ปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

ปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

พลเดช ปิ่นประทีป / เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๗

 

กระแสแนวคิดและความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบตำรวจอันเป็นต้นทางที่มีความสำคัญมากนั้นมีมานานแล้ว เมื่อครั้งรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบตำรวจขึ้นมาทำงานและมีข้อเสนอเชิงนโยบายชุดหนึ่ง แต่ไม่ทันได้ดำเนินการก็หมดเวลาไปก่อน

 

 

 

 

ต่อมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้พยายามอีกครั้ง โดยรื้อฟื้นคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา แต่การดำเนินการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้น้อยมากเพราะแรงต้านจากภายในและสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ติดพัน

มาถึงวันนี้พฤติกรรมของกองทัพตำรวจที่รับใช้ระบอบการปกครองเผด็จการรัฐสภาและทุจริตคอร์รัปชั่น ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้าน จนทำให้เกิดการเสียชีวิตไปแล้วเกือบ ๒๐ คนและบาดเจ็บกว่า ๗๐๐ ราย ทำให้กระแสเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบดังขึ้นมาอย่างเซ็งแซ่จากสังคมวงกว้าง มิใช่แค่เรื่องที่พูดคุยกันเฉพาะในหมู่นักวิชาการและผู้หวังดีอีกต่อไป

เมื่อประมวลข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่ม องค์กรและเครือข่ายต่างๆในเรื่องนี้แล้ว คณะทำงานเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทยพบว่าข้อเสนอหลายส่วนยังเป็นแค่การปรับปรุงพัฒนาตามปกติมากกว่าที่จะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างจริง ดังนั้นจึงได้สังเคราะห์กรอบประเด็นในการปฏิรูปขึ้นใหม่ ดังนี้

๑. ปฏิรูประบบตำรวจ

 

๑) ปรับโครงสร้างตำรวจ กระจายอำนาจบริหารจัดการ

 

– ในขณะที่ข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบตำรวจ ให้กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ไปให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคทั้ง ๙ แห่งและอีก๑กองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่ในเรื่องนี้เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทยเห็นว่ายังไม่เพียงพอ

– ตำรวจไทยทั้งหมดกว่าสามแสนคนและโรงพัก ๑,๔๘๘ แห่ง ปัจจุบันรวมศูนย์อยู่กับส่วนกลางเป็นเสมือนกองทัพ หากเปรียบเทียบกับประเทศ ญี่ปุ่นตำรวจทั้งประเทศรวม ๒๗๐,๐๐๐ คน มีเพียง ๗,๐๐๐ คนเท่านั้นที่สังกัดอยู่ส่วนกลาง นอกนั้นร้อยละ ๙๗ กระจายตัวสังกัดอยู่กับ ๔๗ จังหวัด (พรีเฟคเจอร์) ทั้งสิ้น

 

– ดังนั้นในระยะยาว จึงเสนอว่าควรดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการตำรวจทั้งระบบ โดยศึกษารูปแบบของประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ให้บทบาทความสำคัญแก่โครงสร้าง กลไกและระบบตำรวจท้องถิ่น ส่วนในระยะเฉพาะหน้านั้น ควรกระจายการบริหารจัดการระบบตำรวจประจำพื้นที่ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่า กทม.เสียจังหวะหนึ่งก่อน นอกจากนั้นต้องปรับบทบาทสตช.ให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจเป็นกลไกกำกับทิศทาง ปรับปรุงสถานีตำรวจให้เป็นศูนย์บริการความปลอดภัยสังคมแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) และยกเลิกระบบชั้นยศแบบกองทัพ

 

 

 

 

 

๒) เพิ่มระบบตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของสังคม

 

– จัดให้มีคณะกรรมการตำรวจที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและระดับสถานี รวมทั้งจัดให้มีกลไกที่เป็นอิสระสำหรับพิจารณากรณีร้องทุกข์ร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือพฤติกรรมของตำรวจ โดยผลักดันร่างพรบ.คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ พ.ศ…. และทบทวน แก้ไขเพิ่มเติมพรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…ในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

๓) พัฒนาระบบงานและวิชาชีพสอบสวน

 

– งานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญในการรวบรวมพยายานหลักฐาน จัดทำสำนวนและความเห็นทางคดี ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญและหลักจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับวิชาชีพสำคัญอื่นๆ จึงควรต้องพัฒนาระบบงานสอบสวนอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการมีหน่วยงานวิชาการสอบสวนส่วนกลางทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานของประเทศ ปรับปรุงสายงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระทางวิชาชีพ ไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจและอิทธิพลภายนอก สร้างดุลยภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และกำหนดอัตราค่าตอบแทนบุคลากรในวิชาชีพอย่างเหมาะสม

 

๔) ถ่ายโอนภารกิจที่มิใช่ตำรวจและเรื่องอื่นๆ

 

– งานหลักของตำรวจมีสามประการ ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา และการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ส่วนงานอื่นที่พอกเข้ามานอกเหนือไปจากนี้ ควรต้องถ่ายโอนกลับไปให้หน่วยงานรับผิดชอบดูแล อาทิ งานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง ฯลฯ

– งานผลิตและพัฒนาบุคลากรตำรวจ ควรได้รับการปรับปรุงทั้งในด้านวิชาการ หลักสูตร เทคโนโลยีและรูปแบบองค์กรบริหารจัดการที่เป็นอิสระ ไม่ควรขึ้นต่อสตช. และควรต้องมีภารกิจที่สอดคล้องกับโครงสร้างตำรวจที่จะปรับเปลี่ยนไปในอนาคต

๒. ปฏิรูประบบอัยการ

– มีข้อเสนอในการปรับปรุงภาพลักษณ์และสร้างศรัทธาต่อทั้งระดับสถาบันอัยการและตัวบุคคล เสนอให้ปรับเปลี่ยนสำนักอัยการสูงสุดกลับมาเป็นสำนักงานอัยการที่ขึ้นต่อกระทรวงยุติธรรม ห้ามอัยการดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจและเอกชนอันทำให้เกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อน ให้ยกเลิกแบบอย่างการสอบสวนโดยอัยการและกำหนดให้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจนในการพิจารณาสั่งฟ้อง ยื่นฟ้อง และ เปิดโอกาสให้อัยการสามารถว่าจ้างทนายความแก้ต่างแทนในอรรถคดีทั่วๆไปได้

๓. ปฏิรูประบบตุลาการ

– มีข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบการพิจารณาคดีอย่างจริงจังเพื่อให้มีความรวดเร็วและถูกต้อง เผยแพร่แนวคิดทางด้านตุลาการตีความก้าวหน้า (judicial activism) เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างนวัตกรรมและบรรทัดฐานใหม่ๆแก่สังคม ปรับปรุงแนวทางการพิสูจน์และให้น้ำหนักของหลักฐานที่ไม่ใช่การยึดติดกับตัวเอกสารเท่านั้น เพิ่มโทษเสียค่าปรับแทนการติดคุกในคดีที่ไม่รุนแรง และจัดทำประมวลจริยธรรมตุลาการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคม

 

๔. ปฏิรูประบบราชทัณฑ์และการลงโทษ

 

– เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก มีข้อเสนอให้ลดบทบัญญัติกำหนดโทษอาญาเหลือเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะความผิดที่มีลักษณะต่อบุคคลมิใช่ต่อแผ่นดิน ลดปริมาณคดีโดยกระบวนการเบี่ยงเบนคดี ชะลอฟ้องร้อง และการคุมประพฤติ เพิ่มโทษค่าปรับสูงสุดและกลไกการปรับสูงสุดตามดัชนีผู้บริโภค ปฏิรูประบบเรือนจำและราชทัณฑ์ แยกผู้ต้องขังแต่ละประเภท ยกเลิกการตีตรวน การริเริ่มรูปแบบใช้สถานที่กักกันหรือนิคมมาเป็นมาตรการเสริม ปรับปรุงพัฒนาระบบการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้มีทั้งแบบที่ดูแลโดยชุมชน แบบกำกับดูแลโดยใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และแบบคุมขังในเรือนจำประกอบกันอย่างสมดุล

Be the first to comment on "ปฏิรูประบบตำรวจและกระบวนการยุติธรรม"

Leave a comment

Your email address will not be published.