ประสบการณ์ประชาสังคม (5) : สมการประชาสังคม

          ในช่วง ปี2541 ต่อ 2542 มีความเคลื่อนไหวภายในกลุ่มก่อการประชาสังคมที่ส่วนกลาง เมื่อ เอนก นาคะบุตร ต้องไปบริหารกองทุน SIF คำถามคือ ใครจะเป็นผู้มาดูแล LDI  แทนและการเคลื่อนวิถีประชาคมจะเป็นไปข้างหน้าอย่างไร

          ต่อเมื่ออาจารย์ประเวศ วะสี ตัดสินใจแต่งตั้งมอบหมายให้พี่หมอสงวน และผมมารับผิดชอบ LDI เป็นที่แน่นอนแล้วความอึมครึมจึงคลายตัวไป แต่เพื่อการันตีและรองรับภารกิจการขับเคลื่อนประชาสังคมที่มีแนวโน้มจะขยายตัว พวกเราจึงตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาประกบ เป็นเสมือนองค์กรพี่น้องคู่แฝดของ LDI คือ สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม  (Civic net)

          LDI เป็นองค์กรพี่ที่มีความมั่นคงแต่เนื่องจากอยู่ภายใต้มูลนิธิซึ่งมีอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านเป็นบารมีและภูมิคุ้มกันการทำงาน จึงต้องทำงานอย่างมีแบบแผนและโลดโผนมากนักไม่ได้ ส่วน Civic net เป็นองค์กรน้องที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานที่อ่อนไหว ด้วยความยืดหยุ่นตัวมากกว่า 

องค์กรพี่บริหารโดยน้อง(พลเดช) องค์กรน้องบริหารโดยพี่(ชัยวัฒน์) นับเป็นวิวัฒนาการที่ลงตัวพอสมควร โดยสรุปแล้วพวกเรากลุ่มก่อการประชาสังคมในประเทศไทยอาศัยสององค์กรพี่น้องเป็นฐานขับเคลื่อนงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
          พวกเราหลายคนมีโอกาสได้ไปฝึกอบรมแนวคิดแนวทางการเคลื่อนไหวการเมืองของพลเมืองจากมูลนิธิแคทเทอริ่ง (Kattering Foundation:KF) และได้นำความรู้ บทเรียน และประสบการณ์จาก KFมาทดลองปฏิบัติในประเทศไทย บางคนไปครั้งเดียว บางคนไปมากกว่า 3 ครั้ง สำหรับผมเพิ่งมีโอกาสไปเมื่อ ปี 2549 และ 2550 ที่ผ่านมานี่เอง
          ในขณะที่ Robert Putnum เขียนหนังสือเรื่อง “Civil Society : How to make Democracy Work” นั้น  David Mathews ประธานมูลนิธิ KF ออกหนังสือชื่อ“How to Make Community Work” ซึ่งทั้ง 2 ท่านถือกันว่าเป็นปรมาจารย์นักคิดด้านประชาสังคมของโลกในยุคปัจจุบัน
          คำว่า Community ที่แมทธิวส์ใช้ หมายถึงความเป็นชุมชนและความเป็นประชาสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประชาสังคม (สังคมเข้มแข็ง) และประชาธิปไตย (การปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน)
          ผมจึงนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานบ้านเรา โดยเสนอในรูปสมการประชาสังคม ดังนี้

          หมายความว่า หากเราต้องการสร้างประชาสังคมหรือสังคมเข้มแข็งนั้น เราต้องสนใจในเรื่องส่งเสริมกลุ่ม / องค์กรชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้นอย่างเพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรเอ็นจีโอและองค์กรสาธารณะประโยชน์อันหลากหลาย อย่างต่อเนื่องและมีพลังควบคู่กันไป โดยมีจิตสำนึกสาธารณะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst)
          ที่ผมนำเสนอเช่นนี้เป็นเพราะว่าในขณะนั้น มีกระแสความโน้มเอียงเกิดขึ้นในหมู่นักวิชาการ นักคิด  และนักพัฒนา ส่วนหนึ่งบูชางานชุมชนเข้มแข็งเป็นสรณะ โดยมองข้ามบทบาทของชนชั้นกลางและเวทีความเคลื่อนไหวเรียนรู้ของสังคมวงกว้าง อีกส่วนหนึ่งก็ดูแคลนชุมชนรากหญ้าว่าไม่มีพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง
          สมการประชาสังคม คือรูปธรรมของแนวทางสายกลาง ที่พยายามแสดงให้เห็นบทบาทความสำคัญขององค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน กล่าวคือ กลุ่ม/องค์กรชุมชนเข้มแข็งเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์อันได้แก่กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น เนื้อเยื่อ และอวัยวะส่วนต่างๆที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย แต่แม้จะมีร่างกายที่ครบถ้วนหากร่างกายนั้นไม่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาอย่างเหมาะสม ร่างกายก็ไม่แข็งแรง อมโรค  การเคลื่อนไหวของโครงร่างคือสัญญาณบ่งบอกความมีชีวิตและความแข็งแรง นอกจากนั้นตัวเร่งปฏิกิริยา คือ จิตสำนึกสาธารณะ ซึ่งความเป็นสังคมเข้มแข็งจะเกิดได้เร็วหรือช้า ยังยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนและประชาคมนั้นๆจะมีการพัฒนาจิตสำนึกทางสังคมขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน
          ในสหรัฐอเมริกา งานวิจัยของKF พบว่า กลุ่มสังคมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดคือกลุ่มระวังภัยอาชญากรรมในละแวกบ้าน กลุ่มเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะพลเมืองได้เรียนรู้ว่าเราไม่สามารถจ้างตำรวจได้มากพอที่จะรักษาความปลอดภัยให้เรา ถ้าเราไม่ร่วมกันรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของตัวเอง
          องค์กรระดับรากหญ้าบางองค์กรที่นั่นมีประสบการณ์สูงในการต่อสู้กับฝ่ายบริหารของเมือง แต่ในที่สุดได้หันมาเน้นใช้วิธีการบรรลุผลเชิงปฏิบัติการมากขึ้น    แทนการมองหาว่าใครเป็นศัตรูของประชาชน พวกเขาเปลี่ยนมามุ่งให้ฝ่ายทางการสนองตอบความต้องการของประชาชน
          ตัวอย่างที่แมทธิวส์หยิบขึ้นมาอธิบายเมื่อครั้งที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2542 คือกรณีชุมชน คอคราน การ์เดนส์ ซึ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยของการเคหะ แต่เดิมเต็มไปด้วยปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ขยะ ปัสสาวะในห้องโถง หน้าต่างแตกๆและรอยขีดเขียนบนกำแพง วันนี้กลับมีชื่อเสียงว่าเป็นย่านถนนที่ประดับด้วยดอกไม้ อาคารที่สะอาดสะอ้าน มีอุปกรณ์เด็กเล่นและเป็นชุมชนที่เป็นเอกภาพ แมทธิวส์ เล่าว่า จุดเปลี่ยนของชุมชนเกิดขึ้นตอนที่มีปัญหาการพังซ้ำซากของเครื่องซักผ้าส่วนกลาง เดิมเมื่อเครื่องซักผ้าโดนพวกมือบอนทำพัง ผู้เช่าก็ร้องขอให้ฝ่ายบริหารอาคารนำเครื่องมาติดตั้งให้ใหม่ ซึ่งหนักๆเข้าฝ่ายบริหารเริ่มไม่ยอมทำตาม แม้ผู้เช่าจะประท้วงด้วยการไม่จ่ายค่าเช่า อยู่มาวันหนึ่งผู้เช่าจึงหันไปใช้วิธีหากุญแจมาใส่และทาสีประตูห้องซักผ้าใหม่โดยเรี่ยไรกันออกเงิน เมื่อชุมชนลงมือมาดูแลตนเองจึงหวงแหนสมบัติสาธารณะ หลังจากนั้นพวกเขาไม่ร้องขอจากฝ่ายบริหารแต่มีข้อเสนอในการร่วมกันรับผิดชอบ ความสัมพันธ์ในชุมชนจึงเปลี่ยนไปหมด
          แมทธิวส์ชี้ว่าองค์ประกอบมูลฐานของประชาสังคมที่เข้มแข็ง คือ ปฏิบัติการสาธารณะ(Public Action) และสิ่งที่ชุมชนคอคราน การ์เดนส์ ทำในตอนหลังนี้ เขาอยากเรียกมันว่าเป็น การกระทำการสาธารณะ (Public Acting) เสียมากกว่า เพราะมันคือการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          การกระทำการสาธารณะคือความคุ้นเคยที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ในสังคมและกับรัฐบาล ยิ่งผู้ร่วมกระทำการมีมากและหลากหลายเพียงใดก็จะยิ่งมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นเท่านั้นครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (5) : สมการประชาสังคม"

Leave a comment

Your email address will not be published.