ประสบการณ์ประชาสังคม (1) : “จิตใหญ่ คิดใหญ่ ไม่ทำเอง”

             เมื่อเดือนตุลาคม 2541 สิบปีล่วงมาแล้ว เมื่อผมเริ่มเข้ามารับผิดชอบสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในฐานะเลขาธิการสถาบันฯ และเป็นกรรมการเลขานุการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาไปพร้อมกัน พี่หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์

เป็นผู้เดินเรื่องและจัดการขอยืมตัวผมจากสำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต9 พิษณุโลก ซึ่งสังกัดกรมควบคุมโรคติดต่อ มาช่วยปฎิบัติงานที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ในโครงการวิจัยและพัฒนาด้านประชาสังคม ผมจึงย้ายถิ่นฐานจากพิษณุโลกมาทำงานในกรุงเทพฯ จนถึงบัดนี้

จำได้ว่า วันนั้นเราสองคนพี่น้องนั่งฟังท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี อธิบายบทบาทและภารกิจของ LDI ในยุคต่อไปว่าท่านอยากเห็นอย่างไร พี่สงวนอยู่ในฐานะประธานสถาบันฯ และผมในฐานะเลขาธิการฯ ที่เข้ามารับช่วงงานต่อจาก อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และพี่เอนก นาคะบุตร ตามลำดับ

 

ผมไม่เคยรู้จักและไม่เคยศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับงานของ LDI มาก่อนเลย เคยมาร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายพี่เอนก นาคะบุตร, อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ, ดร.อนุชาติ พวงสำลี ฯลฯ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในช่วงการเคลื่อนไหว “ประชาคมกอบบ้านกู้เมือง” เมื่อ 3 เดือนก่อนเท่านั้น

 

ท่านอาจารย์ประเวศ บอกเราว่า :
“LDI ทำงานมากว่าสิบปีแล้วภายใต้เงินทุนสนับสนุนจาก CIDA อาจแบ่งลักษณะงานเป็น 2 ระยะ ช่วงแรก เป็นช่วงของการวิพากษ์นโยบายการพัฒนาของรัฐอย่างแหลมคม ซึ่งในยุคนั้นท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริกได้บุกเบิกงานไว้อย่างโดดเด่น ช่วงสอง เป็นการลงทำวิจัยในชุมชนหมู่บ้านเพื่อหาความรู้ หาทางออกในการแก้ปัญหาความยากจน และการสร้างความเข้มแข็งจากชุมชนท้องถิ่นที่รากฐาน…”
“บัดนี้ เรามีความรู้แล้วว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง งานช่วงต่อไปจึงต้องประสานหน่วยงานภาครัฐ และนำพาพวกเขาลงมือทำ…”
โจทย์ที่พลเดชต้องคิดคือ ทำอย่างไร 80,000 หมู่บ้านจะเข้มแข็งและหายจน…
“LDI ต้องทำงานเชิงยุทศาสตร์ ไม่ใช่แค่ทำกิจกรรมหรือโครงการในจุดเล็กๆ และภาคภูมิใจกับความสำเร็จเฉพาะส่วนอยู่อย่างนั้น ต้องคิดในภาพรวมทั้งประเทศ การตั้งเป้าหมายที่ใหญ่จำเป็นต้องขยายจิตของเราให้ใหญ่ตาม ภารกิจใหญ่ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยใครหรือองค์กรใดตามลำพัง จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจกัน การทำงานเชิงยุทศาสตร์คือการมีเป้าหมายใหญ่ที่ทุกคนใฝ่ฝันต้องการร่วมกันและสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกคนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ แก้ปัญหาอุปสรรคและทำงานจนบรรลุผล อย่าทำเองเพราะถ้าเราทำเองจะทำได้น้อย ต้องใช้ความคิดให้มากและประสานสนับสนุนให้คนอื่นๆ ทำ เขาอาจจะทำได้ไม่ดีอย่างเราในจุดเล็กๆ บางจุดแต่ในภาพรวมพวกเขาทั้งหมดจะทำได้มากกว่าและเร็วกว่า…”
“โครงการ CIDA กำลังจะจบลงใน 2 เดือนข้างหน้า ฝากให้สงวนกับพลเดชช่วยกันดูแลLDI วันนี้ถือเป็นการส่งมอบแล้วนะ ผมอายุมากแล้วจะได้หายห่วง…”
ท่านอาจารย์ประเวศกับพี่สงวนช่วยกันให้ข้อมูลแก่ผมในฐานะผู้มาใหม่ พร้อมกับการอธิบายให้แนวคิดเพิ่มเติม จนในที่สุด ผมจึงสรุปสภาพการณ์ที่ตนต้องรับผิดชอบเพื่อเช็คความเข้าใจตรงกันเป็น 3 ประเด็นว่า 1. ต่อไปนี้ LDI ต้องคิดงานใหญ่ (ทั่วประเทศ) 2. เงินทุนสนับสนุน (CIDA) จบแล้ว 3. ห้ามทำเอง เช่นนี้ใช่หรือไม่?
เราสามคนต่างหัวเราะขึ้นพร้อมกัน
การปฐมนิเทศและมอบหมายภารกิจในวันนั้น ด้านหนึ่งช่วยทำให้ผมรับรู้สถานการณ์งานชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศว่าแท้จริงยังอยู่ในขั้นบุกเบิกเท่านั้น กองทุน LDAP และโครงการที่ CIDA สนับสนุนผ่าน LDI อย่างต่อเนื่องมา 2 ระยะรวม 12 ปี ยังห่างไกลจากเป้าหมาย 80,000 หมู่บ้านหายจนที่อาจารย์ประเวศมอบหมายอีกมากนัก อีกด้านหนึ่งทำให้ผมต้องขบคิดงานอย่างจริงจังในของเขตทั้งประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต
แต่อาจเป็นเพราะว่าผมมีจริตและฉันทะที่สอดคล้องเป็นทุนอยู่เดิม ผมจึงคล้อยตามไปกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ประเวศแนะนำ และมิได้มีความกังวลต่องานที่รับผิดชอบแต่ประการใด
เมื่อทั้งสองท่านกลับไปแล้ว ผมนั่งลงที่โต๊ะทำงานตัวเดียวกันที่พี่เอนกเคยนั่ง ในลิ้นชักยังมีขวดยาหม่องขี้ผึ้งสีเหลือง 1 ขวดทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า
ในตอนนั้นพี่เอนกและอาจารย์ไพบูลย์ท่านไปนั่งทำงานที่สำนักงานกองทุนชุมชน (SIF) และสำนักงานใหญู่ธนาคารออมสินกันแล้ว แน่นอนผมเชื่อว่าท่านต้องนำทุนทางสังคมและทุนเครือข่ายชุมชนติดตัวไปสานต่อที่นั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วบนหลักการที่ว่า “จิตใหญ่ คิดใหญ่ ไม่ทำเอง” เราควรจะเล่นบทบาทอะไรดี?
ตอนนั้นผมยังคิดอะไรไม่ได้ละเอียดนัก แต่ความแจ่มชัดในทางความคิดบังเกิดขึ้นแล้วบางประการ อาทิ :
· เนื่องจากภาพลักษณ์ของเอ็นจีโอในประเทศไทยถูกสังคมและสื่อมวลชนมองทางลบ ว่าเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐ ขัดขวางการพัฒนา และชอบก่อความวุ่นวาย LDI เป็นเอ็นจีโอองค์กรหนึ่งคงไม่พ้นที่จะถูกมองทางลบจากหน่วยงานรัฐเช่นกัน ดังนั้นถึงเวลาที่ LDI ต้องปรับบุคลิกองค์กร จากผู้วิพากษ์วิจารณ์มาเป็นผู้ประสานความร่วมมือมากขึ้น
· งานชุมชนเข้มแข็งที่ต้องเร่งขยายออกไปนั้น LDI ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้อย่างแต่ก่อน โชคดีที่มี SIF มารับไม้ต่อ พี่เอนกและอาจารย์ไพบูลย์ก็ไปนั่งอยู่ที่นั้น จึงหายห่วงไประดับหนึ่ง LDI ควรบุกเบิกประเด็น “งานประชาสังคม” ซึ่งกว้างขวางและหลากหลายกว่าเดิม
· แต่เดิม LDI อาศัยแหล่งทุนต่างประเทศเป็นหลัก ปัจจุบัน CIDA จบโครงการลงแล้วและองค์กรต่างประเทศพากันลดความช่วยเหลือประเทศไทยเพราะถือว่าพ้นจากภาวะประเทศยากจนแล้ว จึงถึงเวลาที่ LDI ต้องหันหน้ากลับเข้ามาทำงานกับแหล่งทุนในประเทศ ซึ่งแหล่งทุนในประเทศที่ใหญ่ที่สุดได้แก่หน่วยงานรัฐนั้นเอง
เพื่อบรรลุภารกิจที่ใหญ่กว่าเดิม ในสภาพเงื่อนไขข้อจำกัดที่มากกว่าเดิม หากเราไม่ยอมแพ้ต่อมันหรือรอคอยเทวดามาโปรด มีทางเดียวคือการเข้าเผชิญหน้า เรียนรู้และปรับตัวเพื่อชนะอุปสรรคทั้งปวง LDI ไม่ใช่อยู่ในฐานะผู้บริหารกองทุน LDAP ที่มีงบประมาณสนับสนุนองค์กรเอ็นจีโอทำงานชุมชนเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศแบบเดิม แต่กลายมาเป็นองค์กรเอ็นจีโอเล็กๆ องค์กรหนึ่งที่ต้องเร่ขายไอเดีย ชวนหน่วยงานรัฐมาร่วมกันทำงาน พร้อมกับนำงบประมาณติดตัวมาด้วย
ผมในฐานะผู้บริหารคนใหม่ มองสถานการณ์แนวโน้มและกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไปข้างหน้าแล้ว คนในองค์กรเขาเข้าใจอย่างไรและคิดอะไรกันอยู่บ้างยังไม่รู้
การสำรวจองค์กรและทุนทางปัญญาของ LDI จึงเริ่ม ณ บัดนั้น

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (1) : “จิตใหญ่ คิดใหญ่ ไม่ทำเอง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.