มีการก่อหวอดฟื้นตัวอีกครั้งของกลุ่ม “การะเกด” ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ทางการเมืองเพื่อตรวจสอบการทำงานของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของเขาจนกระทั่งบานปลายไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน ที่ไร้การนองเลือด
ในช่วงนั้น รัฐบาลทักษิณมีความเข้มแข็งมาก ทั้งฐานการเมืองในรัฐสภา ฐานมวลชนที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยม ฐานทางเศรษฐกิจของตัวนายกรัฐมนตรีและพวกพ้อง รวมทั้งฐานในระบบราชการที่บริหารจัดการไว้ในช่วงบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องเข้มแข็งมายาวนานถึง 5 ปีเต็ม
ส่วนจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลคือ การคอร์รัปชัน และการไม่นำพาในเรื่องสิทธิมนุษยชน
การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในครั้งนั้นต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก การชุมนุมใหญ่อย่างต่อเนื่องเป็นแรมเดือนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ใช้รูปแบบปักหลักพักค้าง และการสื่อสารสาธารณะผ่านเครือข่าย ASTV และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ส่วนภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิชาการอิสระ นักคิด นักพัฒนา ฯลฯ ซึ่งเฝ้าสังเกตอยู่วงนอกต่างพากันพลิกตำราร่วมต่อสู้
“อารยะแข็งขืน” หรือ “Civil Disobedience” เป็นทั้งวาทกรรมและการเคลื่อนไหวปฏิบัติการจริงที่มีการกล่าวขานกันมาในช่วงนั้น สื่อมวลชนนำมาขยายความให้ความรู้ถึงที่มา ความหมายและหลักการของมันอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการเพิ่มพูนสติปัญญาความเข้าใจ ตลอดจนจิตสำนึกทางการเมืองโดยรวมของสังคมไทยที่มีคุณค่ายิ่ง
ในครั้งนั้น กลุ่มการะเกด(2549)ได้ชูประเด็น “อารยะแข็งขืน 10 ประการ” ในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ซึ่งจะไม่ขอพูดถึงเนื้อหาสาระในที่นี้
แต่สิ่งที่ผมอยากจะหยิบขึ้นมาก็เพื่อทบทวนประสบการณ์ประชาสังคมเมื่อสิบปีก่อน อันเป็นช่วงรอยต่อที่ LDI กำลังย่างก้าวเข้าสู่ยุคที่ 3
ในการประชุมทางวิชาการประชาสังคมครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2542 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล(ศาลายา) อาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ท่านนำเสนอว่า “มาตรวัดที่จะบ่งบอกว่า สังคมมีความเป็นประชาสังคมหรือไม่ ความเป็นประชาสังคมเข้มแข็งเพียงใด คือ การใช้สิทธิของประชาชนในการไม่เชื่อฟังรัฐ”
ท่านยังยกตัวอย่างด้วยว่า ประเทศสิงคโปร์นั้นท่านไม่คิดว่าเขามี Civil Society แต่เขามีแค่ Civic Society เท่านั้น เพราะคนสิงคโปร์ไม่สามารถต่อต้านรัฐหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐได้ เพราะจะถูกปราบปราม ถูกจัดการอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี
ผมพยายามตีความศัพท์ที่ท่านใช้ Civic Society น่าจะหมายถึง “สังคมคนเมือง” ที่มีความสะดวกสบาย มีบริการสาธารณะที่ดี มีความเจริญแบบสังคมเมือง ซึ่งรัฐได้ดูแลผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันที่ประชาชนต้องเป็นลูกที่ดี เชื่อฟังพ่อแม่ ทำตัวอยู่ในกรอบที่รัฐกำหนด
ส่วน Civil Society นั้นท่านคงหมายถึง สังคมที่มีความเข้มแข็งของพลเมือง หรือประชาสังคมที่ประชาชนพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพ มีอิสระทางความคิดเห็นและการแสดงออกโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น มีสิทธิพลเมือง (Civil Right)
ท่านชี้กรณีการรวบรวมรายชื่อ 50,000 คน เพื่อตรวจสอบรัฐมนตรีสาธารณสุขที่คอร์รัปชันของกลุ่มคุณรสนา โตสิตระกูล ในขณะนั้นว่า เป็นตัวอย่างของการใช้สิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐในรูปแบบที่มีความรับผิดชอบ มีสันติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 204 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และเป็นทิศทางแนวโน้มที่เราจะเปลี่ยนวิธีการใช้สิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐมาเป็นลักษณะที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ส่งเสริมประชาสังคมไปในเวลาเดียวกัน
ท่านขยายความว่า การใช้สิทธิที่จะไม่เชื่อฟังรัฐนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการใช้สิทธินี้โดยมีความรับผิดชอบนั้นควรทำอย่างไร
ประการที่ 1 ต้องเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในเรื่องใหญ่ และมีความสำคัญในเชิงหลักการ เช่น ความยุติธรรมในสังคม ความเสมอภาคในสังคม
ประการที่ 2 จะต้องกระทำหลังจากที่ได้ลองขบวนการต่างๆ ในระบบที่มีอยู่ไม่สำเร็จ ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะระบบไม่เปิดให้ จำต้องทำสิ่งที่เป็น Civil Properties
ประการที่ 3 ควรทำในลักษณะที่สงบ สันติวิธี
ประการที่ 4 ไม่ควรขัดขืนกฎหมาย Civil Properties นี้เป็นการผิดกฎหมาย แต่เราไม่ขัดขืนกฎหมาย เช่นถ้าเราไปนอนขวางถนนนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว
ผมอยากเสริมต่อจากท่านอีกนิดว่า แม้รู้ว่าผิดกฎหมายและต้องทำผิดกฎหมายก็ยินดีที่จะรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
นี่คือความกล้าหาญของภาคพลเมืองครับ.
พลเดช ปิ่นประทีป
4 กรกฎาคม 2552
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (7) :สิทธิในการไม่เชื่อฟังรัฐ"