หลังชนะการเลือกตั้งสองสัปดาห์ หมอมิ้ง (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) นัดหมายคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับผมไปพบปะพูดคุยกันที่อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต ระหว่างนั้นพรรคไทยรักไทยพร้อมจัดตั้งรัฐบาลและเตรียมนโยบายการบริหารประเทศแล้ว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร ฯลฯ คือนโยบายหัวหอกที่ทำให้พวกเขาชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องรีบดำเนินการให้เป้นรูปธรรมโดยเร็ว
เราคุยกันสักครู่ อ้วน (คุณภูมิธรรม เวชชยชัย) เดินเข้ามาทักทายด้วยอารมณ์เบิกบานแจ่มใส ผมเพิ่งรู้จักอ้วนเป็นครั้งแรก ส่วนพี่สงวนคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้วเพราะในยุคก่อตั้งกองทุน LDAP และ LDI รวมทั้งมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม พวกเขาได้ร่วมบุกเบิกงานมาด้วยกัน
“ตกลงว่าเลี๊ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เป็น รมต. สาธารณสุขดูแลนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนผมอยู่สำนักนายกดูแลนโยบายกองทุนหมู่บ้าน พี่มาทำงานช่วยกันนะ เราได้อำนาจรัฐแล้ว จะทำอะไรก็ทำ” หมอมิ้งสำทับกับเราสองคน
เมื่อแยกจากมิ้งแล้ว ผมกับพี่สงวนตกลงกันว่า พี่สงวนจะประกบเลี๊ยบ ส่วนผมจะช่วยมิ้ง
เดือนพฤษภาคม มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ให้รองนายกฯ สุวิทย์ คุณกิติเป็นประธาน หมอพรหมมินทร์ในฐานะเลขาธิการนายกฯ เป็นเลขานุการ และมีพวกเราที่ทำงานชุมชนท้องถิ่นเข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เท่าที่จำได้มี 6 คน คือ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, เอนก นาคะบุตร, พลเดช ปิ่นประทีป, พภ.สุบิน ปณีโต, อำพร ด้วงปาน และมุกดา อินต๊ะสาร
วันหนึ่งมิ้งโทรศัพท์ไปหาผมขณะพักร้อนกับครอบครัวอยู่ที่พังงา ขอให้มาช่วยที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ด้วย เพราะเขาต้องรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการสำนักงาน ในขณะที่งานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหนักมาก–“พี่หนุ่ยต้องมาช่วยผมเต็มตัวนะ ผมจะปล่อยให้เงิน 80,000 ล้านเหลวไหลไม่ได้!”
ในที่สุดผมต้องรับปากไปช่วยงานที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ในสองฐานะคือหนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอีกหนึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ สทบ. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผมพาตัวเข้าไปในแวดวงการเมือง ผมต้องเรียนรู้การวางตัวและวิธีการทำงานในสภาวะแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง จะทำอย่างไรจึงรักษาความเป็นนักวิชาการอิสระเอาไว้ให้ได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (ชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม) ของภาคประชาชนไปพร้อมกัน
การเมืองใน สทบ. และพรรคร่วมรัฐบาล ทรท. กลายเป็นโจทย์เงื่อนไขหนึ่งที่ผมจะต้องขบคิดและสร้างสมดุลอยู่ตลอดเวลา สายหนึ่งคือคุณสุวิทย์ซึ่งมาจากพรรคกิจสังคมเดิม พยายามสร้างภาพว่านโยบายกองทุนหมู่บ้านเป็นของพวกเขาก่อนที่จะเข้ามาอยู่พรรคไทยรักไทย นายกฯ ก็มอบให้เป็นประธานคณะกรรมการฯ (กทบ.) เสียด้วย คุณสุวิทย์จึงวางตัวคุณสันติ อุทัยพันธุ์ (จากกระทรวงเกษตรฯ) เข้ามาเป็น รองผู้อำนวยการ สทบ. ซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการรองจาก ผอ. (พรหมินทร์) และวางตัวคุณสุพจน์ อาวาส (จากธนาคารออมสิน) เป็นผู้อำนวยการองค์การมหาชนเฉพาะกิจของ สทบ. ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในปี 2548
อีกสายหนึ่งคือ หมอมิ้งซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แกดึงเอาหมอพลเดชเข้าไปช่วยกลั่นกรองงานและขับเคลื่อนเชิงวิชาการ ผมไม่ประสงค์จะมีอำนาจหน้าที่อะไรที่ผูกมัดตัว เราจึงตกลงกันว่าขอให้ตั้งผมเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเท่านั้นก็พอ มิ้งมอบหมายผู้ปฏิบัติงานการเมืองของพรรคอย่างน้อย 3 คน มาคอยช่วยประสานงานกับผม คือ คุณอัคคี ศรีทรากุลชัย (อดีตผู้สมัคร สส. กทม. พรรคพลังธรรม) ผู้ถือศีลกินเจ, คุณเชิดชอ เชื้อสมบูรณ์ (ทีมงานคุณภูมิธรรม เลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย) อดีตนักโทษการเมือง 6 ตุลาคม 2519และคุณวรรณชัย ไตรแก้ว (ทีมงานหมอมิ้งที่ทำเนียบรัฐบาล) อดีตนักรบกองทัพปลดแอกประชาชนไทยเขตภาคใต้ หมอมิ้งบอกกับทีมงานและผมว่า “เรื่องกองทุนหมู่บ้าน พี่หนุ่ยคือด่านสุดท้าย พี่ว่าอย่างไรผมเอาอย่างนั้น”
ลึก ๆ แล้ว ปรัชญาแนวคิดเรื่องกองทุนหมู่บ้านฯ ของนักการเมืองทั้งสองสายเหมือนกัน คือ มองว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานล่างและเป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยม โดยมิได้มีความเข้าใจและศรัทธาที่ลุ่มลึกในเรื่องชุมชนเข้มแข็งแต่อย่างใด แต่หมอมิ้งไม่ไว้ใจสุวิทย์ว่าจะทำอย่างมีคุณภาพ การดึงหมอพลเดชเข้าไปช่วยก็เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ปล่อยให้เสียหายเท่านั้นเอง หลาย ๆ เรื่องเราสองคนก็เห็นต่างกันมากครับ นักการเมืองเขามองมหภาค (Macro) เท่านั้น ส่วนเราให้ความสำคัญต่อผลกระทบและประโยชน์ในระดับจุลภาค (Micro) มากกว่า
การประชุมคณะกรรมการนัดแรกมีการปะทะกันในเชิงหลักการและแนวทางอย่างหนัก พวกนักการเมืองและข้าราชการที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งทั้งหลายต้องการให้จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านโดยเร็วและรีบกระจายเงินออกไปเพราะนั่นคือคะแนนนิยมของพวกเขา พวกเรากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 คน เรียงหน้ากันทัดทานว่าต้องเตรียมความพร้อมชุมชนให้ดีเสียก่อน ใช้เวลาหน่อยก็ต้องยอม รีบร้อนทำไปจะเสี่ยงต่อความเสียหาย ผมเปรียบเทียบว่าเหมือนการตั้งครรภ์ที่ต้องใช้เวลา 9 เดือน แต่เวลาคลอดเพียงไม่ถึงชั่วโมงและเด็กสมบูรณ์แข็งแรง จะไม่ดีกว่าหรือ แต่สุดท้ายพวกเราก็แพ้สนิทในยกแรก
จากการปะทะกันในครั้งนั้น ทางมหาดไทยขอนัดหมายไปหารือในขั้นตอนขับเคลื่อน ประชุมกันที่กระทรวงมหาดไทยเพราะคุณภูมิธรรมเป็นโต้โผ คราวนี้วงเล็กกว่าเดิมจึงพูดกันได้ถึงแก่นได้เรื่องอีกเช่นเคยครับ สองฝ่ายต่างผลักดันแนวทางตามความเชื่อของตนและไล่ต้อนอีกฝ่ายหนึ่งให้จนมุม พวกข้าราชการวิจารณ์เอ็นจีโอว่าดีแต่คุยทั้ง ๆ ที่ทำงานในพื้นที่เล็กๆ เอ็นจีโอวิพากษ์ข้าราชการว่าทำแบบผักชีโรยหน้า ไม่มีคุณภาพไม่ยั่งยืน เถียงกันไปมาจนตึงเครียดไปทั้งห้องประชุม ผมจึงเสนอความเห็นเพื่อช่วยให้ที่ประชุมออกจากจุดอับ
“อันที่จริงทุกฝ่ายมีจุดแข็งและข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น ภาครัฐมีข้อจำกัดในเชิงคุณภาพแต่ก็มีจุดแข็งในการบริหารงานเชิงระบบและมีขีดความสามารถปฏิบัติการในขอบเขตกว้างขวางทั่วประเทศ ภาคประชาชนมีจุดแข็งในการทำงานเชิงคุณภาพแต่ก็ทำเฉพาะพื้นที่เล็ก ๆ เท่านั้น ทางออกของพวกเราทั้งหมดน่าจะอยู่ที่การนำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายมาบูรณาการกัน ผมเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ประชา-รัฐครับ!”
เท่านั้นแหละ บรรยากาศที่ประชุมดีขึ้นทันตาเห็น คำประชารัฐที่มีอยู่ในเพลงชาติไทยได้ถูกหยิบขึ้นมาอ้างอิงและขยายความกันยกใหญ่ อย่างไรก็ตามเราไม่อาจขยายกรอบเวลาในการเตรียมชุมชนให้ยืดออกไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์ประชารัฐจะช่วยสร้างคุณภาพกองทุนหมู่บ้านได้แค่ไหนคงต้องไปลุ้นกันข้างหน้า
ที่ สบท. ผมบอกหมอมิ้งว่า ถ้าจะรีบส่งเงินกองทุน 1 ล้านบาทลงไปขออย่าเร็วนัก ขอเวลาให้พลังประชารัฐได้ทำงานก่อนสักระยะ แต่แกฟังแบบมีอะไรในใจแล้ว ผมจึงเสนอว่าถ้าอย่างนั้นขอให้ออกคำสั่ง สทบ. แต่งตั้งคณะทำงานประชารัฐในระดับจังหวัดขึ้นมาเป็นกลไกสนับสนุนกระบวนการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเสริมการทำงานของมหาดไทยผู้ขับเคลื่อนหลักในพื้นที่ แกเอาด้วยทันที
ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ครั้งหนึ่งผมเคยเสนอคุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ให้มอบสถานภาพบางประการแก่กลไกภาคประชาสังคมในระดับจังหวัดเพื่อช่วยขับเคลื่อนภารกิจการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติของ สปรส. และถูกปฏิเสธ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นจากฐานของ สทบ. ในทำเนียบรัฐบาลแทน
คณะทำงานประชารัฐระดับจังหวัดประกอบด้วยแกนประสาน 4 คน จาก 4 ภาคีหลักในระดับพื้นที่ ได้แก่ ข่ายประชาสังคม 1, ข่ายชุมชนเข้มแข็ง 1 พัฒนาชุมชน 1 และการศึกษานอกโรงเรียน 1 โดยเราคัดสรรเอาผู้ที่มีสำนึกสาธารณะและจิตอาสามาร่วมกันทำงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 350 คน ครับ
2 ปีเต็มที่ทำงานใน สทบ. เราขับเคลื่อนงานเครือข่ายประชารัฐเพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน 74,000 แห่ง ใน 926 อำเภอ-เขตทั่วประเทศกันอย่างคึกคักสนุกสนานมาก ผมตั้งส่วนงานประชารัฐขึ้นมาใน สทบ. แล้วมอบให้คุณเชิดชอ เชื้อสมบูรณ์ มาดูแล ในขณะเดียวกันก็ดึงเอานักพัฒนาอาวุโสและข้าราชการจิตอาสาจากที่ต่าง ๆ มาร่วมทำงาน ฝ่ายการเมืองเขารู้ดีว่าเขาใช้เราในเรื่องปริมาณไม่ได้ จึงเลี่ยงไปใช้สายงานคุณสุวิทย์และหน่วยราชการมหาดไทยแทน ทำให้พวกเรามีโอกาสเลือกทำเฉพาะงานคุณภาพที่หวังผลในระยะยาวเป็นหลัก ผมบอกทีมงานว่าอย่างคิดอะไรมากนี่คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจากฐานทำเนียบรัฐบาล
ด้วยยุทธศาสตร์ประชารัฐและเครือข่ายคณะทำงานดังกล่าวนี้ เราได้ถักทอเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประสานงานภาคประชาสังคมลงไปเชื่อมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนถึงระดับตำบล-หมู่บ้านได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรก
ผ่านไปได้ปีเศษ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในรัฐบาล หมอมิ้งขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และไม่ได้ดูแลกองทุนหมู่บ้านโดยตรง มีคุณยงยุทธ ติยะไพรัชมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบแทน ส่วนคุณสุวิทย์ ยังคงเป็นประธาน กทบ. เช่นเดิม สถานการณ์ของผมในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการ สทบ.จึงเปลี่ยนไป แม้คุณยงยุทธจะนับถือผมในฐานะ “พี่หมอ” เช่นเดียวกับทีมงานของหมอมิ้งเกือบทั้งทีม แต่เราไม่ได้มีความรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน ด้วยข้ออ้างว่าผมมาช่วยหมอมิ้งตามที่ได้รับการขอร้อง เมื่อหมดภารกิจแล้วจึงขอลา…
ที่ สทบ. มีบทเรียนรู้บางประการครับ
1. การรักษาความเป็นนักวิชาการอิสระเมื่อต้องร่วมงานนักการเมือง
ความแปลกใหม่ในแนวนโยบายและการบริหารจัดการของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมตัวจริงที่ปรากฎตัวเป็นครั้งแรกในบ้านเรา สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและให้ความหวังในการขับเคลื่อนประเทศได้มากทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ เล่นเอานักวิชาการและนักพัฒนาหลายคนพากันเคลิบเคลิ้ม
โชคดีของภาคประชาชนที่ก่อนหน้านี้ 5-6 ปี งานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมมีการเคลื่อนตัวมาพักใหญ่แล้ว เมื่อรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ เราจึงมีภูมิต้านทานและมีเครือข่ายภูมิปัญญาที่รองรับอยู่บ้าง กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 6 ในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ไม่มีท่านใดเลยที่สูญเสียภาพลักษณ์ที่เป็นอิสระและเกียรติภูมิจากการร่วมงานรัฐบาลในครั้งนั้น เพราะแต่ละท่านแสดงบทบาทอย่างเหมาะสมกับฐานานุรูปทุกประการ
สำหรับตัวผมซึ่งเขาไปลึกที่สุดในฐานะผู้ช่วยของฝ่ายบริหารที่เป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัว จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และที่รักษาตัวรอดมาได้ก็เพราะ 1) การรักษาระยะห่างกับฝ่ายการเมือง โดยเลือกทำงานตามภารกิจที่ชัดเจนของ สทบ. เท่านั้น 2) การแสดงบทบาทในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิควบคู่ไปกับการเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการทำให้มีภูมิคุ้มกัน 3) การสร้างสรรค์ “เครือข่ายคณะทำงานประชารัฐจังหวัด” ขึ้นมาเป็นพื้นที่เฉพาะของตน (space) ทำให้มีโอกาสขับเคลื่อนงานเชิงนวัตกรรมซึ่งนักการเมือง-ข้าราชการมักมองไม่เห็น 4) การโฟกัสงานในเชิงวิชาการและเครือข่ายสนับสนุน ทำให้มีแรงต้านน้อย ในขณะเดียวกันได้เปิดบทบาทให้เครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศได้ฝึกฝนและขยายงานกันอย่างสะดวกสบาย ภายใต้การสนับสนุนทางนโยบายและงบประมาณของสทบ. 5) ระหว่างช่วยงาน สทบ. ผมยังคงมีงานประชาสังคมด้านอื่น ๆ ที่ดำเนินการในนามของ LDI อีกมากมาย ที่สังคมรับรู้และติดตาม 6) การถอนตัวทันทีที่เงื่อนไขข้อตกลงกับหมอมิ้งสิ้นสุด ทำให้สังคมและเครือข่ายสามารถแยกแยะได้ง่าย
2. การร่วมและแข่งขันระหว่างภาคประชาสังคมกับราชการ
ต้องนับว่า สทบ. และเครือข่ายคณะทำงานประชารัฐจังหวัด เป็นโอกาสครั้งแรกที่ภาคประชาสังคมได้ร่วมทำงานกับภาคราชการขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐบาลในขอบเขตทั่วประเทศ การดูแลขบวนทั้งสองให้สามารถทำงานร่วมกัน เรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับส่วนกลางนับว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี หาไม่แล้วภาครัฐจะข่มกลืนภาคประชาสังคมไปหมดสิ้น เพราะโครงข่ายราชการเขามีความแข็งแรง เป็นระบบและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนภาคประชาสังคมมีแต่ความเสียสละมุ่งมั่นกับสองมือเปล่าเท่านั้น
การที่เลือกเอาคนจากหน่วยงานพัฒนาชุมชน และการศึกษานอกโรงเรียนมาร่วมเป็นคณะทำงานประชารัฐจังหวัดนั้น เพราะทั้งสองเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจและวัฒนธรรมองค์กรใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าเพื่อน การรวมตัวในระดับพื้นที่จึงง่ายต่อการสร้างทีมและสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ “ประชารัฐ” มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นราชการที่มีความพร้อมทุกด้านกับภาคประชาสังคมที่เพิ่งเตาะแตะทำให้ในหลายสถานการณ์มีลักษณะที่ “ข่มกันอยู่ในที” ดังนั้นการนำพาขบวนภาคประชาสังคมทั่วประเทศให้มีความเชื่อมั่นในพลังของตนและมีความอดทนสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงความสัมพันธ์กับภาคราชการ จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านไป 2 ปี เห็นได้ชัดเลยว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐในระดับพื้นที่และภาคชุมชน-ประชาสังคมเปลี่ยนไปมาก และความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปนี้กลายเป็นทุนทางสังคมสำหรับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน
3. นโยบายประชานิยมมีคุณอนันต์ มีโทษมหันต์
70 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยถูกปกครองโดยเผด็จการทหารสลับกับพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมของชนชั้นสูงมาโดยตลอด เมื่อพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมเสนอนโยบายประชานิยมจึงเป็นที่ฮือฮาและเมื่อบวกกับวิธีการบริหารจัดการแนวใหม่ที่ใช้ภาคธุรกิจและสังคมเข้ามาแสดงบทบาท จึงยิ่งเพิ่มพูนความนิยมจากประชาชนมากขึ้นทุกวัน
แต่นโยบายประชานิยมซึ่งสร้างความพึงพอใจเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่เอาใจใส่ต่อการพัฒนากลไกและระบบที่มีคุณธรรม-คุณภาพควบคู่ไปด้วยนั้น กลับนำมาสู่ความอ่อนแอและการพึงพิงระบบอุปถัมภ์ของประชาชนในระยะยาว
เงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาทที่ตกลงไปสู่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่เดิม (ซึ่งงานวิจัยของ LDI พบว่ามีประมาณ 13%) ยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชนเหล่านั้นมากขึ้น แต่ส่วนที่เหลือกลับทำให้ชุมชนอ่อนแอลงไปอีก งานวิจัยหลายชิ้นของ สทบ. ในช่วงนั้นและรายงานข่าวสืบสวน-สอบสวนของหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ระบุถึงภาวะที่ชาวบ้านต้องหมุนหนี้จากที่อื่น มาใช้หนี้ กทบ. มีทั่วไปแทบทุกจังหวัด
สุดท้ายเป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายการเมืองทั้งสองสาย ต่างมุ่งใช้กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศเป็นกลไกกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากรากหญ้า ต้องการต่อยอดกองทุนหมู่บ้านให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนในแบบฉบับของภาคธุรกิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกเรากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการภาคประชาสังคมที่อยู่วงนอกที่อยากให้กองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกสวัสดิการชุมชนและข่ายนิรภัยทางสังคมมากกว่า
คงต้องรอจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งที่ดวงตาเห็นธรรมในเรื่องนี้ และมีความกล้าหาญที่จะปฏิรูประบบงานกองทุนหมู่บ้านอย่างจริงจังครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (17) : รวมพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน (2544-2545)"