ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คงเป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ขบวนการปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย แนวคิด โครงสร้างและกลไกระบบสุขภาพของประเทศได้ สำเร็จอย่างงดงามในขั้นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับขบวนปฎิรูประบบการศึกษา
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ขบวนการปฎิรูปทั้ง 2 มีผลแตกต่างกัน เป็นคำถามที่น่าสนใจมากกซึ่งผมหวังว่าจะมีนักวิจัย มาทำการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อเป็นองค์ความรู้ และภูมิปัญญาของสังคมไทยในอนาคต
ในฐานะที่ LDI และตัวผมเองได้รับมอบหมายให้เข้าไปร่วมก่อขบวนปฎิรูประบบสุขภาพฯ จะขอบันทึกประสบการณ์และการเรียนรู้ในบางมุมมอง
ช่วงปลายรัฐบาลชวน (2 ) นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) และออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้ง สำนักงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ขึ้นโดยให้เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจในสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และให้มีภารกิจที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการยกร่าง พรบ. สุขภาพแห่งชาติ และการนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อออกกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี โดยต้องยุบตัวลงภายในระยะเวลาที่กำหนด
คปรส. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งและมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขร่วมเป็นกรรมการ ส่วนผู้อำนวยการ สปรส. คือ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ซึ่งทั้งกรรมการและผู้บริหารต่างคุณภาพคับแก้วด้วยกันทั้งนั้น
คุณหมออำพล เป็นอดีตนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ศิริราช ก่อนผม 2 ปี เราทำงานใกล้ชิดกันตั้งแต่ตอนที่ผมเป็น อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และพี่อำพลเป็นรองนายแพทย์สาธารสุขจังหวัด ที่ดูแลพวกเราที่จังหวัดพิษณุโลก ช่วงปี 2530
ขบวนการปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ เป็นความเคลื่อนไหวที่นำทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบ

ในโครงสร้างองค์กรเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของ สปรส. ได้ถูกออกแบบบนฐานคิดเชิงทฤษฎีดังกล่าวโดยให้มี 4 อนุกรรมการ และวางตัวบุคคลอย่างถูกฝาถูกตัวมาก กล่าวคือ
คณะอนุกรรมการสร้างความรู้ – มีอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช เป็นประธาน
นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็น เลขานุการ
คณะอนุกรรมการการเคลื่อนไหวสังคม – มีอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นประธาน
นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขานุการ
คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย – มีอาจารย์หมอไพโรจน์ นิงสานนท์ เป็นประธาน
นพ. อำพล จินดาวัฒนะ เป็นเลขานุการ
คณะอนุกรรมการด้านสื่อ – มีคุณโสภณ สุภาพงษ์ เป็นประธาน
นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ เป็น เลขานุการ
ในขณะเดียวกันพี่อำพล ขอให้ผมไปนั่งในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ สปรส. อีกตำแหน่งหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนภาคสังคมอย่างเต็มตัว จึงสามารถพูดได้ว่างานนี้ LDI ได้มีบทบาทและสถานภาพเข้าร่วมก่อตัว พรบ. ปฎิรูประบบสุขภาพในจังหวะที่สำคัญ
ในงานสร้างองค์ความรู้ พี่สุวิทย์ เพียงทำการประมวลรวบรวมจากงานวิจัย เชิงระบบ ที่สวรส. ได้ดำเนินการมาล่วงหน้าถึง 8 ปี เพื่อนำมาสู่การหนุนเสริมอ้างอิง(BACK UP) ของกระบวนการยกร่างกฏหมาย ของคณะอนุกรรมการชุด ที่พี่อำพล ดูแลเท่านั้น
ส่วนผมกับพี่ชูชัย จะต้องออกแบบ วางแผน และลงมือขับเคลื่อนเวทีเครือข่ายภาคประชาชน และการสื่อสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดเป็นกระแสสังคมที่ใหญ่ และมีกำลังแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้
คณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนสังคม ตกลงใจที่จะใช้วิธีการถักทอเครือข่ายประชาคมสุขภาพ ขึ้นในทุกจังหวัดตามข้อเสนอของผม เพื่อเป็นทุนในการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ และหนุนการขับเคลื่อนระดับชาติ ตลอดจนถึงการสื่อสารมวลชนในส่วนกลาง และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สูตรของเราคือการผนึกกำลังระหว่าง ประชาคมจังหวัดของ LDI กับประชาคมสาธารณสุข ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
ประชาคมจังหวัด + ประชาคมสาธารณสุข = ประชาคมสุขภาพ
ประชาคมสุขภาพ จึงได้กลายเป็นโครงข่ายให้สปรส.ได้ใช้ในการขับเคลื่อนงานปฎิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ครับ
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งในช่วงจังหวะนั้นที่ควรบันทึกไว้
ผมในฐานะผู้ช่วยผอ.สปรส. และเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสังคม ตั้งใจมุ่งมั่นมากว่า จะใช้สถานภาพของ สปรส.ไปสร้างความมั่นคงและแข็งแรงของ หน่วยประสานงานประชาคมสุขภาพ ในระดับจังหวัดทั่วประเทศไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมพิจารณาร่าง พรบ. สุขภาพแห่งชาติ แต่โดนพี่อำพลเบรคจนหัวคะมำ!
ในเรื่องนี้เรามีแนวคิดและแนวทางที่ต่างกัน พี่อำพลเห็นว่าการทำอย่างนี้จะเป็นการสร้างกลไกที่ แข็งกระด้างตายตัว ( Rigid )และจะเป็นปัญหาในอนาคต เห็นว่าเป็นภาระผูกพันงบประมาณ ( burden)และเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น เพราะงานและกลไกเท่าที่ทำอยู่ก็สามารถขับเคลื่อนได้การปฏิรูประบบสุขภาพตามภารกิจ สปรส.ได้แล้ว (non-necessary) แต่ผมกลับมองว่าหน่วยประสานงาน (Node) ดังกล่าวเป็นกลไกที่สามารถออกแบบและดำเนินการอย่างยืดหยุ่นได้ เป็นการลงทุนสร้างและขยายฐาน ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องสร้างหลักประกันให้กับการขับเคลื่อนอย่างเป็นขบวนการในระยะยาว
เมื่อไม่สามารถตกลงขอบเขตความรับผิดชอบ และความเป็นอิสระในการพลิกแพลงสร้างสรรค์วิธีการทำงานระหว่างกันได้ ในที่สุดเราสองคนพี่น้อง จึงตกลงทางออกร่วมกันคือ ผมจะไม่ทำให้พี่อำพลบริหารงานสปรส.ด้วยความลำบากใจ จึงสละบทบาทที่ สปรส.ครับ ทั้งในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ และฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสังคม แต่ผมให้ความมั่นใจและสบายใจได้ว่าจะยังคอยสนับสนุนอยู่ในวงนอก และในระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิดเช่นเดิม
อีกไม่กี่วันต่อมาหนังสือให้ยืมตัวหมอพลเดชจาก สปรส. ถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ไปช่วยงานนพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จึงเกิดขึ้น
ด้วยประการฉะนั้น.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
6 กันยายน 2552
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (13): ก่อตัวประชาคมสุขภาพ (2543-2544)"