มูลนิธิชุมชน (Community Foundation) ที่ว่านี้ ไม่ใช่มูลนิธิที่มีชื่อว่า “ชุมชน” แต่เป็นแนวคิดและรูปแบบในการจัดการระบบกองทุนสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มูลนิธิในรูปแบบนี้ก่อกำเนิดครั้งแรกเมื่อ 90 ปีมาแล้วที่เมืองคลิฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2457 และต่อมาได้ขยาตัวไปทั่วสหรัฐอเมริกา ยุโรป อาฟริกา และเอเชีย
องค์กร WINGS ซึ่งเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่สนับสนุนการพัฒนามูลนิธิชุมชน สำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยม เคยรายงานว่าทั่วโลกมีมูลนิธิชุมชนเช่นนี้จดทะเบียนแล้ว 1,120 แห่ง (พ.ศ.2547) เกือบร้อยละ 80 อยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ขณะนี้กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นในที่อื่นๆ อย่างรวดเร็ว
มูลนิธิชุมชน เป็นองค์กรทุนของท้องถิ่น ที่เน้นการระดมทุนและการกระจายทุนสนับสนุนการแก้ปัญหาและการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดในท้องถิ่น มูลนิธิชุมชนมีขอบเขตพื้นที่ทำงานที่เฉพาะเจาะจง มิใช่เปิดกว้างทำทั่วไปหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความร่วมมือกับพื้นที่อื่น มูลนิธิชุมชนมีหลักการความร่วมมือร่วมใจของ 3 ฝ่ายในพื้นที่ คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ทุกคนมีส่วนร่วม ชุมชนเป็นเจ้าของ มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นบริจาคเพื่อทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม มีกระบวนการสะสมทุนให้เกิดกองทุนที่ยั่งยืน (Endowment Fund) และส่งเสริมการรวมตัวทำงานเพื่อท้องถิ่นในรูปแบบอาสาสมัครอย่างหลากหลาย
ในประเทศไทย ผมเริ่มได้ยินเรื่องมูลนิธิชุมชนนี้พร้อมๆกับแนวคิดการส่งเสริมการให้(Philanthropy) ราวปี 2545 จากกลุ่ม ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, จุรี วิจิตรวาทการ มีเจ้าหน้าที่อาวุโสของ LDI ท่านหนึ่ง คุณเบ็ญจมาศ ศิริภัทร ไปทำวิจัยเรื่องนี้ในขณะเป็น Senior Fellow in Philanthropy ที่มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ และพอกลับมา Synergos ก็ให้ทุนศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งมูลนิธิชุมชนที่ลำปาง
ปี 2547 LDIร่วมกับ มูลนิธิมิตรภาพสู่ท้องถิ่น และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ทำโครงการศึกษาทดลองจัดตั้งมูลนิธิชุมชนขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน สสส. ปัจจุบันมี 2 แห่ง ที่ก่อตั้งสำเร็จและยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้คือที่ ลำปาง และ อุดรธานี ครับ
เนื่องจากมูลนิธิชุมชนเป็นองค์กรทุนของท้องถิ่นที่ก่อตั้งโดยท้องถิ่น บริหารโดยท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะรอคอยคนข้างนอกมาช่วยเหลือ ฐานการบริจาคในท้องถิ่นหนึ่งๆ จึงต้องมีความกว้างขวางเพียงพอ มูลนิธิชุมชนในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ก่อตั้งโดยภาคธุรกิจในเมืองที่มีพลเมืองเกินกว่า 1 ล้านคน เพราะฐานการบริจาคกว้างขวางและเติบโตรวดเร็ว กฎหมายก็เอื้ออำนวยให้คนบริจาคเพื่อการลดภาษีสุดโหด และได้ผลในการสร้างภาพพจน์ของภาคธุรกิจไปด้วยในตัว
สำหรับเมืองไทย พื้นที่ภูมิศาสตร์ขนาด 1 จังหวัดหรือเมืองใหญ่ๆ 1 เมือง หรือกลุ่มเมือง-กลุ่มจังหวัดที่มีภูมิวัฒนธรรมคล้ายกันหรือเงื่อนไขการพัฒนาพิเศษเหมือนกัน คงน่าจะเป็นฐานที่เหมาะสมสำหรับมูลนิธิชุมชน 1 องค์กร
คนโดยทั่วไป รวมทั้งนักคิดนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน เมื่อได้ยินคำว่า “มูลนิธิชุมชน”ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจไปว่าเป็นองค์กรสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ประเภท “มูลนิธิ” และมีภารกิจอะไรๆ ที่เกี่ยวกับ “ชุมชน” ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ
เพราะไปใช้คำศัพท์เทคนิคที่แปลมาจาก Community Foundation แบบตรงตัว ทำให้เกิดจินตนาการไปผิดทาง (misleading)
ในเชิงแนวคิดที่ว่าด้วย Community Foundation ผมอยากเรียกว่า แนวคิด “กองทุนเพื่อท้องถิ่น”หรือ “กองทุนชุมชนท้องถิ่น” มากกว่า
ส่วนในการตั้งชื่อ อาจตั้งให้สอดคล้องและสื่อสารกับสาธารณะได้ง่าย ดั่งเช่นชื่อสมมติเหล่านี้ : มูลนิกองทุนชุมชนชายแดนใต้, มูลนิธิกองทุนฟื้นฟูชุมชนมาบตาพุด, มูลนิธิกองทุนพัฒนาล้านนา, มูลนิธิกองทุนเพื่อทะเลสาบสงขลา ฯลฯ
ที่สาธารณรัฐเช็ค ซึ่งเคยเป็นประเทศสังคมนิยม ต่อมาเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ประกอบกับต้องการฟื้นฟูสภาพหลังสงคราม ที่นคร BanskaBystica จึงมีโครงการใหญ่ชื่อ “เมืองน่าอยู่” สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้ปลอดจากขยะควันพิษน้ำเสีย ความสำเร็จของโครงการมูลนิธิชุมชนแห่งนี้คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เช่น การสำรวจ การทำโพล การเปิดเวทีสาธารณะทุกเดือนเป็นประจำ แล้วนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาวางแผนพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
สำหรับเมืองไทย ผมเล็งเห็นชุมชนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ที่มีปัญหาวิกฤตและมีเงื่อนไขในการขับเคลื่อนกองทุนเพื่อท้องถิ่นหรือมูลนิธิชุมชนอยู่หลายพื้นที่ อย่างเช่น จังหวัดระยองหรือเมืองอุตสาหกรรมมาบตาพุด, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, กรุงเทพฯ ฯลฯ
เดี๋ยวนี้เศรษฐีไทยและบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ นิยมตั้งมูลนิธิของบริษัทหรือวงศ์ตระกูลขึ้นมาเพื่อทำงาน พีอาร์,ซีเอสอาร์และเป็นช่องทางลดหย่อนภาษี แบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายเป็นกองทุนเพื่อท้องถิ่นหรือมูลนิธิชุมชนแต่อย่างใด กระแสความนิยมแบบนี้มีส่วนตัดโอกาสการบริจาคเงินเพื่อท้องถิ่นและชุมชนไปมาก
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (33) มูลนิธิชุมชน : แนวคิดองค์กรทุนของท้องถิ่น (2548)"