ประสบการณ์ประชาสังคม (3) : “องค์กรยืดหยุ่น 2542”

       วันที่รับมอบภารกิจจากอาจารย์หมอประเวศ   วะสี ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนานั้น ผมแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรและบุคลากรของ LDI ต่อเมื่อได้สำรวจทุนภายในเป็นเบื้องต้นจึงรู้ว่าการบริหารงานคงไม่ง่ายอย่างที่คิด

          เมื่อก่อนผมเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนของรัฐที่มีเจ้าหน้าที่ 100 คนเศษ งานโรงพยาบาลมีภารกิจให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่   ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน จะมีงานพัฒนาชุมชนบ้างก็เป็นงานพัฒนาด้านสุขภาพอนามัยตามวิชาชีพของพวกเรา 

มีงานทางสังคมอยู่บ้างมักเป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในท้องถิ่นและขอความร่วมมือสนับสนุนกิจการโรงพยาบาลซึ่งหากว่าโรงพยาบาลดูแลชาวบ้านดี ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีเป็นการตอบแทน    อยากได้เครื่องมือแพทย์ที่งบประมาณแผ่นดินไม่อาจให้ได้ อยากสร้างตึกเพื่อดูแลคนไข้ซึ่งต้องรอคิวงบประมาณอีกนานมาก อยากขยายพื้นที่โรงพยาบาลออกไปจากความคับแคบแออัด ฯลฯ เหล่านี้เพียงแค่บอกชาวบ้านร้านตลาดเท่านั้น   ชุมชนเขาก็หามาประเคนด้วยแรงศรัทธา

         อีกช่วงหนึ่งต่อมา    ผมเคยแสดงบทบาทนักวิชาการควบคุมโรคที่ดูแลพื้นที่ระดับจังหวัด และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานวิชาการระดับเขตของกรมควบคุมโรคติดต่อซึ่งดูแลพื้นที่ 6 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง     บทบาทเช่นนี้แม้มิได้เป็นผู้บริหารสูงสุดที่ต้องดูแลภายในองค์กร   แต่งานดูแลเครือข่ายภายนอกนั้น   มีความซับซ้อนมากขึ้น   ทำให้เราต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับผู้คนในเครือข่ายได้      การสร้างชุมชนวิชาการและเครือข่ายปฏิบัติการควบคุมโรคระหว่างจังหวัดที่เข้มแข็งต้องใช้ทักษะอีกแบบหนึ่งซึ่งผมมิได้รู้สึกยากลำบากเลย     คิดอยากจะทำอะไรก็กำหนดเป็นแผนงาน/โครงการและเตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้า    จะพัฒนาศักยภาพนักวิชาการ   จะพัฒนาผู้นำชุมชน จะวิจัยทดลองรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ฯลฯ ล้วนสามารถทำได้ทั้งสิ้น    แม้กระทั้งผมก่อตั้งมูลนิธิชาวพิษณุโลกรวมใจต้านภัยเอดส์ขึ้นมาเป็นองค์กรคู่ขนานทำงานร่วมไปกับสำนักงานควบคุมโรคติดต่อระดับเขตของกรมฯ  ทำให้มีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนจากสังคม และเงินอุดหนุนการจัดทำโครงการฯ ของภาครัฐ   งานจึงดำเนินไปด้วยดีทุกทาง
             แต่ที่ LDI ไม่ใช่อย่างนั้น     LDI เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนอิสระแบบเชลยศักดิ์ที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับหน่วยงานของรัฐเลย   เกิดขึ้นมาจากเงินสนับสนุนขององค์กรต่างประเทศล้วนๆ (CIDA-Canadian International Development Agency) และบัดนี้ทุนสนับสนุนหมดลงแล้ว    ในระยะ 12 ปี ที่ผ่านมา LDI มีฐานะเป็นผู้บริหารกองทุนซึ่งทำหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนแก่เอ็นจีโอและนักวิชาการลงไปทำงานกับชุมชนชาวบ้าน   แต่ขณะนี้ตัวเองต้องกลายมาเป็นผู้ขอรับทุนเสียเอง
             เมื่อทุนสนับสนุนจากCIDA สิ้นสุดลง   LDI ยังคงมีเงินกองทุนหลักประกันที่เรียกว่าEndowment Fund อยู่ก้อนหนึ่งที่คาดหวังว่าจะใช้เป็นเงินฝากเพื่ออาศัยดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ขององค์กรในระยะยาว    แต่บังเอิญช่วงนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารลดลงอย่างฮวบฮาบ จากที่เคยได้ร้อยละ 10-11 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 1-2 ต่อปีเท่านั้น จึงส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินขององค์กรอย่างฉับพลัน
          LDI เป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานพัฒนาโดยผ่านการบริหารกองทุน สร้างความรู้และส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง   ทุนภูมิปัญญาขององค์กรแบบนี้อยู่ที่บุคลากรด้านวิชาการ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัย นักพัฒนา และผู้ประสานงานภาคสนามต่าง ๆ หลังจากจบโครงการ CIDA บุคลากรส่วนนี้ของ LDI เกือบไม่เหลือติดองค์กรเลย      ส่วนหนึ่งต้องออกไปหางานอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่า บางส่วนไปช่วยงานพี่เอนก นาคะบุตรและอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมที่ SIF   บางคนถือโอกาสลาศึกษาต่อ ฯลฯ ส่วนที่เหลือเป็นพนักงานประเภท Back office คือธุรการ การเงิน การบัญชีและบริหารทั่วไป การปรับตัวขององค์กรจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของผมในขณะนั้น
         เมื่อสำรวจดูทุนภายในองค์กรและเครดิตทางสังคมของ LDI    ตลอดจนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่จะไปข้างหน้าแล้ว   ผมจึงตัดสินใจที่จะบริหารองค์กรแบบ pulsating organization ซึ่งได้ไอเดียมาจากหนังสือเล่มหนึ่งของอัลวิน ทอฟเลอร์   กล่าวคือ LDI ต้องปรับตัวเป็นองค์กรที่สามารถพองตัวและยุบตัวได้อย่างมีจังหวะ   ตามภาระงานและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลา เช่นเดียวกับการบีบตัวเต้นเป็นจังหวะของกล้ามเนื้อหัวใจ
           สำหรับเจ้าหน้าที่นักวิชาการและนักพัฒนาที่ออกไปทำงานในส่วนอื่นของสังคม   เราถือเป็นคุณูปการอย่างหนึ่งที่สถาบันฯ ช่วยสร้างทรัพยากรคนแพร่ขยายออกไป   รอจนกระทั่งการไหลออกหยุดนิ่งแล้ว   เราจึงออกแบบโครงสร้างและอัตรากำลังใหม่ขององค์กรให้มีความสมดุลย์และกระทัดรัด     ซึ่งดำเนินการไปควบคู่กับการพัฒนาโครงการและหาแหล่งทุนสนับสนุนจำได้ว่าคราวนั้นเราประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่นักวิจัย วุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป   และรับเข้ามาจำนวน 6 คน ซึ่งต่อมาพวกเขาเหล่านี้ได้กลายมาเป็นฐานกำลังบุคลากรสำคัญของ LDI จนปัจจุบัน
            ในช่วง 10 ปีหลัง   LDI มีบุคลากรที่เป็นแกนกลางประมาณ 25-30 คน และมีเจ้าหน้าที่โครงการเพิ่ม-ลด, เข้า-ออกเป็นคราวๆ ตามภารกิจโครงการต่างๆ ทั้งที่สำนักงานส่วนกลางและศูนย์ประสานงานพื้นที่ตามภูมิภาค บางโครงการมีบุคลากรร่วมร้อยคน   แต่ที่นอกจากนั้นเรามีเครือข่ายนักพัฒนาวิทยากรกระบวนการ นักวิชาการ นักวิจัย นักสื่อสาร ฯลฯ อยู่ในทุกจังหวัด อีกหลายพันคนที่พร้อมจะเข้าร่วมภารกิจ/โครงการกับ LDI ได้ตลอดเวลา
          นี่คือตัวอย่างรูปธรรมของการบริหารองค์กรแบบยืดหยุ่นซึ่งเป็นประสบการณ์สำคัญส่วนหนึ่งของ LDI ในปี 2542

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (3) : “องค์กรยืดหยุ่น 2542”"

Leave a comment

Your email address will not be published.