หมอพลเดช : ความคิดอิสระ เพื่อสังคมเข้มแข็ง ด้วยพลังชุมชนท้องถิ่น
………………………………………………………
Posted by หมอพลเดช , ผู้อ่าน : 1796, 16:21:45 น. หมวด : การเมือง
สภาวะ สูญญากาศทางการเมือง ที่พูดถึงกันมากก็มีโอกาสและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยอย่างช้าไม่น่าจะเกินสิ้นปี เมื่อมีมหกรรมยุบพรรคการเมืองเคลื่อนมาถึง แต่อาจจะเร็วกว่านั้น 2-3 เดือนก็เป็นได้ ถ้ามีการยุบสภาแต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ หรือหาก ป.ป.ช.รับเรื่องถอดถอนจากวุฒิสภาแล้วมีคำสั่งให้ ครม. ยุติการปฏิบัติหน้าที่ หรือในกรณีที่ผู้นำรัฐบาลถูกขับไล่ออกนอกประเทศ
การปฏิรูประบบการเมืองครั้งใหม่ ต้องไปให้พ้นระบบการเมืองแบบ “กินรวบ” และต้องอาศัยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่คนไทยทั้งประเทศมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ทุกขั้ว ทุกฝ่าย ใช้เวลาสัก 2-3 ปี โดยถือเป็นการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยไปในตัว ตั้งกลไก สสร.3 ขึ้นมารับผิดชอบดำเนินการ ให้รัฐสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระอื่นๆ และหน่วยราชการร่วมให้ความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่พัฒนาขึ้น และสุดท้ายเมื่อผ่านการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญจนลงตัวแล้ว จึงให้มีการลงประชามติ รับรองและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2554 (โดยประมาณ) ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาของกระบวนการดังกล่าวก็ให้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไปก่อนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ในโอกาสนี้ผมขอทดลองเสนอกรอบแนวคิด บางประการเพื่อเชิญชวนระดมความคิดเห็นกันครับ
ประการแรก : คงหลักการถ่วงดุลย์อำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550
นอกจากมีฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และฝ่ายตุลาการ (ศาล)แล้ว ยังคงให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาเป็นกลไกเสริมและถ่วงดุลย์ ได้แก่
ส่วนที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน
ส่วนที่ 2 องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้ง 7 องค์กร ต้องเชื่อมโยงและสนับสนุนการเมืองภาคพลเมืองที่เป็นอิสระ ในการตรวจสอบและสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเชิงคุณธรรมอย่างเข้มแข็งจริงจัง
สำนักงานประจำ ซึ่งเป็นเลขานุการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ควรปรับปรุงระบบการทำงานและระเบียบข้อบังคับ หรือแม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถทำงานกับภาคประชาชนได้อย่างโปร่งใส คล่องตัวและเป็นอิสระกว่าที่เป็นอยู่
ประการที่สอง : ปฏิรูประบบการเมืองตัวแทนระดับชาติ
ในระบบการเมืองตัวแทนที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐในระดับชาติ ยังควรให้มี 2 สภาถ่วงดุลกัน คือ สภาผู้แทนราษฏร และวุฒิสภา แต่น่าจะต้องปรับโครงสร้าง องค์ประกอบและจำนวนให้เหมาะสมโดยสามารถถ่วงดุลและหนุนเสริมกันได้ดียิ่งขึ้น อาทิ :
ส.ส. อาจมี 3 องค์ประกอบ คือ ส.ส.เขตพื้นที่ กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มาโดยกระบวนการเลือกตั้ง และ ส.ส.ที่มาจากการสรรหาตามสาขาอาชีพ โดยจำนวนเต็ม 500 คน และแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน โดย ส.ส.จะสังกัดพรรคหรือไม่ก็ได้
ส.ว.อาจคงไว้ 2 องค์ประกอบเช่นเดิม คือ ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา โดยจำนวนเต็ม 150 หรือ 200 คน และกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับจังหวัดที่มีขนาดแตกต่างกันด้วย โดย ส.ว.ต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง
*****
ให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑล”
ที่รวมองค์กรท้องถิ่นทุกประเภทในพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามภูมินิเวศวัฒนธรรมเข้ามาร่วมกัน
เช่น เทศาภิบาลล้านนา เทศาภิบาลปัตตานี เทศาภิบาลศรีวิชัย ฯลฯ
*****
ประการที่สาม : ปฏิรูประบบการเมืองตัวแทน ระดับท้องถิ่น
การปฏิรูประบบการเมืองในครั้งนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local Democracy) เป็นพิเศษ เพราะเป็นความเป็นความตายของประเทศ จึงควรที่คนไทยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศต้องพิจารณาอย่างสงบลึกซึ้ง ซึ่งผมเห็นว่าข้อเสนอของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี (ประชาธิปไตยพหุอำนาจ : 2550) น่าสนใจอย่างยิ่ง อาทิ :
• หลักการคือแก้ปัญหา 2 ประการให้ได้ คือ 1) รัฐยังครอบงำท้องถิ่น 2) องค์กรปกครองท้องถิ่นมีขนาดเล็กเกินทำให้ขาดพลังทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม
• เมื่อท้องถิ่นมีขนาดใหญ่ มีศักดิ์ศรี และมีพลังทางเศรษฐกิจ หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา โรงเรียน โรงพยาบาล และตำรวจก็ยินดีและควรไปขึ้นกับท้องถิ่น เป็นโอกาสในการจัดระบบความปลอดภัย บริการสาธารณะ และสวัสดิการท้องถิ่นตั้งแต่ชุมชนจนถึงเมืองใหญ่ได้เต็มที่
• เสนอให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑล” ที่รวมองค์กรท้องถิ่นทุกประเภทในพื้นที่กลุ่มจังหวัดตามภูมินิเวศวัฒนธรรมเข้ามาร่วมกัน เช่น เทศาภิบาลล้านนา เทศาภิบาลปัตตานี เทศาภิบาลศรีวิชัย ฯลฯ โดยยังคงหน่วยท้องถิ่นพื้นฐานไว้ตามเดิม
ประการที่สี่ : เสริมพลังการเมืองภาคพลเมือง
การเมืองภาคพลเมือง มีทั้งส่วนที่เป็นประชาธิปไตยชุมชน (Community Democracy) ที่มีบทบาทในด้านการกำหนดตนเองในการพัฒนา การพึ่งตนเอง การใช้วิถีชีวิตประชาธิปไตยประจำวัน อันจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม กับอีกส่วนหนึ่ง คือ การเมืองภาคประชาชน (Popular Democracy) ที่มีบทบาทในการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางนโยบาย ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
ทั้งสองส่วนเป็นพลังสำคัญในการเสริมสร้างประชาธิปไตยเชิงคุณธรรม และเป็นหลักประกันที่จะทำให้การเมืองระบบตัวแทนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นดำเนินอยู่ในครรลองของศีลธรรม จึงต้องมีกลไกและระบบที่จะส่งเสริม สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในยุค คมช. ที่ผ่านมารัฐบาล พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมกันออกกฎหมายไว้สำหรับเป็นเครื่องมือบางส่วนแล้ว อาทิ : พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 พรบ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 และ พรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2551
• ควรตั้ง “กองทุนส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนในระดับจังหวัด” โดยจัดสรรงบประมาณสักแค่ ร้อยละ 0.1 ของที่จัดสรรให้องค์กรปกครองท้องถิ่น เฉพาะส่วนที่เป็นแผนงานโครงการพัฒนาสมทบเข้าไว้ มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระที่ไม่ใช่ราชการเป็นผู้ดูแล และบริหารจัดการกองทุนเพื่อส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมโครงการขององค์กรชุมชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมในการพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน และการเมืองภาคประชาชนรูปแบบต่าง ๆ
• ควรดำเนินการและพัฒนายกระดับ “กองทุนส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง” ซึ่งเป็นกลไกตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการมือง พ.ศ.2551 ที่มีสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ดูแล ให้มีงบประมาณเพียงพอและสามารถส่งเสริมความเคลื่อนไหวการเมืองภาคพลเมืองได้อย่างคล่องตัว และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับกองทุน ส.ส.ส. หรือเหนือกว่านั้น
และในระยะยาวควรเชื่อมโยงกับกองทุนส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนในระดับจังหวัดทั่วประเทศ โดยอาจตั้งเป็นหน่วยงานที่แยกออกมากจากสถาบันพระปกเกล้าต่อไป
ประการที่ห้า : เพิ่มกลไกเสริมที่จำเป็น
ในการผ่าตัดระบบการเมืองที่กล่าวข้างต้น เป็นการแตกตัวของอำนาจไปหลายอย่างและหลายระดับ เพื่อให้มีการถ่วงดุลกัน และมีหลายช่องทางยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมระบบใหม่ ควรพิจารณาให้มีกลไกเพิ่มเติมตามแนวทางประชาธิปไตยพหุอำนาจของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี อีก 2 กลไก
• ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการสรรหาแห่งชาติ เพื่อดูแลระบบการสรรหาบุคคลไปดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น กรรมการในองค์การอิสระ ปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัด
• ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการประเมินแห่งชาติ เพื่อดูแล และพัฒนาระบบการประเมินที่เชื่อถือได้ เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และทำการประเมินองค์กรรัฐทุกชนิด รวมทั้งพรรคการเมืองด้วย
พลเดช ปิ่นประทีป (30/07/2551)
www.ldinet.org
email : ppoldej@yahoo.com
Be the first to comment on "ผ่าตัดใหญ่ประเทศไทย (2) : ต้องปฎิรูประบบการเมืองรอบ 2"