ประสบการณ์ประชาสังคม (18) : ก่อตั้งเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (2544)

          ด้วยฉันทามติจากเวที “ที่ประชุมข่ายประชาสังคมไทย” ในเดือนเมษายน ซึ่งหยิบยกประเด็นสนามบินหนองงูเห่าขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา โดยที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาคอร์รัปชันเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทยและถ่วงรั้งการพัฒนาประเทศ 

เป็นเหตุให้แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี จึงได้มอบหมายให้ผมในฐานะเลขาธิการร่วมกับคุณณรงค์ โชควัฒนา คุณโสภณ สุภาพงษ์ รศ.ต่อตระกูล ยมนาค ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยาวัฒน์ และคุณวีระ สมความคิด ไปช่วยกันคิดหาทางขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาชนเพื่อแก้ปัญหา

          หลังจากที่ได้ระดมความคิดถึงแนวทางการทำงานแล้วพวกเราตกลงใจที่จะใช้วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2544 เป็นจุดสตาร์ทสำหรับการก่อตั้ง “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.)” (People Network Against Corruption : PNAC) ชื่อภาษาไทยผมเป็นคนเลือก ส่วนภาษาอังกฤษ อาจารย์วุฒิพงษ์ เป็นผู้กำหนดครับ
 
          เมื่อคิดงานการขับเคลื่อนได้ชัดในระดับหนึ่งแล้ว เราจึงตั้ง “กองทุนเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน” ขึ้นในมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนภารกิจของเครือข่ายใน 4 ประการ ได้แก่ 1)สนับสนุนกิจกรรมความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบและแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 2)สนับสนุนการทำงานสืบค้นข้อมูลการคอร์รัปชันแบบเจาะลึกและเผยแพร่สู่สาธารณะ 3) สนับสนุนและช่วยเหลืออาสาสมัครหรือองค์กรที่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้เอาชนะวิกฤตคอร์รัปชัน 4)สนับสนุนการสร้างเสริมศักยภาพและสมรรถนะของเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน
 
          ในขณะนั้นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยขึ้นมาบริหารประเทศแล้วและกำลังอยู่ในสภาพ “ข้าวใหม่ปลามัน” ขณะเดียวกันคดีซุกหุ้นของนายกรัฐมนตรียังเป็นชนักปักคาอยู่เต็มหลัง พวกเราเริ่มด้วยการจัดทำหนังสือเล่มเล็ก ซีรีย์แรก 5 กรณีศึกษา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวเปิดตัวเครือข่าย (สามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้จากห้องสมุดสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และ www.ldinet.org)
          ลำดับที่ 1       หนองงูเห่า
          ลำดับที่ 2       วิกฤต คนคลองด่าน
          ลำดับที่ 3       โกงกินสัมปทานสื่อ
          ลำดับที่ 4       ทุจริต จัดซื้อยา
          ลำดับที่ 5       CO-OP สหกรณ์เลือด
 
          เราวางแผนและประสานงานให้คุณทักษิณ ชินวัตร มาร่วมงานเปิดตัวเครือข่ายของภาคประชาชน (Kick Off) ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ในวันที่ 27 กรกฎาคม งานสมโภชเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันในวันนั้นประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในทุกมิติและถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของคปต.เลยทีเดียว
 
          ขบวนเครือข่ายของเราเริ่มต้นจากสมาชิกประเภทบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม จำนวน 101 ท่าน, และประเภทองค์กรจำนวน 116 องค์กร และมีกองทุนเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันกับคณะกรรมการ 9 คน เป็นกลไกประสานสนับสนุน สมาชิกก่อตั้งมีความหลากหลายซึ่งล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงมาก อาทิ:
          เสม พริ้งพวงแก้ว, กมล กมลตระกูล, ขรรค์ชัย บุนปาน, จารุวรรณ เมนฑกา, จำลอง ศรีเมือง, ดำรงค์ พุฒตาล, ไตรภพ ลิมปพัทธ์, นิคม จันทรวิฑูร, ประทีป อึ้งทรงธรรม, พรทิพย์ โรจนสุนันท์, ภาวนา ชนะจิต, มงคล ณ สงขลา, รสนา โตสิตระกูล, วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, วิชัย โชควิวัฒน, สงวน นิตยารัมภ์พงษ์, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สันต์ หัตถีรัตน์, สัก กอเรืองแสง, เหวง โตจิราการ, อรุณ พร้อมเทพ, อมรินทร์ คอมันตร์ ฯลฯ
 
          ในวันนั้น คุณโสภณ สุภาพงษ์ เป็นผู้กล่าวที่มาและวัตถุประสงค์การจัดงานเอาไว้ว่า…
          “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันมีความมุ่งหวังว่า ด้วยการที่เรารวมกันเป็นเครือข่ายขึ้นมาทำงานในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ คงจะทำให้สังคมไทยได้รับการเสริมความเข้มแข็ง ให้เป็นสังคมซึ่งมีการบริโภคอย่างเหมาะสมและพอเพียง เด็กและเยาวชนได้รับการปลูกฝังค่านิยมของความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสังคมซึ่งรังเกียจคอร์รัปชัน เป็นสังคมที่ยกย่องคนดี”
          “การปรึกษาหารือระหว่างเครือข่ายกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน มีความเห็นร่วมกันว่าความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่ร่วมกันเพื่อต้านคอร์รัปชันนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมกับรัฐบาลแก้ไขปัญหา ซึ่งนำมาซึ่งการสัมมนารวมพลังประชาชนต้านคอร์รัปชันในวันนี้…”
 
          คุณณรงค์ โชควัฒนา และกลุ่มตัวแทนของเครือข่ายขึ้นประกาศเจตนารมย์ มีสาระในตอนดังนี้
          “เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันขอแสดงความคาราวะอย่างสูงต่อ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ท่านจะดูแลคณะรัฐมนตรีของท่านไม่ให้มีการคอร์รัปชัน และประกาศสงครามเอาชนะคอร์รัปชันด้วยอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร โดยไม่เรียกหาใบเสร็จ
          เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนผู้รักแผ่นดินเกิดทุกคน จงผนึกกำลังกันทั้งประเทศช่วยกันเฝ้าระวัง ช่วยกันมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบ ช่วยกันค้นหาและขจัดปัญหาคอร์รัปชัน  เพื่อประเทศให้โลกรู้ว่าคนไทยมีภูมิปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาที่ยากที่สุดได้ด้วยตนเอง
 
          หมอพลเดช ปิ่นประทีป ผู้ทำหน้าที่รายงานผลสรุปจากการสัมมนาระดมความคิด นำมาตรการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เสนอต่อนายกรัฐมนตรี 9 ประเด็น และต่อภาคประชาชนเองอีก 6 ประเด็น อาทิ: ให้ตั้งกองทุนสนับสนุนสื่อทำ Investigative Journalism, แก้ไขกฎหมายป.ป.ช. 4 ประเด็น, ทบทวนกฎหมายในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ, การเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางอินเตอร์เน็ต, ใช้สื่อรัฐรณรงค์ค่านิยมต้านทุจริต, ตั้งกองทุนภาคประชาชน, ทำแผนที่คอร์รัปชัน, ทำ Corruption Rating หน่วยราชการ, ฯลฯ
 
          ส่วนอาจารย์หมอประเวศ วะสี แสดงปาฐกถา “พลังแผ่นดินกับการแก้ปัญหาวิกฤตคอร์รัปชัน” ท่านเสนอให้ใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ทำงานร่วมกันระหว่างอำนาจความรู้ อำนาจสังคม และอำนาจทางการเมือง โดยในส่วนพลังทางสังคมนั้นท่านแนะนำให้ตั้ง “กองทุนพลังแผ่นดิน” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนพลัง 5 ประการเข้ามาเชื่อมกันคือ พลังทางสังคม พลังวัฒนธรรม พลังทางศีลธรรม พลังทางการจัดองค์กรแบบใหม่ และพลังทางปัญญา
 
          สำหรับคุณทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี พูดต่อที่ประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน มีบางตอนที่ควรนึกย้อนพฤติกรรมของท่านในเวลาต่อมา…
          “การประกาศสงครามก็คือว่า การต้องเรียกหาอาสาสมัครเพื่อจัดกำลังคนออกสู้รบ เพราะฉะนั้นการประกาศสงครามกับเชื้อโรค 3 ตัว (ยากจน ยาเสพติด และคอร์รัปชัน) แล้วถือว่าเป็นศัตรูของชาติ ศัตรูของลูกหลานเรา ถ้าวันนี้ใครไม่มาร่วมกันทำสงคราม ภาษานักรบเขาเรียกว่าเป็นพวกทรยศ”
          “การจะทำอะไรในวงกว้างที่ต้องใช้อำนาจ ใช้การรวมพลัง มีส่วนผสม 3 อย่าง คือ การให้การสนับสนุนทางการเมืองอย่างจริงจังและจริงใจ ต้องมีภาวะการนำ และรู้ Know How”
          “วันนี้สิ่งที่คุณหมอพลเดช พูดก็ดี จากข้อสรุปทั้งหลาย เจตนารมย์ที่คุณณรงค์พูด และสิ่งที่คุณหมอประเวศพูด รัฐบาลพร้อมที่จะร่วมกับเครือข่ายเพื่อจะกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมกัน ถึงจะชัดเจนว่างเราจริงจังและจริงใจในการที่จะจัดการเรื่องคอร์รปัชันให้หมดจากแผ่นดินไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ครับ”
 
          จากวันนั้นถึงวันนี้ 8 ปีแล้ว เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันยังคงทำงานอย่างเข้มแข็ง มีผลงานการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการทุจริตอย่างโดดเด่น เข้าร่วมขบวนการเมืองภาคประชาชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างทุ่มเท จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่และความตื่นตัวของสาธารณะอย่างสูงในเวลาต่อมา โดยมีพตท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมืองนอมินีเป็นคู่กรณี
 
          ประวัติศาสตร์การก่อตัวและรูปแบบการทำงานของคปต.ได้รับความสนใจจากนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปใช้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งท่านผู้สนใจอาจค้นคว้าเพิ่มเติมได้ ส่วนในที่นี้ผมจะหยิบเพียงบางประเด็นที่เป็นบทเรียนรู้มาบันทึกเอาไว้สำหรับคนทำงาน
 
          1. การออกแบบองค์กรเชิงเครือข่าย
          ปัญหาจุดอ่อนในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรของภาคประชาชนที่เราสนใจในเวลานั้นคือมักพบว่า “หัวโต ตัวเล็ก ขาลีบ” ซึ่งนำไปสู่ความอ่อนแอ และมีความขัดแย้งแตกแยกในภายหลัง กล่าวคือชอบสร้างองค์กรที่มีอำนาจรวมศูนย์ที่คณะกรรมการ และศูนย์ประสานงานส่วนกลางเป็นผู้ถือเงินงบประมาณไว้ทั้งหมด ทำให้ยิ่งทำงานไป เครือข่ายยิ่งอ่อนแอและต้องพึ่งพาศูนย์กลางตลอดเวลา
          หลักการสำคัญของเราที่ใช้ออกแบบเครือข่ายคปต. ในครั้งนั้นคือ
·    ให้ความเข้มแข็งของเครือข่ายขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสมาชิก มากกว่าความเข้มแข็งของศูนย์ประสานงานกลาง โดยสมาชิกต่างมีความเป็นอิสระและมีความสัมพันธ์ในแนวราบ ไม่มีใครขึ้นต่อใคร
·    กำหนดให้ศูนย์ประสานงานกลางเป็นผู้เสียสละทุ่มเทและทำงานรับใช้เครือข่าย ในขณะที่เครือข่ายมีหน้าที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ศูนย์ประสานงานกลาง โดยจะไม่รวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง
คปต.ในยุคต้นมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นประธานเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ประธานเดี่ยวคปต.จึงมีเครือข่ายผู้นำเชิงบารมี ได้แก่ เสม พริ้งพวงแก้ว, โสภณ สุภาพงษ์, ณรงค์ โชควัฒนา, นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ เตือนใจ ดีเทศน์ มีหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการคนแรกของเครือข่ายก่อนที่จะส่งมาให้คุณวีระ สมความคิด ในเวลาต่อมา
 
2. ระบบสนับสนุนทางการเงินของเครือข่าย
จะเข้าใจระบบการทำงานเรื่องใด ขอจงศึกษาระบบการเงินขององค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะมันคือระบบหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเชื่อมโยงทั้งองคาพยพ
คปต.มีรายได้จาก 2 ส่วนหลัก คือ รายได้จากองค์กรในเครือข่าย และรายได้จากโครงการ/กิจกรรมที่มีแหล่งทุนให้การสนับสนุนโดยตรงที่ศูนย์ประสานงานกลาง
ส่วนแรกมี “ชมรมร่วมใจไทยกู้ชาติ” ซึ่งคุณณรงค์ โชควัฒนา จัดตั้งขึ้นภายในหมู่พนักงานในเครือบริษัทแพน มีสมาชิกอาสาสมัครประมาณ 3,000 คน ซึ่งร่วมบริจาคกันคนละ 10 บาททุกเดือน กับ  อีกขาหนึ่ง “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” เป็นผู้ให้การสนับสนุนเม็ดเงินและวงเงินในการทำงาน ตลอดจนที่ตั้งสำนักงานและค่าใช้จ่ายประจำ จึงทำให้คปต.สามารถดำเนินงานได้อย่างมั่นคงตามสภาพ
ส่วนหลัง เป็นเรื่องความสามารถของผู้บริหารและทีมงานจะต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนหรือเงินบริจาคเอาเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับผลงานของเครือข่ายและความเชื่อถือไว้วางใจที่สังคมมอบให้
 
3. ศรัทธาสาธารณะ
แม้เมื่อตอน คปต.ถือกำเนิดจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ทางสังคมและองค์กรภาคีมาร่วมออกแรงและเป็นสักขีพยานก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าการดำเนินงานจะราบรื่นหรือสังคมจะให้การสนับสนุนอยู่ตลอดไป คปต.ต้องสร้างภูมิคุ้มกันและปัญญาบารมีของตนขึ้นมาด้วยการทำประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ที่ประกาศไว้แต่ต้น
ปัจจุบันคปต.จดทะเบียนเป็นสมาคม เป็นหน่วยงานอิสระที่มีเครือข่ายไม่กว้างนัก แต่ก็ไม่แคบจนเกินไป ที่สำคัญคือคปต.มีผลงานและการปฏิบัติการที่ติดตาสังคมและสื่อมวลชนอยู่ตลอดระยะเวลา คุณวีระ สมความคิด มีจริตและทักษะในการทำงานเชิงตรวจสอบค่อนข้างสูง จึงมีส่วนทำให้คปต.กลายเป็นองค์กรเครือข่ายที่มีผลงานสะท้านสะเทือนมากมายและได้รับการยอมรับจากวงการ คดีเงิน 45 ล้านบาทของคุณสนั่น ขจรประศาสน์, คดีที่ดินรัชดาของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร, คดีก่อสร้างโรงพยาบาลโรคติดต่อที่ขอนแก่น ฯลฯ คงเป็นตัวอย่างได้ดี
และในช่วงหลัง ที่คปต.เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทักษิณและนอมีนีก็ยิ่งทำให้สาธารณชนผู้เป็นแฟน ASTV บริจาคเงินสนับสนุนการทำงานอย่างต่อเนื่อง
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (18) : ก่อตั้งเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (2544)"

Leave a comment

Your email address will not be published.