ฝากการบ้านกรรมการป.ป.ช.ชุดใหม่
พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / ประจำวันพุธที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เพื่อบรรลุภาพลักษณ์การเป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังในการจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างได้ผล และมีดัชนีความน่าเชื่อถือในสายตาชาวโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ ป.ป.ช.ต้องแสดงบทบาทการนำในการขับเคลื่อนพลังสติปัญญาของพลเมืองไทยทั้งสังคม
เป้าหมาย คือ ภายในสิบปีข้างหน้า ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชัน (CSI-corruption situation index) และคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI-corruption perception index) ในระดับระดับ 6.00 จากคะแนนเต็ม10.0
ซึ่งมีสิ่งที่ควรต้องทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง อย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
1.ควรต้องปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริตของชาติอย่างจริงจัง
คดีคอร์รัปชันนับหมื่นคดีที่สะสมตัวเป็นดินพอกหางหมู ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ ป.ป.ช. (รวมทั้ง ป.ป.ท.) จะต้องปฏิรูปการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ด้านหนึ่งเพื่อฟื้นฟูและสร้างเสริมเครดิตทางสังคมขององค์การนำ อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ จิตสำนึกและวิธีคิดของสังคมไทย ให้หลุดพ้นจากความรู้สึกที่ท้อแท้และยอมจำนนต่อคอร์รัปชัน
สถานการณ์“คดีเข้าใหม่”ที่มีจำนวนมากกว่า“คดีที่สะสางไป”อยู่ตลอดเวลาในแต่ละปีอย่างที่กำลังดำรงอยู่นี้ แท้ที่จริงสามารถแก้ไขและเอาชนะได้ด้วยการวางแผนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องการการคิดนอกกรอบเดิมๆ
ควรต้องตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนคดีลงสู่ระดับที่ควบคุมได้ภายใน 3-5 ปี จนเป็นที่น่าพอใจและประชาชนสัมผัสได้
• กระจายอำนาจให้เจ้าหน้าที่วิชาชีพสืบสวนสอบสวนให้มากขึ้น เพิ่มจำนวนแม่กองงาน หรือคณะทำงานพิเศษ (ในลักษณะเฉพาะกิจ) เพื่อดำเนินการสะสางในเชิงรุก (pro-active)
• ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการจัดตั้งศาลพิเศษคดีทุจริต
• ส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องปฏิรูปวิธีคิด วิธีบริหารจัดการ และกลไกที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรองรับและนำนโยบายไปดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
(2 ) ควรต้องสนับสนุนและใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหนุนเสริมอย่างเต็มที่
ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยมีความรุนแรง ซับซ้อนและเรื้อรังมาก ทั้งในระดับปรากฎการณ์ ระดับโครงสร้างความสัมพันธ์และระดับจิตสำนึกวิธีคิดหรือวัฒนธรรม ดังนั้นลำพังมาตรการทางกฎหมายตามอำนาจหน้าที่หลักของ ป.ป.ช.นั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว จำต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐกิจ และทางสังคมเข้ามาเสริม เป็นแบบ 3 ประสาน
ป.ป.ช.ควรแสดงบทบาทนำในการผนึกกำลังภาคีเชิงยุทธศาสตร์ให้ได้อย่างแน่นแฟ้น เพื่อขับเคลื่อนการเอาชนะปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย ทั้งด้วยมาตรการทางกฎหมาย ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ
ภาคียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ(เชิงคุณธรรม) ภาคสื่อมวลชน(เชิงปฏิรูป) และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย
ทั้งนี้ต้องไม่กีดกันพันธมิตรทั่วไปหรือภาคีแนวร่วมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือแม้แต่รัฐบาลของพรรคการเมืองที่ขึ้นมาบริหารประเทศ
ในเรื่องเหล่านี้ กรรมการ ป.ป.ช. (โดยองค์คณะ) ควรต้องปรึกษาหารือกันและกำหนดเป็นทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
ส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องปฏิรูปวิธีคิด วิธีบริหารจัดการ และกลไกที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรองรับและนำนโยบายไปดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
ป.ป.ช.ควรประสานกับรัฐบาล พรรคการเมืองและเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการเสนอ พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
กองทุนดังกล่าวมีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนการเคลื่อนไหว การสื่อสารรณรงค์ การทำกิจกรรมคว่ำบาตรทางสังคม การมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง ป้องกันและติดตามตรวจสอบการทุจริตในทุกระดับ ทุกหน่วยงาน ทุกพื้นที่
ต่อเมื่อพลังทางสังคมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวเชิงเครือข่ายมีการขยายตัวและยกระดับจนถึงขีดหนึ่ง จึงจะเกิดเป็นภูมิต้านทานต่อปัญหาทุจริตที่แข็งแรงและยั่งยืนมากขึ้นตามลำดับ
กองทุนนี้ควรเป็นอิสระจาก ป.ป.ช. (ไม่ควรเป็นหน่วยงานย่อยของ ป.ป.ช.) และต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ ทั้งร่วมงาน ทั้งตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ควรต้องออกแบบให้มีกระบวนการสรรหากรรมการและผู้บริหารที่เป็นอิสระ และมีระบบสนับสนุนด้านเงินทุนดำเนินการ (Financial Support) ที่มั่นคง มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ และสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง ข้าราชการและอำนาจทุน
(3) ควรต้องพัฒนารูปแบบการใช้มาตรการทางภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามทุจริตอย่างจริงจัง
เสนอให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ปฏิรูปกระบวนการจัดเก็บภาษีอากรให้มีขั้นตอนการปฏิบัติที่โปร่งใส โดยไม่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สรรพากรมีดุลพินิจส่วนตัวในการจัดเก็บอีกต่อไป
และ จัดให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนคดีภาษีอากรของกรมสรรพากรขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยทำหน้าที่ทั้งด้านแพ่งและอาญา แบบหน่วยงานIRSของสหรัฐอเมริกา
(4) ควรต้องสนับสนุนการรณรงค์-สื่อสาร เพื่อปรับเจตคติและพฤติกรรมสังคมอย่างเข้มข้น
พลังทางสังคม หมายถึงพลังของความถูกต้องดีงามของประชาชนคนทั่วไปในสังคม เป็นพลังที่เกิดจากความรู้ ความเข้าใจ และการรู้เท่าทันของผู้คนในสังคมส่วนใหญ่
ข้อมูลจากสถาบันAsia Intelligenceในปี2549ระบุว่า ในขณะที่ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันภาครัฐนั้นรุนแรงมากถึงมากที่สุด (8.27) และความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมีน้อยถึงน้อยที่สุด (8.00) ส่วนความอดทน-ยอมจำนนต่อปัญหาของคนไทยกลับมีมากถึงมากที่สุดด้วย (8.00) จึงนับเป็นเรื่องที่น่าหวาดวิตกเป็นทวีคูณ
ในแต่ละปี ป.ป.ช.ควรต้องส่งมอบผลการสะสางคดีทุจริตที่โดดเด่นสัก 15-20 คดี แถลงออกมาสู่สาธารณะ เพื่อให้สื่อมวลชนและสังคมได้ติดตามขยายผล จนเกิดบรรยากาศที่“พูดกันสนั่นเมือง”หรือเกิดเป็นขบวนการคว่ำบาตรทางสังคม (Social Sanction) ที่รับลูกกันอย่างเป็นระบบ มุ่งทำให้การปรับเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรมสังคมเกิดได้ในอัตราเร่ง
(5) ช่วยผลักดันให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง
ควรขอให้รัฐบาล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวง ทบวง กรมและสำนักงานเทียบเท่า ทุกหน่วยงาน เปิดเผยข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่๒.๐ล้านบาทขึ้นไป โดยลงไว้ในเว็บไวต์ขององค์กรซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยมีสาระสำคัญที่ครอบคลุมครบถ้วน
Be the first to comment on "ฝากการบ้านกรรมการป.ป.ช.ชุดใหม่"