทางการเมืองโดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง
แล้วบทเรียนของไทย ท่านคิดอย่างไร ช่วยตอบที
-การประชุมเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์วิทยุชุมชน 17-19 สิงหาคม 2544
-Pocket atlas of the world โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งที่ 18 2534
ใกล้พรมแดนประเทศฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ อยู่สูงกว่า
ระดับน้ำทะเล 600-1500 ฟุต ประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ปลูกองุ่น ผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง
เยอรมันตะวันออก (ประชากร 17 ล้านคนปกครองโดยรัฐคอมมิวนิสต์)
เยอรมันตะวันตก (ประชากร 61 ล้านคน ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย)
ปัจจุบันได้มีการทุบกำแพงเบอร์ลิน ยกเลิกการแบ่งแยกเยอรมันทั้งสองส่วน
Be the first to comment on "บทเรียนวิทยุเยอรมัน"