ประสบการณ์ประชาสังคม (32) : ศูนย์สนับสนุนชายแดนใต้ (2548-2549)

ในรัฐบาลทักษิณ(2) คุณจาตุรนต์ ฉายแสง กลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมเช่นเคย ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย

 ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดความหวาดระแวง วิตกกังวล หวาดกลัว ไม่มั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ต้องการความช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนและเพียงพอ เพื่อให้ครอบครัวสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและเป็นปกติสุข 

          นายกรัฐมนตรีได้เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548พร้อมมีคำสั่งมอบหมายรองนายกฯจาตุรนต์ เป็นผู้ใช้อำนาจเกี่ยวกับการพัฒนา การเยียวยา การมีส่วนร่วม การศึกษา และการสมานฉันท์ พวกเราซึ่งเป็นคณะทำงานจึงเตรียมรับภารกิจด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศพต.)ขึ้น โดยมีหมอพลเดช ปิ่นประทีป ได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการ

หลังจากนั้นแค่เดือนเดียว นายกฯทักษิณก็เปลี่ยนแปลงตำแหน่งในครม. โดยให้จาตุรนต์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีดร.รุ่ง แก้วแดง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ และให้ภารกิจแก้ปัญหาไฟใต้ติดตามตัวคุณจาตุรนต์มาด้วย ดังนั้น ศพต.ของเราจึงปักหลักทำงานกันที่กระทรวงศึกษาธิการด้วยเหตุนี้

          ผมขีดวงตัวเองไว้แค่การช่วยคุณจาตุรนต์ ในกิจการไฟใต้เท่านั้น ส่วนงานอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการผมจะไม่เข้าไปยุ่งด้วย ศพต.ในฐานะกลไกการทำงานมีงานหลัก 4 ประการคือ 1)วิเคราะห์ปัญหาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและการจัดการการศึกษา 2)จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาและการจัดการศึกษาเพื่อฟื้นฟูจชต. 3)ให้ข้อเสนอแนะต่อประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ปัญหางานพัฒนาและจัดการศึกษาจชต.ในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างทันเหตุการณ์ 4)ช่วยงานเยียวยาชุมชนและอื่นๆตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
          ระหว่างนั้น สถานการณ์ไฟใต้ยังคงลุกโชนอย่างต่อเนื่อง แรงกดดันจากภาคประชาสังคมในกรุงเทพฯ ทำให้รัฐบาลทักษิณจำต้องตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ขึ้นมาโดยเชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน และอาจารย์หมอประเวศ วะสี มาเป็นผู้นำ การทำงานของสพวกเราที่ ศพต.จึงคู่ขนานและหนุนเสริมกันไปอย่างเงียบๆกับ กอส.ทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ
          ต่อมาภารกิจของกอส.ยุติลงก่อน เมื่อได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนว่าควรมีมุมมองต่อปัญหาและใช้แนวทางแก้ปัญหาอย่างไร รายงานกอส.ฉบับดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นข้อเสนอที่ทรงคุณค่า แต่รัฐบาลทักษิณดูเหมือนว่าจะมิได้นำมาใช้ประโยชน์เลย 
ต่อรายงานชุดดังกล่าว ศพต.มีบทบาทช่วยนำ(ร่าง)รายงานไปจัดวงเสวนากับกลุ่มผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับขบวนการในวงเล็กๆ ประมาณ 20 คน โดยใช้เวลาสองวันสองคืน และได้จัดทำเป็นข้อวิพากษ์รายงานกอส. 20 ประการ ซึ่งต่อมา กอส.ได้จัดพิมพ์เป็นเอกสารประกอบรายงานอย่างเป็นกิจลักษณะด้วย
          ศพต.ยังคงทำงานต่อมาจนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาลทักษิณ(2) จากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมเวลาทั้งสิ้น 15 เดือน จากการทำงานอย่างมียุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน ประกอบกับการได้รับความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรทั้งในและนอกภาครัฐ ทำให้เรา(ตัวผมเองและ LDI) มีข้อมูล องค์ความรู้ ประสบการณ์ และทุนเชิงเครือข่ายเพิ่มพูนขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งล้วนมีคุณค่าต่อการแก้ไขปัญหาจชต.ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราได้รวบรวมชุดความรู้ไว้เป็นเอกสาร 6 เล่ม ซึ่งสามารถค้นคว้าอ้างอิงได้จากกระทรวงศึกษาธิการและห้องสมุดสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (www.ldinet.org)
          เล่ม 1 : ผลการดำเนินงานศพต.
          เล่ม 2 : จาตุรนต์ ฉายแสง – บทบาทและภารกิจในวิกฤตไฟใต้
          เล่ม 3 : ปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ – ข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
          เล่ม 4 : พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชายแดนใต้ – เพื่อยุติสงครามและเสริมสร้างสังคมสมานฉันท์
          เล่ม 5 : จับชีพจรชุมชน ในสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
          เล่ม 6 : เยียวยาผู้เคราะห์ร้าย งานท้าทายของชุมชน
          มีประสบการณ์ที่น่าสนใจอะไรบ้างจากภารกิจนี้ :
            1. รัฐบาลไม่ปลื้ม แต่ยังคงใช้บริการ
                   ศูนย์การนำของพรรคไทยรักไทยมีความระวังระแวงบทบาทการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ นับตั้งแต่งานต้านคอร์รัปชัน การเสนอกฎหมายสุขภาพภาคประชาชน(มีนัยกดดันรัฐบาลทางอ้อม) และการรณรงค์โหวตยุทธศาสตร์ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคไปคาน” ซึ่งสังเกตอาการได้จากการสะกัดมิให้บุคลากรของเครือข่ายเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่กุมบังเหียนองค์กรทางยุทธศาสตร์และนโยบายภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.)ที่เพิ่งมีกฎหมายใหม่ออกมา หรือตำแหน่งประธานบอร์ดองค์การมหาชนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ทั้งๆที่ผ่านกระบวนการสรรหามาอย่างเป็นเอกฉันท์
                    แต่ในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายภารกิจ ยังคงเรียกหาความร่วมมือและช่วยเหลือจากพวกเราอยู่เช่นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่มีความยุ่งยากและเสี่ยงต่อความล้มเหลวทั้งหลาย กรณีไฟใต้และศพต.คือตัวอย่างที่ว่า
                    การร่วมงานกับรัฐบาลอย่างมีสติและมียุทธศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการหลอกใช้กัน แต่เป็นการร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รัฐบาลได้ประโยชน์จากภาคประชาสังคมในการใช้องค์ความรู้ ทักษะ ภูมิปัญญา และเครือข่ายมาช่วยในสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้ ภาคประชาสังคมก็ได้ประโยชน์จากสถานภาพในการทำงาน การสนับสนุนทางนโยบายและทรัพยากรบางส่วน 
วันใดที่ภารกิจสิ้นสุดลงหรือความเชื่อถือไว้วางใจระหว่างกันหมดสิ้นไป ไม่ว่าจะเริ่มจากฝ่ายใด ความร่วมมือดังกล่าวเป็นอันยุติลงไปตามธรรมชาติ ไม่มีใครควรเรียกร้องบุญคุณเอากับใคร
                    ลักษณะความสัมพันธ์แบบที่มีทั้งร่วม-ทั้งต่อสู้โดยที่ภาคประชาชนมีศักดิ์ศรีและอิสรภาพแบบที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศแล้ว เครือข่ายชนชั้นกลางและผู้นำชุมชนฐานรากที่มีวุฒิภาวะจำนวนมากกำลังพัฒนายกระดับด้านรูปการณ์จิตสำนึกเช่นนี้กันอย่างต่อเนื่องครับ
            2. งานที่ยากต้องการองค์ความรู้เพื่อทะลุทะลวง
                   เพราะเรารู้ว่างานชายแดนใต้นั้นยากและซับซ้อนเกินกว่าที่จะยุติได้ในรัฐบาลเดียว ศพต.จึงวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายการทำงานไว้ที่การสร้างองค์ความรู้เชิงลึก และการสะสมทุนทางสังคมสำหรับการขับเคลื่อนในระยะยาว โดยเชื่อว่าเมื่อจังหวะโอกาสและเหตุปัจจัยถึงพร้อม ทุนที่ไม่ใช่เงินและไม่ใช่อำนาจเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้นำประเทศ
                   ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาเฉพาะพื้นที่เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชายแดนใต้ของ ศพต. นับเป็นสิ่งที่แตกต่างและก้าวหน้าไปไกลกว่าที่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ หรือสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่มากทีเดียว ทั้งในด้านแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน, แนวทางการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชุมชน, แนวทางการพัฒนาอาชีพและอาชีวศึกษา, แนวทางการพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน, แนวทางการพัฒนาอุดมศึกษา, แนวทางการสร้างขวัญกำลังใจและพัฒนาบุคลากรการศึกษา และแนวทางการปรับโครงสร้างและระบบบริหารจัดการเฉพาะพื้นที่
                   ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาที่เอื้อต่อการยุติสงครามของ ศพต. เป็นสิ่งที่ก้าวไปเกินกรอบคิดของสภาพัฒน์, สภาที่ปรึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, และรัฐบาลอยู่ไม่น้อย ขอให้พิจารณาจากข้อเสนอเพื่อการฟื้นความเชื่อถือศรัทธาต่องานพัฒนาของรัฐโดยเร็ว, การทบทวนโครงการฮาลาลทั้งระบบอย่างจริงจัง, การตัดตัวการใหญ่ยาเสพติดให้ได้จริงเพื่อให้การฟื้นฟูด้วยพลังชุมชนทำงานได้ผล, การทบทวนปรับปรุงแนวทางเศรษฐกิจที่เป็นเชื้อเพลิงสงคราม, การส่งเสริมสภาผู้นำชุมชนเพื่อประคับประคองสังคมจชต.ยุคโลกาภิวัตน์, การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบอย่างจริงจัง และการเตรียมการฟื้นฟูชุมชนผ่านเครือข่ายอาสาสมัครเยียวยาผู้รับผลกระทบ
            3.การขับเคลื่อนภาคประชาชนและภาคีโดยหน่วยงานนโยบายเฉพาะกิจ
                   ศพต.เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาจชต. หากผู้รับผิดชอบมิได้มีมิติในการทำงานเชิงเครือข่ายและการก้าวข้ามกรอบความเคยชินของระบบราชการ จะขับเคลื่อนงานได้อย่างจำกัดมาก
                   ศพต.ตั้งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการก็จริง แต่มีข้าราชการช่วยงานส่วนหนึ่ง อาสาสมัครภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่ชั่วคราวตามโครงการอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำงานแบบหนุนเสริมกัน เราใช้เงินงบประมาณผ่านกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก แต่ก็มีงบประมาณจากภายนอกมาเสริมตามโครงการอีกต่างหาก  ไม่ว่าจะเป็นจากมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, จาก พอช., จากสสส., จากกองทุน กอส. และจากสำนักนายกรัฐมนตรี(คณะกรรมการเยียวยา-กยต.) จึงทำให้งานสามารถเดินไปได้โดยไม่พึ่งพิงระบบราชการอยู่ทางเดียวจนเสียโอกาส
                   ผมใช้ LDI และเครือข่ายภาคประชาสังคมในจชต.เป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในสนาม จึงมีความคล่องตัวและสามารถลงลึกได้มากกว่ากลไกราชการทุกกระทรวง ซึ่งทำไปทำมาด้วยการผูกพันเข้ามาอย่างต่อเนื่องแบบนี้ งานฟื้นฟูชุมชนชายแดนใต้จึงกลายเป็นงานยุทธศาสตร์เฉพาะพื้นที่สำหรับ LDI ในทศวรรษที่สามไปโดยปริยายครับ

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (32) : ศูนย์สนับสนุนชายแดนใต้ (2548-2549)"

Leave a comment

Your email address will not be published.