รายการ “ร่มโพธิ์ลานไทร แอลดีไอสแควร์” ตอนที่ 7 : ประสานพลัง CSR เพื่อท้องถิ่นไทยเข้มแข็ง
จะพาพี่น้องข่ายงานประชาสังคมไปทำความรู้จักกับคำว่า CSR ให้มากขึ้น จาก ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ดุษฎีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธผู้ที่บุกเบิกงาน CSR คนสำคัญในสังคมไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ (Thaipat Institute) องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (Non-profit Organization) ทำงานด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคม ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PUEY Community Learning Centre) สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม (Rural And Social Management Institute) โรงเรียนเพื่อชีวิต (School for Life) และข่ายพัฒนาชนบทไทย (Thai RuralNet)
***********************************************
ประสานพลัง CSR เพื่อท้องถิ่นไทยเข้มแข็ง: ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์
เรียบเรียง: รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คนระยองได้เฮเมื่อศาลปกครองได้พิพากษาให้ “มาบตาพุด” เป็นเขตควบคุมมลพิษ หลังจากที่ต้องทนทุกข์มานานหลายปีกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาด CSR ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า การได้มาซึ่งกำไรสูงสุดขององค์กรธุรกิจโดยไม่คำนึงวิธีการว่าจะทำลายวิถีที่ดีงามของสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำลายคุณค่าทางด้านจิตใจหรือไม่นั้น ได้กลับกลายเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แสนเจ็บปวดของสังคมอีกครั้ง
ในปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจมิอาจปฏิเสธคำว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility ที่วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (http://th.wikipedia.org) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเครื่องมือที่โลกตะวันตกคิดขึ้นสำหรับใช้ควบคุมหรือถ่วงดุลลัทธิทุนนิยมสุดขั้ว มุ่งกำไรสูงสุดจนหย่อนด้านคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกลไกควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจข้ามชาติ ให้ต้องประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในหลากหลายมิติ”

รายการ “ร่มโพธิ์ลานไทร แอลดีไอสแควร์” ตอนที่ 7 : ประสานพลัง CSR เพื่อท้องถิ่นไทยเข้มแข็ง จะพาพี่น้องข่ายงานประชาสังคมไปทำความรู้จักกับคำว่า CSR ให้มากขึ้น จาก ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ดุษฎีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธผู้ที่บุกเบิกงาน CSR คนสำคัญในสังคมไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ (Thaipat Institute) องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (Non-profit Organization) ทำงานด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคม ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PUEY Community Learning Centre) สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม (Rural And Social Management Institute) โรงเรียนเพื่อชีวิต (School for Life) และข่ายพัฒนาชนบทไทย (Thai RuralNet)
เพื่อให้เกิดแนวทางการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ประสานพลัง CSR กับข่ายงานประชาสังคมในพื้นที่ ขอเชิญพี่น้องโปรดคลิกรับชมโดยพลัน….
หมอปกรณ์ สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน CSR จะเข้าไปมีบทบาทในการเยียวยาหรืออาจจะช่วยยกระดับสังคมอย่างไรบ้าง
ดร.พิพัฒน์ พอเวลาเราพูดถึง CSR หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ จริงๆ คำนี้ย่อมาจาก corporate social responsibility ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ พอเราพูดถึงคำว่า corporate พี่น้องหลายคนอาจจะนึกไปถึงภาคธุรกิจซะส่วนใหญ่ แต่วันนี้อยากจะเรียนว่าเรื่อง CSR ได้ลงมาถึงทั้งหน่วยงานของรัฐ และภาคประชาสังคมด้วย เพราะแก่นแท้ของเรื่อง CSR ก็คือเรื่องของความรับผิดชอบของทุกคนที่มีต่อสังคม ประเด็นที่เกี่ยวโยงกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในตอนนี้ก็คือว่า เราเห็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาของภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมาตรการในการเยียวยาสังคมโดยเฉพาะเรื่องวิกฤติแรงงานที่ผมเชื่อเหลือเกินว่าจะเป็นวิกฤติที่รุนแรงมาก ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แล้วก็ดูเหมือนแผนงานต่างๆ ที่เราจะได้ยินข่าวออกมาจากรัฐบาลก็ยังไม่ค่อยมีการบูรณาการกันเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการเยียวยาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะพึ่งภาครัฐเพียงลำพังไม่ได้ นั้นหมายความว่าอีกสองภาคีจะต้องลุกขึ้นมา โดยเฉพาะภาคีทางด้านประชาสังคมซึ่งพวกเราพี่น้องก็อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เราก็ได้เห็นความยากลำบากและก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอีกภาคนึงก็คือภาคธุรกิจ ซึ่งภาคนี้พี่น้องหลายคนอาจจะมองว่าทำแต่ธุรกิจหวังแต่กำไร แต่อันนี้ต้องมีหมายเหตุจริงๆ แล้วต้องเรียนพี่น้องว่า มีองค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ยินดีและก็มีเจตนารมณ์โดยบริสุทธ์ใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือสังคม ซึ่งกำลังเหล่านี้แรงเหล่านี้เราจะต้องรวบรวมไว้อย่าไปผลักเขาออกไป อันนี้คือจุดหนึ่งที่เรื่อง CSR จะเข้ามาเป็นเครื่องมือเป็นกลไกที่จะทำงานร่วมกับพี่น้องในภาคประชาสังคม จะเยียวยายังไงผมคิดว่ามันมีหลายมาตรการหลายวิธีการ อันแรกสุดที่เราเห็นก็คือวันนี้องค์กรธุรกิจจำนวนหนึ่งก็ได้ออกไปช่วยเหลือประชาชนในสังคม ในเรื่องวิกฤติแรงงานคนตกงานโดยการรับเข้ามาสู่ระบบงาน มีการจ้างงานซึ่งอันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็กำลังมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อที่จะดำเนินโครงการบางอย่างที่จะชะลอการจ้างงานของลูกหลานของเรานี่แหละที่จะจบออกมาแล้วจะต้องกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาให้เขามีโอกาสศึกษาพัฒนาศักยภาพต่อ อีกระดับก็คือว่าเขาก็จะไปทำงานร่วมกับพี่น้องเนื่องจากองค์กรธุรกิจเขาก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องประชาสังคม เพราะฉะนั้นในการลงพื้นที่การจะลงชุมชนก็อาจจะต้องทำงานร่วมกัน ภาคประชาสังคมเองก็อาจจะต้องมีความร่วมมือบางอย่างที่ดึงเอาทรัพยากรของภาคธุรกิจเข้ามาใช้ประโยชน์แต่ตรงนี้ก็เรียนพี่น้องว่าอาจจะต้องมีการคัดกรองดูให้ถ่องแท้ว่าองค์กรธุรกิจที่จะเข้ามาเขามีเจตนารมณ์ที่ดีบริสุทธิ์ใจด้วย เพราะว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะมีองค์กรธุรกิจส่วนหนึ่งที่ต้องการจะสร้างภาพลักษณ์และก็ใช้พี่น้องเป็นเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยเหลือสังคม ซึ่งต้องระมัดระวังตรงจุดนี้ไว้ด้วย
หมอปกรณ์ นักธุรกิจที่เข้ามามีโอกาสได้ทำงานกับประชาสังคมประมาณ 4,000 คน ตรงนี้เพศวัยอายุนักธุรกิจเป็นยังไง
ดร.พิพัฒน์ ก็หลากหลายมีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่เราที่เห็นสังคมมาเยอะและก็เห็นว่าน่าจะต้องมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทำงานเพื่อสังคมในวัยเกษียณของท่าน และก็อีกกลุ่มก็เป็นพวกเราอายุประมาณสี่สิบห้าสิบที่เห็นว่าการเคลื่อนทางด้านธุรกิจอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ทำให้สังคมยั่งยืน เพราะฉะนั้นเวลาส่วนหนึ่งที่นอกเหนือจากการทำธุรกิจก็จะต้องเจียดเวลามาช่วยเหลือสังคมมารับผิดชอบต่อสังคมด้วย วันนี้ก็มีแนวคิดแทนที่จะต้องมองแยกกันว่าทำธุรกิจก็เวลานึงช่วยเหลือสังคมก็เวลานึง วันนี้มีแนวคิดใหม่ที่เขารวมเรื่องการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมเลย คือหมายความว่าเวลาที่คุณทำธุรกิจคุณจะไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นหรือสังคมเอากำไรแต่พอเหมาะพอควรอันนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่ทางวิชาการเขาเรียกว่า csr in process หรือเป็น csrในกระบวนการ
หมอปกรณ์ ยกตัวอย่างซักกรณี
ดร.พิพัฒน์ ง่ายๆ เลยอย่างเราเห็นผู้ประกอบการไปตั้งโรงงานในท้องถิ่นของเราเอง ผู้ประกอบการอาจจะปล่อยปละละเลยอาจจะไม่สนใจของเสียน้ำเสียอากาศเสียที่ออกมาแล้วก็ไปทำลายสุขภาวะของชุมชนรอบข้าง ไปปล่อยมลพิษทำให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่รอบข้างได้รับกลิ่นไอพิษต่างๆ จนเกิดอาการเจ็บป่วย ฉะนั้นผู้ประกอบการเหล่านี้เราถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่มี csr แต่ถ้าหากเราเห็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานเขามีความเอาใจใส่มีการบำบัดของเสียน้ำเสียอากาศเสียที่ออกมาก่อนปล่อยลงสู่ชุมชนไม่ไปทำอันตรายหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน อันนี้เราถือเจ้าของโรงงานเหล่านี้ว่ามี csr อย่างวันนี้ก่อนจะมาผมก็อ่านข่าวตอนเช้า เห็นว่าก็เป็นข่าวดีของพี่น้องประชาสังคมของเราว่าทางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดศาลก็ตัดสินแล้วว่าให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งพี่น้องเราก็ต่อสู้มายาวนานตรงนี้ก็จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจหากว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมเราก็ต้องมีมาตรการทุกรูปแบบในการที่จะจำกัดขอบเขตเขา ถ้าเราจะตีขลุมรวมว่าผู้ประกอบการทุกรายในนิคมอุตสาหกรรมไม่มี csr ก็คงอาจจะไม่ใช่ อาจจะมีส่วนหนึ่ง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็พยามสร้างระบบบำบัดหรือมีการรับผิดชอบต่อสังคมจริงๆ ฉะนั้นเวลาที่เราจะเข้าไปเคลื่อนไหวหรือเข้าไปทำความร่วมมือกับผู้ประการเหล่านี้เราต้องแยกแยะให้ออก ว่าใครเป็นพันธมิตร ใครที่อาจจะต้องเข้าไปตอบโต้
หมอปกรณ์ ภาคประชาสังคมกับภาคธุรกิจ มีจุดที่พอจะคลิ๊กกันได้ไหม
ดร.พิพัฒน์ ก็ต้องเรียนว่าถ้าเป็นองค์กรธุรกิจที่เพิ่งเริ่มทำ csr อย่างจริงจังนี่ แล้วต้องร่วมไม้ร่วมมือกับพี่น้องเรานี่ก็คงจะต้องจูนเข้าหากันมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระดับหนึ่ง อยู่ดีๆคนไม่รู้จักกันสองคนเดินเข้ามาแล้วก็บอกจะจับมือกันแล้วก็ไปทำงานโดยไม่มีอุปสรรคมันคงอาจจะเป็นในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติผมคิดว่าหนึ่งถ้าใจมาทั้งสองฝั่งเปิดใจเข้าหากันแล้วก็แบออกมาดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรที่เราพอจะช่วยเหลือกันได้ ตรงนี้ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราทำงานร่วมกับภาคธุรกิจได้ ทีนี้ในแง่ของความร่วมไม้ร่วมมือตรงนี้ผมคิดว่ามันมีหลายระดับ ระดับลงเงินอันนี้ก็ง่ายๆ ว่าธุรกิจก็อาจจะมาจัดสรรทรัพยากรส่วนหนึ่งให้พวกเราได้ไปขับเคลื่อนงานในท้องถิ่น อาจจะไปช่วยเหลือคนตกงานโดยใช้ภาคประชาสังคมด้วยกันเองอันนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง หรือลงแรง ลงแรงในที่นี้คือนอกเหนือจากภาคธุรกิจเขาจะเป็นผู้สนับสนุนเงินอย่างเดียว เขาอาจจะจัดสรรผู้จัดการโรงงานจัดสรรบุคลากรในสำนักงานเขา เพื่อที่จะเข้ามาร่วมในกาสอนเป็นวิทยากรหรือเข้ามาฝึกฝนทักษะอาชีพที่เขาอาจจะมีความเชี่ยวชาญอยู่ให้กับสังคมของเราท้องถิ่นของเราชุมชนของเรานะครับ หรือในอีกระดับนอกเหนือจากลงเงินลงแรงแล้วเขาอาจจะลงสมอง คือช่วยคิดวิธีการในการที่จะทำให้ชุมชนของเรานี้มีความเข้มแข็งยั่งยืน เราอาจจะมีผลิตภัณฑ์บางอย่างในชุมชนที่เป็นของดีแต่ไม่มีช่องทางการตลาดหรือช่องทางการจำหน่าย นักธุรกิจเหล่านี้อาจจะเข้ามาช่วยเสริมจุดที่เราด้อยอยู่แล้วก็หาช่องทางการตลาดหรือช่องทางการจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์ของเราก็ได้ หรือลงสมองอีกอย่างก็คือผลิตภัณฑ์บางอย่างดีอยู่แล้วแต่ว่าเพคเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์มันอาจจะเชยๆ เขาอาจจะในการออกแบบมาช่วยสร้างสรรค์ ช่วยในการปรับให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นอะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วจะเห็นว่าระดับของการช่วยเหลือมันก็จะแตกต่างกันมีตั้งแต่ ลงเงิน ลงแรง ลงสมอง
หมอปกรณ์ ภาคประชาสังคมกับ CSR คิดว่าใครควรจะไปหาใครก่อน
ดร.พิพัฒน์ ขึ้นอยู่กับใครพร้อมก่อนวันนี้ก็มีนักธุรกิจเดินมาหาภาคประชาสังคมเยอะเหมือนกัน คือเขาอยากจะช่วยแต่ไม่ร่าจะไปช่วยที่ไหนยังไงอันนี้ก็มีเหมือนกัน หรือที่ส่วนใหญ่พี่น้องเราอาจจะบอกว่าเราเห็นความต้องการของชุมชนเราเห็นปัญหาของชุมชน แล้วเราเดินไปหาภาคธุรกิจก็มีเหมือนกัน ผมคิดว่าใครเริ่มก่อนไม่สำคัญ สำคัญว่าถ้าเรามาเจอกันแล้วนี่แล้วเรามุ่งมั่นที่จะทำงานตรงนี้ด้วยกัน ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่า ทีนี้อย่างที่ผมบอกว่าไอ้การจะร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแรกต้องเปิดใจ อย่างที่สองต้องแบบทรัพยากรให้เห็นและก็ทำงานร่วมกัน ถ้าเราไม่เปิดใจเข้าหากันผมคิดว่ามันก็จะเป็นการทำงานแบบฉาบฉวยระวังกันระแวงกันสุดท้ายงานมันก็ไม่เคลื่อน หรือถ้าเปิดใจแล้วแต่ว่าสักแต่ว่าพูดยินดีจะช่วยเต็มที่แต่ไม่มีทรัพยากรลงมา ไม่ลงเงินไม่ลงแรงไม่ลงสมองอันนี้ก็ไปไม่ได้เหมือนกันฉะนั้นสองจุดนี้ผมว่าสำคัญ
หมอปกรณ์ ในระดับนโยบาย คิดว่าจะช่วยเสริมตรงนี้ได้ยังไง
ดร.พิพัฒน์ ผมคิดว่ากำลังขับเคลื่อนอยู่ในเชิงของการผลักดันนโยบายบางอย่าง ทั้งเครือข่ายที่เราได้เคยร่วมทำงานกันมาในภาครัฐก็ดี หรือว่าเครือข่ายในภาคประชาสังคมก็ดี จุดสำคัญก็คือว่าสถานการณ์บ้านเราในปีนี้โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เราจำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการผลักดันนโยบายของภาครัฐบางอย่างออกมา ซึ่งอันนี้เห็นด้วยเลยนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างเช่นว่า ต้องสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งอันนี้ผมก็เคยเสนอมาแล้วว่าให้ภาครัฐสร้างกลไกหรือสิ่งจูงใจบางอย่างที่จะดึงให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาเติมทรัพยากร โดยใช้ทรัพยากรคนหรือกำลังคนจากภาคประชาสังคม ซึ่งพวกเราอยู่กันเยอะแยะในพื้นที่เพราะฉะนั้นถ้าเราเติมทรัพยากรให้กันอย่างนี้ผมคิดว่าไอ้การแก้ไขวิกฤติแรงงานหรือลูกหลานเราที่ตกงานมันก็จะทำให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ภาครัฐบอกว่าจะมาฝึกงานให้เบี้ยเลี้ยงสามเดือนหกเดือนแล้วก็จบกันไป อันนี้ผมคิดว่ามันอาจจะไม่ยั่งยืน
หมอปกรณ์ มีอะไรอยากฝากพวกเราในเรื่องงานประชาสังคม
ดร.พิพัฒน์ ก็คงจะไม่มีอะไรมากนะครับผม ผมอยากจะให้พี่น้องปรับทัศนคติซักเล็กน้อยนะครับ คือคงไม่ได้หมายถึงเป็นการปรับจุดยืนหรืออุดมการณ์ของท่านแต่อยากจะให้มองว่า จากที่ผมได้ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนมา ก็ต้องบอกว่ามีทั้งส่วนที่เป็นภาคธุรกิจเอกชนที่ดีที่ใช้ได้ กับอีกส่วนที่อาจจะมองเราในแง่ที่จะการใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรเขาเอง เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะให้ออก คืออย่าไปตีรวมหมดว่าธุรกิจที่เข้ามาติดต่อเราหรือเดินมาหาเรา คบไม่ได้หมด เราต้องเปิดช่องส่วนที่จะทำให้องค์กรธุรกิจที่มีทรัพยากรเหล่านี้เข้ามาเสริมหนุนเรา ก็หวังว่าในพื้นที่ถ้ามีโอกาสเราก็คงจะได้ลงไปทำงานขับเคลื่อนด้วยเพราะปีนี้เองในเรื่องของ CSR เองเราก็มีโครงการที่จะลงไปขับเคลื่อนในทุกจังหวัดเหมือนปีที่แล้วเหมือนกัน ก็หวังว่าจะได้เจอพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ด้วยนะครับ
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ผมคิดว่าพี่น้องเราเองก็คงจะเจออุปสรรคบ้างไม่มากก็น้อยในเรื่องของการขาดงบประมาณหรือกำลังเงินที่จะต้องเอาไปขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ปรกตินะครับ แม้กระทั่งคนทำงานในวงวิชาการอย่างผมเองก็มักจะเจอปัญหานี้อยู่เหมือนกัน ประเด็นมันอยู่ว่าถ้าเรารอแต่งบประมาณของภาครัฐอย่างเดียวแล้วปรากฏว่าช่องทางนี้ไม่มี งานก็จะหยุดเคลื่อน แต่ตัว csr จะเปิดช่องทางหรือแชลแนลอีกแชลแนลนึงขึ้นมาเพราะอย่างที่โคราชเองตอนที่เราลงไปขับเคลื่อนจัดเวทีจัดเวิร์คชอปเราจะพบว่า อบต.ตอนนั้นยังไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้นะครับ แล้วก็อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมาเติมให้กับพี่น้องยังไงแต่ปรากฏว่าภาคธุรกิจบริษัทที่เข้ามาร่วมด้วย เขาเห็นกิจกรรมที่พี่น้องทำอยู่แล้วเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์แล้วก็ทำให้กับชุมชนจริงๆ เขาบอกไม่ต้องรองบประมาณภาครัฐ เดี๋ยวตรงนี้เค้าลงกันมาให้แล้วก็กลายเป็นว่ามีโครงการที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นนะครับอยู่ในพื้นที่หนองลังกาที่โคราช ผมจำอำเภอไม่ได้แต่ว่าก็มีการจัดโดยภาคธุรกิจเอกชนภาคชุมชนหนองลังกาแล้วก็พองานมันเคลื่อนไปได้ระดับหนึ่งทางราชการเห็นก็เลยมาช่วย อย่างนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญคือการเริ่มอาจจะไม่ต้องรอเงินจากภาครัฐอย่างเดียวแต่ถ้าเราเคลื่อนด้วยแรงของเรา มีภาคธุรกิจเอกชนมาเติมทรัพยากรบางอย่างให้พอภาครัฐเห็นเขาก็มาช่วยเองฉะนั้นก็จะเห็นว่างานมันก็เคลื่อนไปได้โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอเงินจากภาครัฐอย่างเดียว
—————————————————————
Be the first to comment on "ประสานพลัง CSR เพื่อท้องถิ่นไทยเข้มแข็ง: ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์"