ในบรรดากฎหมายที่ริเริ่มขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนนั้น ดูเหมือนว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน จะเป็นฉบับแรก และเป็นฉบับที่ใช้เวลาในการผลักดันนานที่สุด ซึ่ง LDI เป็นองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาด้วยตั้งแต่ต้น
จากงานวิจัยของ LDI ในปี 2534 โดยกลุ่มอาจารย์เสน่ห์ จามริก, ยศ สันตสมบัติ, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เจริญ คัมภีรภาพ, ไพสิฐ พาณิชย์กุล, มงคล ด่านธานินทร์, บัญชร แก้วส่อง, ฉลาดชาย รมิตานนท์, อานันท์ กาญจนพันธุ์ ฯลฯ ที่ว่าด้วย “ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา” และโดยกลุ่มอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นิพนธ์ พัวพงศกร, มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด, บัณฑร อ่อนคำ, ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ ฯลฯ ที่ว่าด้วยเรื่อง “วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกิน” ได้นำมาสู่การยกร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน (ฉบับประชาชน) ขึ้นในปี 2536 ก่อนที่จะถูกผลักดันเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติในระยะต่อมา
ระหว่างรอกฎหมายที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนอยู่กับป่าอย่างสร้างสรรค์และเป็นสุขนั้น กระบวนการเรียนรู้และปรับตัวระหว่างชาวบ้านป่าและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจกฎหมาย ได้ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีความเข้มแข็งของชุมชนและผลงานความสำเร็จของชาวบ้านในการต่อสู้กับอิทธิพลมืดของนายทุน ข้าราชการและนักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ
ด้วยความอลุ่มอะล่วยของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในระดับพื้นที่ และการปรับเปลี่ยนนโยบายเชิงสร้างสรรค์ของกรมป่าไม้ ที่ยอมให้คนอยู่กับป่าได้อย่างมีเงื่อนไขภายใต้แผนงานป่าชุมชนของภาครัฐ ล้วนมีส่วนช่วยทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐคลายตัวลงตามลำดับ
ในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์ที่กลุ่มเอ็นจีโอประท้วงต่อต้านโครงการวางท่อแก๊สของ ปตท. ทางชายแดนประเทศพม่า ได้เป็นสัญญาณเตือนให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่มีกิจการใหญ่โตที่สุดอย่าง ปตท.ต้องตระหนักความสำคัญด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังกว่าเดิม
ดังนั้นในช่วงท้ายของโครงการปลูกป่าถาวร 1 ล้านไร่เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาพระเจ้าอยู่หัวซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 ปตท.จึงได้มอบหมายให้คุณอุดม วิเศษสาธร เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจัดทำโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียวขึ้นเพื่อค้นหาผลงานและให้รางวัลเชิดชูเกียรติแก่ชุมชนคนรักป่าจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ในการนี้ LDI ได้รับเชิญเข้าร่วมตั้งแต่ต้นอีกเช่นกัน ทั้งนี้ในฐานะองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านชุมชนท้องถิ่นและภูมิปัญญาด้านป่าชุมชน
คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีให้เกียรติดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตัดสินและมาเป็นผู้มอบรางวัลทุกปีไม่เคยขาด ท่านเคยปรารถกับคณะทำงานว่าเป็นงานที่ท่านชอบและมีความสุขมาก นอกจากนั้นยังมีสิปปนนท์ เกตุทัต, สุเมธ ตันติเวชกุล, มีชัย วีระไวทยะ, สนิท อักษรแก้ว, ทองโรจน์ อ่อนจันทร์, ธงชัย พรรณสวัสดิ์, สนิทสุดา เอกชัย, นิวัติ กองเพียร, วิบูลย์ เข็มเฉลิม และผู้ว่าการ ปตท. ร่วมเป็นกรรมการ
ส่วนผมเข้าร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบันเช่นกัน พวกเราต้องลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและประเมินผลงานก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การตัดสินรางวัลในขั้นสุดท้าย คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประกอบด้วยกลุ่มคนที่ล้วนทำงานพัฒนาชนบทและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน อาทิ : สมศักดิ์ สุขวงศ์, พงษ์ศักดิ์ พยัควิเชียร, โกมล แพรกทอง, จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธุ์, เอนก นาคะบุตร, เตือนใจ ดีเทศน์, สันติวิภา พานิชกุล, พลเดช ปิ่นประทีป, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, รุจน์ โกมลบุตร, สุรพล ดวงแข, อุดม วิเศษสาธร, บุญยงค์ เกตุเทศ, ตรีศิลป์ บุญขจร, ชนินทร์ ชิมะโชติ, วิลาส เตโช และนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์
ในการลงพื้นที่แต่ละคราวนับเป็นเรื่องที่สำบุกสำบันสำหรับวัยอย่างพวกเรามากแต่ก็สนุกสนานกันดีและที่สำคัญคือการมีโอกาสร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายสาขา โดยมีประเด็นรูปธรรมของป่าชุมชนเป็นแกนกลางนั้น ทำให้พวกเราต่างได้ต่อยอดความรู้ซึ่งกันอย่างมีความสุข
ปัจจุบันรางวัลลูกโลกสีเขียวมี 7 ประเภทได้แก่ ประเภทบุคคล ประเภทชุมชน ประเภทกลุ่มเยาวชน ประเภทสื่อมวลชน ประเภทวรรณกรรม ประเภทความเรียงเยาวชน และประเภท 5 ปี แห่งความยั่งยืน
10 ปีที่ผ่านมา มีผลงานที่ส่งเข้าประกวด รวมทั้งการสรรหาทั้งสิ้น 4,648 ผลงาน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลไปแล้ว 298 ราย จาก 67 จังหวัดทั่วประเทศ ปตท. เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายของโครงการตกปีละประมาณ 30 ล้านบาทครับ
มองในเชิงยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น มีบทเรียนรู้ที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง
1. ป่าชุมชนเป็นฐานที่มั่นในการรักษาทรัพยากรป่าไม้
ในอดีตที่ผ่านมา นโยบายของรัฐมุ่งเน้นให้สังคมไทยมีการจัดการป่าด้วยการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองหรือที่เรียกว่าป่าอนุรักษ์ (Protected Area) จึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่ว่าด้วยการจัดการป่าไม้ โดยมีฐานความเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการป่าให้เกิดความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ส่วนใหญ่มีสาระสำคัญในการให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการดำเนินงานเพื่อการสงวน คุ้มครองอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการกับทรัพยากรป่าไม้แบบเบ็ดเสร็จ การดำเนินการในหลายกรณีส่งผลเกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชน โดยเฉพาะปัญหาการทับซ้อนระหว่างที่ดินป่าไม้กับที่ทำกินของประชาชน
บทเรียนของการจัดการป่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้ข้อสรุปว่าการจัดการป่าของรัฐไม่มีทางประสบผลสำเร็จถ้าชุมชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม และบ่อยครั้งพบว่าชุมชนที่เข้มแข็งสามารถรักษาป่าได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียอีก
เครือข่ายป่าชุมชน ลูกโลกสีเขียวเป็นเครือข่ายชุมชน บุคคลและกลุ่มเยาวชนดูแลรักษาป่าชุมชนซึ่งเป็นป่ากันชน (Buffer Zone) ของป่าอนุรักษ์และเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ขณะนี้มีผลงานเชิงประจักษ์อยู่แล้วประมาณ 2,000 ผลงาน ซึ่งนับวันยิ่งขยายตัวออกไป และส่วนที่เข้มแข็งมั่นคงก็ยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้อย่างเหนียวแน่น การเคลื่อนตัวของขบวนชุมชนคนรักป่าส่วนนี้เป็นไปอย่างเงียบๆ แต่มีพลัง แม้มีอุปสรรคปัญหาคุกคามอยู่ตลอดเวลาก็ยังสามารถฝันฝ่ามาได้
ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า ในระยะสิบปีข้างหน้าป่าชุมชนเหล่านี้จะกลายเป็นฐานที่มั่นของสังคมไทยและข้าราชการ (ที่รักป่า) ในการปกปักษ์รักษาทรัพยากรป่าไม้ของชาติ
2. แรงต้านจากเอ็นจีโอ
จากประวัติความขัดแย้งระหว่าง ปตท. กับเอ็นจีโอในเรื่องท่อแก๊ส ทำให้ในระยะแรกโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียวถูกตั้งแง่หวาดระแวง รังเกียจ จากเอ็นจีโอเกือบทุกภูมิภาค แม้กระทั่งนักพัฒนาอาวุโสที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการอย่างเอนก นาคะบุตร, เตือนใจ ดีเทศน์, สุรพล ดวงแข ฯลฯ ก็พลอยโดนข้อหาขายตัวขายวิญาณไปด้วย
พวกเราเข้าใจและเห็นใจพี่น้องเอ็นจีโอเหล่านั้นเป็นอย่างดี จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะจำกัดบทบาทอยู่เฉพาะกิจกรรมโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียวโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการอื่น ๆ ของ ปตท. ให้เป็นที่หวาดระแวงมากไปกว่านั้น ขณะเดียวกันก็ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการทำงาน โดยมุ่งประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น และสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ปัจจุบันด้วยการทำงานอย่างอดทน อคติดังกล่าวลดน้อยลงไปมากจนไม่เป็นที่น่าวิตกกังวลแล้ว
3. ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมกลายเป็นงาน CSR ที่โดดเด่นของ ปตท.
แต่เดิม ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันมีการแปรรูปกลายเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กระแสบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) และธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) จึงเป็นเรื่องที่ ปตท. ต้องคำนึงเป็นอย่างยิ่ง
อันที่จริง ปตท. มีกิจกรรมและโครงการเพื่อสังคมอยู่แล้วอย่างหลากหลาย ทั้งเรื่องโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ, โครงการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก, งานศิลปวัฒนธรรม, งานส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง, งานส่งเสริมพลังงานชุมชน-พลังงานทางเลือก ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าเมื่อโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียวประสบความสำเร็จและสร้างเครือข่ายทางสังคมได้อย่างมั่นคง แบรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อ ปตท. ไปในตัว
ขณะนี้ ปตท.กำลังจะยกระดับโครงการรางวัลลูกโลกสีเขียวขึ้นเป็นสถาบันลูกโลกสีเขียวเพื่อให้สามารถทำภารกิจทั้งในด้านการให้รางวัล และการส่งเสริมพัฒนาป่าชุมชนและสิ่งแวดล้อมในมิติที่กว้างและลึกยิ่งขึ้น
เราได้เรียนรู้ว่าด้วยโครงการที่ดีและมีกระบวนการเรียนรู้สร้างสรรค์ แบบข้ามองค์กร-ข้ามวัฒนธรรม เช่นนี้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจากทุกฝ่ายได้ (Transform) ไม่เว้นแม้ภาคธุรกิจ
4. การบริหารจัดการและเงินทุน
ทุกวันนี้ไม่มีองค์กรใดสามารถผูกขาดงานพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้กับฝ่ายตนได้แล้วไม่ว่าองค์กรนั้นจะเป็นฝ่ายรัฐ ฝ่ายเอ็นจีโอ หรือภาคธุรกิจ เพราะปัญหาวิกฤตโลกร้อนก็ดี วิกฤตทางสังคมก็ดี ไม่เคยปราณีใคร มนุษยชาติจะอยู่รอดต้องร่วมกันเผชิญชะตากรรมและร่วมกันแก้ปัญหา
ในเมืองไทย เอ็นจีโอเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดแนวทางการดูแลปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งก็มักจะเป็นปัญหาผลกระทบที่เกิดจากภาคธุรกิจและอำนาจรัฐ สิ่งนี้นับเป็นคุณูปการที่ใหญ่หลวงต่อสังคม แต่ปัจจุบันภาครัฐและภาคธุรกิจต่างมีการเรียนรู้และปรับตัวกันมากขึ้น ความเคลื่อนไหวด้าน CSR, ด้านประชาสังคม, ด้านการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม, ด้านธรรมาภิบาล ฯลฯ กำลังเกิดขึ้นแพร่หลายอย่างน่าจับตา
การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมได้ทำให้เกิดบุคลากรพันธุ์ผสม (Hybrid) มากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะได้เห็นข้าราชการจำนวนมากที่มีจิตสำนึกแบบประชาสังคม หรือนักธุรกิจและพนักงานเอกชนที่มีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม แม้แต่เอ็นจีโอจำนวนไม่น้อยก็ปรับตัวเรียนรู้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแบบภาคธุรกิจ
เอ็นจีโอในอดีตมักเป็นผู้ที่เคร่งครัดในจุดยืน วิธีคิด และวัตรปฏิบัติ จึงให้สามารถสร้างผลงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพอันแตกต่างจากภาครัฐและธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่าในความจริงนั้น เอ็นจีโอมักทำงานได้ในเฉพาะพื้นที่แคบ ๆ เพราะขาดแคลนเงินทุน ไม่มีโอกาสในการทำงานในขอบเขตที่กว้างขวาง ดังนั้นการฝึกฝนพัฒนาในด้านการบริหารจัดการเชิงระบบจึงมีความจำกัดอย่างยิ่ง
โชคไม่ดีที่เศรษฐีเมืองไทยและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศยังไม่มีค่านิยมในการบริจาคเงินทุนขนาดใหญ่เพื่ออุดหนุนการทำงานของเอ็นจีโอและองค์กรสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ แบบ วอร์เรน บัฟเฟต, บิลเกต, ร็อคกีเฟลเลอร์ หรือ จอร์จ โซรอส เท่าที่มีอยู่และกำลังเกิดขึ้นในบ้านเรากลับเป็นกระแสการตั้งมูลนิธิของบริษัทหรือวงศ์ตระกูลของตนเพื่อมาทำงานเสียเอง หรือไม่ก็ตั้งแผนกงาน CSR ขึ้นภายในองค์กรเสียเลยเพราะไม่ไว้ใจใคร แหล่งทุนสำหรับเอ็นจีโอไทยจึงแคบอย่างน่าเห็นใจ
ในวันนี้ ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องมีการเรียนและปรับตัวกันไปตามสภาพครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (22): เครือข่ายป่าชุมชนกับรางวัลลูกโลกสีเขียว"