ผลจากการหารือกันระหว่างผู้ใหญ่ 4 ท่าน เมื่อตอนจบโครงการถักทอพลังชุมชนพลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติดฯ ทำให้รัฐบาลออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 271
และ 272/2546 เรื่อง การดำเนินการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน และจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 โดยมอบหมายให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นหัวเรือใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมที่เข้าไปเกี่ยวข้องมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นที่ปรึกษา, พลเดช ปิ่นประทีป เป็นกรรมการ และไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
ต่อมา ศตจ.ได้ตั้งกลไกอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนงานหลัก 5 ประเด็น
1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ
มีรองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน, ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นเลขานุการ
2. คณะอนุกรรมการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการประกอบอาชีพและที่อยู่อาศัย
มีรองนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน, ปลัดสำนักนายกฯ เป็นเลขานุการ
3. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินคนยากจน มีรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน, ปลัดกระทรวงการคลังเป็นเลขานุการ
4. คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การศึกษา กฎหมาย ระเบียบและวิธีการปฏิบัติ มีรองนายกรัฐมนตรี นายโภคิน พลกุล เป็นประธาน, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเลขานุการ
5. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรองประธาน, พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขานุการ
เมื่อคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ที่ประชุมศตจ.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการทุกชุดเร่งจัดทำแผนงานและกรอบงบประมาณ ส่งมอบให้กองเลขานุการร่วมของ ศตจ.เพื่อการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล
คณะอนุกรรมการฯชุดของเราทำงานอย่างคล่องตัวและขยันเป็นพิเศษ เพราะไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก นัดหมายกันง่ายและเรามีความเชื่อพื้นฐานร่วมกันเป้นทุนเดิมอยู่แล้วว่า “ชุมชนเข้มแข็ง คือ พลังแผ่นดิน คือพลังศีลธรรม”
ชุมชนเข้มแข็งในความหมายของเราคือ “ชุมชนที่มีผู้คนรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีภาวการนำ มีการร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ปัญหา มีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในด้านต่างๆ”
“กระบวนการแผนแม่บทชุมชน เป็นกระบวนการวิจัยและพัฒนาโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน(ประชาพิจัย) เป็นกระบวนการเรียนรู้ วางแผน และนำไปสู่การจัดการตนเองได้ เป็นวิธีการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องประเด็นต่างๆ ทั้งในการแก้ปัญหาหนี้สิน ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหายาเสพติด และปัญหาความยากจน”
เราจึงมีมติว่า : ขบวนการชุมชนเข้มแข็ง และขบวนการแผนแม่บทชุมชนเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนภาคประชาชนเพื่อเอาชนะความยากจนอย่างยั่งยืน(25 กพ.2547)
และกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานของภาคประชาชนเอาไว้ 7 ประการ ได้แก่
1. สนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน
เพื่อการพัฒนาระบบวิสาหกิจชุมชนระดับตำบล และเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ
2. การถักทอระบบสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาล
เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชนและสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่
3. การวิจัยและพัฒนาโดยใช้พื้นที่จังหวัดเป็นตัวตั้ง
เพื่อส่งเสริมสัมมาชีพ และเทคโนโลยีพึ่งตนเองของชาวบ้านอย่างทั่วถึง
4. ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
เพื่อเพิ่มโอกาสแก่คนยากจนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
5. สื่อสารสาธารณะ
เพื่อสร้างความเข้าใจ เจตนารมณ์ และความเชื่อมั่นร่วมกันของสังคมไทยในการเอาชนะความยากจน
6. การแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่เฉพาะ
เพื่อเอาชนะความยากจนในพื้นที่ที่มีความยากลำบากและเสี่ยงภัย(จชต.)
7. การบริหารจัดการ
เพื่อประสานสนับสนุนความเคลื่อนไหวภาคประชาชนทั่วประเทศให้สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และเอกภาพ
เมื่อแนวคิดแนวทางชัดเจนดังนี้ ประกอบกับการเร่งรัดจาก ศตจ.ให้จัดทำแผนงานและงบประมาณ อาจารย์หมอประเวศ จึงมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯยกร่างแผนงาน เพื่อนำเข้าที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งมอบศตจ. พร้อมกำชับว่า “ต้องทันเวลานะ”
ผมและ LDI ในฐานะกองเลขาฯ จึงเชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนมาร่วมกันทำงานแข่งเวลา คณะทำงานทั้ง 6 ชุดที่ตั้งขึ้นทำงานกันอย่างคึกคักมีชีวิตชีวามาก ในที่สุดเราได้ส่งมอบกรอบแผนงาน 3 ปี ให้กับศตจ.เป็นคนแรกโดยที่คณะกรรมการชุดอื่นๆยังไม่ทันขยับไปไหนเลย
น้องๆในกองเลขานุการร่วมของพลเอกชวลิต กระซิบบอกผมว่า “แผนงานของพี่หมอยอดเยี่ยมมาก รองนายกฯที่ดูแลคณะอนุกรรมการชุดต่างๆต้องเร่งทำงานกันใหญ่ เพราะถูกภาคประชาชนแซงหน้าไปแล้ว”
แผนงานสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนฯ ประกอบด้วย 7 แผนงาน 21 โครงการ กรอบงบประมาณ 2,500 ล้าน ในระยะเวลา 3 ปี อย่าไปเปรียบเทียบกับแผนของอนุกรรมการชุดอื่นเพราะกระทรวงต่างๆ เขาขอกันเป็นหมื่นล้านเลยครับ
เสร็จจากทำแผนแล้ว พวกเราประกาศตั้ง “ศูนย์ประสานสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน” โดยขั้นต้นตั้งสำนักงานอยู่ที่ LDI และใช้ชื่อย่อให้สอดคล้องกันว่า “ศตจ.ปชช.” ในตอนหลังศูนย์นี้ได้ย้ายฐานไปที่ พอช. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่เข้ามารับช่วง
สาเหตุหนึ่งที่ผมต้องเร่งทำแผนส่งมอบศตจ.นั้น เป็นเพราะเวลานั้นเกิดไฟใต้ระลอกใหม่ขึ้นแล้ว และผมต้องใช้เวลาวิ่งขึ้น-ล่องจชต.ร่วมกับคณะของรองนายกฯ จาตุรนต์ รวมทั้งไปขับเคลื่อนกระบวนการทำแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจชต. เสนอพลเอกชวลิต
งานที่จชต.ทำให้ผมต้องขาดการประชุมศตจ.ไป 3 เดือน กลับมาอีกครั้งเมื่อมีการประชุม ศตจ.ใหญ่เพื่อพิจารณางบประมาณของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ปรากฏว่าแผนงานของภาคประชาชนที่ผมเสนอไปก่อนเพื่อนได้ถูกมือดีเปลี่ยนเนื้อในโดยยังคงกรอบงบประมาณไว้ตามเดิม
ได้เรื่องสิครับ ผมท้วงติงอย่างรุนแรงในที่ประชุมศตจ.ซึ่งพลเอกชวลิต นั่งเป็นประธาน
“ท่านประธานครับ ผมเพิ่มเห็นว่าแผนงานของภาคประชาชนที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ไม่ใช่ฉบับที่ฝ่ายเลขานุการของอนุกรรมการฯเสนอมา ที่จริงเหมือนกันทุกอย่างรวมทั้งกรอบงบประมาณ แต่เนื้อในถูกเปลี่ยน เสมือนหนึ่งว่าเราส่งภาพวิวทิวทัศน์เข้ามา ตอนออกไปก็เป็นภาพเหมือนกัน แต่เป็นภาพลูกแมวสามตัวครับ!”
เล่นเอาวงแตกเลย ที่ประชุมฮือฮาปั่นป่วนกันพักใหญ่ แต่ในที่สุดประธานได้หาทางออกโดยของให้ภาคประชาชนนำกลับไปช่วยกันดูอีกที พี่ไพบูลย์และผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนพากันตกตะลึงที่จู่ๆหมอพลเดช โยนระเบิดกลางที่ประชุมวันนั้น
ผมทราบภายหลังว่าทีมงานพอช.ของพี่ไพบูลย์เองนั่นแหละเป็นคนไปเปลี่ยนโดยไม่บอกให้ผมรู้ พี่ไพบูลย์เองก็ได้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังเช่นกัน จากวันนั้นเป็นต้นมา ผมหยุดบทบาทในศตจ.ปชช.และอนุกรรมการฯลงไปเลย ปล่อยให้พอช.ว่ากันไปตามถนัด ทางใครทางมัน
ประสบการณ์ครั้งนั้นมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ :
1. บทบาทเอ็นจีโอพันธุ์ทาง
ในการทำงานร่วมกับภาครัฐและรัฐบาลที่มีทั้งข้าราชการ ผู้บริหาร และนักการเมืองเข้ามานั่งอยู่ในองค์กรเชิงเครือข่าย (Networking Organization) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์นั้น บุคลากรของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมควรต้องปรับตัวและแสดงบทบาทอย่างทรงคุณวุฒิจึงจะสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของตน และสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของขบวนการ (Movement)
ภาวะแบบนี้ บุคลากรเอ็นจีโอแบบดั่งเดิมมักมีข้อจำกัด แต่เอ็นจีโอพันทาง(Hybrid) แบบพวกเราถนัดกว่า
ในสายงานกระทรวงสาธารณสุขมีวิวัฒนาการด้านรูปแบบและวิธีการทำงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งเริ่มขับเคลื่อนงานสาธารณสุขมูลฐานเมื่อ 30 ปีก่อนหรือก่อนหน้านั้น บุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากเป็นข้าราชการที่มีจิตสำนึกประชาสังคม และปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานของภาคประชาชนจนเป็นปกติวิสัย คนเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านประชาชนและด้านราชการเป็นอย่างดี จึงสามารถแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อม(Bridging Leadership) ได้อย่างดี
LDI เป็นมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นเอ็นจีโอ แต่ก็มีข้าราชการมาช่วยงานแบบอาสาสมัครด้วย โดยเฉพาะในระดับบริหารจึงมีลักษณะการทำงานแบบองค์กรพันธุ์ทางอยู่มาก
ในการประชุมศตจ.ช่วงแรก LDI ทำหน้าที่ในการจัดทำเอกสารวิชาการและการนำเสนอเพื่อปรับแนวคิดสร้างความเข้าใจร่วมกันของคณะกรรมการที่มีทั้งนักการเมือง และข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงต่างๆ การที่ได้ทำงานร่วมกับสภาพัฒน์และสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างสมบทบาทมีส่วนช่วยเสริมสร้างเครดิตของขบวนการภาคประชาชนได้ไม่น้อย
2. แย่งชิงการนำ ทำให้ตกหลุมพราง
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่บางครั้งภาคประชาชนไม่สันทัดในการมองภาพใหญ่และเคลื่อนยุทธศาสตร์ไม่เป็น บ่อยครั้งติดนิสัยคิดเล็กคิดน้อยและแบ่งพรรคแบ่งพวก บทเรียนจาก ศตจ.ปชช.เป็นตัวอย่างที่น่าเรียนรู้
เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีความพยายามที่จะดึงบทบาทการขับเคลื่อนไปไว้ที่อื่น จึงยุให้ผู้ใหญ่ของ LDI กับพอช.ผิดใจกัน เหตุการณ์ที่เล่ามาจึงเกิดขึ้น
ภาษานักเคลื่อนไหวเขาเรียกกันว่าแย่งชิงการนำ
การที่ผมหลีกทางออกมาจากศตจ.ปชช. และคอยหนุนพวกเขาอยู่วงนอกก็เพราะมีสติรู้ตัว และตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์เพื่อรักษาขบวนในภาพรวม ไม่ยอมตกลงไปหลุมพรางแห่งมิจฉาทิฐิ
3. ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ
เมื่อ LDI หมดภาระหลุดมาจาก ศตจ.ปชช.แล้วทำให้ผมสามารถขับเคลื่อนภารกิจอื่นๆได้อย่างหายห่วง โดยเฉพาะงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องช่วยหนุนเสริมทั้งรองนายกฯชวลิต และจาตุรนต์ อย่างใกล้ชิด
ในที่สุดอีก 2 ปีต่อมา พลเอกชวลิต ผู้อำนวยการศตจ.ได้มาขอร้องให้ผมไปช่วยดูแลปัญหาความยากจนในจชต. อีกภารกิจหนึ่ง ท่านแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศตจ.จชต.) ขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยให้พลเอกวิชิต ยาทิพย์ รองผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน และหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขานุการ
ท่านปรารภกับผมว่า…”ถ้าให้หมอพลเดช ทำแผนแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่เสียตั้งแต่คราวนั้น หลายอย่างคงจะดีขึ้นกว่านี้มาก”… แสดงว่าท่านยังจำได้แม่นว่าในแผนงานที่ผมเสนอครั้งนั้นได้เตรียมการเรื่องงานชายแดนใต้เอาไว้แล้ว
ศตจ.จชต.ทำงานกันได้เพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น เกิดการเปลี่ยนใหญ่ทางการเมืองขึ้นเสียก่อน
พลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน นำคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(คปค.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549
และครั้งนั้น มีชื่อพลเอกวิชิต ยาทิพย์ เป็นผู้รับผิดชอบศูนย์บัญชาการของคปค.ครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (27) : ศตจ.ปชช.(2547)"