กระแสการมีส่วนร่วมที่ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ 2540 และแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 ได้นำมาซึ่งกิจกรรม โครงการ และการริเริ่มสร้างสรรค์รูปแบบการพัฒนาที่เรียกว่า “ประชาคม” มากขึ้น
ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมในแผน 8 ยึดแนวทาง Area-Function-Participation กล่าวคือ การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง การกำหนดองค์กรปฏิบัติงานที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
LDI ในช่วงปี 2542 เรามีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งประชาคมตำบล”ซึ่งเป็นการวิจัยนำร่องเพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งหรือประชาคมเข้มแข็งในพื้นที่ระดับตำบล
โดยเลือกพื้นที่ 4 ตำบล ใน 4 ภาคของประเทศเป็นจุดทดลอง ได้แก่ ตำบลหนองแจ้งใหญ่ จ.นครราชสีมา, ตำบลทุ่งหวัง จ.สงขลา, ตำบลศิลาแลง จ.น่าน และตำบลบางขุนไทร จ.เพชรบุรี
โครงการดังกล่าวมี CAGIN (Canada – ASEAN Governance Innovations Network) เป็นผู้สนับสนุนทุน คุณเบ็ญจมาศ ศิริภัทร เป็นผู้จัดการโครงการ อ.สามารถ ศรีจำนงค์, อ.สัมพันธ์ เตชะอธิก, อ.อุษา เทียนทอง และอ.จันทนา เกตุแก้ว เป็นหัวหน้าทีมวิจัยพื้นที่ และมีดร.โอภาส ปัญญา เป็นที่ปรึกษาการวิจัย
งานวิจัยต้องการค้นหาบทเรียนความสำเร็จในการแก้ปัญหาของชุมชน ซึ่งถือเป็นประเด็นรูปธรรมในการจัดการปัญหาที่สะท้อนความเข้มแข็งของชุมชน โดยใช้วิธีจดบันทึกและร่วมสังเกตการณ์ของนักวิจัยและนักพัฒนาเอกชนที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยภูมิภาคและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจาก CAGIN มีการสัมมนาร่วมกันและมีการนำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะอย่างรอบด้าน
งานวิจัยค้นพบอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นองค์ความรู้สำคัญในการขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น” ในระยะเวลาที่ผ่านมา
1. ชุมชนหรือประชาคมตำบลที่เข้มแข็งสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงผันผวนได้จริง ในขณะที่ประเทศอ่อนแอลงจากภาวะเศรษฐกิจล้มเหลว สิ่งแวดล้อมร่อยหรอ-เสื่อมโทรม ด้วยความเฉลียวฉลาด ความอุตสาหะอดทนและสันติ มีการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติและใช้ปัญญาและจิตวิญญาณร่วมของชุมชน มิใช่เกิดจากผู้นำที่มีบุญญาธิการหรือผู้วิเศษคนใดคนหนึ่ง หากเป็นการสร้างวัฒนธรรมการร่วมคิด ร่วมแก้ไขปรับปรุงวิถีชุมชนให้สามารถอยู่ได้กับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกอย่างมั่นคง ซึ่งแต่ละชุมชนมีแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย
2. กลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีความหลากหลายเป็นปัจจัยสำคัญ ความเข้มแข็งของประชาคมตำบลหนองแจ้งใหญ่ จุดสำคัญอยู่ที่การมีผู้นำทางการและไม่เป็นทางการที่เข้มแข็ง ประมาณ 30 คน แตกต่างหลากหลายทั้งอาชีพ เพศพรรณ มีกลุ่มกิจกรรมทำงานร่วมกับอบต.อย่างใกล้ชิด และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีวัฒนธรรมประเพณีที่เกาะเกี่ยวกันไว้
3. สำนึกรักชุมชนท้องถิ่นและเกียรติประวัติการต่อสู้ร่วมกันเป็นองค์ประกอบ คนทุ่งหวัง มีจิตสำนึกความเป็นชุมชนสูง อาจไม่ถึงกับเรียกว่า “ทุ่งหวังนิยม” แต่ด้วยความที่ตำบลทุ่งหวังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์เป็นทุนมาช้านาน มีลำคลองไหลผ่านตลอดปี มีระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย ทั้งภูเขา ป่าธรรมชาติ และสวนยางพารา ประกอบกับนิสัยใจคอของคนทุ่งหวังที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนคนขยัน จึงมีความรักหวงแหนในฐานทรัพยากรส่วนรวมของตน นอกจากนั้นเกียรติประวัติความสำเร็จจากการร่วมมือต่อสู้เรียกร้องเอาที่ดิน 1,000 ไร่ จากหน่วยราชการมาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวของชุมชน และต่อสู้อย่างสันติกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียมาลงทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว ก็เป็นความภาคภูมิใจและเครื่องยึดเหนี่ยวให้ชุมชนยิ่งมีความเป็นกลุ่มก้อน
4. ทุนทางวัฒนธรรมและการปรับแต่งคือรูปธรรมของชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่ประชาคมตำบลศิลาแลง จัดให้ผู้นำรุ่นเก่าๆ พาชาวบ้านร่วมกัน “บวชป่า” พร้อมจัดกลุ่มเวรยามตรวจป่า รักษาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งกฎเกณฑ์ปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันในชุมชน จัดพิธีกรรมทำความเคารพ “สืบชะตาแม่น้ำ” อันเป็นคุณค่าและวัฒนธรรมแห่งล้านนาที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาต้นน้ำสืบทอดกันมายาวนาน ทั้งหมดเป็นการปรับแต่งวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมให้เป็นฐานที่แข็งแกร่ง แล้วเติมด้วยการจัดการสมัยใหม่ ผสมผสานผู้นำรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ให้กลมกลืน ไม่แบ่งแยกเก่า-ใหม่ ชาย-หญิง ความกลมกลืนระหว่างเก่า-ใหม่ เป็นการป้องกันและการแก้ปัญหาไปในตัว ภาพของชุมชนศิลาแลงมีกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ได้มาทำความเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการผสมผสานได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกันที่ชุมชนทุ่งหวังก็ได้ใช้เวที “เสวนาในวงหวาก” เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้และปรับตัว
5. สัมมาชีพและความพอมีพอกินเป็นฐานรากของชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ที่ชุมชนตำบลบางขุนไทร ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่หาดเลนแหล่งสะสมหอยแครง ให้ยังคงเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ มิต้องอพยพครอบครัวออกไปขายแรงงานนอกพื้นที่ เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งของชุมชน โดยมีผู้นำเป็นทางการ(อบต.)เป็นแกนในการต่อสู้ เสี่ยงชีวิตออกลาดตระเวนไล่จับเรือลากหอยแครงที่ใช้คราดเหล็กเป็นเครื่องมือ กอบโกยหอยแครงไปอย่างล้างผลาญ การต่อสู้ของชุมชนเช่นนี้เกิดจากได้เรียนรู้ว่า “พึ่งรัฐไม่ได้” จึงต้องรวมกลุ่มพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ซึ่งชุมชนที่ศิลาแลงก็ได้ต่อสู้กับธุรกิจทำไม้ในรูปแบบเดียวกัน
6. ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านวิกฤต ชุมชนก็เข้มแข็งได้ การเผชิญวิกฤตในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆด้านพร้อมกัน และสามารถร่วมกันต่อสู้ฝ่าฟันมาได้ด้วยตนเองเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนอย่างไม่เป็นที่สงสัย (Community by Crisis) แต่ในบางกรณีแม้ชุมชนยังไม่สามารถมองเห็นวิกฤตแบบซึ่งหน้า หากมีเทคนิควิธีการให้คนต่างความคิดเห็น ต่างความสนใจ มาเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญปัญหาอย่างมีสติและความพร้อมเพรียงได้เช่นกัน ซึ่งแบบนี้อาจเรียกว่า “Community by Design” กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม การทำแผนชีวิตชุมชน การทำบัญชีครัวเรือน การประชุมด้วยเทคนิค A-I-C หรือ Future Search Conference หรือการสร้างวิสัยทัศน์หรือฉากทัศน์ ฯลฯ ล้วนเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์

รายละเอียดที่มากกว่านี้ ขอเชิญผู้สนใจหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือของสถาบันชุมขนท้องถิ่นพัฒนา ชื่อ “ประชาคมรากหญ้า ขบวนการคนกล้า สร้างบ้านวันใหม่” ซึ่ง โอภาส ปัญญา และ พิเชษฐ์ หนองช้าง เป็นบรรณาธิการ ครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
24 สิงหาคม 2552
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (9): วิจัยนำร่อง : ประชาคมตำบล 2542"