ประสบการณ์ประชาสังคม (12 ) : รายการโทรทัศน์ “ทิศบ้าน..ทางเมือง”

          ในช่วง 3 ปีแรกที่ผมเข้ามารับผิดชอบ LDI  และได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากเรื่องชุมชนเข้มแข็งมาสู่การขับเคลื่อนเครือข่ายประชาสังคมที่ต้องการการถักทอภาคีที่หลายหลากกว่าเดิมมากนั้น พี่น้อง NGO ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าของ LDI พากันตั้งคำถามเชิงเสียดสีกันว่า LDI เปลี่ยนไป?  , LDI รับใช้สภาพัฒน์!?  , LDI เป็นพวกประชาสังคมหน่อมแน้ม!? ฯลฯ

          แต่พวกเราที่ LDI  กลับยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยความคึกคัก งานถักทอขยายเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ รุกคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว บางทีการเลือกทำงานที่คนมองไม่ออกก็ดีไปอย่าง คือมีแรงต้านทานน้อย และไร้คู่แข่ง

 

          ในเวทีสรุปบทเรียนภายหลังภารกิจกระบวนการแผน 9   พี่ๆ น้องๆ ในแวดวงผู้บุกเบิกงานประชาสังคมมาร่วมกันอย่างพร้อมหน้า อาทิ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, เอนก นาคะบุตร,ขวัญสรวง อติโพธิ, อนุชาติ พวงสำลี , พลเดช ปิ่นประทีป , ปาริชาติ สถาปิตานนท์ , เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ , วีรบูรณ์ วิสารทสกุล , คณุสสัน ศุภวัตรวรคุณ , นิศานารถ โยธาสมุทร , ทวีศักดิ์ นพเกษร และแกนประสานจากพื้นที่บางส่วน บรรยากาศเต็มไปด้วความคึกคักฮึกหาญด้วยเพราะว่าทุกคนต่างภาคภูมิใจในความสำเร็จของจังหวะก้าวที่ร่วมกันบุกเบิกมาสดๆ ร้อนๆ

          สิ่งที่เราเรียนรู้และตกผลึกได้ในตอนนั้นคือ การขับเคลื่อนสังคมที่ทรงพลังนั้น อย่างน้อยประกอบไปด้วยแนวทาง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลองค์ความรู้ เครือข่าย และการสื่อสารสาธารณะ เราเรียกมันว่า “สามเหลี่ยมขับเคลื่อนสังคม” ครับ

        

ขอย้อนกลับมาที่กองข้อมูลจากเวทีวิสัยทัศน์จังหวัด 105 เวที เมื่อ LDI ได้ทำการรวบรวมและทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และส่งมอบรายงานให้ทางสภาพัฒน์ ไปใช้ในการจัดกระบวนการแผน 9 ขั้นต่อไปแล้ว คำถามคือเราจะใช้ประโยชน์อะไรต่อไปดี 
แน่นอน LDI ย่อมเก็บรักษาความรู้ทั้งหมดเอาไว้ในฐานข้อมูลสำหรับงานวิชาการของสถาบัน แต่เรายังจะทำอะไรได้มากกว่านั้นไหม ? ในที่สุด ขวัญสรวง เป็นคนต้นคิด เสนอไอเดียว่า เอามาผลิตรายการโทรทัศน์ดีกว่า   ณ จุดนี้จึงเป็นที่มาของรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเก๋ไก๋มากในยุคนั้น ว่า   “ทิศบ้าน..ทางเมือง”
          ช่วงนั้นเป็นตอนปลายของรัฐบาลชวน (2)  คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ มี อธิบดีสุชาติ สุชาติเวชภูมิ เป็นผู้รับผิดชอบ สทท. 11 เราจึงปรึกษาคุณหญิงว่าทำอย่างไรจะได้เวลาออกอากาศและอยากได้ช่วงเวลาไพร์มไทม์ด้วย แต่คุณหญิงกลับท้วงติงและช่วยเจรจาหาทางออกให้ ทำให้ได้ช่วงเวลา 13:30 – 15:00 น.ของวันอาทิตย์ทุกสัปดาห์เป็นเวลาออกอากาศ คุณหญิงบอกว่า “พี่รู้สึกว่า วันเสาร์ วันอาทิตย์ ตอนกลางวัน หารายการทีวี ดีๆ ดูยาก เพราะมีแต่รายการเกมส์โชว์ เอาเวลาช่วงนี้แหละนะ”
          ค่าเวลาออกอากาศปกติเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น แต่งานนี้ LDI ไม่เสียสักบาท เพราะเป็นนโยบายของรัฐมนตรีสั่งมา   ส่วนค่าผลิตรายการนั้น เราต้องกัดฟันหาทุน และสปอนเซอร์เอาเอง พี่ขวัญสรวง แกเป็นศิลปินแท้ แกออกแบบรายการเป็นการออกอากาศสดจากพื้นที่ทุกครั้งเสียด้วย ค่าโสหุ้ยบานเบอะเลยครับ ผมในฐานะผู้อำนวยการโครงการต้องหาเงินแบบเลือดตาแทบกระเด็น ในที่สุดเราทำรายการได้ทั้งหมด 43 ตอน ซึ่งใช้เงินไปทั้งสินประมาณ 12 ล้านบาท
          รายการโทรทัศน์ ทิศบ้าน ..ทางเมือง เป็นรายการถ่ายทอดสดนอกสถานที่ โครงสร้างรายการประกอบด้วยการนำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่นหรือประเด็นปัญหานำขึ้นมาก่อนในรูปแบบสารคดีสั้น (Scoop) ขนาด 5-7 นาที เป็นการเกริ่นนำ ก่อนที่จะเข้าสู่รายการสนทนาเข้มข้น (hard talk) ในประเด็นปัญหาชุมชนท้องถิ่น โดยบุคลากรผู้เป็นเจ้าของเรื่องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นดังกล่าว ร่วมกับ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งใน วิชาการและวิชาชีพ พิธีกรหลักมี 2 คน คือ คุณจุฬารัตน์ เสรีเชษฐพงษ์ (บริษัทสื่อเกษตร) กับนายแพทย์ ชูชัย ศุภวงศ์ (แพทย์ชนบท) มีอาจารย์ ขวัญสรวง และ นายแพทย์ พลเดช ร่วมเป็นผู้ให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะปิดท้าย
          เพื่อฉายภาพให้เห็นว่า รายการโทรทัศน์ ทิศบ้าน..ทางเมือง มีเสน่ห์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดของเราอย่างไร จากตัวอย่างชื่อรายการบางตอนต่อไปนี้คงจะช่วยให้จิตนาการได้มากขึ้น:
          มองแม่กลอง – วิถีชีวิตเกษตรกรไทยขนานแท้ที่กำลัง จะละล้าละลัง สับสน
            ผ่อแดนน่าน   – ป่าเขา สายน้ำ ต้นกำเนิด ฐานทรัพยากรของประเทศ กับชีวิตชนเผ่าที่
กำลังสั่นคลอน
            แลปัตตานี     – แดนไทยมุสลิม ไทยพุทธ และคนไทยเชื้อสายจีน ที่อยู่ร่วมกันอย่าง
สมานฉันท์
          เบิ่งสารคาม – ดึงวิถีชีวิตคนอีสานขนานแท้ออกมาดูกันให้ชัด   การดิ้นรนต่อสู้กับ
เศรษฐกิจการทำมาหากิน
          ทุกข์ของลูกหลาน – ภาพรวมของปัญหาเกี่ยวกับเด็ก และลูกหลานไทย ท่ามกลางความ
กดดันรอบด้าน
          ลุยเลใต้ – ภาพรวมการจัดการและปัญหาทรัพยกรชายฝั่งทะเลใต้ตอนล่าง
            กทม. ..รอผู้ว่า – สังเขปภาพจริง ๆ ของกทม. ในหลายแง่หลายมุม ที่รอคอยผู้ว่าคนใหม่
            เจอ….สระแก้ว  – ท้องถิ่นสระแก้วดูห่างไกลจากการรับรู้ทางสังคม
          ที่นี่ …ปากน้ำโพ – นำเสนอเรื่องของเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการคมนาคมหลัก
และความสำคัญทางภูมิศาสตร์เศรฐกิจ
          ฯลฯ (ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้จาก www.ldinet.org และคลังวิดีทัศน์ของสถาบันฯ)
          ในแง่ผลงานและผลสะเทือน ปรากฏว่าเมื่อเราได้เริ่มรายการไปได้ 2-3 ตอนเท่านั้นแหละครับ เครือข่ายประชาคมจังหวัดทั่วประเทศของพวกเราตื่นเต้นกันมาก และกลายเป็นแฟนประจำกันหน้าจอทุกบ่ายวันอาทิตย์เลยทีเดียว เพราะเรื่องที่นำมาเสนอนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องของท้องถิ่นของพวกเขา ซึ่งผัดเปลี่ยนกันไปตามความพร้อมของข้อมูล และความน่าสนใจของประเด็นและพื้นที่ จากรายการนี้เครือข่ายประชาสังคมทั่วประเทศได้พบเครื่องมือใหม่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านรายการสื่อทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก
          อย่างไรก็ตาม งานผลิตรายการโทรทัศน์ ทิศบ้าน ..ทางเมือง   ได้ใช้แรงกายแรงใจ และเวลาการทำงานของพวกเรามากทีเดียว เพราะเราทำงานแบบมือสมัครเล่น แต่ริอ่านทำรายการในรูปแบบที่ยาก ค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่พวกเราก็คิดว่าเป็นงานและประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก
 
         รายการโทรทัศน์ของเราดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้ง ปี 2544 อันเป็นปีที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก กระทั่งได้รัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร มาบริหารประเทศ เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้วไป และดร. ปิยะสวัสดิ์ อมรนันท์ มาเป็น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แทนคนเก่า ท่านขอทบทวนเวลาการออกอากาศของเราในทันทีโดยให้ลดเวลาลงเหลือ 45 นาที เท่านั้น ระหว่างการเจรจากันนั้น ผมเองเห็นใจเขาอยู่มาก เพราะเราได้เวลาฟรีๆ มาหนึ่งปีแล้ว  เมื่อเขาเป็นอธิบดีคนใหม่ที่มุ่งหวังผลงานจึงต้องทบทวนผังรายการทั้งระบบ  เมื่อเห็นว่าคงถูกบีบให้ลดเวลาแน่แล้ว เราจึงตัดสินใจยุติรายการชั่วคราวมาตั้งแต่นั้น
          ภายหลังการเจรจาครั้งนั้น ผมสารภาพกับอาจารย์ ขวัญสรวง ว่า สายป่านเราหมดพอดีจึงบอกกับท่านตามตรงว่า เหนื่อยเจียนจะขาดใจแล้ว
 
          เราสองคนสรุปตรงกันว่าท่านอธิบดีมาช่วยชะลอรถไฟให้ช้าลง เราจึงถือโอกาสกระโดดลงจากรถไฟเสียที  ขอบคุณนะครับ
 
          สำหรับบทเรียนรู้สำคัญที่ LDI ได้จากการขับเคลื่อนรายการโทรทัศน์ครั้งนั้น ผมขอประมวลไว้สั้นๆ เป็นเบื้องต้นแค่นี้ก่อนนะครับ
 
1.   สื่อโทรทัศน์มีพลังในการสร้างการรับรู้ เรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายได้มากกว่าที่เราคิด ภาคประชาสังคมควรรู้จักที่จะใช้เป็นเครื่องมือ
2.   ข้อมูลและองค์ความรู้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตรายการโทรทัศน์ แต่เท่านั้นไม่พอ   รูปแบบการนำเสนอแนวความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะการผลิตรายการก็มีความสำคัญมากและบางครั้งมากกว่าเนื้อหาเสียอีกสำหรับโลกมายา
3.   สำหรับมือสมัครเล่นที่มีหัวใจเกินร้อยแบบพวกเรานั้น การได้มาซึ่ง air time  หรือเวลาในการออกอากาศที่ไม่มีมูลค่าทางการตลาดมากนัก ถือเป็นโอกาสในการฝึกฝนวิทยายุทธ์ และสามารถแจ้งเกิดได้เช่นกัน  หากรู้จักพลิกแพลงในการสร้างกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแฟนพันธุ์แท้
4.   กิจกรรม โครงการ และความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน นอกจากบันทึกเหตุการณ์ ข้อมูล ความรู้ลงในรูปแบบของหนังสือ สิ่งพิมพ์แล้ว การผลิตเป็นรายการโทรทัศน์หรือ VTR นับเป็นการต่อยอดที่ทรงคุณค่า
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
5 กันยายน 2552

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (12 ) : รายการโทรทัศน์ “ทิศบ้าน..ทางเมือง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.