ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี “ใช้ชนบทล้อมเมือง แล้วยึดเมืองในที่สุด” ที่เหมาเจ๋อตงใช้ในการปฏิวัติจีนนั้น เป็นเพราะวิเคราะห์ว่าชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล คือจุดอ่อนช่องว่างที่อำนาจรัฐควบคุมได้ไม่ทั่วถึง จึงเหมาะสำหรับกองทัพประชาชนที่กำลังยังอ่อนจะสามารถ “ซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมกำลัง และรอคอยโอกาส”ได้
งานสร้างความเข้มแข็งของภาคสังคมก็เช่นกัน สังคมไทยถูกทำให้อ่อนแออย่างมาก รวดเร็วและกว้างขวางจนกระทั่งวิกฤตแล้ว การฟื้นฟูและพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งในขณะที่กระแสโลกาภิวัฒน์และลัทธิบริโภคนิยมยังรุนแรงเหมือนทะเลคลั่งแบบทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้สติปัญญาและมียุทธศาสตร์ยุทธวิธีเช่นกัน
ข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม เลือกที่จะบุกเบิกขยายพื้นที่ “งานเย็น” อันได้แก่ งานส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น การรวมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง-ช่วยเหลือกันเอง การฟื้นฟู-เยียวยาผู้รับผลกระทบ การจัดสวัสดิการชุมชน การทำเกษตรผสมผสาน ฯลฯ เพื่อสะสมความเข้มแข็งของกลุ่ม องค์กร เครือข่าย อย่างอดทน เพราะงานลักษณะนี้ต้องใช้ระยะเวลาและมีแรงต่อต้านน้อย มีภาคีพันธมิตรเข้าร่วมทำงาน ร่วมเรียนรู้กันได้กว้างขวาง
กรณีบางจาก เมื่อสิบปีมาแล้ว น่าจะถือเป็นงานแรกที่ข่ายงานประชาสังคมเข้าจับประเด็น “งานร้อน” ทำให้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้นว่าเมื่อต้องขับเคลื่อนงานแบบนี้ควรทำอย่างไร ซึ่งนับว่าเป็นบทเรียนรู้และพัฒนาการที่มีคุณค่ามากสำหรับงานและบทบาทของ LDI ต่อสถานการณ์บ้านเมืองในระยะต่อมา
บริษัทบางจากการปิโตรเลียมถือเป็นวิสาหกิจของรัฐองค์กรหนึ่ง ที่ทำธุรกิจด้านน้ำมัน รับช่วงดูแลกิจการโรงกลั่นน้ำมันมาจากสามทหาร และไทยออยล์ บางจากมีปั้มน้ำมันบางจากทั่วประเทศ และมีกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย คุณโสภณ สุภาพงษ์ คือผู้บริหารบางจากที่ได้รับมอบภารกิจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้เข้าไปกอบกู้กิจการองค์การสามทหารและบริษัทไทยออยล์ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งท่านสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับบางจากแบบพลิกโฉม ใบไม้สีเขียวของบางจากกลายเป็นสัญญลักษณ์อันโดดเด่นซึ่งสังคมไทยจดจำ ร้านค้าเลมอนฟาร์ม เปิดบริการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เน้นเกษตรสุขภาพ โดยผุดขึ้นคู่กับปั้มน้ำมันบางจากอย่างมียุทธศาสตร์
บางจากเป็นกิจการที่มีผลการดำเนินงานในระดับที่ค่อนข้างดีมาโดยตลอด มียอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันก็ทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสังคมตามแนวคิดของคุณโสภณ มาสะดุดเอาในปี 2540 โดยแม้จะมีกำไรจากการประกอบการแต่เจออัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวกระทันหันทำให้ขาดทุนทันที 6,788 ล้านบาท ความข้ดแย้งระหว่างอำนาจรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กับผู้บริหารระดับมืออาชีพที่มีหัวใจเพื่อสังคมจึงเกิดขึ้น ในช่วงปลายรัฐบาลชวน (2)
สพช. ตัวแทนอำนาจรัฐ โดย ดร.ปิยะสวัสดิ์ อมระนันท์ เลขาธิการ ต้องการให้ขายหุ้นบางจากให้ต่างชาติ เพราะได้ราคาและจะเป็นประโยชน์ต่อบางจากมากกว่า แต่คุณโสภณต่อสู้เพื่อให้บริษัทบางจากยังเป็นของคนไทย 100% ยืนยันที่จะให้ขายหุ้นแก่ประชาชนคนไทย แต่สุดท้ายต้านทานไม่ได้จึงประกาศลาออกพร้อมกับทิ้งวาทะเด็ด “ผมขอโทษแทนประชาชนคนไทย ที่ไม่สามารถผลักดันให้คนไทยเป็นเจ้าของหุ้นบางจากได้”
การเคลื่อนไหวสาธารณะจึงเริ่มต้นจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่พบปะกันเป็นประจำทุกเดือนในเวทีประชาคมแผน 8 ได้หารือกันนอกวงว่าจะต้องหาทางรักษาบางจากเอาไว้เป็นสมบัติของสังคม เพราะหากปล่อยให้อยู่ในมือ ปตท. และรัฐบาลแล้วจะไม่พ้นการขายให้ทุนต่างชาติ ว่าแล้วกลุ่มผู้ใหญ่กับพวกเราที่ LDI จึงก่อตัวกันขึ้นเป็น “เครือข่ายพลเมืองไท” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมในระดับชาติจากหลากหลายวงการและวิชาชีพ ประมาณ 200 คน เข้าร่วมประกาศจุดยืน อาทิ : นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว, นพ.ประเวศ วะสี, นพ.เฉก ธนะสิริ, ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, พระพยอม กัลยาโณ, พระไพศาล วิสาโล, อาจารย์ระพี สาคริก, อาจารย์ชัยอนันท์ สมุทรวาณิช, ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์, อาจารย์ศรีสร่าง พั่ววงศ์แพทย์ ฯลฯ
การประชุมนัดแรกจัดขึ้นที่สำนักปฏิบัติธรรมของท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ในบริเวณสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป้าหมายคือคัดค้านการฮุบบางจาก โดยกดดันไปที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังให้มีการทบทวนนโยบาย เราใช้วิธีการเคลื่อนไหวเชิงปัญญาและวัฒนธรรมโดยมุ่งสร้างความเข้าใจมองสังคมต่อระบบพลังงานของชาติ และบทบาทของบางจากที่เป็นตัวแสดงสำคัญอยู่ในนั้น ชี้ให้สาธารณะเห็นว่าประเทศชาติและประชาชนไทยกำลังอยู่ในชะตากรรมอย่างใดในอุ้งมือ IMF และทุนต่างชาติ พูดง่าย ๆ ก็คือพยายามทุกวิถีทางให้เรื่องฮุบบางจากเป็นประเด็นสาธารณะ ที่คนไทยต้องเข้ามาร่วมปกป้อง ชุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวสาธารณะอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นโดย LDI และบางจากผนึกกำลังกัน ฝ่ายแรกมีเครือข่าย ฝ่ายหลังมีข้อมูลความรู้
พอขบวนเริ่มขับเคลื่อน พลตรีจำลอง ศรีเมืองก็ออกตัว “กลุ่มคนกู้เมือง” มาร่วมเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับคุณณรงค์ โชควัฒนา ได้ตั้งกลุ่ม “คนรักบางจาก” มาสมทบในที่สุดรัฐบาลและ ปตท. ต้องยอมล่าถอยไป
วันนี้ พ.ศ.2552 บางจากยังอยู่ แต่ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้วและกำลังเป็นประเด็นที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) เรียกร้องกดดันให้รัฐบาลซื้อคืน เพราะรับไม่ไหวกับการที่ต้องซื้อน้ำมันและก๊าซราคาแพง ในขณะที่ ปตท. มีกำไรนับแสนล้านและผลประโยชน์ตกอยู่กับคนกลุ่มเป้าหมายผู้ถือหุ้น
เรามีบทเรียนรู้อะไรบ้างในครั้งนั้น
1. งานร้อนกับการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่
งานภาคประชาสังคมหรือการเมืองภาคพลเมืองนั้น โดยธรรมชาติย่อมมีทั้งงานเย็นและงานร้อนเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยและเงื่อนไขสถานการณ์ต่าง ๆ ข่ายงานภาคประชาสังคมอาจมีจุดเน้นหรือลำดับความสำคัญก่อนหลัง แต่จะหลีกเลี่ยงงานร้อนตลอดไปย่อมไม่ได้ ดังนั้นข่ายงานจึงต้องมีความพร้อมตลอดเวลาที่จะเผชิญหน้าและจัดการปัญหาได้ทุกรูปแบบไม่ว่าร้อนหรือเย็น
กรณีบางจากทำให้เรามีความมั่นใจขึ้นไปอีกระดับหนึ่งว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ (New Social Movement) นั้นแตกต่างจากรูปแบบการเคลื่อนไหวมวลชน (Mass Movement) และเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่มีพลังงานในการเปลี่ยนแปลงได้จริง งานนี้มิได้มีการชุมนุมเรียกร้อง (Mob) เลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่มีการวิงวอนร้อนขอหรือเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจใด ๆ แต่ใช้วิธีการสื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งบทความหนังสือพิมพ์ การสัมภาษณ์วิทยุ โทรทัศน์ การจัดเวทีสัมมนาวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูลผ่านเอกสารเล่มเล็ก การเคลื่อนไหวสร้างกิจกรรมทางสังคม-วัฒนธรรมเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การออกแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก การประกาศจุดยืนและทรรศนะของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่มีทุนทางสังคม ฯลฯ
2. พลังจากข้อมูลและองค์ความรู้
ประเด็นปัญหาพลังงาน และกรณีบางจากในวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก การร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นนี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้พวกเราเข้าใจภาพรวมระบบพลังงานและสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ของเครือข่ายได้การมีข้อมูลที่ลึกและความสามารถในการสื่อสารอธิบายของทีมงานบางจากโดยเฉพาะคุณโสภณ สุภาพงษ์ ซึ่งเป็นผู้นำองค์กร เมื่อผนวกกับทักษะการย่อยเนื้อหาสาระและเทคนิคการนำเสนอของกลุ่มนักเคลื่อนไหวสังคมของ LDI และ Civic Net ช่วยทำให้เครือข่ายสามารถยกระดับความเข้าใจของสาธารณะ และสื่อมวลชนได้โดยไม่ลำบาก
หากเปรียบเทียบกับกลุ่มเอ็นจีโอทั่วไปที่ถนัดในการเคลื่อนไหวมวลชนจะพบว่ามักขาดในจุดเหล่านี้ จึงไม่สามารถทำให้ประเด็นของกลุ่ม-เครือข่ายพัฒนาขึ้นเป็นประเด็นของสาธารณชนได้
3. ความสำเร็จเล็ก ๆ คือการสะสมทุนประสบการณ์และความเชื่อมั่นที่
รวมความแล้ว การเคลื่อนไหวเครือข่ายพลเมืองไท ในการต่อต้านการฮุบบางจากคราวนั้น ใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 เดือน ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับทิศทางนโยบายของรัฐบาลและองค์กรระดับชาติได้ คุณค่าที่มองไม่เห็นแต่มีความสำคัญมากคือ ความเชื่อมั่นตนเองของภาคพลเมือง ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการปฏิบัติ ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ
การประสานพลังกันของเครือข่ายทั้ง 3 ขบวน ได้ทำการสำรวจและเชิญชวนพี่น้องคนไทยทั่วประเทศว่าใครพร้อมจะซื้อหุ้นบางจากบ้าง ปรากฎว่ามีคนแสดงความจำนงถึง 230,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลต้องการขายถึง 3 เท่าครับ
อาจารย์ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ ย้ำกับพวกเราหลายครั้งให้เก็บรักษาฐานข้อมูลบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมเครือข่ายพลเมืองไท และข้อคิดเห็นของท่านในครั้งนั้นไว้ให้ดี
4. ประกายความคิดพรรคกรีนสยาม
ระหว่างการเคลื่อนไหวต้านการฮุบบางจาก คนกลุ่มหนึ่งในเครือข่ายการเคลื่อนไหวของเรา เริ่มเปิดประเด็นการพัฒนาจากเครือข่ายพลเมืองไทไปสู่การสร้างสถาบันการเมืองมิติใหม่ แนวคิดที่ได้รับความสนใจพอสมควรในขณะนั้นคือตัวอย่างความสำเร็จของพรรคกรีนในประเทศเยอรมัน อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กับ อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ และกลุ่มนักเรียนเก่า ซึ่งอยู่เยอรมันร่วมสิบปี กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่มีชีวิต กระแสตอบรับจากพี่น้องเอ็นจีโอระดับอาวุโสหลายคนเป็นไปอย่างคึกคัก ถึงขั้นที่มีบางคนคิดจะตั้งชื่อว่า “พรรคกรีนสยาม” เสียด้วยซ้ำ
สำหรับตัวผมเองยังไม่ตกผลึกในเรื่องนี้ ผมยังคิดว่าการเมืองภาคพลเมืองนั้นต้องการความเป็นสถาบันเชิงเครือข่ายที่มีความยืดหยุ่นตัวสูงและมีความเป็นอิสระ มากกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรเชิงเดี่ยวแบบพรรคการเมือง จึงไม่ได้สานต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
14 กันยายน 2552
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (14) :ต้านฮุบบางจาก (2542)"