เมื่อมองเห็นภาพรวมที่จะสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยจากฐานรากได้ชัดขึ้นแล้วว่ามิได้มีเพียงงานส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศเท่านั้น หากยังมีงานในส่วนอื่นๆ เข้ามาประกอบเสริมและสานต่ออีกมากมาย ทำให้ผมมีจินตนาการถึง “เจดีย์ประชาสังคม” เป็นครั้งแรก ตอนที่ต้องขบคิดวางแผนการทำงานของ LDI ยุคหลังโครงการ CIDA
ในขณะนั้น (ปี 2541) ผมมีความรับรู้ในงานชุมชนเข้มแข็งและงานเครือข่ายเอ็นจีโออย่างจำกัดมาก ผมจึงนึกถึงความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ที่ปรากฏตัวอยู่ในระยะนั้น ประกอบกันขึ้นเป็นเจดีย์ประชาสังคม 5 ส่วน
1. ส่วนรากฐาน ผมจินตนาการถึงเครือข่ายองค์กรชุมชนเข้มแข็งที่ถักทอกันทั่วประเทศ เป็นฐานที่แข็งแรงของสังคมไทยในด้านต่างๆ
2. ส่วนองค์พระเจดีย์ หมายถึงข่ายงานเอ็นจีโอที่มีความเข้าใจปัญหาของชุมชนฐานรากและทำงานใกล้ชิดพื้นที่ โดยขณะนั้นผมนึกถึงเครือข่ายด้านคุมครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
3. ส่วนคอพระเจดีย์ ผมให้ความสำคัญต่อกลุ่ม เครือข่ายของพลเมืองและชนชั้นกลางในเมืองทุกจังหวัด ซึ่งมีบทบาทเชื่อมโยงระหว่างฐานและองค์พระเจดีย์กับโครงสร้างส่วนยอด พลเมืองและชนชั้นกลางมีเศรษฐานะที่พึ่งตนเองได้และมีทักษะในการบริหารจัดการ ตลอดจนการสื่อสารกับกลไกรัฐ
4. ส่วนยอดพระเจดีย์ หมายถึงสถาบันวิชาการ ที่ทำหน้าที่เป็นมันสมองของประชาสังคม
5. ส่วนรัศมี คือส่วนที่เป็นคุณค่าและจิตวิญญาณของสังคม
จากโจทย์ใหญ่ที่อาจารย์ประเวศมอบ “ทำให้ 80,000 หมู่บ้าน เข้มแข็งและหายจน” ในทางปฏิบัติผมคิดว่ามันไม่อาจเกิดได้จากการทำที่ฐานรากโดยลำพัง ผมคิดถึงการทำให้สังคมไทยทั้งสังคมเข้มแข็งไปด้วยกันโดยให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาจากฐานล่าง
ตอนนั้นผมตีความเอาเองว่า ภารกิจของ LDI ที่ผมมาแบกรับจากนั้นคือการขับเคลื่อน “การปฎิรูปสังคม” อันเป็นภารกิจสานต่อ “การปฎิรูปการเมือง” ที่ท่านอาจารย์ประเวศขับเคลื่อนสังคมจนบรรลุผลในระดับหนึ่งมาแล้ว ซึ่งผมได้เคยพูดต่อที่ประชุมระหว่างประเทศของ CAGIN ที่มนิลาในปี 2542 อย่างมั่นใจในเรื่องนี้ด้วย
ในระดับปฎิบัติการ LDI ได้เสนอ “โครงการส่งเสริมเครือข่ายประชาคมจังหวัด เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ” ต่อคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ (กนส.) ที่มีนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัยเป็นประธานและได้รับการอนุมัติงบประมาณ 40 ล้านบาทผ่านมาทางมูลนิธิพัฒนาไทและสภาพัฒน์ฯ ให้มาดำเนินการ นี่คือรูปธรรมแรกของงานเชิงยุทธศาสตร์ตามที่อาจารย์ประเวศอยากเห็น
ในตอนนั้นจะนับเป็นครั้งแรกๆ ของประเทศที่มีการเอาเงินงบประมาณแผ่นดินมาให้เอ็นจีโอทำงานเลยก็ว่าได้ น่าสังเกตว่าทางราชการเขายังไม่กล้านัก เขาจึงจัดงบประมาณแบบอุดหนุนทั่วไป ผ่านมาที่สภาพัฒน์ฯ และสภาพัฒน์จึงผ่านมาที่มูลนิธิพัฒนาไทอันเป็นมูลนิธิที่สภาพัฒน์ฯ จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. ก่อนที่จะส่งมาให้ LDI อีกต่อหนึ่ง
สำหรับเนื้องานของโครงการดังกล่าว น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในฐานะคนเขียนแผน-เสนอโครงการฯ ผมมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เช่นไร แน่นอน ผมไม่ได้ทำโครงการเพื่อโครงการ แต่มองโครงการเป็นเครื่องมือสำหรับการเดินทางไปสู่เป้าหมายสร้างเจดีย์ประชาสังคมในระยะยาว
ในโครงการนั้นมีภารกิจในการค้นหา-รวบรวมกลุ่มคนที่เป็น “พลเมืองผู้กระตือรือร้น”(Active Citizens) ใน 76 จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 40 คน โดยมีสมมติฐานว่าทุกจังหวัดมีบุคคลที่มีความตื่นตัวทางการเมือง และมีจิตสำนึกสาธารณะแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการผู้รับอาสาไปเชื่อมโยงและถักทอความสัมพันธ์กันขึ้นมาทำงานทางสังคมร่วมกันอย่างมีการจัดการและมีพลังเมื่อค้นพบแล้วก็จัดให้มีการประชุมสัมมนา สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และระดมความคิดในการสร้างท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็ง
เมื่อคิดชัดเจนตลอดกระบวนการแล้ว ในการดำเนินโครงการ LDI จึงเดินเข้าหาองค์กรเอ็นจีโอระดับแม่ข่าย ขอแรงให้ช่วยถักทอผู้คนเป็นรายพื้นที่รายจังหวัด โดยให้องค์กรพี่น้องเอ็นจีโอเหล่านั้นเลือกพื้นที่ที่เขาพอใจจนเติมศักยภาพโดยครบทุกองค์กรก่อน ส่วนที่เหลือซึ่งมักเป็นจังหวัดที่ยากและต้องการบุกเบิกใหม่ LDI ขอเป็นผู้ดำเนินการเอง การที่ LDI ทำแบบนี้จึงไม่ค่อยถูกปฎิเสธจากเพื่อน แม้ว่าจะถูกแซวว่างบประมาณน้อยไปหน่อย
– มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย (ศิริวรรณ เจนการ) รับไป 8 จังหวัดภาคกลาง
– สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม Civic Net (ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์) 14 จังหวัดภาคใต้
– สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน สพอ. (ทวีศักดิ์ นพเกษร) 17 จังหวัดภาคเหนือ
– คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.) 10 จังหวัดภาคอีสาน
– LDI ดูแลส่วนที่เหลือทั้งหมด 28 จังหวัด
นอกจากเครือข่ายกลุ่มประชาคมจังหวัดทั้ง 76 พื้นที่แล้ว โครงการฯ ยังมีภารกิจในการค้นหากลุ่มประชาคมสายอาชีพอีก 8 เครือข่ายด้วย ซึ่ง Civic Net, LDI และ สพอ.ช่วยกันถักทอเครือข่ายในระดับชาติ ได้แก่ ประชาคมทหาร ประชาคมครู ประชาคมสื่อ ประชาคมสุขภาพ ประชาคมเกษตร ประชาคมนักปกครอง ประชาคมพระสงฆ์นักพัฒนา และประชาคมนักวิชาการ
งานถักทอผู้คนเพื่อ“ขึ้นโครง” ข่ายประชาสังคมไทย (Outline Structure) ในคราวนั้น พวกเราสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้วยดี มีบทเรียนรู้สำคัญหลายประการ อาทิ :
· การมีวิสัยทัศน์สร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยในภาพรวม ทำให้ LDI มีอิสรภาพในการกำหนดแผนงานโครงการที่สอดคล้องกันระหว่างภารกิจระยะสั้นและระยะยาว
· การที่ LDI เปิดพื้นที่งานประชาคมจังหวัดเพื่อบุกเบิกใหม่ ในขณะที่องค์กรอื่นๆ ยังทำงานชุมชน-หมู่บ้าน ทำให้ไม่ซ้อนทับกับองค์กรเอ็นจีโออื่นๆ รวมทั้งงานของ SIF จึงเกือบไม่มีแรงเสียดทานเลย
· การมีสมมติฐานที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ที่ว่ามี Active Citizens แฝงตัวอยู่ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในเมือง จึงทำให้การดำเนินงานค้นหาและถักทอประสบความสำเร็จโดยง่าย
· การอาศัยภาคีพันธมิตรอย่างสภาพัฒน์ฯ และมูลนิธิพัฒนาไทเป็นองค์กรร่วมรับผิดชอบระดับชาติ เป็นกุญแจความสำเร็จในการดึงการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ขณะเดียวกันการน้อมตัวเข้าหาองค์กรเอ็นจีโอฝ่ายบุ๋นและองค์กรแม่ข่ายที่มีศักยภาพระดับภูมิภาคก็เป็นกุญแจความสำเร็จในระดับการดำเนินงานภาคสนาม
· “โครง” ที่วางไว้ในคราวนั้น ต่อมาได้กลายเป็นแนวทางให้กับแผนงาน/โครงการต่างๆ ของ LDI ตลอดสิบปีหลังจากนั้น โครงการและกิจกรรมของ LDI ล้วนตอกย้ำลงไปตามกรอบดังกล่าวจนมั่นคงขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้นกลไกตามโครงสร้างที่ผุดบังเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างสามารถดำเนินการไปด้วยตัวเองอย่างหลากหลาย จึงเกิดเป็นข่ายงานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมไทยที่มีบทบาทในปัจจุบัน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (2): ขึ้นโครง…ข่ายประชาสังคมไทย"