ปราบโกงด้วยเครื่องมือธรรมดา : กรณีศึกษาจากไต้หวัน
ในขณะที่ประเทศไทยมีคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันเพียงแค่ ๓.๔ (เต็ม ๑๐) ปี ๒๕๕๔ ไต้หวันกลับมีคะแนนสูงถึง ๖.๑ และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งนับอันดับเป็นที่ ๔
ในบรรดาประเทศเอเชียด้วยกันและเป็นที่ ๓๒ จาก ๑๗๓ ประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมกลับไปอยู่ตรงที่ประเทศนี้ไม่เคยมีกฎหมายพิเศษและหน่วยงานพิเศษแบบ ป.ป.ช.มาก่อนเลย เขาเพิ่งมาตั้งเมื่อกลางปีที่แล้วนี่เอง
ไต้หวันใช้ประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นเครื่องมือและกลไกแก้ปัญหาตามปกติ แต่สามารถจัดการคดีคอร์รัปชันใหญ่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างต่อเนื่อง อย่างรวดเร็ว รวมทั้งคดีของอดีตประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปียนและครอบครัวกับบริวารรวม ๑๒ คนเมื่อปี ๒๕๕๒ ด้วย
เรื่องของเฉินสุยเปียนเองก็นับว่าน่าสนใจมากเช่นกัน เขาเป็นคนหนุ่มดาวรุ่งพุ่งแรงของประเทศ เรียนเก่งมาก รู้กฎหมายดีและเคยมีผลงานปราบทุจริตจนเป็นที่ยอมรับ เขาโด่งดังถึงขั้นไทม์แม็กกาซีนยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีของไต้หวันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งในนามของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) นับเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ถัดจากหลี่เต็งฮุย ทั้งยังได้รับเลือกอีกเป็นสมัยที่สองแบบถล่มทลายบริหารประเทศ ๘ ปีเต็ม ระหว่าง ๒๕๔๓-๒๕๕๑
ในระหว่างอยู่ในอำนาจ ประเทศไต้หวันได้เข้าร่วมปฏิญญาต่อต้านคอร์รัปชันกับกลุ่มเอเปค ๒๑ ประเทศ กลไกการปราบปรามอาชญากรรมรวมทั้งคดีทุจริตทั้งหลายก็ดำเนินไปตามปกติ ประธานาธิบดีอย่างเขาไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้เหมือนบางประเทศ ช่วงปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ มีการดำเนินคดีทุจริตที่อื้อฉาวในไต้หวันอย่างน้อย ๖ คดี มีทั้งตลาดหลักทรัพย์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอที ด้านอุปกรณ์กีฬาและคดีบุตรเขยตัวประธานาธิบดีเอง
ทันทีที่พ้นตำแหน่ง เขาถูกจับดำเนินคดีใน ๔ ข้อหา ๑) ยักยอกเงินจากกองทุนทำเนียบประธานาธิบดี ๓.๑ ล้านเหรียญสหรัฐ ปลอมแปลงเอกสาร เอาเงินไปซื้อแหวนเพ็ชรให้ภรรยา ๒) รับสินบน ๙.๐ ล้านเหรียญจากบริษัทที่ขายที่ดินให้รัฐ ๓) รับสินบน ๒.๗ ล้านเหรียญจากผู้รับสัมปทาน ๔) ฟอกเงินผ่านธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์โดยใช้ชื่อปลอม ในที่สุดหลักฐานที่เขาดิ้นไม่หลุดคือหนังสือตอบจากรัฐบาลสวิสที่สรุปว่าบุตรชายและสะใภ้เอาเงิน ๓๙ ล้านเหรียญมาฝากจริง การดำเนินคดีใช้เวลาเพียงปีเดียวศาลก็ตัดสินได้ทุกคดีที่เกี่ยวข้อง ลงโทษทั้งจำทั้งปรับกันไปทั่วหน้าตามความหนักเบาทั้ง ๑๒ คน ตัวประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปียนเองถูกจำคุกตลอดชีวิตและปรับอีก ๒๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน
เมื่อหม่าอิงจิ่วจากพรรคก๊กมินตั๋งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน ได้ทำการประกาศนโยบาย “รัฐบาลมือสะอาด” มีการจัดทำพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งถือว่าเป็นประมวลกฎหมายอาญาพิเศษอีกฉบับหนึ่ง และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาเพิ่งออกกฎหมายจัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ACA)
ไต้หวันเป็นประเทศเล็กๆ ขนาดเนื้อที่เพียงแค่ ๑ ใน ๑๔ ของไทย จำนวนประชากรแค่ ๑ ใน ๓ ของเรา แต่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมาก จึงถูกขนานนามว่าเสือตัวที่ ๔ แห่งเอเชีย ในอดีตเจียงไคเช็คซึ่งพ่ายแพ้แก่กองทัพแดงของเหมาเจ๋อตง ต้องหนีออกจากแผ่นดินใหญ่พร้อมกับชาวจีนชั้นหัวกะทิ ๒ ล้านคน ข้ามมายังเกาะไต้หวัน ตั้งตัวเป็นใหญ่ ปกครองคนพื้นเมือง ๑๘ ชนเผ่า ๗ ล้านคนที่นั่น มุ่งสร้างชาติขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังการบุกโจมตีจากจีนแผ่นดินใหญ่ การปกครองจึงเข้มงวดเคร่งครัด ประชาชนอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกที่ยาวนาน ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง ครั้นเมื่อสิ้นสุดการสืบทอดอำนาจของเจียงจิงกัวผู้ลูกแล้ว บ้านเมืองเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งผู้นำโดยตรงมานับแต่นั้น
จากกรณีศึกษาของไต้หวัน มีบทเรียนรู้ที่น่าสนใจอยู่หลายประการที่ควรหยิบยกมาแลกเปลี่ยน
๑) ระบบการตรวจสอบและตัดสินคดีทำได้รวดเร็ว
มีการจัดการปัญหาคอร์รัปชันจำนวน ๖ คดีสำคัญโดยใช้เวลาแค่ ๒ ปีนับเป็นหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบของไต้หวัน เมื่อตามลงไปถึงรายละเอียดจะพบว่าการตรวจสอบเอกสาร การตรวจสอบทรัพย์สิน การประสานความร่วมมือจากต่างประเทศ การอายัดทรัพย์สินและเอกสาร การสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ล้วนเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพทั้งสิ้น จำเลยทุกคดีไม่ว่าเล็กว่าใหญ่ถูกนำขึ้นสู่ศาล การพิพากษาลงโทษมีทั้งจำทั้งปรับควบคู่กันไปในคราวเดียว การตัดสินคดีจึงเป็นไปอย่างทันเหตุการณ์ ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้เห็นผลการกระทำความผิดแบบสดๆ ร้อนๆ ซึ่งผิดกับบ้านเราแบบสิ้นเชิง
๒) การเปิดโปงเกิดขึ้นได้ทันทีที่พบความผิดปกติ
เนื่องจากหน่วยงานรับผิดชอบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและรู้เท่าทันตลาดหุ้น กลุ่มวุฒิสมาชิกมีส่วนช่วยจับตาการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของกลุ่มทุนการเมือง ผู้กำกับดูแลและอัยการขอหมายจับหรือหมายค้นทันทีที่พบสัญญาณผิดสังเกต มีตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยและสหภาพพนักงานนั่งอยู่ในบอร์ด และสื่อมวลชนไต้หวันหลายฉบับให้ความสำคัญทำข่าวเจาะลึกเรื่องอื้อฉาวในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง
๓) เป้าหมายแห่งชาติเป็นแรงขับดัน
ไต้หวันมีเป้าหมายใหญ่ของชาติที่มุ่งเปลี่ยนแปลงสภาพเกาะแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค โดยตั้งเป้าที่จะล้มแชมป์อย่างเขตปกครองพิเศษฮ่องกงให้ได้ภายใน ๕ ปี สิ่งนี้เป็นแรงขับดันให้ไต้หวันเร่งเครื่องปราบปรามคอร์รัปชันในตลาดหุ้นอย่างแข็งขันตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ รวมทั้งการเข้าร่วมปฏิญญากับกลุ่มเอเปคด้วย
๔) พลังชนชั้นกลางและระเบียบวินัย
เกาะไต้หวันต้องเผชิญพิบัติภัยธรรมชาติอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างตื่นตัวและมีระเบียบวินัย อยู่คนเดียวไม่ได้ต้องพึ่งพาอาศัยกันจึงเห็นคุณค่าของส่วนรวม ความเสียหายจากภัยพิบัติแต่ละคราวล้วนต้องใช้งบประมาณมากทั้งในเรื่องอาคารสิ่งก่อสร้าง เทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญและวัสดุ ยอมทนให้ใครมาโกงกินไม่ได้
การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ การปฏิรูปที่ดิน ธุรกิจต่อเรือและกิจการเดินเรือที่รุ่งเรือง การมีนโนบายกระจายรายได้ที่ดี ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ครอบครัวที่รายได้สูงกับรายได้ต่ำต่างกันเพียง ๔ เท่าเท่านั้น (ลดความเหลื่อมล้ำจากเดิม ๑๕ เท่าได้ภายในระยะเวลาแค่ ๑๗ ปี)
๕) คนไต้หวันมีนิสัยต่างจากคนไทย
ชีวิตบนเกาะที่เสี่ยงต่อพิบัติภัยธรรมชาติตลอดเวลา คุณธรรมคำสอนของศาสนาขงจื้อ-เต๋า-พุทธ(มหายาน) ประวัติศาสตร์การต่อสู้ดิ้นรนมาตั้งแต่บรรพชน ฯลฯ ได้หล่อหลอมบุคลิกและนิสัยใจคอของคนไต้หวันให้แตกต่างไปจากคนไทย
กล่าวกันว่าคนไต้หวั่นมักเป็นคนจริงจังในเรื่องที่ตนชอบ สุภาพเป็นมิตรต่อผู้อื่น มีความเพียร ทำงานหนัก รอบคอบ หลีกเลี่ยงการทะเลาะ กล้าใช้จ่ายไม่กักตุน ให้เกียรติสตรีมาก ซื่อตรงซื่อสัตย์ ตื่นตัวทางการเมือง ฮึกเหิมในการสร้างชาติ เคร่งครัดระเบียบสังคม สำนึกเรื่องเวลา อดทนต่อภัยธรรมชาติ อนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิม กล้าบริจาค และมีสำนึกแบบโพธิสัตว์
เขาว่ากันอย่างนั้น ลองพิจารณาดูนะครับ
พลเดช ปิ่นประทีป
Be the first to comment on "ปราบโกงด้วยเครื่องมือธรรมดา : กรณีศึกษาจากไต้หวัน"