ผลวิจัยสถานการณ์ยาเสพติดในชุมชน : บทพิสูจน์ว่าคนไทยนั้นทำได้

่ความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระดับชุมชน ลดลงอย่างมาก กล่าวคือ ในช่วงก่อนปราบปราม หมู่บ้านชุมชนมีปัญหายาเสพติด 66.2% ระหว่างปราบปรามลดเหลือ 44.4% และหลังปราบ เหลือเพียง 11.1%เท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่ง เป็นชุมชนที่ยังมีคนค้าอยู่

โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 26 พฤศจิกายน 2546



เพื่อการหยั่งรู้สถานการณ์ยาเสพติดในชุมชนทั่วประเทศ ในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่าง 3 ช่วง เวลาของการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศตส.)

คือ
1. ช่วงเวลาก่อนการปราบปราม (ก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2546)
2. ช่วงเวลาระหว่างปราบปราม (1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม 2546)
3. ช่วงเวลาหลังปราบปราม ก่อนถวายชัยชนะแด่พระเจ้าอยู่หัว (กันยายน/ตุลาคม 2546)

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้มอบหมายให้ ดร.ขนิษฐา กาญจนรังษีนนท์ แห่งสำนักวิจัย กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการวิจัยภาคสนามแบบเร็ว (Rapid Research) โดยสุ่มตัวอย่าง 810 หมู่บ้าน – ชุมชน จากทั่วประเทศ แล้วสัมภาษณ์ผู้นำชาวบ้าน 5 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำกลุ่มสตรี ผู้นำกลุ่มเยาวชน กรรมการกองทุนหมู่บ้าน และผู้ประสานพลังแผ่นดิน รวมทั้งสิ้น 4,050 คน ซึ่งในทางสถิติมีความเชื่อมั่นในการเป็นตัวแทนประชากรที่ระดับ p.035

 


1. สถานการณ์โดยรวม
ความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระดับชุมชนลดลงอย่างมาก กล่าวคือ ในช่วงก่อนปราบปราม หมู่บ้านชุมชนมีปัญหายาเสพติด 66.2% ระหว่างปราบปรามลดเหลือ 44.4% และหลังปราบเหลือเพียง 11.1%เท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นชุมชนที่ยังมีคนค้าอยู่ และชุมชนที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะมีคนเสพจำนวน 1 – 5 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเบาบาง


2. สถานการณ์ก่อนการปราบปราม
หมู่บ้าน – ชุมชน 36.4% ให้ข้อมูลว่ามีคนค้าอยู่ในชุมชน ส่วนใหญ่จะมีผู้ค้า 1 –5 คน/ชุมชน เป็นชายมากกว่าหญิงและส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง มี 2.1% ของหมู่บ้านที่ระบุว่าผู้ค้ามีฐานะรวยมาก และพบว่าในหมู่บ้านที่มีผู้ค้าน้อยรายมักจะมีพฤติกรรมการค้ายาแบบอุกอาจ ไม่กลัวเกรงกฎหมาย
ในด้านคนเสพ หมู่บ้านส่วนใหญ่มีคนเสพ 1 –5 คน/ชุมชน หมู่บ้านที่คนเสพมากกว่า 10 คน มี 14.9% ผู้เสพส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18 –30 ปี เป็นชายมากกว่าหญิง มีฐานะปานกลางและยากจน

3. สถานการณ์ระหว่างการปราบปราม
จำนวนผู้ค้ายาลดลงบ้างแล้ว ผู้ค้าที่เหลือยังคงเป็นรายเดิม 3.8% ของหมู่บ้านบอกว่ามีผู้ค้าหน้าใหม่เกิดขึ้นในด้านสถานภาพผู้ค้าพบว่า 24.3% ของหมูบ้านพบว่าผู้ค้าไม่ได้มารายงานตัว ไม่หนี แต่หยุดค้าไปแล้ว, 14.5% ผู้ค้ารายงานตัวและหยุดค้า , 5.2% ยังคงอยู่ในหมู่บ้านและค้ายาต่อไป ส่วน 3.8% บอกว่ามีผู้ค้าถูกฆ่า
สำหรับด้านผู้เสพก็มีจำนวนลดลง ส่วนใหญ่ของผู้เสพมักเป็นรายเดิม มีหน้าใหม่ 6.7%
หมู่บ้าน 45.7% มีผู้เสพออกมารายงานตัวและหยุดเสพ, 18.6% ไม่ออกมารายงานตัว แต่หยุดเสพไปเอง, 12.7% มีผู้เสพถูกจับกุม, 2.7% ของหมู่บ้านมีผู้เสพถูกฆ่า
ส่วนผู้เสพที่เข้าบำบัด 15.8% ของหมู่บ้านบอกว่าเลิกเสพได้แล้วส่วนใหญ่เข้าบำบัดในค่ายฯมากกว่าโรงพยาบาลและสถานีอนามัย

4. สถานการณ์หลังการปราบปราม
หมู่บ้าน 5.3% ยังคงมีผู้ค้าในชุมชน ส่วนใหญ่มีฐานะปานลาง รวยมากมี 0.7% และหมู่บ้านที่มีการค้ายาแบบอุกอาจมี 1 %
ด้านคนเสพพบว่าหมู่บ้าน 8.6% ยังคงมีผู้เสพ เฉลี่ย 1 –5 ราย/ชุมชน หมู่บ้านที่มีผู้เสพเกิน 10 คน มี 0.4% ส่วนใหญ่คนเสพมีฐานะปานกลางและยากจน มีพฤติกรมเสพแบบหลบซ่อน

5. ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างช่วงเวลา
เปรียบเทียบระหว่างช่วงก่อนถับช่วงระหว่างการปราบปราม หมู่บ้าน 69.3% มีจำนวนคนค้า คงเดิม จำนวนผู้ค้าในหมู่บ้านที่มีการลดลงมากที่สุดคือ 33 คน และที่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือ 5 คน ต่อชุมชน ส่วนจำนวนคนเสพในหมู่บ้าน ที่มีการลดลงมากที่สุดคือ 84 คน และที่เพิ่มสูงสุดคือ 21 คนต่อชุมชน
เปรียบเทียบระหว่างช่วงการปราบปรามกับช่วงหลังการปราบปราม หมู่บ้าน 82.6 % มีจำนวนผู้ค้าคงเดิม จำนวนผู้ค้าในหมู่บ้านที่มีการลดลงมากที่สุดคือ 22 คน และที่เพิ่มสูงสุดคือ 4 คน ต่อชุมชน

6. เปรียบเทียบความรุนแรงในชุมชนระหว่างภูมิภาค
ในช่วงก่อนการปราบปราม ชุมชนที่มีปัญหารุนแรงส่วนใหญ่ได้แก่ ชุมชนเมืองในภูมิภาค(โดยรวม) หมู่บ้านในภาคเหนือ และหมู่บ้านในภาคกลาง
ชุมชนที่อยู่ในระดับควบคุมได้ ได้แก่ หมู่บ้านในภาคอีสาน และชุมชนเมืองใน กรุงเทพฯ
ส่วนชุมชนที่มีปัญหาอยู่ในระดับเบาบาง คือ หมู่บ้านในภาคใต้

สำหรับช่วงเวลาการปราบปราม มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นในทุกภูมิภาค หมู่บ้านในภาคเหนือ และชุมชนเมืองในภูมิภาค ในภาพรวมยังมีจำนวนผู้ค้ามากกว่าภูมิภาคอื่น
หมู่บ้านในภาคอีสาน และชุมชนเมืองในภูมิภาค ยังมีผู้ค้าหน้าใหม่มากกว่าภูมิภาคอื่น
และในด้านผู้เสพก็พบว่า หมู่บ้านในภาคอีสานยังมีคนเสพมากกว่าภูมิภาคอื่น เช่นเดียวกับผู้เสพหน้าใหม่ก็พบมากกว่าภูมิภาคอื่นๆด้วย

จากผลการวิจัยข้างต้น เป็นข้อมูลยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แม้สถานการณ์ยาเสพติดจะวิกฤติเพียงใด ถ้าคนไทยจะสู้ก็ย่อมสามารถเอาชนะได้เช่นทุกครั้งแบบเดียวกับวิกฤติอื่นๆ ที่เราเคยเผชิญกันมาแล้วในประวัติศาสตร์ของชาติ

อย่างไรก็ตาม เราทุกคนควรมีสถิติที่จะเตือนกันไว้เสมอว่าคนไทยมักลืมง่าย เพราะเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ระยะปกติแล้วเรามักจะ “สบายๆตามใจคือไทยแท้” จนปัญหาสะสมและวิกฤติขึ้นอีกเป็นวัฎจักร
หวังว่าคราวนี้คงไม่เป็นแบบนั้นนะครับ

Be the first to comment on "ผลวิจัยสถานการณ์ยาเสพติดในชุมชน : บทพิสูจน์ว่าคนไทยนั้นทำได้"

Leave a comment

Your email address will not be published.