ประสบการณ์ประชาสังคม (26): ไฟใต้ระลอกใหม่ (2547)

          กรณีการปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนา   บ้านปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นสัญญาณการลุกโหมของไฟใต้ระลอกใหม่    ภายหลังจากที่ได้สงบลงไปแล้วเกือบสิบปี

           ผมเอง   ก่อนหน้านั้น   ไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนเลย เพราะไม่ใช่คนใต้ และตอนที่เริ่มทำงานถักทอเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะเกิดแจ๊คพ็อตในพื้นที่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม LDI มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเครือข่ายทุกพื้นที่และทุกรูปแบบ
          ภายหลังเกิดเหตุการณ์ได้ 2-3 สัปดาห์   เรามีการประชุมผู้ประสานงานประชาคมจังหวัดภาคใต้ในโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จัดที่สุราษฎร์ธานี วันนั้นทีมงานจากนราธิวาสและปัตตานีขอคุยกับผมเป็นการส่วนตัว พวกเขาช่วยกันประเมินสถานการณ์ไฟใต้ให้ฟังอย่างตรงประเด็น พร้อมย้ำว่า “เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ธรรมดา”  พร้อมขอร้องให้ผมสื่อสารและหารือกับอาจารย์ผู้ใหญ่   ขอให้เคลื่อนตัวออกมาช่วยพี่น้องชายแดนภาคใต้ที
          และเป็นที่มาของการจัดเวที “ศานติธรรมรวมใจ ดับไฟใต้ด้วยปัญญา”   ในวันที่ 7 มีนาคม 2547 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อส่งสัญญาณการขับเคลื่อนสังคมให้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาโดยไม่ปล่อยให้รัฐบาลและกลไกราชการจัดการแต่เพียงลำพัง และทำให้ผมต้องเริ่มสนใจและผูกพันตัวเข้ามาสู่ประเด็นปัญหาไฟใต้ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง และบาดลึกนับแต่นั้น
          ในระหว่างการเตรียมเวทีดังกล่าว   มีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมผ่านสื่อมวลชนออกไปเป็นระลอก และด้วยความบังเอิญก่อนถึงวันงานเพียงแค่สัปดาห์เดียว   ได้เกิดเหตุทนายสมชาย นีละไพจิตหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ   ข่าวนี้ยิ่งทำให้เวทีของเราเป็นที่สนใจจากสาธารณชนมากขึ้นไปอีก   ถึงขนาดที่เมื่อนักข่าวไปถามคุณชวน หลีกภัย   อดีตนายกรัฐมนตรีคนใต้    ท่านแนะนำผ่านสื่อว่า “รัฐบาลควรฟังข้อเสนอแนะจากเวทีผู้ทรงคุณวุฒิ”
          ส่วนอีกด้านหนึ่ง นายกฯ ทักษิณประกาศดับไฟใต้ด้วยการทุ่มงบประมาณพัฒนา 20,000 ล้านทันที แต่กระแสสังคมและสื่อมวลชนพากันท้วงติงว่าใช้เงินแก้ปัญหาแบบนั้น แน่ใจหรือว่าจะถูกทาง?    ในที่สุดรัฐบาลจึงมอบหมายให้นายจาตุรนต์   ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีด้านงานพัฒนาลงไปรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาคมที่หลากหลายในท้องถิ่นเสียก่อน   ก่อนที่จะอนุมัติงบประมาณงานพัฒนาที่ว่านั้น
          คราวนั้นผมได้รับการร้องขอให้เข้าไปช่วยกระบวนการรับฟังความเห็นประชาคมดังกล่าวด้วย คณะทำงานของคุณจาตุรนต์มีประมาณ  10  คน  อาทิ : จาตุรนต์ ฉายแสง, พลเดช ปิ่นประทีป, สุรชาติ   หนุนบำรุงสุข, เกรียงกมล   เลาหไพโรจน์, วรรณชัย   ไตรแก้ว, กุลชีพ วรพงษ์,  ยงยุทธ์   วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ฯลฯ     พวกเราลงพื้นที่รับฟังกลุ่มต่าง ๆ รวม 14 ครั้ง     แต่ละครั้งมีการประมวลข้อมูลความคิดเห็นเป็น 2 ทางคู่ขนานกัน    ทางหนึ่งผมทำหน้าที่บันทึก อีกทางหนึ่งเป็นทีมเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดทำ   เมื่อเสร็จจากเวทีรับฟังแล้วจึงนำข้อมูลมาสรุปและทำการสังเคราะห์เป็นบทรายงานและข้อเสนอ นำเรียนนายกรัฐมนตรี
          บทรายงานของจาตุรนต์ในครั้งนั้น    มีข้อเสนอยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนว่า ”ให้เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งคุ้มครองประชาชน   โดยทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ผดุงรักษาความสงบสุขด้วยสายสัมพันธ์และมิตรไมตรีที่มีต่อกัน ปรับปรุงระบบราชการและกลไกภาครัฐโดยเร่งด่วน    ส่งเสริมให้มีการยอมรับและเคารพในความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมและใช้ศักยภาพของสังคมที่มีความหลากหลายนี้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” ซึ่งเป็นที่ฮือฮาของสื่อมวลชนมาก และได้รับความชื่นชมจากสังคมอย่างกว้างขวาง   ในฐานะที่เป็นข้อเสนอที่มีความก้าวหน้าในทางเนื้อหาสาระและมีความกล้าหาญที่เสนอแนวทางอันแตกต่างจากความเชื่อของนายกรัฐมนตรี
          นอกจากนั้นยังนำเสนอนโยบายและมาตรการดำเนินการรูปธรรมได้แก่ มาตรการสร้างความปลอดภัยและยุติความรุนแรง 14 ประการ, มาตรการด้านการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม 7 ประการ, มาตรการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา 3 ประการ และมาตรการด้านการปฏิบัติต่อแรงงาน 3 จังหวัดในประเทศเพื่อนบ้านอีก 1ประการ
          เสร็จจากกระบวนการรับฟังแล้ว    ผมได้ทำบันทึกถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ   รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลปัญหาไฟใต้โดยทันที โดยเสนอว่าเพื่อให้การอนุมัติงบประมาณพัฒนาของรัฐบาลมีความสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านจริง   ผมจะขอจัดกระบวนการทำแผนของภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลได้ใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนและผมจะใช้เงินของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) เป็นค่าใช้จ่ายทุกอย่างเอง   ท่านเห็นชอบและจึงสั่งการให้สภาพัฒน์ฯ รอผลจากภาคประชาชนก่อน
          เมื่อทางเปิดแล้ว  LDI กับเครือข่ายภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัด จึงร่วมกันใช้ศักยภาพในการบริหารจัดการในเชิงระบบ    ขับเคลื่อนกระบวนการอย่างรวดเร็ว โดยทำเวทีระดมความคิดตระเวนไปใน  33 อำเภอรวม 45 ครั้งและสังเคราะห์เป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคประชาชน   เราสามารถนำเสนอต่อรองนายกฯ จาตุรนต์และสภาพัฒน์ฯ ได้ทันเวลาพอดี   ผลงานของภาคประชาชนครั้งนั้นเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นแผนที่มีคุณภาพน่าพอใจอย่างยิ่ง
          อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วแผนงาน/โครงการของภาคประชาชนได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 94โครงการ   วงเงิน 1,364 ล้านบาท     แต่ทว่างบประมาณทั้งหมดดังกล่าวต้องบริหารจัดการโดยหน่วยงานภาครัฐ  กระทรวงต่างๆ เท่านั้น   ประชาชนไม่อาจรับการสนับสนุนโดยตรงได้ ซึ่งในเวลาต่อมาก็พบปัญหาโลกแตกคือหน่วยราชการที่ได้รับงบประมาณตามโครงการที่ภาคประชาชนคิดนั้น   ขาดความเข้าใจและจิตสำนึกที่จะร่วมทำงานแบบที่ถือภาคประชาชนเป็นภาคี จึงพากันบริหารโครงการแบบราชการตามเดิม   เป็นผลให้ประชาชนโกรธเคืองกันมาก   ถึงกับแกนนำบางคนได้ออกปากทำนายว่า พรรคไทยรักไทยคราวนี้เสียแต้มไปอย่างแรงและน่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือไม่   ผลการเลือกตั้ง’48 ไทยรักไทยไม่ได้ สส. แม้แต่คนเดียวในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ
          LDI ได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับไฟใต้ระลอกใหม่ ในคราวนั้น:
          1. การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ถูกจังหวะ
          เวทีเครือข่ายวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ : “ศานติธรรมรวมใจ ดับไฟใต้ด้วยปัญญา” ที่เราก่อตัวขึ้นอย่างทันเหตุการณ์ในช่วงนั้น   ถือเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมมาก    สังเกตได้จากกระแสความสนใจของสังคม ทั้งช่วงก่อน ระหว่างและหลังกิจกรรม รวมทั้งจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้สนใจที่เข้าร่วมเวทีอย่างมากหน้าหลายตาซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ : ท่านปัญญานันทะภิกขุ, เสม พริ้งพวงแก้ว, ผู้แทนจุฬาราชมนตรี, ผู้แทนพระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย  กิจบุญชู, อัมพร มีสุข, ประเวศ   วะสี, อิมรอน   มะลูลีม, วินัย  สะมะอูน, สุมน   อมรวิวัฒน์,  อัฮหมัดสมบูรณ์   บัวหลวง,  เสน่ห์ จามริก, อารีย์ วัลยเสวี,พิชัย รัตนพล, จิราพร บุนนาค, โสภณ สุภาพงษ์, ชัยวัฒน์   ถิระพันธุ์, วสันต์ ภัยหลีกลี้, สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, อำพล จินดาวัฒนะ, สุภกร บัวสาย ฯลฯ
          ตอนท้ายการประชุม กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิได้ออกคำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ ความตอนหนึ่งว่า …. “เครือข่ายวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ มีเจตนารมณ์ที่จะเคลื่อนไหวสังคมเข้าร่วมแก้ปัญหา โดยมีความเชื่อมั่นว่าการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้ จำเป็นต้องใช้แนวทางแห่งสันติวิธีเป็นด้านหลัก คือการเอาชนะความรุนแรงด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง และเห็นว่าทิศทางการพัฒนาชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนนั้น   ควรต้องยึดถือแนวทางการเสริมสร้างเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสำคัญ”
          การตัดสินใจเคลื่อนไหวสังคมครั้งนั้นเกิดจากข้อมูลสายตรงจากเครือข่ายในพื้นที่และการประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง    ผนวกกับความพร้อมในการเคลื่อนไหวเวทีระดับชาติของ LDI ประกอบกัน   ในเวลานั้นสถาบันทางวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ ยังไม่ทันขยับตัว
          ไม่ว่าจะเกี่ยวกับข้อเสนอจากเวที   คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายหรือบทสัมภาษณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิในงานวันนั้นหรือไม่ก็ตาม สัปดาห์ต่อมารัฐบาลมีคำสั่งเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบระดับสูงชุดใหญ่ทั้งทหาร   ตำรวจและฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง
          2. วิชาการและความเป็นมืออาชีพ
          อันที่จริงรัฐบาลที่เข้มแข็งอย่างคุณทักษิณ   เขาจะตัดสินใจเดินหน้าแก้ปัญหาไฟใต้ตามแบบฉบับของเขาคงไม่มีใครขัดได้    แต่เขาฉลาดพอที่จะสร้างคะแนนนิยมด้วยการรับฟังข้อท้วงติงจากสังคมและสื่อมวลชนโดยเลือกใช้บทบาทของคุณจาตุรนต์ ฉายแสงไปรับความคิดเห็นของชาวบ้าน   ซึ่งในภาวการณ์แบบนี้ฝ่ายการเมืองอย่างจาตุรนต์จึงต้องหาเพื่อนช่วย
          บังเอิญว่าเวลานั้น LDI ได้ร่วมงานกับรัฐบาลคุณทักษิณมาแล้วระยะหนึ่ง จนเกิดความคุ้นเคยกัน   แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ LDI มีทักษะในงานทางวิชาการและเทคนิคกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองเขากำลังต้องการอยู่พอดี
          ในกระบวนการทำงานร่วมกันกับนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานพัฒนาของรัฐนั้น บุคลากรภาคประชาสังคมจะต้องแสดงบทบาทให้เป็นที่ยอมรับทั้งในเชิงเนื้อหาสาระและความรวดเร็วแม่นยำ   มิเช่นนั้นจะกลายเป็นผู้ไม่มีตัวตน เพราะพวกเรามีแต่สองมือเปล่า    ส่วนข้าราชการเขามีทั้งอำนาจหน้าที่และทรัพยากรงบประมาณ
          จากงานนี้ เราได้เรียนรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรภาคประชาชน จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการและการบริหารจัดการเชิงระบบอย่างจริงจัง
          3. การลงทุนลงแรงสร้างบทบาทภาคประชาชน
          กระบวนการจัดเวทียุทธศาสตร์ภาคประชาชน 45 เวทีนั้นเป็นการเคลื่อนตัวขนาดใหญ่และมีผลกระทบอย่างมาก ทั้งในระดับพื้นที่และต่อรัฐบาล
งบพัฒนาตามข้อเสนอของภาคประชาชนที่หน่วยงานกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินการและสร้างความล้มเหลวไปแล้วนั้นยังค้างคาอยู่ในใจชาวบ้านตลอดมาเพราะพวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของ   เรื่องนี้ได้กลายเป็นตำนานอย่างหนึ่งของพื้นที่ไปเลย
          การช่วงชิงโอกาสในการขับเคลื่อนเครือข่ายในคราวนั้น LDI เล็งเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะทำให้การถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคน กลุ่ม องค์กรในพื้นที่เกิดการก้าวกระโดด และบังเอิญว่า LDI อยู่ในวิสัยที่จะมีทุนทรัพย์พอที่จะตัดสินใจขับเคลื่อนได้ทันทีซึ่งเป็นข้อยกเว้น   เพราะเอ็นจีโออื่นอาจไม่พร้อมแบบนี้
          ในการติดตามสนับสนุนกิจกรรมโครงการตามข้อเสนอของภาคประชาชน   กองทัพภาคที่ 4 จึงร่วมกับ LDI และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่นั่น ดำเนินโครงการติดตามประเมินผลโครงการต่าง ๆ ในภาพรวม เราตั้งสำนักงานโครงการอยู่ในบริเวณ มอ.ปัตตานี ใช้ชื่อว่า “สำนักพัฒนาประชาสังคม”   มีบุคลากรและอาสาสมัครในเครือข่ายมาร่วมกันทำงานอย่างคึกคักและมีความหวัง     แต่ในที่สุดก็ได้พบบทเรียนที่เจ็บปวดอีกบทหนึ่ง   เนื่องจากระบบระเบียบของทางราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของภาคประชาชนไปเสียเกือบทุกด้าน
          เราได้เรียนรู้ว่าถึงเวลาที่ระบบราชการจะต้องปฏิรูประบบระเบียบครั้งใหญ่ หากประสงค์จะก้าวไปข้างหน้าร่วมกับประชาชนในยุคต่อไป
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (26): ไฟใต้ระลอกใหม่ (2547)"

Leave a comment

Your email address will not be published.