ประสบการณ์ประชาสังคม (24): ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา (2546)

          ช่วงนั้นผมเริ่มมีงานเกี่ยวพันใกล้ชิดรองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งในรัฐบาลคุณทักษิณมากขึ้นเรื่อย ๆ   คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ    เริ่มจากงานชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด มาสู่เรื่องศูนย์ต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ   แล้วท่านก็ดึงผมเข้าไปช่วยเรื่องการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา

          พลเอกชวลิตท่านเป็นคนใจดี เป็นสุภาพบุรุษ    ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และพูดจาปากหวาน    สื่อมวลชนจึงมักเรียกท่านว่า “จิ๋วหวานเจี๊ยบ”
ที่ท่านให้ความสนิทสนมกับผมราวกับว่าคุ้นเคยกันมานาน   ผมเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะด้านหนึ่งผมกับอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมมีกิตติศัพท์ด้านงานชุมชน ซึ่งเมื่อได้ร่วมงานกับเราสองคนแล้วท่านรู้สึกวางใจได้ในความเป็นมืออาชีพ   อีกด้านหนึ่งอดีตท่านเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาร่วมรุ่นกับอาจารย์หมอประเวศ   วะสี และท่านก็ทราบดีว่าผมเป็นเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาซึ่งทำงานให้กับเพื่อนของท่านอยู่ด้วย

พูดถึงเรื่องการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ต้องยอมรับว่ารัฐบาลของพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมและประชานิยมอย่างคุณทักษิณและไทยรักไทย   เขาฉลาดที่จะจับเรื่องแบบนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์    โดยถึงกับตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแล มีภาคประชาชนร่วมทำงาน และรัฐบาลประกาศว่าพร้อมจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะให้อีกด้วย

          คณะกรรมการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา มีรองนายกฯ ชวลิตเป็นประธาน, คุณวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขานุการ และหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นผู้ช่วยเลขานุการ   เราทำงานกันอย่างสนุกสนานคึกคักมาก   ทางฝ่ายการเมืองเขาคาดหวังว่าเมื่อผมกับ LDI เข้าไปจับมือด้วย ย่อมหมายถึงข่ายงานชุมชนและภาคประชาสังคมทั้ง 3 จังหวัดโดยรอบทะเลสาบ คือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช จะเข้ามาร่วมการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่
          เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าร่วมฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา เป็นเพราะเราถือเป็นโอกาสของ LDI ที่จะได้ทดลองนำเอาทักษะการจัดการเชิงเครือข่ายและทุนทางสังคมเข้าร่วมแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่และเฉพาะประเด็นให้บังเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
          คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมที่มีคุณวีระเป็นประธาน และหมอพลเดช เป็นเลขานั้น สามารถดึงเอากลุ่มคนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมทำงานมากมาย รวมทั้ง สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์, จรูญ   หยูทอง, ญิบ พันจันทร์, วรรณชัย ไตรแก้ว, จตุพร   พรหมพันธุ์, โกเมศร์ ทองบุญชู, กาจ ดิษฐาพิชัย, แก้ว สังข์ชู  ฯลฯ
          แต่น่าเสียดายที่การสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาลคุณทักษิณเกิดแผ่วไปในช่วงรอยต่อการเลือกตั้ง 2548   ประกอบกับมีวิกฤตไฟใต้และพิบัติภัยสึนามิถล่ม   เมื่อเป็นดังนั้นผมจึงค่อย ๆ ถอยออกมา ปล่อยให้ เครือข่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกับส่วนราชการกันไปตามลำพัง
          ในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา มีบทเรียนรู้อะไร?
          1. การรณรงค์แก้ปัญหาท้องถิ่น
          โดยส่วนตัว    ผมมีประสบการณ์ในการรณรงค์ทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคมาก่อนเมื่อครั้งยังเป็นนักวิชาการควบคุมโรคประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกและสำนักงานควบคุมโรคติดต่อระดับเขตซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง
          การต่อสู้กับโรคระบาดก็เหมือนกับการทำสงคราม อาวุธที่เราใช้ไม่ใช่ปืนหรือระเบิดแต่เป็นความรู้ ข้อมูล มาตรการทางการแพทย์ และความร่วมมือจากสังคม การระบาดของโรคมีทั้งที่มาตามฤดูกาล (Seasonal Epidemic) ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในท้องถิ่น (Endemic) และที่เกิดจากการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)
          การรณรงค์ควบคุมและแก้ปัญหาโรคระบาดหรือปัญหาสาธารณสุขจึงเป็นบทเรียนรู้และแบบฝึกหัดที่ดีของนักเคลื่อนไหวสังคม เพราะต้องใช้ทั้งองค์ความรู้   การเคลื่อนไหวสังคม และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ    โดยมีสถิติการเจ็บป่วยและการตายของประชาชนเป็นตัวชี้วัดที่แม่นยำ งานแบบนี้จะใช้การชุมนุมประท้วงหรือก่อม็อบกดดันใด ๆ ก็ไม่เกิดผล
          ที่พิษณุโลกและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างเราเคยรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์อย่างได้ผลจนได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นระดับชาติในปี 2535 และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาแล้ว
          เราเคยรณรงค์ลดอุบัติเหตุจราจรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกโดยใช้มาตรการจำกัดความเร็วและตรวจวัดระดับแอลกฮอล์ในลมหายใจ   ร่วมกับการเคลื่อนไหวสร้างกระแสการมีส่วนร่วมของสังคมขนาดใหญ่ในท้องถิ่น จนสามารถลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจราจรและการตายของประชาชนลงได้มากกว่าร้อยละ 20 ภายในระยะเวลาเพียงแค่ปีเศษ เรื่องนี้นายอภัย จันทนะจุลกะ และคุณหมอปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขพิษณุโลกในขณะนั้น) ทราบดีครับ
          กรณีทะเลสาบสงขลาจึงเป็นประเด็นที่ผมสนใจและถือเป็นโอกาสในการร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมในภูมิภาค     ทดลองการเคลื่อนสังคมแก้ปัญหาเฉพาะในระดับพื้นที่    แต่คราวนี้ผมไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติเหมือนอย่างที่พิษณุโลก   จึงมีเป้าหมายส่วนตัวแค่เพียงว่าจะต้องมีแผนงานโครงการและงบประมาณที่แน่ชัดเพื่อเป็นเงื่อนไขให้พวกเราได้ลงมือปฏิบัติการและเรียนรู้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเท่านั้นก็พอใจแล้ว
          2.  คำที่ใหญ่เกินกลืน
          กระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชนและประชาสังคมรอบทะเลสาบสงขลาถือเป็นการถักทอความสัมพันธ์และสร้างเจตจำนงร่วมครั้งใหญ่ ซึ่งกระแสตอบรับและความตื่นตัวมีมากทั้งในระดับชุมชนฐานราก และชนชั้นกลางในเมือง นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ
          เสียดายที่ไม่มีโอกาสขับเคลื่อนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง   เพราะประชาคมรอบทะเลสาบที่เพิ่งก่อตัวนี้    ยังไม่ทันจะเข้มแข็งดีการส่งเสริมสนับสนุนก็ขาดช่วงไปเสียก่อน
          คงต้องยอมรับว่าประเด็นสาธารณะที่มีขนาดใหญ่อย่างทะเลสาบสงขลานี้เกิดจากความริเริ่มของฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล   เพราะว่าลำพังภาคประชาชนยังไม่มีความสามารถพอที่จะขับเคลื่อนในขอบเขตขนาดแบบนี้   หากเปรียบเทียบกับอาหารต้องถือว่าเป็น “คำ” ที่ใหญ่เกินกว่าที่ภาคประชาชนจะกลืนกันได้ด้วยตัวเอง   ดังนั้นเมื่อรัฐบาลลดความเข้มข้นในการสนับสนุนลง ความเคลื่อนไหวจึงฝ่อเหี่ยวไปในที่สุด
          อย่างไรก็ตาม พรรครัฐบาลคงได้คะแนนนิยมส่วนหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว
 
          3. ประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ
          ในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยชุมชนหรือการเมืองภาคพลเมืองในระดับพื้นที่นั้น สิ่งสำคัญคือการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นร่วมกันค้นหาประเด็นสาธารณะของท้องถิ่นและเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการลงมือแก้ไขปัญหาด้วยตนเองและด้วยกันเอง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยังประโยชน์ให้กับทุกคน เรียกว่ามีทั้งด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธกันเลยทีเดียว
          การเมืองเพื่อประชาชน ของประชาชน และโดยประชาชนแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในระดับชาติ แต่สามารถเกิดได้ในระดับชุมชนท้องถิ่น เพราะที่นั่นมักมีประเด็นสาธารณะที่เป็นรูปธรรมที่พวกเขาจับต้องได้   การเห็นพ้องต้องกันเกิดได้ง่าย   แรงต้านมีน้อยและอยู่ในวิสัยที่จัดการได้ไม่ยาก
          ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองโดยภาพรวมจึงควรส่งเสริมประชาธิปไตยที่ว่าด้วยสวนสาธารณะ  ทางจักรยาน สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ ขยะ น้ำเสีย ฯลฯ ซึ่งประชาชนและชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง และสะสมความสำเร็จเล็กๆ ขึ้นไปตามลำดับ
          การเมืองภาคพลเมืองในระดับพื้นที่ (ท้องถิ่นหรือชุมชน) มักเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคิดความเชื่อในทางลัทธิการเมือง   เพราะผลประโยชน์สาธารณะในท้องถิ่นเป็นสิ่งร่วมกันได้    ดังจะเห็นได้ว่าคนที่เคยร่วมในกิจกรรมฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาตอนนั้น    ในวันนี้ได้แยกกันไปเป็นสีแดง-สีเหลืองกันชัดเจนไปแล้วเมื่อเกิดปะทะกันในบริบทการเมืองระดับชาติ
          4. การบริหารจัดการที่งุ่มงาม
          ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่กระบวนการบริหารจัดการเชิงธุรการและการเงินของทางราชการไม่มีสิ่งใดเอื้อต่อการทำงานเลย   การเบิกจ่ายต่าง ๆ ติดขัดไปหมด ระบบระเบียบราชการไม่สามารถรองรับงานเชิงเคลื่อนไหวสังคมแบบนี้เลย    เดือดร้อนถึง LDI ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่หลวมตัวเข้าไปเป็นฝ่ายเลขานุการร่วม     เมื่อหวังผลงานเชิงคุณภาพ   เราจึงต้องควักเงินในกระปุกมาเป็นค่าใช้จ่ายไปก่อน   หนักเข้าค่าเดินทางของคุณวีระและทีมงานฝ่ายการเมืองยังต้องมาขอจากมูลนิธิ เล่นเอาพลเอกชวลิตถึงกับเอ่ยปากกล่าวกับคณะทำงานว่า “อายหมอพลเดชจริงเลย!”
          เช่นเดียวกับครั้งที่ผมได้หลวมตัวไปจัดกระบวนการเสนอแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คราวนั้น LDI หมดเงินไปล้านกว่าบาท
          จากบทเรียนทั้งสองโครงการนี้   ผมจึงทำหนังสือถึงรองนายกฯ ชวลิต   โดยเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “องค์กรมหาชนเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะสำหรับภารกิจแบบนี้ของรัฐบาล   จะได้ไม่ต้องอาศัยแต่หน่วยราชการเพียงช่องทางเดียว
          แต่ข้อเสนอนี้ ได้แว่วหายไปในสายลมครับ
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (24): ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา (2546)"

Leave a comment

Your email address will not be published.