ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์เด่นชัดเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา แต่นอกเหนือจากการเป็นดอกไม้สำหรับไหว้พระ การบูชาพระรัตนตรัย การเป็นตัวแทนอุปมาถึง ปุถุชนสี่เหล่าแล้ว ดอกบัวยังนำมาซึ่งความเบิกบานในใจคนได้อีกหลายรูปแบบ
เรื่อง : ทศพร กลิ่นหอม |
|||
ในทางโลก บัวเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ดูสง่างาม ดอกมีขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม เด่นสะดุดตาสะดุดใจแก่ผู้พบเห็น บางชนิดมีกลิ่นหอม และมีผู้ตั้งสมญาให้บัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำเลยทีเดียว ดอกบัวในชีวิตประจำวันอาจมิได้พ้องกับศาสนาอย่างเดียว แต่ยังพ้องกับสุนทรียะในยุคสมัยใหม่ด้วย มีเพียง ชูเอะ อิมามุระ ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น ติดใจสีสันและความงามของดอกบัวหลวงจากล็อบบี้ของโรงแรมโอเรียนเต็ล กลับไปพัฒนาเครื่องสำอางสีและกลิ่นกลีบบัวอันสวย หวาน เย็นและเป็นสง่าออกขาย ทำให้มีคนหลงใหลในดอกบัว เส้นสาย(ใย)บัว พูลทรัพย์ เจตลีลา สถาปนิกที่ปรึกษา นักวาดภาพประกอบทางพฤกษศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์กราฟฟิกในงานภาพประกอบทางพฤกษศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ครัวดอกไม้’ (สนพ.สีดา,2546) เป็นผู้หนึ่งที่ประกาศตัวเป็นแฟนของดอกบัว หลังจากที่พานพบ ‘ดอกบัวราชินี’ ซึ่งเป็นบัวหลวงขนาดใหญ่ ในเขตพื้นที่ จ.เพชรบุรี และการใช้ดอกบัวในงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา พูลทรัพย์บอกว่า การต่อยอดจากดอกบัวตูมพับกลีบสามดอกแซมด้วยดอกไม้เหลืองประกอบธูปเทียนเพื่อไหว้พระ จากที่คุ้นเคยสมัยเด็กสู่การใช้สอยหลากรูปแบบ ซึ่งตอบสนองความพึงใจทางสุนทรียะ แม้กระทั่งงานต้องห้ามอย่าง ‘งานศพ’ “ตอนที่คุณแม่ดิฉันเสียชีวิต เราก็เอาดอกบัวไปจัดประดับตกแต่งบนโลงศพ ซึ่งเราชื่นชอบดอกนี้ และสามารถจัดสวยๆ ได้ทั้งความสงบและดูศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีญาติผู้ใหญ่บางท่านมาทักท้วงว่าไม่เหมาะสม เพราะตามความเชื่อและประเพณีที่ชาวไทยพุทธมีมาแต่เดิม เห็นว่าดอกบัวควรใช้ถวายพระเท่านั้น เป็นดอกไม้สูงสุดในทางพุทธศาสนา เราก็โต้แย้งกลับไปว่า การที่เราใช้ดอกบัวในงานศพ ถือเป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อคุณแม่ ซึ่งพ่อแม่สำหรับเรา ก็คือพระอรหันต์สูงสุดของลูกเช่นกัน” การใช้บัวของพูลทรัพย์ มิได้จำกัดอยู่ที่การไหว้พระ แต่มีการจัดประดับตกแต่ง “ในวันเสาร์และวันพระสำคัญ เราจะไปร่วมทำบุญปฏิบัติธรรม จัดดอกไม้ถวายพระกันที่หอประชุม มูลนิธิศึกษาและเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ถ.เจริญนคร 68 ซึ่งบรรดาเพื่อนสาวๆ ก็ช่วยกันพับกลีบบัวปักแจกันหน้าแท่นบูชากันสนุกสนาน เพราะการพับกลีบทำได้หลายแบบ มีตำราสอนพับกลีบให้เล่นกันได้ไม่เบื่อเลย แต่พอเราเอาดอกบัวบางส่วนที่เหลือจากแท่นบูชา ไปประดับตามเคาน์เตอร์ด้านหน้า หรือปักแจกันในห้องน้ำเพื่อความสดชื่น ก็มีเพื่อนทักท้วงว่า ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งก็เป็นความเชื่อของแต่ละคนที่มองดอกบัวติดอยู่กับพุทธศาสนา” ต่อเนื่องจากการวาดภาพดอกไม้นานาชนิด ที่ ‘พูลทรัพย์’ ทำเป็นอาชีพ ถึงขั้นเปิดอบรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ‘บัวหลวง’ ได้เข้ามาอยู่ในใจและในภาพวาดของเธอด้วย “ต้องบอกว่าเราวาดบัวน้อยมาก และไม่กล้าประกาศตัวว่าเป็นคนวาดดอกบัวนะคะ เราชื่นชมอัครศิลปินอย่างทวี นันทขว้าง ที่วาดดอกบัวเยอะมากและสวยงามหยดย้อยจนเหนือจริงอย่างอาจารย์พันธ์ศักดิ์ จักกะพาก แต่เราก็เก็บความประทับใจมาถ่ายทอดเอง ที่วาดไว้สามรูปเป็นบัวหลวงทั้งหมด มีทั้งวาดด้วยสีน้ำและใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์วาด มันทำให้เราได้เห็นถึงเส้นสาย รอยกลีบ บัวสวยตั้งแต่ดอกตูมถึงดอกโรยไปแล้ว ฝักบัวยังสวยเลยค่ะ” พูลทรัพย์ เล่าด้วยความปลาบปลื้ม หลงใหล..ไม่เมามัว ในทางพุทธ การติดอยู่กับความงามถือเป็นกิเลส การหลงใหลรูป รส กลิ่น เสียง ถือเป็นความมัวเมา แต่สำหรับ ‘พูลทรัพย์’ การเรียนรู้และการใส่ใจธรรมช่วยฉุดรั้งความหลงใหลในความงามของดอกบัว ให้ดำรงอยู่ ณ จุดของความปลื้มปีติ “เห็นทีไร เราอดใจไม่ไหว มันช่างเป็นดอกไม้ที่สวยเหลือเกิน บางทีเราขับรถผ่านตามบึงข้างทางต่างจังหวัด ต้องจอดรถแวะชม พิจารณากลีบดอกก็สวย มีเฉดสีชมพูอมม่วง รายละเอียดของเส้นสายบนกลีบ หรือกระทั่งรูปทรง ซึ่งอันนี้ทางพุทธไม่ควรเลย พยายามคิดให้ได้อย่างนั้น แต่เราก็ตระหนักรู้ว่านี่คือการชื่นชม ในรูปทรงพรรณสัณฐาน ความงามของสีสันและกลิ่น ยังเป็นความสุขเบิกบานใจสำหรับเราที่ยังมีกิเลสอยู่ ถือว่าเรายังอยู่ในกลุ่มบัวปริ่มน้ำ ลอยคอบาน แต่ยังไม่พ้นน้ำถึงขั้นบรรลุธรรมะ” พูลทรัพย์เล่าด้วยน้ำเสียงร่าเริง แล้วคุยต่อว่า “คงยังไปไม่ถึงระดับนั้น ตัวเองขอเป็นแค่บัวบานกลางบึง รอวันเหี่ยวเฉาตามธรรมชาติเหมือนเพลง ‘บัวกลางบึง’ ของวงสุนทราภรณ์” “สิ่งที่เราบอกตัวเองก็คือ การชื่นชมดอกบัวด้วยจิตใจบริสุทธิ์ เพราะเราแค่ชื่นชมรูปพรรณสัณฐาน ไม่ได้มีอกุศลเจตนา แบบที่ว่าฉันถวายดอกบัวช่อใหญ่ให้พระ เพื่อให้ชาติหน้าเกิดมาสวยๆ หรือทำบุญเก้าวัด เพื่อให้ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นเก้า ซึ่งเราถือว่านั่นเป็นการทำบุญโดยเจตนาไม่บริสุทธิ์ และเราพยายามกำหนดตัวเองให้รู้ว่า เรากำลังทำดอกบัวนะ เป็นดอกไม้เพื่อแสดงความเคารพคารวะนะ ความจริงในระดับกิเลสของเรานี่ ถึงแม้ไม่ติดดอกบัว ก็คงไปติดใจหลงใหลอย่างอื่นๆ ได้อีก ก็พยายามแก้ด้วยวิธีกำหนดรู้” สวนบัว.. กลางบ้าน นอกจากดอกบัวบานในบึงและเป็นเครื่องบูชาพระแล้ว บัวยังเข้ามาบานอยู่ในบ้าน ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมได้ด้วย เรื่องเล่าของคนจัดสวน และคนที่ประทับใจมีสายใยกับบัวจาก บุญทวี สุปรีดิ์เวศ เป็นตัวอย่างของหลักการนั้น บัวนั้นมีหลายสายพันธุ์ ทั้งแบบชูก้านเหนือน้ำ ดอกโตในตระกูลของบัวหลวง และพวกบัวสาย ที่ลอยคอชูช่อดอกเรี่ยผิวน้ำ ล้วนเป็นไม้ประดับที่สวยงามในการจัดสวน และมีผลต่อผู้ชมสวนด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์และความงามทางสายตาที่โดดเด่นมากทีเดียว ดังที่ ‘บุญทวี’ ผู้ผ่านงานจัดสวนโดยใช้บัวประกอบมาก่อนแล้ว อธิบายให้ฟัง แยกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบไม่ถาวร และแบบสวนถาวร “ถ้าเราจัดแบบไม่ถาวรหรือสำหรับ exhibition จัดสวนจะใช้ในลักษณะบัวเป็นสื่อถึงน้ำ ให้ความรู้สึกสบาย สงบ เวลาจัดมันเน้นความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ สามารถนำมาจัดร่วมกับดอกกล้วยไม้ บอนสีหรือสับปะรดสีได้ หรือแค่จัดบัวแบบไล่ระดับก็ได้ ซึ่งไล่สีดอกก็ได้ เพราะบัวก็มีหลายสีให้เลือก หรือจะไล่ระดับขนาดของดอก หรือแม้แต่รูปทรงและลักษณะของดอก เช่น พวกรูปทรงใกล้ๆ กับบัวหลวง ก็อาจใช้บัวไต้หวัน บัวแดง เป็นพวกดอกทรงกลม มีสันฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม เหล่านี้จะมาจัดรวมกันได้ ไม่ขัดตา” ขณะที่ สวนแบบถาวร นั้น เป็นประสบการณ์ตรงของ ‘บุญทวี’ พบว่า มักได้รับความนิยมจากคนที่พักอาศัยในคอนโด ทาวน์เฮ้าส์ หรือพื้นที่เล็กที่ต้องการความสดชื่น สามารถพักผ่อนได้ตลอด ทางเลือกสวนเพื่อความรู้สึกเย็นสบาย จึงเป็นคำตอบ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ อ่างบัว “เนื่องด้วยพื้นที่จำกัด เราสามารถใช้อ่างปลูกบัวขนาดเล็ก อาจจะเป็นบัวแคระ หรือบัวหลวงดอกเล็ก ตั้งไว้ในบริเวณที่โดนแดด ปัจจุบันปลูกบัวค่อนข้างง่าย เพราะมีปุ๋ยบำรุงรากสำเร็จรูป ฝังในดิน ใส่สามเดือนครั้งก็ได้แล้ว ในพื้นที่เล็กนั้น อาจจะวางอ่างบัวขนาดเล็กสองอ่าง เพื่อให้เป็นที่พักสายตา เท่านี้ก็บรรลุจุดหมาย แต่การเลี้ยงก็เป็นไปตามพันธุ์ของบัวนะ ส่วนสำคัญต้องให้บัวรับแสงแดดมากพอสมควร เพราะมันเป็นไม้น้ำที่ต้องการแสง และต้องระวังความลึกของรากบัวหยั่งในน้ำให้พอเหมาะด้วย ถ้ากระถางตื้นไป เวลาเจอแดดจัด บัวก็กลายเป็นบัวต้มพอดี น้ำในอ่างบัวควรลึกไม่ต่ำกว่า 20 ซม.” ข้อแนะนำเพิ่มเติมของอ่างบัวในบ้าน คือ การเลี้ยงปลาหางนกยูงตัวเล็กในอ่าง เพื่อช่วยดักจับลูกน้ำป้องกันยุง หรือเลี้ยง ‘ต้นแหน’ ลอยปิดพื้นที่น้ำไม่ให้ยุงวางไข่ “แต่อันหลังอาจไม่สวย มันจะดูรกๆ ทึบๆ” บุญทวีเสริม “ถ้ามีอ่างใหญ่ ก็เพิ่มน้ำตกเข้าไปด้วย จะทำให้สดชื่นขึ้นอีก” ส่วนสไตล์ ‘สวนบัว’ ที่ลูกค้าของ ‘บุญทวี’ นิยมนั้น จะเป็นการปลูกบัวประกอบใน ‘สวนหิน’ หรือ ‘สวนน้ำตก’ แบบสวนหย่อมแบบญี่ปุ่นหรือแบบจีน ที่มีหินวางรอบๆ และมีบัวกระถางตั้งไว้โดดเด่นกลางวงล้อมของไม้ประดับเล็กอื่นๆ บัวที่นิยมใช้คือ บัวหลวงและบัวสีต่างๆ “บัวหลวงให้ดอกทั้งปี ถ้ามีดอกบานอยู่กลางสวน จะเด่นมากกว่าแค่ไม้ประดับสีเขียวๆ ทั้งหมด ซึ่งอาจจะทึบเกินไป ส่วนมากที่เราเจอ บ้านที่เป็นลักษณะโฮมออฟฟิศ จะจัดบัวกระถางเป็นกลุ่มๆ เล่นสีของดอกบัว ใช้ลูกเล่นเสริมเป็นน้ำตกเทียม หรือก้อนหินหมุนแสดงพลังน้ำ” บัวเป็นไม้น้ำที่ดูดอกได้ง่าย ใส่บอนสีและสับปะรดสีประดับเข้าไป ความรู้สึกของบัวจะชื้น ร่มเย็น นอกจากนั้น “เวลาเราจัดสวนประกอบงานแสดงสินค้าของลูกค้าหลายครั้ง เราพบว่านอกจากความสงบร่มเย็นที่เราคุ้นเคยจากบัวไหว้พระแล้ว บัวจะให้ความสง่าและกลิ่นอายที่เป็นตะวันออก โดยเฉพาะบัวหลวง แต่ถ้าเป็นบัวสายที่มีดอกแดง ก็ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติมาก สังเกตเห็นหลายครั้งว่าคนไทยจะชอบ ถ้าเราเอาดอกบัวไปประดับในงานตรงนั้น เพราะเขาคุ้นเคยอยู่แล้ว” บุญทวีเล่า “ที่เจอบ่อย ลูกค้าจัดสวนจะให้เราจัดสวนน้ำกลางหมู่บ้านจัดสรร หรือจัดสวนในอพาร์ตเมนต์ โดยเริ่มจากลูกค้ามีบ่อปลา น้ำตกและน้ำล้น ก็ต้องมีบัว เหมือนขาดไม่ได้เลย เพราะบัวเด่นทั้งดอกและลีลาของใบบัว ฟอร์ม(รูปทรง)ของต้น มันจะเป็นตัวบอกทันทีว่า นี่คือ ‘สวนน้ำ’ ส่วนตัวแล้วผมชอบ เพราะมีความหลากหลายจัดได้หลายแบบ เราคุ้นเคย และไม่เชยเลย แค่พับกลีบก็มีลูกเล่นได้เยอะ จากดอกตูมพับเป็นชั้นๆ แบบที่ถวายพระ หรือจะพับให้ดูเป็นดอกกุหลาบยังได้เลย เพียงหนึ่งกำ 15 ดอก พับได้เป็นสิบอย่างๆ เลย จัดทรงดอกได้หลายแบบใส่ในแจกันเดียวยังได้เลย” แม้ ‘บุญทวี’ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บ.บีสมายล์ จำกัด ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (www.natreeoil.com ) และสกัดน้ำมันจากพืชสมุนไพรจะออกตัวว่า ส่วนของบัวในงานของเขานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากงานหลักที่เขาสกัดน้ำมันจากพืชสมุนไพรนานาชนิด แต่ประสบการณ์จากการใช้บัวในงานจัดสวน และกิจกรรม บัวมีส่วนช่วยไม่น้อยเลยทีเดียว “เราเคยเล่นกับลูกหลาน ใช้ให้พับกลีบบัว โดยแจกดอกบัวให้คนละดอก ปล่อยให้ทุกคนใช้จินตนาการพับออกมาเอง ปรากฏว่า ได้ผลน่าทึ่งมาก พับออกมาได้เป็นสิบๆ แบบเลยทีเดียว และพวกเขาแสดงผลงานได้หลายอย่างมาก แค่ง่ายๆ เอง ซึ่งตรงนี้เรามองเห็นว่า เป็นกิจกรรมในครอบครัวก็ได้ หรือใช้กับกลุ่มเด็กในการเรียนรู้ร่วมกันได้ บางแบบที่เด็กพับออกมา เราก็ไม่เคยคิดมาก่อน การใช้แค่ดอกบัวดอกเดียว ก็ช่วยกิจกรรมกลุ่ม ให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ดี” |
|||
………………………………………….. อิ่ม..บัว นอกจากบัวจะช่วยให้คนอิ่มบุญ ทุกส่วนของบัวยังใช้รับประทานได้ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดบัว สายบัวแกงก็อร่อย หรือรากบัวใช้ต้มเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย ‘กลีบบัว’ รูปสวยรวยเสน่ห์ แล้วยังมีรสชาติน่าลิ้มลอง “เรารู้จักเมล็ดบัวหรืออื่นๆ ก็ทานได้ แต่เหมือนไม่ค่อยมีใครใช้กลีบบัว เคยรู้มาว่า คนสมัยก่อนเขาเด็ดกลีบบัวหลวงมาตากแห้งและใช้มวนยาสูบ แต่เราไม่ชอบยาสูบ และคิดว่าถ้าใช้ห่อยาสูบ มันก็น่าจะห่ออาหารรับประทานได้ ก็เลยลองเอามาห่อเกี๊ยว” พูลทรัพย์ เจตลีลา ผู้เขียนตำราใช้ดอกไม้ในการปรุงอาหาร แนะนำเมนูที่ต่างออกไป จาก ‘เกี๊ยวกลีบบัว’ ที่ใช้กลีบบัวหลวงชุบแป้งมาห่อทับแป้งเกี๊ยวลงทอดน้ำมันตามปกติ ใช้ได้ทั้งสีขาวหรือชมพู ส่วนกลีบบัวในกลุ่มบัวสายนั้น ทอดแล้วกลีบช้ำทานไม่อร่อย และ ‘กลีบบัวชุบแป้งทอด’ ด้วยวิธีการเดียวกับผัก หรือผลไม้ทุกชนิดชุบแป้งทอดในน้ำมันเดือด เป็นของว่างกรุบกรอบที่ผู้แนะนำบอกว่า “รสเหมือนมันฝรั่งทอด” ขณะที่เมนู ‘ซูชิกลีบบัว’ นั้น เป็นการใช้กลีบบัวหลวงที่ไม่แก่จัดเกินไป นำมาห่อหุ้มข้าวญี่ปุ่นแทนแผ่นสาหร่ายที่เราเคยชิน บางทีสาหร่ายมันอาจจะเป็นแผ่นดำๆ ไม่สวย เปลี่ยนเป็นกลีบบัวหลวงสีชมพูระเรื่อ เข้ากับเนื้อแดงของปลาดิบ ทำให้ซูชิดูน่ารับประทาน แม้กลีบบัวจะสด แต่เมื่อทานรวมกับซีอิ๊วญี่ปุ่นและวาซาบิแล้ว รสชาติจะกลมกล่อมไม่เหม็นเขียว “ก็แล้วแต่คนชอบ อาจจะใช้ทั้งกลีบบัวสดหุ้มทับสาหร่าย หรือใช้กลีบบัวสดอย่างเดียว รสชาติอาจจะออกรสใบไม้สด ต้องตัดโคนใบทิ้งประมาณครึ่งเซนติเมตร เพื่อไม่ให้มีรสขม อาจจะยังขมฝาดๆ อยู่นิดๆ แต่ถ้าเชื่อว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยาก็ทานได้นะคะ” แม่ครัวดอกไม้แนะนำ รวมถึง ‘เปาะเปี๊ยะสด’ ที่ใช้กลีบบัวสดห่อทับแป้งเปาะเปี๊ยะอีกชั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลีบบัวสดจากบัวหลวงที่จะนำมาปรุงอาหารนั้น พูลทรัพย์ไม่แนะนำให้ซื้อตามท้องตลาด “เคยคุยกับแม่ค้าที่เขาขายบัวเป็นกำใหญ่ๆ เขาบอกว่า บัวที่ปลูกขายทุกวันนี้ ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นทั้งนั้น เราจะนำมาปรุงอาหารไม่ได้หรอก เราจึงไปหาตามบึงบัวธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันหายากเต็มที อาจจะขอตามบ้านเพื่อนที่ปลูกบัวเป็นบึงใหญ่ไว้ แบบไม่มีสารพิษ แต่จะทานกลีบบัวตามตลาดไม่ได้เด็ดขาด แม้กระทั่งเหง้าบัวที่เราจะเอามาต้มน้ำดื่มเป็นยาชูกำลังบำรุงหัวใจ ก็ต้องระวังว่าโดนยาฆ่าแมลงมาก่อนหรือเปล่า” นอกจากกลีบบัวหลวงแล้ว ในกลุ่มบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน หรือบัวแดงนั้น กลีบเรียวยาวเล็กของมัน ก็สามารถนำมาชุบแป้งทอดหรือทำชากลีบบัว ซึ่งคนสมุนไพรเชื่อว่าจะมีสรรพคุณบำรุงหัวใจด้วยเช่นกัน อิ่มท้องแล้วยังอิ่มใจได้อีก |
|||
ที่มา : www.bangkokbiznews.com/bodyheart/ |
Be the first to comment on "บัวบาน..เบิกใจ"