ผมกับคุณหมอทวีศักดิ์(พอ.นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร) เดินทางมาจากพิษณุโลกเพื่อร่วมการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่(New Social Movement) ตามคำเชิญชวนของ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ซึ่งสู้อุตส่าห์ไปเยี่ยมเราถึงชมรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเมื่อเดือนก่อน
ที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI)ในคราวนั้น เราได้พบกับ พี่เอนก นาคะบุตร, ดร.อนุชาติ พวงสำลี, อ.ขวัญสรวง อติโพธิ, พี่ธีระพล นิยม(แบน),วีระบูรณ์ วิสารทสกุล,นิศานารถ โยธาสมุทร,ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์,ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ สโรบล, ฯลฯ พวกเขากำลังออกแบบวางแผนการเคลื่อนไหวให้การศึกษาสังคมในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของวิกฤตเศรษฐกิจ เราสองคนเริ่มเรียนรู้หลักคิดและเทคนิควิธีการของการขับเคลื่อนงาน “ประชาสังคม” ที่กลุ่มของพวกเขานำมาบุกเบิกในประเทศไทย
แนวคิดและงานประชาสังคมในประเทศไทยนั้นมีนักคิด นักวิชาการหลายคนที่มีความสนใจ ค้นคว้าและเผยแพร่ แต่กลุ่มนี้เป็นผู้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมทั้งยังมีองค์ประกอบของกลุ่มที่หลากหลายจึงเป็นกลุ่มที่สามารถปฏิบัติการ ศึกษาค้นคว้า สรุปบทเรียนและยกระดับแนวคิดแนวทางได้ด้วยตนเองตลอดเวลา
ก่อนหน้านี้พวกเขาได้เคยทดลองเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ในระดับชาติมาบ้างแล้ว อย่างเช่น เวทีสิ่งแวดล้อมไทย 2538 (Thailand Environmental Development Network : TEDNET) ซึ่งเป็นชุดของเวทีสัมมนาวิชาการที่เครือข่ายเอ็นจีโอมาร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือ เครือข่ายการะเกด 2539 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวรณรงค์รัฐธรรมนูญ “ธงเขียว” ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศมาแล้ว
วิกฤตเศรษฐกิจ “ฟองสบู่แตก” ในคราวนั้นเกิดขึ้นแบบฉับพลันในความรู้สึกของประชาชนทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่หลับไหลและไม่รู้ระแคะระคายมาก่อน หรือไม่ก็กำลังหลงระเริงกับความอู้ฟู่ในการจับจ่ายใช้สอย จู่ๆเหตุการณ์หนี้ 58 ไฟแนนซ์ท่วมแบ็งค์ หนี้สินต่างประเทศ 2.4 ล้านล้านบาท ถูกเปิดเผยออกมา รัฐสูญเงิน 250,000 ล้านบาทจากการต่อสู้ปกป้องค่าเงินบาทแล้วพ่ายแพ้ภายในวันเดียว(14 พฤษภาคม 2540) เงินสำรองถูกดูดไปครั้งแรก 1 ล้านล้านบาทหายลับ ค่าเงินตกทำให้หนี้ทวีคูณเป็น 5 ล้านล้านบาทโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังถูกดูดซ้ำอีกครั้งจากภาวะหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ประเทศอันเป็นที่รักของเราถูกบังคับให้เข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ หมดสภาพคล่อง ต้องเลหลังขายทรัพย์สมบัติของประเทศและของคนไทยในราคาถูก ต่างชาติกรูเข้าถือครองภาคการผลิต ภาคการค้าและบริการใหญ่ๆ เกือบหมดสิ้น
แทนที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institute Development Fund) จะเข้ามาช่วยคนไทย แต่ในภาวะตอนนั้นกลับต้องแบกรับหนี้แทน BBC 25,000 ล้าน เข้าอุ้มหนี้ 58 ไฟแนนซ์ และ แบ็งค์ 4 แห่ง ที่ใกล้ล้มละลาย ประชาชนแห่ถอนเงิน และต้องรับหน้าเจ้าหนี้ต่างประเทศ ฯลฯ กองทุนฟื้นฟูฯจึงกลายเป็นตัวดูดภายในประเทศที่อันตรายที่สุด ดูดเงินในตลาดด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงๆ (26-18%) มุ่งขายรัฐวิสาหกิจเพื่อนำเงินมาใช้และดูดงบประมาณของชาติจนไม่เหลือสำหรับการพัฒนาและดูแลทุกข์สุขประชาชน
กลุ่มเคลื่อนไหว”ประชาคมกอบบ้านกู้เมือง” มุ่งที่จะนำเรื่องราวของประเทศที่กระทบต่อชีวิตน้อยๆของทุกคนมาตีแผ่ สร้างความเข้าใจง่ายๆอย่างกว้างขวาง เพื่อยกระดับสติปัญญาของสังคมโดยรวม มิได้มีการเรียกร้องกดดันให้ใครต้องมารับผิดชอบโดยลำพัง ลักษณะนี้แหละที่แตกต่างจากการเคลื่อนไหวมวลชน(Mass Movement) ที่เราใช้กันมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในการออกแบบการเคลื่อนไหว พวกเขาวางแผนเคลื่อนไหวสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นชุดตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็ม โดยผ่านเวทีวิชาการและศิลปวัฒนธรรม การสื่อสารสาธารณะผ่านโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ การสร้างอีเว้นต์ทางสังคมโดยคนกลุ่มเล็กๆที่มีสัญลักษณ์เฉพาะตัวไปตามจุดที่เป็นชุมนุมชนในกรุงเทพฯ การทำหนังสือเล่มเล็กๆ เป็นเครื่องมือให้ความรู้อย่างเป็นระบบแบบเข้าใจง่าย โลโก้ประชาคมกอบบ้านกู้เมืองที่มีตัวการ์ตูนหลากหลายอาชีพภายใต้หลังคาบ้านถูกเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆจนติดตา เสื้อยืดสีขาวที่มีโลโก้กอบบ้านกู้เมืองที่ใช้ในวันนั้นผมยังมีอยู่เลย
อ.ขวัญสรวง อธิบายตัวตนของ“ประชาคมกอบบ้านกู้เมือง” ว่า “พวกเราคือประชาชนคนไทยที่มากันอย่างแตกต่างหลากหลาย ทั้งอาชีพการงานและถิ่นฐานบ้านช่อง ในท่ามกลางความแตกต่างระหว่างกัน สิ่งซึ่งเรามีร่วมกันก็คือ ความเป็นพลเมือง พลเมืองที่ถือว่า “บ้านเมืองคือเรื่องของเรา”……ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องของพลเมือง เป็นเรื่องของสาธารณะ การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงไม่ยุ่ง ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใดๆ…..ด้วยเหตุที่เป็นทุกข์เป็นปัญหาของชาติ ของคนทุกคน การเคลื่อนไหวจึงถือหลักว่าจะไม่ใช่เรื่องของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่เอาใครมาเป็นพวก หรือเอาใครมาเป็นฝ่ายตรงข้าม….ไม่มีใครเป็นฝ่ายตรงข้ามที่เราจะเรียกร้องโจมตี หรือยื่นเส้นตายยื่นคำขาด สร้างความแตกแยกรุนแรง….ความเคลื่อนไหวของวิถีประชาคมเช่นนี้ แท้ที่จริงเปิดกว้างสำหรับพลเมืองไทยอันแตกต่างหลากหลาย ทุกคน ทุกหมู่เหล่า ทุกถิ่นฐาน พลเมืองที่ถือว่า “บ้านเมืองคือเรื่องของเรา” ขอมีสิทธิมีส่วนกำหนดชะตาชีวิตร่วมกัน”
พวกเขากำหนดคำขวัญเพื่อการยึดกุมและอธิบายสาธารณะในเรื่องวิถีประชาคมว่า..”มากันหลากหลายมากใจมุ่ง ไม่ยุ่งพรรคการเมือง ไม่ถือเรื่องฝักฝ่าย มั่นใจหมายพลเมือง!”
ในครั้งนั้น ผมได้รับมอบหมายจากกลุ่มให้เป็นตัวแทนไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.ในชั่วโมงไพร์มไทม์ มีคุณอรวรรณ(กริ่มวิรัตน์กุล) เป็นพิธีกร มีคำถามหนึ่งว่า ”การเคลื่อนไหวแบบนี้ไม่กลัวรัฐบาลว่าก่อความวุ่นวายหรือ?” ผมตอบพิธีกรไปว่า “เกรง แต่ไม่กลัว” พร้อมกับอธิบายว่า ที่เกรงนั้นเป็นเพราะการเคลื่อนไหววิถีประชาคมแบบนี้เป็นเรื่องใหม่ ในขณะที่สังคมไทยยังมีติดภาพม็อบ แต่ที่ไม่กลัวเพราะพวกเรามีความชัดเจนในเจตนารมณ์และหลักคิดแนวทางการเคลื่อนไหว ที่ไม่ได้เอาใครเป็นฝ่ายตรงข้าม
พี่ธีระพล(แบน)กล่าวชมว่า”เกรง แต่ไม่กลัว” เป็นวาทะที่คมมากในสถานการณ์ขณะนั้น กลุ่มอาจารย์มหิดลหลายคนถามไถ่ว่าผมเป็นใครมาจากไหน ส่วนทีมงานรีบสรุปทันที “นักเคลื่อนไหวหน้าใหม่แจ้งเกิดแล้ว”?! ว่าเข้าไปนั่น
เราจัดอีเว้นต์สุดท้ายที่บริเวณป้อมพระสุเมร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เท่าที่จำได้มีผู้แทนประชาคมจังหวัดต่างๆ เข้าร่วม 15 จังหวัด คือ สงขลา เพชรบุรี กรุงเทพฯ ขอนแก่น (พื้นที่นำร่องประชาคมจังหวัดของสภาพัฒน์) น่าน อุทัยธานี นครสวรรค์ มหาสารคาม นครราชสีมา สมุทรสงคราม และกลุ่มประชาคมสี่แยกอินโดจีนมี พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นการรวมตัวของข่ายประชาสังคมจากทั่วประเทศเป็นครั้งแรก วันนั้นพวกเราประกาศส่งท้ายการเคลื่อนไหวกอบบ้านกู้เมืองว่า…..
“พวกเราพลเมืองจากจังหวัดต่างๆ จะกลับไปในพื้นที่ของเราเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของพี่น้องประชาชนต่อปัญหาวิกฤตการณ์ของประเทศชาติ เราจะขยายเครือข่ายไปในทุกจังหวัด เพื่อร่วมกันกอบบ้านกู้เมืองด้วยมือและสมองของพวกเรา โดยไม่นั่งงอมืองอเท้ารอคอยพระเอกขี่ม้าขาวใดๆ”
จากคำประกาศในวันนั้นจนถึงวันนี้ ข่ายงานประชาสังคมและชุมชนเข้มแข็งได้ขับเคลื่อนมาไกลโขทีเดียวนะครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม(4) : ประชาคมกอบบ้านกู้เมือง 2541"