น.ส.ลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดปัตตานี ได้รับรางวัลผู้หญิงนักพัฒนาชาวไทยพุทธที่ปกป้องสิทธิชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้…
รางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. 2548
|
น.ส.ลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดปัตตานี สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุน ได้รับรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.2548 ดังข่าว…
|
กก.สิทธิฯมอบรางวัล 6 หญิงเหล็ก ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนดีเด่น หลายสาขา อาทิ “มณี บุญรอด” แกนนำต้านเหมืองโปแทช อุดรฯ “จันทร์สุดา” ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี “พรพิศ ผักไหม” สาวบริการที่เปิดตัวเพื่อนำเสนอปัญหา “ลม้าย มานะการ” นักพัฒนาไทยพุทธใน 3 จว.ใต้ “พจศนา บุญทอง” นักปกป้องสิทธิผู้บริโภค และ “ทิชา ณ นคร” ขณะที่สหประชาชาติด้านเพศและศาสนา มอบรางวัลให้ “ออง ซาน ซูจี” ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ในฐานะเป็นผู้หญิงที่อดทนสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอีก 18 องค์กรจัดพิธีมอบรางวัลดีเด่น “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดงาน น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกรางวัลดีเด่น ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้คณะกรรมการพิจารณา 35 คน เป็นผู้มีผลงานการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นที่ประจักษ์ บทบาทมีประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิ การทำงานอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย ยากลำบากทั้งจิตใจร่างกาย และผลงานถือเป็นบทเรียนตัวอย่างกับบุคคลอื่นได้ น.ส.นัยนากล่าวต่อว่า ผู้ได้รับการคัดเลือก 6 คน ได้แก่ 1.นางมณี บุญรอด ผู้หญิงชาวบ้านที่เป็นแกนนำต้านเหมืองแร่โปแทช จ.อุดรธานี 2.นางจันทร์สุดา เพิ่มธัญกรรม ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวี ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเครือข่ายผู้ติดเชื้อแห่งประเทศไทย ในนามบ้านนกหวีด บ้านพักสำหรับเด็กแรกเกิดซึ่งเป็นบุตรของผู้ติดเชื้อที่ยากจน 3.น.ส.พรพิศ ผักไหม พนักงานบริการที่เปิดเผยตนเองต่อสังคม เพื่อนำเสนอปัญหาและความต้องการของผู้หญิงพนักงานบริการ 4.น.ส.ลม้าย มานะการผู้หญิงนักพัฒนาชาวไทยพุทธที่ปกป้องสิทธิชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.นางพจศนา บุญทอง ผู้หญิงปกป้องสิทธิผู้บริโภคจากผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และ 6.นางทิชา ณ นคร ผู้หญิงที่มีบทบาทเยียวยาเด็กกระทำผิดในบ้านกาญจนาภิเษก “เราถูกตั้งคำถามว่าทำไมต้องมอบรางวัลนี้ เพราะองค์กรอื่นก็มอบกันมากมายในวันสตรีสากล ขอชี้แจงว่า ยูเอ็นให้การรับรองว่างานปกป้องสิทธิมนุษยชนถือเป็นงานอันตราย เมื่อผู้หญิงมามีบทบาทยิ่งยากลำบากและอันตรายกว่าผู้ชายมาก และสังคมอาจไม่เข้าใจ ผู้หญิงลุกมาปกป้องสิทธิฯ จึงเป็นเรื่องท้าทายวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อสังคม เช่น ผู้หญิงติดเชื้อ หญิงบริการ หญิงทำงานกับเด็กติดคุก ต้องทำงานภายใต้อิทธิพล การถูกข่มขู่คุกคามทำร้ายร่างกาย รางวัลนี้จึงแตกต่างออกไป เพราะ 6 คนที่ได้รับรางวัลไม่เป็นที่รู้จัก แต่ได้ทำงานอย่างยากลำบากเพื่อส่วนรวม ชุมชน ท้องถิ่น โดยคนในสังคมมองไม่เห็น” น.ส.นัยนากล่าว ด้านนายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของมหาชนของคนทั้งโลก การมอบรางวัลให้ผู้หญิงเป็นจุดหนึ่งที่ให้คุณค่าความสำคัญกับสตรีเพศ เมื่อเทียบกับผู้ที่ต่อสู้กับเรื่องนี้มานาน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะสานต่อบทบาทเพราะปัญหาสิทธิมนุษยชนกำลังกระทบไปทุกกลุ่ม อย่างหลากหลาย ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาเด็ก เยาวชน ครอบครัว ผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค รัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ให้การรับรองความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปัญหาสังคมเริ่มแผ่ขยายไปในเชิงนโยบาย บทบาทผู้หญิงต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเชิงนโยบายด้วย จากนั้นมีการอภิปราย “เรื่องเล่าจากผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยนางมณี บุญรอด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด จ.อุดรธานี กล่าวว่า เข้าไปร่วมคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแทชตั้งแต่ปี 2543 โดยได้อ่านสัญญาที่ทำในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เห็นว่าโครงการไม่ชอบมาพากล มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อนกฎหมายแร่จะออก และเป็นโครงการของต่างชาติหวังมากอบโกยผลประโยชน์ของเรา สัมปทาน 22 ปีที่จะทำ ต่างชาติได้เงิน 20,000 ล้าน ส่วนไทยได้เพียง 1,400 ล้าน ถือเป็นการหมกเม็ด เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงเข้าไปดำเนินการทำเหมืองแร่ต่อ เพราะรัฐบาลอยากได้เงิน เหมืองโปแทชร้ายกว่าโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด หากทำได้ก็จะขยายไปอีกหลายพื้นที่ กฎหมายที่รัฐบาลเขียนเป็นเพียงภาพลวงตา เป็นผีหลอกประชาชนเพราะไม่มีการปฏิบัติจริง “แม้เป็นผู้หญิงจบแค่ ป.4 แต่ก็พยายามศึกษาข้อมูลผลกระทบ พบว่าการทำเหมืองแร่โปแทชกินพื้นที่ 4 ตำบล เนื้อที่ 20,000 ไร่ ทำให้เกิดผลกระทบมากมายทั้งแผ่นดินทรุด ดินเค็ม น้ำเค็ม ป่าไม้ก็กระทบ เราสู้มาตลอดแม้จะถูกข่มขู่คุกคาม บริษัทที่จะทำโครงการโทร.มาถามว่ากลัวมั้ยถ้าจะถูกฆ่า ถ้ายังไม่เลิกคัดค้านโครงการนี้ หรือจะเอาเงินเท่าไหร่ แต่เราไม่กลัวเพราะขอเอาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็มีการส่งคนมาตี ทำร้าย ขณะกำลังประชุม โดยมีกรรมการสิทธิฯ อยู่ในการประชุมด้วย เราก็ต้องสู้เพราะหากเราถอยเขาก็เข้ามาได้ จึงขอสู้ไปจนตาย เพราะถือว่าถ้าจะตายก็ขอตายอย่างมีศักดิ์ศรี” นางมณีกล่าว ด้านนางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก และผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เด็กที่ถูกพิพากษาว่าทำผิดให้อยู่ในสถานพินิจ แสดงสัญญาณขอความช่วยเหลือมาตลอดตั้งแต่ปี 2543 แต่ไม่มีใครเห็น เพราะเป็นเด็กกลุ่มที่ไม่มีเสียง เด็กเหล่านี้กลายเป็นอาชญากรทั้งที่อาจก้าวพลาดหรือผิดจังหวะช่วงวัยรุ่น จึงต้องสร้างโอกาสให้เด็กปรับพฤติกรรมกลับสู่สังคมให้ได้ ส่วนประเด็นผู้หญิงและเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ในการปกป้องสิทธิต้องต่อสู้กับการถูกข่มขู่จากผู้ละเมิดและผู้มีอิทธิพลมาตลอด รวมทั้งถูกฟ้องร้องเป็นเงินนับร้อยล้านบาท “การทำงานที่ผ่านมามักถูกตำหนิว่า เซ้าซี้งี่เง่าในการเรียกร้องต่อสู้เรื่องเพศ เรื่องผู้หญิง มีทั้งแรงเสียดทาน การถูกหัวเราะเยาะ เช่น การเรียกร้องให้แก้กฎหมายอาญาไม่ให้สามีข่มขืนภรรยาได้ มีแต่คนหัวเราะ การได้รับรางวัลนี้ทำให้รู้สึกขัดเขิน เพราะการทำงานแบบนี้รางวัลอยู่สุดขอบฟ้า เรารู้แต่เพียงว่าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้สังคมมีพื้นที่ของเด็กและผู้หญิงมากขึ้น” นางทิชากล่าว ด้านนางพจศนา บุญทอง หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาผู้บริโภคเกิดจากลัทธิบริโภคนิยม ทำให้เกิดความวุ่นวาย ตนได้รับการร้องเรียนมากมาย ทั้งเรื่องทุบรถ เรื่องที่อยู่อาศัย อยากให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่ให้ผู้บริโภคต้องออกมาทุบรถ จากการทำงานตนถูกข่มขู่คุกคามทำร้าย เช่น การร้องสภาทนายความกรณีพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านการเคหะฯ ที่ให้สร้างตึกมูลค่า 120 ล้าน จนศาลมีคำสั่งระงับก่อสร้าง ทำให้ส.ว.คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับเหมามาขอซื้อบ้านตนเพื่อให้ออกไป รวมทั้งโดนปลาร้าปาที่บ้าน มีการขับรถตามมาทำร้ายร่างกาย แต่ตนก็จะทำงานอย่างนี้ต่อไป ส่วนน.ส.ลม้าย มานะการ นักพัฒนาโครงการอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนทำงานกับกลุ่มเด็กรักษ์นก เพราะต้องการให้ธรรมชาติหล่อเลี้ยงคนให้รักเพื่อนมนุษย์ และพยายามทำงานกับชุมชนในอ่าวปัตตานี และ 3 จังหวัดภาคใต้มาตลอด 12 ปี ตั้งแต่ปี 2547 แผ่นดินต้องทุกข์พี่น้องฆ่ากัน ทั้งที่กรือเซะ ตากใบ แม่ลาน พี่น้องมุสลิมยังฆ่ากันเอง พี่น้อง 58 คนถูกจับ เกิดแม่ม่าย เด็กกำพร้า ดังนั้นหากเรายังอยู่ในอาณาจักรของความกลัวใครจะมาช่วยเรา ตนพยายามปลุกพี่น้องทุกคนให้ลุกมาสู้ 3 จังหวัดมีสิ่งดี มีธรรมชาติงดงามที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นสังคมอย่าทิ้งคน 3 จังหวัดนี้ เขาต้องการกำลังใจให้ลุกขึ้นมาใหม่ น.ส.พรพิศ ผักไหม ผู้ประสานงานพนักงานบริการ ศูนย์เอ็มพาวเวอร์ เชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้หญิงและกลุ่มพนักงานบริการถูกละเลย เป็นได้เพียงหนูทดลองในการใช้ถุงยาง ถูกมองเป็นคนเลวของสังคมที่ต้องไปนอนกับผู้ชายแลกกับเงิน ติดเชื้อยิ่งสมน้ำหน้าทำให้ยิ่งรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ทั้งที่กลุ่มคนภาคบริการเป็นล้านคนเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เห็นได้ชัดจากภัยสึนามิใน 6 จังหวัด บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา มีบ้านสาวบริการ 20-50 หลัง มาทำงาน เมื่อจะขอความช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง เพราะไม่มีประกันสังคมไม่มีหลักฐานการทำงาน จึงขอให้ยอมรับความแตกต่างและขอร้องอย่ากีดกันคนเหล่านี้ในสังคม ขณะที่นางจันทร์สุดา เพิ่มธัญกรรม หัวหน้าโครงการกลุ่มพลังชีวิต ผู้ก่อตั้งบ้านนกหวีด กล่าวว่า แม้มีปัญหาสุขภาพแต่อยากให้เกิดสิทธิอันชอบธรรมกับผู้หญิงติดเชื้อที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกอ่อน เพื่อให้สามารถมีชีวิตได้เยี่ยงมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง ได้ถ่ายทอดปัญหาและความต้องการของผู้หญิงติดเชื้อต่อสังคม ทั้งนี้อยากให้สังคมมองผู้ติดเชื้อและปฏิบัติกับเราอย่างคนปกติทั่วไปเช่นกัน วันเดียวกัน ที่อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นางหม่อง หม่อง เลขาธิการรัฐบาลพลัดถิ่นพม่า เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ ด้านเพศและศาสนา (UN Gender and Religious) มอบรางวัลเนื่องในวันสตรีสากลให้กับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่า เนื่องจากเป็นผู้หญิงที่อดทนต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยนายฮานส์-ปีเตอร์ อริสมานน์ เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้มอบรางวัลให้กับ น.ส.ซาน ซาน อายุ 74 ปี ตัวแทนของนางซูจีซึ่งหนีเข้าชายแดนไทย-พม่า จากเหตุการณ์สังหารหมู่ในพม่าเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2546 ในระหว่างที่คณะของนางซูจีกำลังเดินทางไปภาคเหนือของพม่าและถูกทหารพม่าบุกโจมตี นางซูจีได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อปี 2534 และถูกกักบริเวณในบ้านพักตั้งแต่เดือนพ.ค. 2546 ซึ่งเป็นการกักบริเวณครั้งที่ 3 และรวมระยะเวลาที่ถูกกักบริเวณทั้งหมดเกือบ 10 ปีแล้ว สำหรับ น.ส.ซาน ซาน เคยถูกจำคุกในเรือนจำในย่างกุ้ง 2 ครั้ง รวมเวลาเกือบ 10 ปี และขณะนี้เป็นเลขาธิการสหภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Members of parliament Union) และเป็นสมาชิกอาวุโสของรัฐบาลพลัดถิ่น (National Council of the Union of Burma) ทั้งนี้สมาชิกรัฐบาลพลัดถิ่นส่วนใหญ่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2534 แต่ถูกรัฐบาลทหารพม่ายึดอำนาจทำให้สมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งส่วนหนึ่งต้องลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย วันเดียวกัน เวลา 16.00 น. น.ส.มีสุข แจ้งมีสุข อายุ 32 ปี พิธีกรชื่อดัง ที่เพิ่งสละสิทธิ์รับรางวัลสตรีดีเด่น สาขาสื่อมวลชน เนื่องในวันสตรีสากล เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกรณีรับเป็นผู้ดำเนินรายการโชว์ตบนม เข้าพบพ.ต.ท.ยิ่งยศ อินทบุหรั่น รองผกก.สส.สน.ห้วยขวาง เพื่อรับฟังข้อกล่าวหาคดีที่บริษัท เซนเฮิร์บ คอสเมติก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แสดงการตบนมโดยมีการโชว์หน้าอก เหตุเกิดภายในโรงแรมดิ เอ็มเมอรัล ถ.รัชดาฯ ตามหมายเรียกศาลอาญาที่ 307/2548 ในข้อหาร่วมกันกระทำอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท โดยน.ส.มีสุขให้การปฏิเสธในชั้นพนักงานสอบสวน และขอให้การในชั้นศาล น.ส.มีสุขกล่าวว่า ที่เดินทางมาเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา แต่ที่มาช้าเพราะว่าไม่ได้รับหมายเรียก ทราบข่าวจากสื่อโดยทนายให้คำปรึกษาว่าให้รอรวบรวมเอกสาร หลักฐานข้อมูลทั้งหมดของงานที่เกิดขึ้น โดยตนปฏิเสธยืนยันความบริสุทธิ์ การกระทำหน้าที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น หรือเป็นหนึ่งในคณะทีมบริหารที่มีการโชว์อนาจาร แต่ไปในฐานะพิธีกรผู้รับว่าจ้าง ที่สำคัญไม่ทราบคิวนี้เลย และจะใช้หลักการทางกฎหมายเข้ามารับ สำหรับในกระแสสังคมที่ได้รางวัลสตรีดีเด่น ที่เป็นบรรทัดฐานของผู้หญิงที่เคยกล่าวไว้ เพราะตัดสินใจได้เองคนเดียว ว่ากันไปตามศาล วันที่ติดต่อเป็นพิธีกร ในฐานะแถลงข่าวเพื่อ สคบ.และ อย.จะรับรองว่าเป็นเครื่องสำอางหรือเป็นยารู้ข้อมูลแค่นั้น จะมีการโชว์อะไรบนเวทีไม่ทราบไม่มีสคริปต์มาให้ มีเพียงสรุปกับทีมงานก่อน เพราะรู้จักสนิทกับคนจัดงาน ร่วมงานกันหลายครั้งจนรู้ใจ ไม่คิดว่ายอมรับและถูกปรับเพียงแค่ 500 บาท แต่ปฏิเสธเพื่อความบริสุทธิ์ เพราะมีผลต่อหน้าที่การทำงานในอนาคต ด้านพ.ต.ท.ยิ่งยศกล่าวว่า เมื่อน.ส.มีสุขมาปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวน จึงได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิ์คดีนี้ อัตราโทษแค่ลหุโทษ จะไม่มีการควบคุมตัว หลังจากลงบันทึกเสร็จก็จะให้สาบานตน และให้เวลาที่จะมาพบเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม ส่วนการรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว สามารถให้การในชั้นศาลก็ได้ หรือในชั้นสอบสวนก็ได้ ซึ่งทางพนักงานก็จะรวบรวมให้เสร็จภายใน 30 วัน |
ข่าวสด หน้า 1 |
วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2548 ปีที่ 14 ฉบับที่ 5213 |
Be the first to comment on "ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน"