ประสบการณ์ประชาสังคม (6) : “การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่”

          กระแสการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเทศไทยช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวแบบมวลชน (Mass Movement) ที่มุ่งสร้างแรงกดดันเพื่อบรรลุผลในทางการเมืองเป็นด้านหลัก ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบนี้ ปัจจุบันยังคงอยู่โดยสืบทอดกันมาไม่ขาดสาย

          แต่น่าสังเกตว่า ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 เป็นต้นมา เริ่มมีรูปแบบการเคลื่อนไหวภาคประชาชนแบบใหม่ที่มีลักษณะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะในประเด็นต่างๆ โดยไม่มีการเรียกร้องกดดันใครแต่เน้นการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองของสังคมมากขึ้น การเคลื่อนไหวแบบนี้มีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสังคม-วัฒนธรรม(Socio-cultural Movement) ซึ่งกระแสการเคลื่อนไหวในระดับสากลและในประเทศศูนย์กลางการพัฒนาของโลกที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิสตรี หรือสิทธิผู้ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ ก็มีลักษณะแบบเดียวกัน

          นักคิดนักวิเคราะห์เรียกมันว่า การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ (New Social Movement)

          ที่ LDI ในช่วงก่อนที่ผมจะเริ่มเข้ามาร่วมงาน พวกเรามีการศึกษาค้นคว้าและลงมือปฏิบัติการในรูปแบบการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่นี้มาก่อนแล้ว การก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัมนาเอกชน(กป.อพช.) ในปี 2530, การเคลื่อนไหวเวทีสิ่งแวดล้อมไทย(TEDNET), การขับเคลื่อนกลุ่ม “การะเกด(2539)” สร้างปรากฎการณ์รัฐธรรมนูญสีเขียว และการเคลื่อนไหวประชาคมกอบบ้านกู้เมือง(2541)  เหล่านี้คือบทเรียนรู้และย่างก้าวที่เป็นรูปธรรม
          ผมพยายามเรียนรู้อย่างรวดเร็วเพื่อทำงานว่าความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวมวลชน กับการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่นั้นเป็นอย่างไร ในตอนนั้นสรุปเป็นความเข้าใจส่วนตัวดังนี้ครับ:
          เป้าหมายการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวมวลชน มุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าหรือมีเป้าหมายการเคลื่อนไหวเฉพาะกิจแคบๆ ในขณะที่การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่จะมุ่งสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว และมีเป้าหมายการเคลื่อนไหวที่กว้างขวางหลากหลายมากกว่า
          วิธีการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวมวลชนมักใช้วิธีสร้างแรงกดดันต่อผู้มีอำนาจ(ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคม) เพื่อเรียกร้องให้มาช่วยแก้ปัญหาให้ และมักใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดเป็นฐานในการเคลื่อนไหว ในขณะที่การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่จะใช้วิธีสร้างความรู้และยกระดับภูมิปัญญาแก่สังคมโดยรวมเพื่อแก้ปัญหากันเอง และใช้ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารเป็นฐานในการเคลื่อนไหว
          การจัดองค์กรเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวมวลชนมักจัดองค์กรโดยใช้ลักษณะความสัมพันธ์แนวดิ่ง เน้นเอกภาพในการเคลื่อนไหวโดยคัดเฉพาะองค์ประกอบที่เหมือนกันเข้ามาร่วม (exclusive) ภายใต้วินัยขององค์กร รวมทั้งการนำมักเป็นผู้นำเดี่ยวหรือองค์กรนำแบบเดี่ยวๆ
ในขณะที่การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่จะจัดตัวเป็นเครือข่ายโดยใช้ความสัมพันธ์แนวราบที่เป็นเอกภาพในทิศทางใหญ่ร่วมกันขององค์ประกอบในเครือข่ายที่หลากหลาย แตกต่าง และเป็นอิสระต่อกัน รวมทั้งการนำก็เป็นการนำของเครือข่ายผู้ประสานงานซึ่งผลัดกันขึ้นมาทำหน้าที่การเคลื่อนไหวตามประเด็นและความถนัด
          ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวมวชลชนมีลักษณะการทำงานแบบชิงไหวชิงพริบ จึงต้องการการทำงานแบบปิดลับแผนงานมิให้คู่ต่อสู้ล่วงรู้ ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งมีความสำคัญมาก เพราะการแพ้หรือชนะในแต่ละคราวล้วนมีผลต่อขบวนการ
ในขณะที่การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่จะมีลักษณะการทำงานแบบเปิดเผยแผนการให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่าจะเคลื่อนไหวอะไร เมื่อไร เพื่อบรรลุผลอะไร ยิ่งสังคมหรือสาธารณชนรู้กันมากและกว้างขวางยิ่งดี การสื่อสารสาธารณะจึงมีความสำคัญมาก นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวแบบนี้ยังให้ความสำคัญต่อยุทธวิธีน้อยกว่ายุทธศาสตร์มาก เพราะความสำเร็จหรือล้มเหลวในแต่ละครั้งล้วนเป็นการเรียนรู้ที่เพิ่มพูนแก่ขบวนการ
          การสร้างภาพลักษณ์การเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวมวลชนมักต้องสร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งต่อสายตาสาธารณชนและฝ่ายตรงกันข้ามเอาไว้ก่อนเพราะมีความจำเป็นต่อข่มให้กลัว
          แต่การเคลื่อนไหวแนวใหม่กลับตรงกันข้าม เพราะการสร้างภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งกว่าความเป็นจริง ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างจิตสำนึกทางการเมืองของสังคมหรือสาธารณชนในระยะยาว
 
 
พลเดช ปิ่นประทีป
30 มิถุนายน 2552
 
 

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (6) : “การเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่”"

Leave a comment

Your email address will not be published.