พลังชุมชนกับการดูแลรักษาที่ดินสาธารณะ

“ที่สาธารณประโยชน์” หมายถึงที่ดินที่ทางราชการได้จัดให้หรือสงวนไว้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสภาพแห่งพื้นที่นั้น หรือที่ดินที่ประชาชนได้ใช้หรือเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อนไม่ว่าปัจจุบันจะยังใช้อยู่หรือเลิกใช้แล้วก็ตาม เช่น ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าช้าฝังและเผาศพ ห้วย หนอง ที่ชายตลิ่ง ทางหลวง ทะเลสาบเป็นต้น…

ปัญหาที่ดินสาธารณะ

 

การออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณประโยชน์

การฉ้อฉลทุจริตคอรัปชั่นนั้นมักจะมีเจ้าหน้าที่ข้าราชการกรมที่ดินบางส่วนรับรู้มีส่วนร่วมอยู่ด้วยเพราะว่าเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการเซ็นกำกับการออกเอกสารสิทธิ์เป็นหลักฐาน ข้าราชการท้องถิ่นบางส่วนบางคนมักใกล้ชิดเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนอิทธิพลนักการเมืองบางคนอย่างที่รับรู้กันอยู่แท้จริง จำเป็นต้องมีนโยบาย ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณในการถือครองที่ดินของประชาชนในประเทศด้วย เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยเฉพาะการถือครองที่ดินของผู้มีบทบาทอำนาจทางการเมืองและบริษัทต่างๆของนักการเมือง

เครือญาติเครือข่ายของนักการมือง ผู้ใกล้ชิดนักการเมือง ที่มักจะสะสมทุนโดยการเก็งกำไรที่ดินในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ผ่านมา และมักจะมีการยึดหรือฮุปที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นหรือที่ของรัฐที่ให้พลเมืองใช้ร่วมกันมาเป็นทรัพสินส่วนตน

บทเรียนจากจ.ลำพูน ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ที่สาธารณะประโยชน์พลเมืองใช้ร่วมกันของรัฐหรือที่ที่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของ แต่มีการจัดการควบคุมที่ดินโดยชุมชน บางส่วนเป็นพื้นที่ที่เลี้ยงวัวควายของหมู่บ้าน บางส่วนเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักของชาวบ้าน บางส่วนเป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา หรือสรุปได้ว่าเป็นการจัดการโดยชุมชน มีกฎระเบียบของชุมชน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือภาษาภาคเหนือเรียกว่า “สิทธิหน้าหมู่”

ที่สาธารณประโยชน์หลายพื้นที่ของจังหวัดลำพูน กลับถูกยึดครองโดยกลุ่มนายทุนอิทธิพลที่ใกล้ชิดนักการเมือง เป็นเครือญาติเครือข่ายนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง โดยมีการนำที่ดินเหล่านั้นไปจำนองกลายเป็นหนี้เน่าอยู่ในธนาคารที่รัฐบาลต้องเข้าโอบอุ้มอย่างที่รู้กันอยู่ว่า “รัฐบาลอุ้มคนรวย”

ดังนั้นนโยบายทั้งหมดจึงควรให้มีเปิดเผยต่อสาธารณชน สามารเข้าถึงข้อมูลได้ ต้องโปร่งใส ให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมทั้งข้าราชการ นักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกรตั้งแต่เริ่มต้นทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด ทำนองเดียวกับองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540

เรียบเรียงจาก : แก้ปัญหาที่ดินแบบโปร่งใสและมีส่วนร่วม โดยสันติ ธรรมประชา สำนักข่าวประชาธรรม

คอลัมน์ประชาธรรม /สยามรัฐ ฯ(37), 2 – 8 ส.ค.45

 

ความขัดแย้งที่ดินลำพูน
การเข้าทำประโยชน์ของเกษตรกรหลายอำเภอในจังหวัดลำพูน ในที่ดินที่เคยเป็นที่สาธารณะซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกันมาของชุมชน แต่ได้ถูกดำเนินการทางกฎหมายจากบุคคลบางกลุ่มที่อ้างสิทธิโดยอาศัยเอกสารทางราชการ เช่น โฉนด นส.3 ก เป็นให้เกษตรกรจำนวนมากต้องถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกอยู่ในขณะนี้ เป็นภาพสะท้อนปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นที่ชัดเจนว่าในปัจจุบันมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รายงานการวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 5 แสนครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินเพียงพอ พร้อมๆ กับที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมากถูกทอดทิ้งไว้ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร แม้จะเป็นที่ดินซึ่งได้มีเอกสารสิทธิแล้วก็ตาม ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่จังหวัดลำพูนเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ อันหนึ่งของปัญหาที่ดินที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างรีบเร่งในปัจจุบัน

ประการที่สอง การฉ้อฉลในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน กระบวนการออกเอกสารสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในมือรัฐโดยปราศจากการควบคุม ตรวจสอบ หรือมีส่วนร่วมจากสาธารณะ เป็นผลให้บุคคลบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงและสมคบกับกลไกรัฐ จนสามารถออกเอกสารสิทธิเหนือที่ดิน แม้จะเป็นวิธีการที่ไม่ชอบต่อกฎหมายก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนท้องถิ่น

กรณีจังหวัดลำพูนได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิสูจน์ถึงกระบวนการได้มาของเอกสารสิทธิในหลายพื้นที่ ซึ่งก็ได้พบว่ามีการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายพื้นที่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารเหล่านี้แต่อย่างใด

เรียบเรียงจาก : (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 213)

www.midnightuniv.org

 

กรณี บุกรุกป่าชายเลน ระยอง
ป่าชายเลนแม่น้ำระยองเป็นแหล่งหากินของชาวบ้านมาตั้งแต่ปู่ยาตายาย เป็นสายเลือดใหญ่ เป็นหม้อข้าวหมอใหญ่สามารถเลี้ยงคนได้หลายตำบล ที่ผ่านมานายกเทศมนตรีเมืองระยองพัฒนาแต่ถนน แต่สมัยนายสุรพงษ์ เป็นนายกฯ กลับให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หลังมีการบุกรุกป่าชายเลนกันมานาน ชาวบ้านมีความหวงแหนป่าชายเลนมาก แต่ไมาสามารถยับยั้งการบุกรุกได้

วามหมายที่สาธารณะประโยชน์

“ที่สาธารณประโยชน์” หมายถึงที่ดินที่ทางราชการได้จัดให้หรือสงวนไว้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสภาพแห่งพื้นที่นั้น หรือที่ดินที่ประชาชนได้ใช้หรือเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมาก่อนไม่ว่าปัจจุบันจะยังใช้อยู่หรือเลิกใช้แล้วก็ตาม เช่น ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ป่าช้าฝังและเผาศพ ห้วย หนอง ที่ชายตลิ่ง ทางหลวง ทะเลสาบเป็นต้น ตามกฎหมายถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ใดจะเข้ายึดถือครอบครองเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะตนนั้นไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ระเบียบและกฎหมายกำหนดไว้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ

พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้บุคคลได้ใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะเพื่อประโยชน์แห่งตนได้ ก็เฉพาะกรณีที่มีระเบียบและกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะเท่านั้นเช่น การอนุญาตขุดดินลูกรังหรือการอนุญาตดูดทราย เป็นต้น

 

ป่าชุมชน ที่ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

 

แม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายสมัยไม่เคยมีใครมาเหลียวแลป่าชายเลน มีแต่รุกคืบเข้าไปเหมือนหนอนบริเวณ “ปีก” ยาวเป็นกิโล ป่าชายเลนมีความ อุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่สมัยเมื่อ 10 กว่าปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นหนึ่งของจังหวัดระยอง แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกจนหมดสิ้นกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง

การถมดินรุกป่าชายเลนทำรั้วลวดหนาวมกั้น ติดป้ายห้ามเข้าพอตกกลางคืนก็มีเสียงปืน แล้วชาวบ้านจะกล้าลงไปหาจับกุ้ง หอย ปู ปลา ได้อย่างไร อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูแลช่วยกันปกป้องป่าชายเลน ช่วยกันปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าชายเลนและขอฝากให้ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาดำเนินการเอากลับคืนมาเป็นสมบัติของชาวระยอง

นายแก้สรร อติโพธิ กล่าว่า คนที่จะดูแลป่าชายเลนได้คือประชาชน เพราะฉนั้นให้ประชาชนรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งเหมือนที่ชาวบ้านตำบลพังราดแล้วผมจะลงมาเล่นด้วย และต้องแก้กฎหมายใหม่ ว่าเมื่อผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอเห็นว่า น.ส.3 ออกมาโดยมิชอบให้ฟ้องศาลให้ศาลเป็นผู้เพิกถอน ผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอดีดีจะได้

ไม่ถูกฟ้อง เรื่องนี้เป็นระบบที่ต้องแก้และต้องแก้กฎหมายให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายได้กรณีบุกรุกที่สาธารณะ

ปัจจุบันป่าชายเลนถูกบุกรุกไปมากกลายเป็นร้านอาหาร ฟาร์มกุ้ง บ้านจัดสรรเรื่องนี้ขอฝากประธานกรรมาธิการ

สิ่งแวดล้อมด้วย

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์ (http://www.manager.co.th) 31 สิงหาคม 2548

ปัญหาบุรุกที่ดินสาธารณะกรณี โรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด
ที่ดินสาธารณประโยชน์ (ที่สงวนเลี้ยงสัตว์คลองชายธง) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นที่ดินติดชายทะเล มีพื้นที่ทั้งหมด 931-3-50 ไร่ มีความเหมาะสมต่อโครงการโรงไฟฟ้าอย่างมาก และที่ดินผืนดังกล่าวนี้ สภาตำบลบ่อนอก ในสมัยที่นายเจือ หินแก้ว เป็นประธานสภาฯ เมื่อปี 2538 ที่ผ่านมา มีมติให้บริษัทกัลฟ์ อิเลคตริค จำกัด เช่าเป็นเวลา 50 ปี เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ในการขนถ่ายถ่านหิน, ใช้เป็นลานกองเก็บถ่านหิน, ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงงานแปรสภาพน้ำ
ต่อมา คณะกรรมการจังหวัด อนุญาตให้บริษัทฯ เช่าเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ก.ย. 39 – 29 ก.ย. 44 เพื่อใช้เป็นที่พื้นที่วางสายพานลำเลียงถ่านหินและวางท่อระบายความร้อน
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกของกัลฟ์ ก็ถูกรัฐบาลสั่งระงับและเปลี่ยนจุดก่อสร้างใหม่ไปที่สระบุรี
เรื่องทั้งหมดก็ควรจะจบลง แต่ด้วยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่คลุมเครือ บวกกับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่โยงมาถึงการสำรองไฟฟ้าที่จะต้องมีเพียงพอตามการเติบโต รวมไปถึงประเด็นเรื่องการกระจายเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า ที่จะต้องกระจายความเสี่ยงออกไป จากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้าพึ่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงถึง 70 – 80% ทำให้แกนนำคนสำคัญของบ่อนอกกังวลลึกๆ อยู่ตลอดเวลาว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะหวนกลับมายังบ้านเกิดเขาอีกครั้ง

ยิ่งเมื่อกลุ่มคนในพื้นที่มีความพยายามขอออกโฉนดในที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นทำเลทองเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลเหมาะสำหรับสร้างโรงไฟฟ้า เขาจึงเดินหน้าขัดขวางทุกวิถีทาง เพราะเป็นห่วงว่าหากที่ดินผืนดังกล่าวขอออกโฉนดได้ วันข้างหน้าอาจตกไปอยู่ในมือของกลุ่มนายทุนและโรงไฟฟ้าในอนาคต

การรุกครั้งใหม่ของแกนนำชาวบ่อนอกในกรณีที่ดิน จึงส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มนายทุน นายหน้าค้าที่ดิน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และโยงใยไปถึงกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่ที่ดินในจังหวัดประจวบฯ ที่กำลังเตรียมออกโฉนดให้กับผู้ร้องขอ และเป็นเสมือนการเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นไม่จบสิ้น

21 มิถุนายน 2547 *เจริญ วัดอักษร* ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต บริเวณสี่แยกบ่อนอก หลังจากเดินทางกลับ จากยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง การบุกรุกที่ดินสาธารณะบริเวณทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง

ชาวบ้านเชื่อว่าปมสังหาร ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก คือ การคัดค้านการออกโฉนดที่ดินสาธารณะคลองชายธง ๕๓ ไร่ โดยยื่นเอกสาร ส.ค.1 เพียง 6 ไร่ ของบุคคลผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด แต่ถูกคัดค้านโดยกลุ่มชาวบ้านบ่อนอกจนต้องล้มเลิกไป ทำให้กลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลสูญเสียผลประโยชน์มหาศาล

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2547,
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 3627 หน้า 33

พลังชุมชน….

พระสุบิน ปณีโต เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.ตราด

เรื่องการพัฒนาคน ต้องพัฒนาความรู้ การคิดแบบเก่าๆจะ ไม่ทันยุค ตอนนี้คิดอยู่ว่าจะสนับสนุนชุมชนให้เป็นปึกแผ่นได้อย่างไร จากต่างคนต่างอยู่ มาร่วมทำกิจกรรมร่วมกันให้ได้ ร่วมคิดกันให้ได้ ทำให้เห็นว่า การเรียนรู้ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะถูกบีบเรื่องใด ไม่ได้โดนคนเดียว

แต่โดนทั้งพวก ทั้งขบวน ขบวนการของการจัดการนายทุนที่ลงไปคนฐานรากตอนนี้พร้อมที่จะวิ่งเข้าหาทุนเลย ใจเขาก็อ่อนอยู่แล้ว ปากท้อง หนี้สิน ความรู้ การจัดการความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิด ถ้าเขามีความรู้คิดเป็น จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนฐานล่างและสิ่งนี้จะถูกปลูกฝังไปถึงลูกหลาน ที่จะช่วยกันรักษาทรัพยากร มรดกของเขาได้ ปัญหาต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม ที่เขาถูกกระทำ จะเกิดพลังขึ้นมา

ตอนนี้เรามองเรื่องที่ดินสาธารณะเป็นเกณฑ์ ที่จะทำหมู่บ้านนำร่อง นายทุนที่มาใน จ.ตราด ที่หาดทรายแก้ว ถือว่าเป็นทรายคุณภาพสูงดีที่สุดติดอันดับโลก และเป็นชายหาดที่ยาว หาดสวย มีเรื่องเข่นฆ่าแย่งชิงกันมา มีนายทุนออกโฉนดหลักฐานเป็นพันไร่ ซึ่งชาวบ้านอยู่กันมาเป็นร้อยปี ไม่เคยออกหลักฐานได้ เราจึงเกิดแนวคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ที่สาธารณะก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงนำแนวคิดสาธารณะเชื่อมดูว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไร จึงคิดว่า ให้คนในชุมชนเข้าไปปลูกป่า แล้วแบ่งว่า เป็นป่าเศรษฐกิจ ป่าสมุนไพร เป็นการใช้ชีวิตเชิงธุรกิจผสมสาธารณะ เราจะทำแบบนี้ เพราะขึ้นทะเบียนที่ดินสาธารณะไว้ แล้วให้ชาวบ้านเข้าไปทำ สิ่งที่จะขายได้ในอนาคตคือ ที่ดินสาธารณะที่บรรพบุรุษเก็บไว้ให้ เราจะเปิดเวทีประชาคมแล้วใช้ร่วมกัน แล้วปลูกป่า ขายได้ก็นำเงินเข้ากองทุนไว้เลี้ยงดูตนเอง ทีนี้ใครจะมาบุกรุกไม่ได้ เพราะเขาเข้ามาทำกิจกรรมต้องเวียนกันดูตลอด แต่ถ้าเป็นของเก่าคือ ใครจะบุกรุกยังไงก็ช่าง ไม่ใช่ของฉันเพราะฉันไม่มีผลประโยชน์

เราจึงทดลองทำโครงการนี้ ตอนนี้เปิดเวที 2 ครั้ง หมู่บ้านไหนมีที่ดินสาธารณะก็ส่งเข้ามาเพื่อที่จะประเมิน เช่นบางพื้นที่ปลูกยางได้ก็ปลูก ไม่ต้องของบจากรัฐก็อยู่ได้ในอนาคต แต่ต้องตั้งหลักเกณฑ์ว่า ใครมีพฤติกรรมเกเร สวัสดิการจากชุมชนจะไม่ช่วย ไปแก้ปัญหาความเหลวไหลของคนในชุมชนได้ เอาที่ดินสาธารณะมาคุ้มครองญาติพี่น้องของเขาเอง ทำให้จิตเป็นสาธารณะมากขึ้น ผลที่จะได้มาคิดว่า น่าจะยั่งยืนได้ในอนาคต ถ้าเขามีสวัสดิการดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นทุนที่จะจัดองค์ความรู้ต่อไปได้

ถ้าเราทำภาคสาธารณะแล้วไม่เกิดกิจกรรมจะประสบผลยาก แต่ถ้ามีกิจกรรมด้วย อยู่ได้ด้วย มีสวัสดิการคุ้มครองด้วย มันจะเกิดสาธารณะได้ในอนาคตทั้งชีวิตและจิตใจ

ประชุมกรรมการอำนวยการ ห้องประชุม LDI วันที่ 5 เม.ย. 2548
สันสกฤต มุนีโมไนย : ทีมสื่อสารสาธารณะ

นายแก้วสรร อติโพธิ


กรณีบุกรุกป่าชายเลน
จ.ระยอง

นายแก้วสรร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีมติเห็นว่า

การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเพราะเป้าหมายของบริษัทซีพีที่ต้องการเข้าครอบครองพื้นที่ป่าชายเลนทั้งผืน เพื่อทำบ่อกุ้งครบวงจร สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ขณะนี้พบว่าทั้งต้นไม้ ที่สาธารณะ คลองสาธารณะ รวมถึงป่าชายเลนถูกทำลายไปหมดแล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจนครบ แต่ไม่มีใครสนใจ หากกรรมาธิการไม่เร่งรัดหรือดำเนินการใด ๆ เกรงว่าชาวบ้านจะตกเป็นเหยื่อเหมือนนายเจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดบ่อนอกที่ถูกลอบยิงเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดชีวิตของผู้ร้องเรียนกรรมาธิการจึงมอบหมายให้ตนและพล.อ.หาญ ลงพื้นที่เมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา


20 เม.ย. 48 ข่าวสด หน้า 1

 

 

เจริญ วัดอักษร

 

“เจริญ บอกว่ามีหนทางเดียวที่จะสกัดไม่ให้โรงไฟฟ้าเกิด ชนิดตอกฝาโลงเลยก็คือ ต้องไม่ให้มีการขอเช่าหรือออกโฉนดที่ดินสาธารณะคลองชายธง ทำเลที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างท่าเรือนน้ำลึกและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่ายถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้า”

 

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2547

 

 

ร่วมกันปลูกป่าสาธารณะ ที่ บ.ทางควาย ต.เขาสมิง อ.เขาสมิง จ.ตราด

 

อาจพิจารณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินตามสภาพแห่งสาเหตุการบุกรุกที่ดิน ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินที่ดินอันเกิดจากสภาพที่ดิน
– มอบหมายให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดได้ช่วยเหลือนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกตรวจตราดูแลรักษาสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างใกล้ชิด หากปรากฏว่าที่ดินแปลงใดยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือจัดทำหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้ ให้เร่งรัดดำเนินการสำรวจและจัดทำแนวเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อเป็นหลักฐานให้ถูกต้องชัดเจนโดยเร็ว
– หากพบว่าที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประชาชนเลิกใช้ประโยชน์แล้ว ให้สำรวจและจัดทำบัญชีเพื่อดำเนินการจัดหาผลประโยชน์สำหรับรัฐหรือบำรุงท้องถิ่นต่อไป
– จัดทำแผนที่แสดงสภาพและประเภทที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินตั้งแสดงไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานส่วนราชการที่รับผิดชอบ ดูแลรักษา
– ประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และมวลชนในท้องที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการเกี่ยวกับการขุดคู ทำถนน ปลูกต้นไม้รอบที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอาจจัดทำในรูปโครงการที่มีงบประมาณของราชการสนับสนุน หรือการพัฒนาท้องถิ่นในโอกาสอันควร

2. การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินที่ดินอันเกิดจากผู้บุกรุก
– ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากปรากฏว่าที่ดินแปลงใดยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือจัดทำหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้ ให้เร่งรัดดำเนินการสำรวจและจัดทำแนวเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อเป็นหลักฐานให้ถูกต้องชัดเจนโดยเร็ว
– สนับสนุนให้คณะกรรมการหมู่บ้านเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายในหมู่บ้านของตน เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของทางราชการและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน
– สนับสนุนให้ประชาคมในท้องที่มีส่วนร่วมดูแลรักษาคุ้มครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยถือเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันพิทักษ์รักษาไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในปัจจุบันและบุตรหลานในอนาคต และอาจจัดให้มีคณะกรรมการดูแลที่สาธารณประโยชน์ประจำหมู่บ้าน ตำบล หรือทำพิธีบวช ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำนองเดียวกับรูปแบบการดูแลรักษาป่าชุมชน
– หากพบว่าผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะรายใดไม่มีที่ดินอยู่อาศัยทำกิน หรือมีน้อยไม่เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว ให้ประสานส่วนราชการที่มีหน้าที่จัดที่ดินให้แก่ประชาชน เช่น กรมที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บุกรุกดังกล่าว

3. การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินที่ดินอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
– เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต้องให้ความสำคัญแก่การป้องกันมากกว่าแก้ไขปัญหา โดยต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด รวมทั้งหมั่นประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ทราบด้วยว่าพื้นที่ใดเป็นที่สาธารณสมบัติที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ราษฎรต่างต้องมีหน้าที่ช่วยดูแลรักษาป้องกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เข้าไปบุกรุกในที่ดินดังกล่าว
– หากตรวจสอบพบว่ามีผู้บุกรุกเข้าครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้ผู้บุกรุกออกไปจากที่ดินทุกรายโดยเคร่งครัด ผู้ฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย หากมีกรณีเห็นสมควรจะผ่อนผันเพื่อแก้ไขปัญหาความจำเป็นเดือดร้อนของราษฎร อาจใช้วิธีประนีประนอมผ่อนปรนได้ตามควรแก่กรณี
– หากปรากฏว่ามีเรื่องร้องเรียนหรือข้อขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รายงานผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อช่วยเหลือ หรือวินิจฉัยสั่งการต่อไป
– จัดอบรมให้ความรู้ด้านวิชาการ กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแก่เจ้าหน้าที่และผู้นำท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีทักษะความรู้และเทคนิควิธีการในการแก้ไขปัญหา
– กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา หรือคดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ควรถือเป็นหลักให้ส่วนราชการต้นสังกัดแต่งตั้งอัยการเป็นผู้แก้ต่างคดีให้
– กรณีที่มีการดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินและเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการบังคับคดีโดยทันที พร้อมทั้งรายงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทราบด้วย ห้ามมิให้ปล่อยทิ้งเป็นเวลาเนิ่นนาน ทั้งนี้ ควรมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องติดตามการบังคับคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นคดี

ข้อมูลจาก : นายเฉลิมศักดิ์ วงศ์ศิริวัฒน์ รักษาราชการแทน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น
www.thailocalgov.net (3 กันยายน 2546 )

การจัดการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

1.การจัดการที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่งตามมาตรา 1304 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าถือเป็นที่ดินประเภทกลางที่รัฐสามารถนำมาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือนำไปใช้ประโยชน์ในราชการหรือนำมาจัดสรรเพื่อให้แก่ประชาชน ซึ่งการนำใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมนั้นสามารถกระทำได้โดยไม่ยากนัก เพราะรัฐมีอำนาจที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยตรงอยู่แล้ว

1.1 องค์กรจัดการ
กรมที่ดิน คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นองค์กรหลักในการจัดการที่ดินตามมาตรา 1304(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

1.2.วิธีการจัดการ
เมื่อได้มีการกำหนดให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง เคยมีปัญหาว่า ส่วนราชการจะนำที่ดินดังกล่าวไปให้เอกชนเช่าได้หรือไม่ และในทางปฏิบัติยังไม่เคยมีการให้เช่ามาก่อน แต่โดยที่การเช่าไม่ใช่เป็นการโอน จึงน่าจะไม่ต้องห้ามตามมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีความเห็นว่า การที่กฎหมายบัญญัติให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ก็เพื่อประโยชน์ของปวงชน แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะต้องคงอยู่อย่างนั้นเสมอไป จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขไม่ได้ เพราะจะทำให้ทรัพย์สินไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยสภาพแล้วเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้ประสงค์ที่จะสงวนทรัพย์สินนั้นไว้ตลอดไป ประชาชนหรือทางราชการอาจกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ทรัพย์สินนั้นได้โดยบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งการจัดการที่ดินรกร้างว่างเปล่าย่อมเป็นไปตามกฎหมายนั้น

1.3. การดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกัน

กรมที่ดินจะมีหน้าที่ดูแลและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินของรัฐที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ในทางปฏิบัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2544 ให้ส่วนราชการต่างๆ ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยการดูแลรักษาที่ดินตามมาตรา 1304 (1) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินและทบวงการเมืองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย ปรากฏตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 12/2543 ลงวันที่ 18 มกราคม

สำหรับมาตรการในการคุ้มครองที่ดินประเภทนี้ นอกจากจะได้รับความคุ้มครองในทางแพ่งตามหลักทั่วไปแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองในทางอาญา ตามมาตรา 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมาย ที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 พ.ศ. 2515 ด้วย

2.การจัดการที่ดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน

ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ดินประเภทนี้อาจเกิดโดยสภาพธรรมชาติ โดยการใช้ร่วมกันของประชาชน หรือโดยรัฐจัดสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกันก็ได้

2.1 องค์กรจัดการ

การจัดองค์กรเกี่ยวกับที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาจแบ่งได้เป็นหลายลักษณะ กล่าวคือ การจัดองค์กรตามประเภทของการใช้ประโยชน์ หรือการจัดองค์กรตามลักษณะการปกครองในแต่ละเขตพื้นที่

สำหรับองค์กรตามประเภทของการใช้ประโยชน์ ได้แก่
– องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางน้ำ ได้แก่ กรมเจ้าท่า มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินเรือและการสัญจรทางน้ำ กรมประมง มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลและส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงของประชาชนทั่วไป กรมชลประทาน ในส่วนที่เกี่ยวกับคลองและทางชลประทานต่างๆ
– องค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางบก ได้แก่ กรมทางหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง เทศบาล ในส่วนที่เกี่ยวกับทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับทางพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการรถไฟ

ส่วนการจัดองค์กรตามลักษณะปกครองในเขตพื้นที่ ได้แก่
– ในราชการส่วนภูมิภาค จังหวัดจะมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับทางหลวงตามพระราชบัญญัติ ทางหลวง พ.ศ. 2535 และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งรุกล้ำในที่สาธารณะ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 เมษายน 2502 นายอำเภอและกำนันมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457
– ในราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะ สถานสาธารณะ จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำ ทางบก ในท้องถิ่นนั้นๆ ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และตามที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าท่าตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 อีกด้วย

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร จังหวัด เมืองพัทยา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครอง ป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน (ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) ทั้งนี้ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 12/2543 ลงวันที่ 18 มกราคม 2543

3. การจัดการที่ดินที่มีการสงวน

โดยที่การสงวนจะหมายรวมถึงการหวงห้ามและการกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยรัฐด้วย ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงการสงวน การหวงห้าม หรือการกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งจึงให้ถือว่าอยู่ในความหมายดังกล่าวด้วย

3.1. องค์กรจัดการ
องค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับที่ดินประเภทนี้ ได้แก่ กรมป่าไม้และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ เขตห้ามล่าสัตว์ และเขตป่าไม้ถาวร กรมประมงในส่วนที่เกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์เฉพาะที่เกี่ยวกับสัตว์น้ำ และกรมที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับเขตหวงห้ามตามกฎหมายที่ดิน
การจัดการ
วัตถุประสงค์หลักของที่ดินประเภทนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงสภาพสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อรักษาระบบนิเวศวิทยา ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้ที่ดินประเภทจึงค่อนข้างจะเคร่งครัดและมีเงื่อนไขต่างๆ มากแตกต่างกันไปแล้วแต่เจตนารมณ์ กล่าวคือ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติสามารถอนุญาตให้ทำไม้หรือเก็บของป่า เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย เข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายเหมืองแร่ การบำรุงป่าหรือการปลูกสร้างสวนป่า ในเขตป่าเสื่อมโทรม ทั้งนี้บางกรณีอาจได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่บางกรณีต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือค่าภาคหลวง ส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ก็มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้บ้างในบางกรณี โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน

สำหรับเขตหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดินนั้นมีการอนุญาตให้ระเบิดหิน ย่อยหินในบริเวณภูเขาหรือเขา ดูดทรายในแม่น้ำลำคลอง โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม

สำหรับมาตรการในการคุ้มครอง และดูแลรักษา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามต้องปฏิบัติตามคำสั่งในการออกเขตพื้นที่ ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือได้รับโทษจำคุกหรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือโทษจำคุกและโทษปรับหรือริบทรัพย์สิน

ข้อมูลจาก : นายเฉลิมศักดิ์ วงศ์ศิริวัฒน์ รักษาราชการแทน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น
www.thailocalgov.net (3 กันยายน 2546 )

ที่มา : เอกสาร Fact Sheet พฤศจิกายน 2548 ประกอบเวที บ้านเมืองเรื่องของเรา ตอน “พลังชุมชนกับการดูแลรักษาที่ดินสาธารณะ” ออกอากาศ เสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา 16.05-17.00 น. ทางเนชั่นแชนแนล ไททีวี 1 และเอบีทีวี 1

Be the first to comment on "พลังชุมชนกับการดูแลรักษาที่ดินสาธารณะ"

Leave a comment

Your email address will not be published.