ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคสังคมในการกำหนดและจัดการตนเองได้หรือที่เรียกกันว่า งานประชาสังคมนั้น เมื่อ 10 ปีก่อนมีประเด็นถกเถียงกันว่าขอบเขตพื้นที่ (Scale) แค่ไหนจึงเหมาะสม บางท่านเห็นว่าระดับตำบล บางท่านว่าไม่ควรยึดติดกับกรอบพื้นที่การปกครอง โดยเสนอว่าเป็นเครือข่ายชุมชนระดับลุ่มน้ำ หรือย่าน/บาง หรือภูมินิเวศน์-วัฒนธรรมแบบอื่นๆ
LDI ในขณะนั้นริเริ่ม “ประชาคมจังหวัด” นำไปก่อนแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นกลไกการขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการที่สำคัญสำหรับก้าวไปสู่เป้าหมาย 80,000 หมู่บ้าน-ชุมชนในขอบเขตทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันในการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการ เราคิดว่าขอบเขตพื้นที่ปฏิบัติการน่าจะมีความหลากหลาย จึงเริ่มทดลองบุกเบิกทั้งในระดับตำบล ระดับลุ่มน้ำและระดับอำเภอ เพื่อค้นหาความรู้และประสบการณ์ด้วยการลงมือทำ
จากมติของคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และท้องถิ่น (กนภ.) เมื่อ 23 มีนาคม 2541 ซึ่งเห็นชอบกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมชนบทเพื่อใช้เป็นเครื่องมือระดมความร่วมมือจากแหล่งต่างๆ ในการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 252 อำเภอนั้น
ต่อมา กนภ. ได้เห็นชอบให้ทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างตุลาคม 2541 – มิถุนายน 2542 ซึ่งมอบหมายให้ LDI เป็นผู้ดำเนินงาน
เบื้องหลังโครงการวิจัย นี้คณะกรรมการ กนภ. และ กนส. ซึ่งเป็นกลไกนโยบายการพัฒนาระดับชาติและมีสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการทั้งคู่นั้น มีคลังสมองเป็นกลุ่มคณะทำงานร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม และผู้ปฏิบัติงานของพรรครัฐบาล (ประชาธิปัตย์) ในขณะนั้น คุณอำนวย ปะติเส และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ กับภาคประชาสังคม โดยเอนก นาคะบุตร และขวัญสรวง อติโพธิ เป็นคนต้นคิดให้เลือกอำเภอวาปีปทุม (บ้านพี่อำนวย) และอำเภอพรหมพิราม (ถิ่นหมอพลเดช) เป็นพื้นที่ทดลอง
ดีไซน์การทดลองประกอบด้วยการกำหนดพื้นที่ระดับอำเภอที่แน่นอนก่อน แล้วอาศัยผู้กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (External Change Agent) เข้าไปค้นหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ (Internal Change Agent) ศึกษาและจัดทำข้อมูลพื้นที่อย่างเป็นระบบ เปิดเวทีระดมความคิดเพื่อค้นหาประเด็นสาธารณะของประชาคมท้องถิ่น จุดประกายแนวคิดการพัฒนาในมิติใหม่ที่มีชุมชนและประชาคมท้องถิ่นเป็นผู้กำหนด จากนั้นจึงเลือกพื้นที่ระดับปฏิบัติการระดับตำบลเพื่อทดลองขับเคลื่อนการวางแผนพัฒนาเชิงบูรณาการตามที่ชุมชน-ประชาคมท้องถิ่นต้องการ และสรุปสังเคราะห์บทเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทั้งหมดเพื่อการพิจารณาต่อยอดของกลไกนโยบายต่อไป
งานนี้ LDI ได้มอบหมายภารกิจให้อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ เป็นหัวหน้าทีม มียุทธดนัย สีดาหล้า และวิษณุ คงจันทร์ เป็นนักวิจัยหลักของโครงการ ตั้งสำนักงานโครงการในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร่วมทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ทีมวิจัยของเราได้ความรู้และประสบการณ์ติดตัว (Tacit Knowledge) อย่างอุดมสมบูรณ์ และสามารถนำเสนอรายงานผลการวิจัยต่อสภาพัฒน์ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ของ LDI ในระยะหลัง (หาอ่านเพิ่มเติมได้จากรายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โครงการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับตำบล จัดทำโดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

ส่วนตัวผมในฐานะที่ปรึกษาโครงการและเป็นผู้บริหารของ LDI มีบทเรียนรู้ที่อยากบันทึกไว้บางประการครับ:
1. ประชาคมเข้มแข็งด้วยการออกแบบวางแผน
เป็นความย้ำความมั่นใจจากโครงการวิจัยนำร่องประชาคมตำบล 4 ภูมิภาค ที่ LDI ร่วมกับ CAGIN ดำเนินการในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งค้นพบว่าชุมชนเข้มแข็งจากการออกแบบวางแผน(Community by Design) นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โครงการนี้เป็นการทดลองในพื้นที่กว้างขึ้นเป็นระดับอำเภอก็พบความจริงเช่นเดียวกัน
พบว่าเมื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายแล้ว การอาศัย External CA. เข้าไปดำเนินกระบวนการส่งเสริม-สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน-ประชาคมท้องถิ่น และค้นหา Internal CA. ตัวจริงให้พบเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กระแสความตื่นตัวของท้องถิ่นสามารถจุดติดและกระบวนการขับเคลื่อนเดินต่อได้ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการเรียนรู้และสร้างความเข้มแข็งนั้นต้องการกลไกและกระบวนการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
งานพัฒนาของหน่วยราชการมักไปยึดติดกับรูปแบบและกระบวนการที่มีลักษณะเป็นกลไกหรือแบบแผนที่ตายตัวจึงมักไม่สามารถค้นพบ Internal CA. ที่เป็นตัวจริงเสียงจริง ราชการมักไม่สันทัดในกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพราะถนัดแต่ Top-Down หรือ One-Way Communication จึงไม่สามารถจุดประกายความตื่นตัวและแรงบันดาลใจของชุมชนท้องถิ่นได้
2. ขนาดพื้นที่ปฏิบัติการ
ทั้งคำว่า ชุมชน และ ประชาคม ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำเดียวกันคือ “Community” ซึ่งโดยส่วนตัวผมมีหลักในการเลือกระหว่างคำทั้งสองว่า ถ้าเป็น Community ขนาดเล็กผมใช้คำว่า “ชุมชน” แต่หากเป็น Community ขนาดใหญ่ ผมเลือกที่จะใช้คำว่า “ประชาคม” แทน
ชุมชน นั้นด้วยความที่มีขนาดเล็ก จึงมักมีความเป็นกลุ่มก้อน(mass) มั่นคง(Stable) มีความเป็นเนื้อเดียวกันในองค์ประกอบ (Homogeneous) และความสัมพันธ์ภายในเป็นแบบคนใกล้ชิด (Face to Face)
ประชาคม ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า มักมีลักษณะของความเคลื่อนไหว (Movement) มากกว่าความเป็นกลุ่มก้อนที่มั่นคงถาวร (Unstable) ในองค์ประกอบมักมีความหลากหลาย (Heterogeneous) จึงทำให้ลักษณะความสัมพันธ์ภายในเป็นแบบผู้แปลกหน้า (Strangers)
หากเทียบกับวิชาการด้านฟิสิกส์ ผมอยากเปรียบเทียบว่า ชุมชน มีลักษณะของ particle มากกว่า wave ในขณะที่ประชาคม นั้นกลับกัน
สำหรับหน่วยพื้นที่ระดับปฏิบัติการสำหรับชุมชนนั้น ผมคิดว่าระดับตำบลน่าจะเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดควรที่จะใช้ แต่หากเป็นกลุ่มตำบลหลายๆตำบลมารวมกันหรือเป็นระดับอำเภอขึ้นไปนั้น ควรใช้คำว่า ประชาคมจะเหมาะสมกว่า
บทเรียนรู้ในโครงการวิจัยนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ประชาคมท้องถิ่นในระดับอำเภอนั้นมีความแตกต่างหลากหลายในองค์ประกอบมากกว่าชุมชนระดับตำบลมาก ซึ่งก็หมายความว่าขนาดพื้นที่ระดับปฏิบัติการในการส่งเสริมประชาคมท้องถิ่นนั้น หน่วยย่อยที่สุดน่าจะอยู่ที่ระดับอำเภอนั่นเอง
3. จิตสำนึกสาธารณะในท้องถิ่น
องค์ประกอบสำคัญในกระบวนการยกระดับจิตสำนึกสาธารณะของผู้คนในท้องถิ่น คือข้อมูลบริบทพื้นที่ที่แสดงถึงสภาพศักยภาพพื้นที่และปัญหา อันจะทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดสำนึกรักท้องถิ่นมากขึ้นเมื่อได้มองเห็นภาพรวมทั้งหมด ยิ่งถ้ามีการสื่อด้วยภาพมุมสูง(Bird- Eye View) หรือแผนที่-แผนภูมิ ก็จะนำชุมชน-ประชาคมท้องถิ่นไปสู่การยกระดับจิตสำนึกส่วนรวมได้ง่ายขึ้น
ความหลากหลายของผู้เข้าร่วมจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ของท้องถิ่นที่ทำให้เห็นภาพของผลประโยชน์และความเสียหายของท้องถิ่นอย่างรอบด้าน สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆยกระดับความรู้และจิตวิญญาณของท้องถิ่นขึ้น
นอกจากนั้นความสำเร็จเล็กๆ ที่ได้จากการทำกิจกรรมร่มกัน สามารถสร้างความผูกพัน สร้างกำลังใจ และความเชื่อมั่นต่อวิถีชุมชน-วิถีประชาสังคม ทั้งยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและการปฏิบัติของชาวบ้านในอันที่จะลด ละ จากการอุปถัมภ์ และพึ่งพาภายนอกได้ ซึ่งประสบการณ์จากทั้ง 2 พื้นที่ มีสิ่งบ่งชี้ความสำคัญของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
4. การสร้างเครือข่ายพหุภาคีในท้องถิ่น
การเสริมสร้างขบวนการประชาสังคมต้องการการริเริ่ม การผลักดันและการดำเนินงานโดยภาคประชาชน กับการร่วมงานแบบพหุภาคีซึ่งต้องการการเรียนรู้และร่วมจัดการระหว่างภาคีต่างๆ ซึ่งบทเรียนจากทั้ง 2 พื้นที่บ่งชี้ว่า
“ประชาคมท้องถิ่นมิอาจเกิดขึ้นได้ด้วยจิตสำนึกและการจัดการแบบราชการ”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
4 กันยายน 2552
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (11) : บุกเบิกประชาคมอำเภอ (2541-2542)"