ประสบการณ์ประชาสังคม (25): ศึกปุระชัย (2546-2547)

          รัฐบาลทักษิณมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใน ครม. บ่อยมาก ประมาณว่าทุกรอบ 2-3 เดือนเลยทีเดียว  รัฐมนตรีแต่ละคนจึงต้องอยู่ในภาวะที่ตื่นตัวและสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น CEO อยู่ตลอดเวลา   สไตล์การบริหารงานแบบนี้เรามักไม่เห็นในรัฐบาลสายอนุรักษ์นิยมหรือแม้แต่เผด็จการทหาร

          โดยธรรมชาติภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะต้องบริหารจัดการให้เกิดกำไรสูงสุด จึงมักมีลักษณะการบังคับบัญชาแบบเด็ดขาด เพราะมีชะตากรรมทางธุรกิจขององค์กรเป็นเดิมพัน   จะมัวประชาธิปไตยจ๋าอยู่ไม่ได้

          เมื่อ รตอ.ปุระชัย   เปี่ยมสมบูรณ์ ขยับจากเก้าอี้ รมว. มหาดไทยมานั่งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. แทนนายกรัฐมนตรีด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งและ เป็นเหตุให้ สสส. “งานเข้า” ในช่วงปี 2546-2547 ครับ

 
          เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อท่านมาเป็นประธาน สสส. ก็ปรากฎมีโครงการร่วมร้อยโครงการจากบรรดา สส. ไทยรักไทยและหัวคะแนนในพื้นที่เสนอมาขอรับทุนสนับสนุน   แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ สสส. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดต่าง ๆ โดยการหนุนหลังของผู้บริหาร   ยืนยันให้นำเข้าผ่านกระบวนการพิจารณาตามปกติ ซึ่งในที่สุดมีเพียง 1-2 โครงการเท่านั้นที่ได้รับการพิจารณาสนับสนุนทุน ด้วยเหตุนี้เล่นเอาประธานปุระชัยถึงขั้นควันออกหู   จากนั้นปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองกับ สสส.จึงเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ   จนสื่อมวลชนพากันติดตามรายงานข่าวเป็นที่ฮือฮามากในยุคนั้น
 
          ศึกครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มากสำหรับองค์กรเกิดใหม่อย่าง สสส.   เพราะข้อหาที่ฝ่ายการเมือง (ปุระชัยและนักการเมืองในเครือข่าย) ใช้โจมตีนั้นประมาณว่า “สสส.ไม่โปร่งใส มุบมิบให้ทุนแต่พรรคพวกเท่านั้น กรรมการชงเองกินเอง ผู้ทรงคุณวุฒิดีแต่หน้าฉากเนื้อในมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มุ่งทำลายองค์กรโดยตรง
 
          กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ส่วนหนึ่งทนไม่ไหว ที่ลุกขึ้นมาโต้ตอบอย่างเผ็ดร้อนช่วงนั้นมีทั้งประกิต เวทีสาทกกิจ, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, อุดมศิลป์   ศรีแสงนาม, ประเวศ วะสี ฯลฯ
 
          พวกเราเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับ สสส. จึงปรึกษากันและตัดสินใจ เคลื่อนตัวออกมาหนุนผู้ทรงคุณวุฒิในทันที   โดยมีพลเดช   ปิ่นประทีป และชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ เป็นหัวขบวน
 
          เราเชิญชวนเครือข่ายจากทั่วประเทศที่มาสัมมนาเชิงปฏิบัติการประจำปี 2546 ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนามาหารือสถานการณ์ สสส.  ซึ่งขุนพลภาคประชาสังคมจากภูมิภาคและส่วนกลางต่างมากันพร้อมหน้าดีแท้เพราะมีเรื่องร้อนเกิดขึ้น    อาจารย์ชัยวัฒน์ ออกแบบและดำเนินกระบวนการระดมความคิดโดยใช้เทคนิค AI   (Appreciative Inquiry)  ร่วมกับวิทยากรกระบวนการชั้นครู อีกหลายท่าน อาทิ : ทวีศักดิ์ นพเกษร, อนุชาติ พวงสำลี, ขวัญสรวง  อติโพธิ, เอนก นาคะบุตร ฯลฯ
 
          ในเวทีคราวนั้น มีการลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายที่จะปกป้องความเป็นอิสระและสร้างสรรค์ของ สสส. ซึ่งหมายความว่าเราพร้อมชนกับปุระชัยแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม    หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกเวทีการประชุมสัมมนาของเครือข่ายจะมีสื่อมวลชนมาเกาะติดและเสนอความเคลื่อนไหวและข้อคิดเห็นจากภาคประชาสังคมเพื่อนำไปพาดหัวข่าวปะทะกับฝ่ายการเมืองอย่างต่อเนื่องจนสถานการณ์ร้อนรุ่มไปหมด
 
          สุดท้ายเรื่องนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม ครม.   รองนายกฯ ปุระชัยให้ข้อมูลโจมตี ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และเครือข่ายอย่างรุนแรง รัฐมนตรีทุกคนนั่งเงียบไม่มีใครกล้าให้ข้อมูลที่โต้แย้ง เพราะยุคนั้นคุณปุระชัยเป็นทั้งเพื่อนซี้ของนายกฯ และเป็นผู้สร้างภาพลักษณ์ให้กับรัฐบาลในด้านความซื่อสัตย์สุจริต และเพิ่งมีผลงานการจัดระเบียบสังคมที่ลือลั่น
 
          จะมีก็แต่รองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสงเพียงคนเดียวเท่านั้นที่แสดงความเห็นแตกต่าง    พวกน้อง ๆ ในพรรคไทยรักไทยมาเล่าให้ผมฟังเป็นฉาก ๆ ในภายหลังว่าบรรยากาศที่ประชุม ครม. วันนั้นเป็นอย่างไร   ในที่สุดอีกไม่กี่วันถัดมา จึงเกิดการเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด สสส. จากปุระชัย มาเป็นจาตุรนต์แทน   เล่นเอาเรียกเสียงปรบมือเป่าปากจากภาคประชาสังคมกันขนานใหญ่
 
          เวลานั้น ผมมีงานร่วมกับรองนายกฯ จาตุรนต์อยู่ก่อนแล้วในหลายเรื่อง   ทั้งเรื่องแก้ปัญหาความยากจน (ศตจ.)   และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ดังนั้นทันทีที่เข้ามารับภารกิจ สสส. เขาขอร้องให้ผมทำข้อมูลเสนอแนะแนวทางการปรับปรุง สสส. โดยเร็วเพื่อให้ทันการประชุมนัดแรกที่จะไปนั่งเป็นประธาน   พร้อมกำชับว่า “จะให้ทำอะไรขอให้บอกมา”
 
          เสร็จศึกปุระชัยในคราวนั้นแล้ว เราประชุมสัมมนาเครือข่ายภาคประชาสังคมอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2547 ที่ชะอำ เพชรบุรี เพื่อสรุปบทเรียนและประกาศจังหวะก้าวในการกระชับการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมทั่วประเทศ     โดยตั้งสมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมเข้มแข็ง (สxส) เป็นกลไกรองรับ
 
          เราได้บทเรียนรู้สำคัญอะไรบ้างจากศึกครั้งนั้น
 
          1. พ้นวิกฤติการเมืองด้วยพลังเครือข่าย
          ในช่วงนั้น สสส.ยังไม่เป็นที่รู้จักทั่วไปของสังคมเพราะเพิ่งเริ่มจัดตั้งและทำงานได้เพียง 2 ปี ในขณะที่พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลขณะนั้นมีเสียงสนับสนุนจากนโยบายประชานิยมอยู่ทั่วประเทศ   กุมเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนและวุฒิสภา   นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนส่วนใหญ่และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จจากราชการได้เรียบร้อยแล้ว   การเผชิญหน้ากับฝ่ายการเมืองที่แข็งแกร่งเช่นนั้นเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง
 
          ด้วยการลุกขึ้นมาของพลังเครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศ เมื่อผนึกกับพลังบารมีกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิผู้ใหญ่ของ สสส. มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องนำเรื่องความขัดแย้งนี้เข้าหารือในที่ประชุม ครม.
 
          โชคดีที่คุณทักษิณเลือกที่จะถอยไปเสียก่อน   เข้าใจว่าท่านคงชั่งใจแล้วเห็นว่า ได้ไม่คุ้มเสีย   ทั้ง ๆ เขาที่อยู่ในวิสัยที่จะหักดิบเข้ายึด สสส.ได้ไม่ยาก
 
          ทุกวันนี้ สสส. เป็นที่รู้จักของสังคม มีแบรนด์ที่โดดเด่น เครือข่ายผู้รับทุนและร่วมกิจกรรมมีความกว้างขวางและหลากหลายมากกว่าเดิมมาก คงเป็นการยากแล้วที่นักการเมืองจะเข้ามาคุกคามได้อย่างแต่ก่อน   แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท และพึงสังวรอย่างยิ่งว่า เครือข่ายผู้รับทุนจาก สสส.นั้นไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ได้    เพราะธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้ทุนกับผู้รับทุนนั้นเปราะบางมาก  การบริหารเงินกองทุนแบบนี้ทำดีก็มีคนรักได้มาก ทำไม่ดีก็มีคนเกลียดได้เยอะ   ซึ่งกองทุนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักมีชะตากรรมแบบหลังเสียด้วย
 
          2. สสส. ขาดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่
          ความรู้ความเข้าใจและทัศนคติความเชื่อที่ว่าด้วยชุมชนท้องถิ่น   เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าจะเกดขึ้นโดยง่าย เพราะต้องทำการศึกษาเรียนรู้และหล่อหลอมจากการปฏิบัติจริง   ดูภายนอกเหมือนว่า สสส.น่าจะเป็นองค์กรที่รู้ ศรัทธา และมียุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
 
          เมื่อคุณจาตุรนต์ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลแทนนายกรัฐมนตรี ผมได้เสนอใส่มือท่านไปว่า สสส.ต้องทำ Area-Based เพราะจะสามารถขยายพันธมิตรท้องถิ่นได้ จะป้องกันไม่ให้ถูกเรียกร้องจากนักการเมืองพื้นที่ และตอบโจทย์รัฐบาลกับรัฐสภาได้ง่ายขึ้น
          เข้าใจว่าแกคงผลักดันไม่สำเร็จ หรือไม่ก็มีระยะเวลาทำงานที่สั้นเกินไป   รวมทั้งขาดกุนซือ จึงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ทุกวันนี้ สสส. ยังคงไม่มีงานยุทธศาสตร์พื้นที่อยู่เช่นเดิม   ทั้ง ๆ ที่ สสส.มีอายุเกือบครบรอบ 1 ทศวรรษแล้ว
 
          3. เสร็จนาฆ่าโคถึก? เป็นเพียงข่าวลือ
          หลังศึกปุระชัย มีมูลนิธิและสถาบัน 2-3 แห่งที่โชคร้าย กลายเป็นองค์กรที่ สสส.ต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างมากในการพิจารณาทุนสนับสนุนเนื่องจากเป็นองค์กรที่ถูกฝ่ายการเมืองกลุ่มเดิมใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตี สสส. ตลอดมา จนทำให้ผู้บริหารเกิดความหวาดหวั่น
 
          สาเหตุลึก ๆ นั้นมิอาจหยั่งรู้ความคิดจิตใจของฝ่ายบริหารและบุคลากรของ สสส.ได้   แต่สภาพเช่นนี้   คนในเครือข่ายพื้นที่เขากล่าวขานสืบต่อกันมาจนเป็นตำนานไปแล้ว   เข้าทำนอง “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”
 
          ข่าวลือแบบนี้ต้องฟังหู ไว้สองหูนะครับ
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (25): ศึกปุระชัย (2546-2547)"

Leave a comment

Your email address will not be published.