ความเป็นชุมชนและประชาคมที่เข้มแข็ง (Community) นั้น หัวใจอยู่ที่การติดต่อสื่อสารระหว่างกัน (Communication)
การประชุมเป็นเนื่องนิจ ตามหลักอปริหานิยธรรม คือรูปแบบหนึ่งของการติดต่อสื่อสารแบบพบปะหน้าตา (on eye) ซึ่งเป็นวิธีการของสังคมมนุษย์ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ และยังคงใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ที่สะดวกสบายมาก ทั้งในรูปแบบสื่อสารทางไกลที่ใช้สาย (on line) และใช้คลื่นความถี่ (on air)
เวทีประชาคมแผน 8 ของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ประชุมกันทุกเดือน 3 ปี โดยใช้สภาพัฒน์เป็นสถานที่ประจำ ห้องประชุมที่นั่นมีความจำกัดมากเพราะจุได้ไม่เกิน 30 คน การประชุมจึงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิระดับชาติเท่านั้น ในขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวนี้ได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น มีองค์กรหน่วยงานแสดงความจำนงเป็นเจ้าภาพร่วมเป็นคิวยาวทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด จึงถึงเวลาที่ต้องปรับรูปแบบการประชุมให้เหมาะสม
ตั้งแต่ปี 2544 เราเริ่มสัญจรออกนอกสภาพัฒน์พร้อมกับขยายองค์ประกอบของผู้ร่วมประชุมออกไปและเปลี่ยนชื่อเวทีเสียใหม่เป็น “ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย” ซึ่งยังคงมีอาจารย์หมอประเวศ วะสี ทำหน้าที่เป็นประธานหลักของที่ประชุมหลักเช่นเดิม มีอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และคุณโสภณ สุภาพงษ์เป็นประธานเสริม
เมื่อสถานที่ประชุมมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงสามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้มากขึ้น ประมาณ 100-150 คนในแต่ละเดือน เจ้าภาพซึ่งเอื้อเฟื้อสถานที่ประชุมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารว่างและอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ไปด้วย ทำให้กองเลขานุการไม่ต้องเป็นภาระในการหาทุนสนับสนุน หน่วยงานที่ร่วมรับเป็นเจ้าภาพโดยหมุนเวียนกันไปเป็นวงรอบ ได้แก่ สำนักงานวุฒิสภา สำนักงานใหญ่ ธกส. บริษัทบางจากการปิโตรเลียม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน กกต. มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บริษัท DTAC และ วัดพระศรีอาริยะ (ราชบุรี)
ในปี 2545 ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทยมีพัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อมีการตั้งกองเลขานุการร่วมและมีการลงขันงบประมาณดำเนินการเพื่อให้เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชารัฐที่ก่อตัวขึ้นแล้วในทุกจังหวัดได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง เวทีในทุกเดือนจึงมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก คราวละประมาณ 250-300 คน นับเป็นการเคลื่อนไหวของเครือข่ายที่มีจังหวะสม่ำเสมอ มีเนื้อหาสาระที่สามารถจุดประกายสังคมอย่างทรงพลังมากขึ้น และเครือข่ายที่เดินทางมาจากทั่วประเทศต่างนำเอาเนื้อหาสาระจากการประชุมไปขยายผลในการขับเคลื่อนงานและความคิดในพื้นที่โดยทันที นับเป็นการถักทอและกระชับความคิดความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและเป็นธรรมชาติมาก
เวลานั้น เราได้เงินลงขันกองกลางมาจาก สภาพัฒน์, สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, DATC, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
เมื่อพี่น้องเครือข่ายเดินทางมาจากต่างจังหวัดทั้งที่ การประชุมครึ่งวันเดิมน้อยเกินไปจึงถูกขยายเป็นวัน เต็มเพื่อความจุใจ ทั้งในด้านสาระนำเข้าจากนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นพูดคุยในแต่ละคราว และกระบวนการกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดในการประยุกต์และขยายผลในระดับชุมชนท้องถิ่น
ประเด็นที่เป็นหัวข้อหลักในการประชุมมีหลากหลายมาก อาทิ : การเพิ่มประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสารระหว่างเครือข่าย, วิสาหกิจชุมชน กลไกสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน, ระบบสวัสดิการชุมชน มองผ่านการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า, การท่องเที่ยวกับการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ กรณีแม่กำปอง การท่องเที่ยวทางทะเลจังหวัดตรัง, ชุมชนท้องถิ่นกับการแก้ปัญหาความยากจน, ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน หนุนเสริมยุทธศาสตร์ชาติ, กรณีศึกษาระบบสวัสดิการชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช , เครือข่ายพัฒนาอาชีพชุมชนกุดชุม, การสร้างยุทธศาสตร์กู้วิกฤติชาติ, การสื่อสารเพื่อสร้างสุขภาวะสังคม, ยุทธศาสตร์ชาติด้านอาหาร, การวิจัยเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับไปมองจากจุดที่เดินทางมาเกือบ 10 ปี หลังจากนั้น ผมมีบทเรียนรู้และประสบการณ์ที่ขอบันทึกไว้ดังนี้
1. การสื่อสารภายใน
ในช่วงที่เราเคลื่อนไหวเวทีประชาคมแผน 8 และที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทยนั้น เราเน้นการสื่อสารภายในเครือข่ายเป็นหลัก เราไม่ได้ใส่ใจการสื่อสารต่อสาธารณะหรือการให้ข่าวแก่สื่อมวลชนสักเท่าใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราปิดกั้นใด ๆ ที่เราเน้นการสื่อสารภายในก่อนเพราะต้องการเร่งสร้างความเข้มแข็งในเครือข่ายและไม่อยากให้ตกเป็นเป้าสายตาของสื่อมวลชนหรือใครต่อใครเร็วเกินไป รอจนกว่าเครือข่ายจะเข้มแข็งมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยเปิดตัว ทำแบบนี้แล้วได้ผลดีครับ เราเห็นตัวอย่างมามาก ประเภทที่ก่อตัวไม่ทันไรก็รีบออกข่าวให้คนภายนอกตื่นเต้นและเข้าใจว่าเป็นกลุ่มที่แข็งแรง อยากข่มขวัญคู่ต่อสู้ โดยหารู้ไม่ว่านั่นเท่ากับเป็นการหลอกตัวเองไปพร้อมกัน
การเน้นสื่อสารภายในมากกว่าภายนอกถือเป็นหลักยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีอย่างหนึ่งที่เราใช้
2. การจัดการเครือข่าย
เครือข่ายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เวทีที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทยเป็นกิจกรรมเครือข่ายที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ทั้งกลุ่มผู้ประสานงานเครือข่ายระดับจังหวัดกับผู้ทรงคุณวุฒิส่วนกลาง และระหว่างผู้นำเครือข่ายจังหวัดต่อจังหวัดกันเอง แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ผิดไปจากเครือข่ายแอมเวย์เพราะนั่นมีธุรกิจและรายได้เป็นเครื่องจูงใจ พวกเรามีเพียงประโยชน์สาธารณะและอุดมคติ-อุดมการณ์ เป็นแรงจูงใจและจุดมุ่งหมายร่วม
นับว่าโชคดีที่ LDI ได้มีโอกาสฝึกฝนการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างต่อเนื่องจากงานนี้ เพราะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ต้องบริหารจัดการระบบทั้งหมดทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ด้านงานธุรการ และการขับเคลื่อนเวทีและต้องดำเนินการแข่งกับเวลาในทุกวงรอบของการประชุมทุกเดือน และต่อเนื่องเป็นแรมปี จนบัดนี้ได้กลายเป็นความเชี่ยวชาญอย่างหนึ่งขององค์กรไปแล้ว
3. ระบบทุนสนับสนุน
จะศึกษาอะไรในเชิงระบบนั้น อาจารย์หมอประเวศเคยแนะนำให้เราดูที่ระบบทุนสนับสนุน (Financial System) เพราะจะทำให้เข้าใจอย่างเชื่อมโยงทั่วถึงกันได้ง่ายเหมือนระบบหลอดเลือด เวทีเครือข่ายภาคประชาสังคมในระยะแรกเป็นวงที่แคบเฉพาะกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในกรุงเทพฯเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีทุนสนับสนุนอะไรมาก ทุกคนต่างรับผิดชอบตัวเองได้ เจ้าภาพรับภาระเลี้ยงดูแขกไป แบบนี้เป็นเรื่องตามประเพณีไทยอยู่แล้ว
แต่ครั้นเมื่อเราต้องการที่จะให้โอกาสเครือข่ายจากต่างจังหวัดเข้ามาร่วม ก็จำเป็นที่จะต้องหาทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะนี่คือการลงทุน จะมองเป็นภาระไม่ได้
หลายองค์กรคิดเรื่องนี้ไม่ทะลุ บางองค์กรคิดทะลุแต่ไม่มีปัญญาหาทุนสนับสนุน ส่วน LDI กลับโชคดีที่มีองค์กรภาคีพร้อมใจร่วมลงขัน
4. การชาร์จแบตเตอรี่
เราเรียนรู้จากประสบการณ์ความเคลื่อนไหวที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทยอย่างหนึ่งว่า ในการมาพบปะกันอย่างมีการนัดหมายเป็นประจำ นอกจากจะได้สาระจากการประชุมที่ถูกจัดเตรียมไว้แล้ว สมาชิกทุกคนต่างมาตักตวงเอาทุนสาธารณะกลับไปขยายผลตามที่ตนสนใจ การมาพบปะกันจึงได้มากกว่าการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสานสัมพันธ์นอกห้องประชุมเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ การมาสัมผัสความคิดและตัวตนจริงกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เคารพนับถือ ฯลฯ ล้วนเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิผลที่สุดสำหรับคนทำงานและอาสาสมัครพลเมืองจากทั่วประเทศด้วย
5. บ่มเพาะขบวนการทางสังคม
ที่ประชุมข่ายประชาสังคมซึ่งพบปะกันอย่างเนื่องนิจ เป็นภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้ผุดบังเกิดไอเดียและขบวนการทางสังคมใหม่ ๆ ได้เสมอ เพราะเมื่อคนผู้เป็นนักคิดนักประสานงานมาพบปะระดมความคิดกัน จึงพบสิ่งที่สนใจร่วมกันและมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อปรึกษาหารือกันลึกลงไปมากขึ้น การก่อตัวกันไปทำงานจึงเกิดขึ้นตามความสนใจ อย่างเช่นเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เป็นต้น
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
14 กันยายน 2552
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (15) : ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย (2544-2545)"